สัญญา ‘จ้างผลิต’ และส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาในไทย
2 มิ.ย. 2564 บีบีซีไทย รายงานว่า นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้รับจ้างผลิตตระหนักดีถึงหน้าที่สำคัญในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากลให้สำเร็จโดยรวดเร็วที่สุด โดยใช้ภายในระยะเวลาในการผลิต 6 เดือน ซึ่งเทียบได้กับมาตรฐานอื่นที่ผลิตในต่างประเทศ และวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ได้รับการอนุมัติให้เริ่มจัดส่งภายในสัปดาห์นี้”
"ต้องทำความเข้าใจก่อน สยามไบโอไซเอนซ์ต้องส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกา 6.3ล้านโดสในเดือนนี้ แต่พอส่งจริงส่งได้แค่ 1.8 ล้าน และดันมีข่าวก่อนหน้านี้ว่าเราส่งให้ฟิลิปปินส์กับมาเลเซียเลท(ช้า) หลายคนตกใจและเพิ่งรู้ว่าเราต้องส่งให้ชาติอื่นในขณะที่ของตัวเองก็ไม่ทัน" นวลพรรณ กล่าว
นวลพรรณ กล่าวว่าไม่สามารถเปิดเผยสัญญาได้ว่าสยามไบโอไซเอนซ์ 'รับจ้างผลิต' ให้ 8 ชาติอาเซียนจำนวนเท่าไร แต่ย้ำว่าวัคซีนที่จะจัดส่งให้ไทยนั้นส่งทันเวลาแน่นอน อย่างไรก็ตาม นวลพรรณตอบไม่ชัดเจนว่าคนไทยจะได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาอย่างไร เพราะสยามไบโอไซเอนซ์แค่รับผลิต ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยกับสยามไบโอไซเอนซ์ที่ต้องไปคุยกันเอง
ขณะเดียวกันในวันนี้ (2 มิ.ย. 2564) ระหว่างการบรรยายเรื่องการกระจายวัคซีนในประเทศไทยจัดโดยองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีของประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาจากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ล่าช้าว่าเป็นเรื่องระหว่างบริษัทแอสตราเซเนกา สำนักงานใหญ่ กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ไม่เกี่ยวข้องกับสยามไบโอไซเอนซ์ พร้อมกันนี้ ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า บริษัทแอสตราเซเนกาเป็นผู้จัดสรรการกระจายวัคซีนว่าจะส่งมอบวัคซีนจากโรงงานการผลิตใดให้กับประเทศที่สั่งซื้อ
นอกจากนี้ นพ.นคร ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าขณะนี้ ผู้ผลิตวัคซีนต้องผลิตไปพร้อมๆ กับการส่งมอบ เพราะอยู่ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินจึงไม่มีเก็บวัคซีนไว้ในคลังมากพอ ทำให้เกิดโอกาสส่งมอบวัคซีนล่าช้าได้
สัญญา ‘จ้างผลิต’ และส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาของต่างประเทศ
เกาหลีใต้
เมื่อช่วงเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว นักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่าแอสตราเซเนกาบรรลุข้อตกลงกับ SK Bioscience ผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์รายใหญ่ของเกาหลีใต้ ให้เป็นฐานการผลิตแห่งใหม่เพื่อป้อนวัคซีนเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตและกระจายวัคซีนระดับโลกของแอสตราเซเนกา โดยสัญญาเบื้องต้นกำหนดว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาจากโรงงานในเกาหลีใต้จำนวน 300 ล้านโดสจะถูกส่งให้สหรัฐอเมริกา
ต้นเดือน ก.พ. 2564 รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศแผนการฉีดวัคซีนแห่งชาติ โดยระบุว่ารัฐบาลเกาหลีใต้จะเริ่มต้นฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 1.5 ล้านโดสให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. เป็นต้นไป และตั้งเป้าจะสามารถฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาครบ 10 ล้านโดสให้กับประชาชนได้ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ประชาชนจึงตั้งขอสังเกตว่าเหตุใดรัฐบาลจึงได้รับวัคซีนเพียงเท่านี้ เนื่องจาก SK Bioscience ผู้ผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาของเกาหลีใต้มีกำลังการผลิตวัคซีนมากถึงปีละ 500 ล้านโดส
ต่อมา เว็บไซต์โคเรียไบโอเมดิคอลรีวิวเปิดเผยข้อมูลสัญญาการส่งมอบและกระจายวัคซีนโควิด-19 ของ SK Bioscience ว่าเป็นสัญญาการจ้างผลิต (Contract Manufacturing Organization) ให้กับบริษัทแอสตราเซเนกา โดยตัวแทนของ SK Bioscience ยอมรับว่าบริษัทมีวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตเสร็จแล้วตุนไว้ในคลังอย่างเพียงพอ แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าวัคซีนเหล่านั้นจะถูกส่งมอบให้รัฐบาลเกาหลีใต้เป็นประเทศแรกหรือเปล่า เนื่องจากผู้มีอำนาจตัดสินใจในการกระจายวัคซีน คือ บริษัทแอสตราเซเนกา พร้อมระบุว่าการกระจายให้กับประชาชนในเกาหลีใต้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกรมป้องกันและควบคุมโรคของเกาหลีใต้ (KDCA)
นอกจากนี้ เจ้าหน้าของ KDCA ได้ออกมายืนยันว่าสำนักงานใหญ่ของแอสตราเซเนกาคือผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าจะส่งมอบวัคซีนจำนวนเท่าใดให้กับเกาหลีใต้ สอดคล้องกับที่ SK Bioscience กล่าวไว้ก่อนหน้านี้
อิตาลี
เมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว เว็บไซต์ Fierce Pharma รายงานว่าบริษัทแอสตราเซเนกาตกลงทำสัญญาผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ร่วมกับคาทาเลนต์ (Catalent) ผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์จากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีฐานการผลิตขนาดใหญ่อยู่ในเมืองอานาญนีของอิตาลี โดยคาทาเลนต์จะเป็นผู้ผลิตและกระจายวัคซีนโควิด-19 (AZD1222) จำนวนหลายล้านโดสให้กับบริษัทแอสตราเซเนกา เริ่มตั้งแต่เดือน ส.ค. 2563-มี.ค. 2565 และจะเริ่มต้นการผลิตทันทีที่วัคซีนได้รับการรับรองตามมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของคาทาเลนต์บอกว่าบริษัทจะไม่เปิดเผยข้อตกลงทางการเงินซึ่งเป็นความลับระหว่างคาทาเลนต์และแอสตราเซเนกา
“โรงงานของเราในเมืองอานาญนีของอิตาลีเป็นฐานการผลิตยาชนิดใหม่ๆ และทีมงานที่มีทักษะของเรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 เรามันใจเป็นอย่างยิ่งว่ากำลังการผลิตของเราจะช่วยส่งต่อวัคซีนไปยังผู้ป่วยได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หาก[วัคซีน]ได้รับการรับรอง” อะเลสซานโดร มาเซลลี ประธานบริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทคาทาเลนต์ กล่าว
สหรัฐอเมริกา
ในเดือนเดียวกัน แอสตราเซเนกาลงนามในสัญญามูลค่า 87 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับเอเมอร์เจนต์ ไบโอโซลูชันส์ (Emergent BioSolutions) ผู้ผลิตยารายใหญ่ในสหรัฐฯ เพื่อผลิตและกระจายวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาในสหรัฐฯ และทวีปอเมริกา โดยฐานการผลิตใหญ่อยู่ที่เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ ซึ่งตัวแทนของเอเมอร์เจนต์ ไบโอโซลูชันส์ ระบุว่า บริษัทพร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้แอสตราเซเนกาสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ตามเป้าที่วางไว้
เอเมอร์เจนต์ ไบโอโซลูชันส์ เป็นบริษัทผลิตวัคซีนป้องกันโรคแอนทแรกซ์เจ้าแรกและเจ้าเดียวที่องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA รับรอง นอกจากนี้ เอเมอร์เจนต์ ไบโอโซลูชันส์ ยังเป็นผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 รายใหญ่ให้แก่บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ยังไม่อนุมัติใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาแต่อย่างใด
อินเดีย
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 แอสตราเซเนกาประกาศผ่านเว็บไซต์ว่าได้ลงนามข้อตกลงผลิตวัคซีนกับสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India) ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก เพื่อเร่งกำลังการผลิตและกระจายวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก โดยพุ่งเป้ากระจายวัคซีนจำนวน 400 ล้านโดสให้แก่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำภายในสิ้นปี 2564
อะทาร ปูนาวาลา (Adar Poonawalla) ประธานบริหารของสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย กล่าวว่า สถาบันฯ ยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นหุ้นส่วนกับแอสตราเซเนกาในการกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา สถาบันฯ สร้างขีดความสามารถอันแข็งแกร่งในการผลิตและกระจายวัคซีนจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
“เราจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับแอสตราเซเนกาเพื่อทำรับประกันว่าจะสามารถกระจายวัคซีนแก่ประเทศเท่านี้ได้อย่างเสมอภาพและเป็นธรรม” ปูนาวาลา กล่าว
ในแถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุอีกว่า ปัจจุบัน บริษัทแอสตราเซเนกาทำข้อตกลงมูลค่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI) และองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี (GAVI) ในการผลิตและจัดหาวัคซีนจำนวน 300 ล้านโดสให้โครงการกระจายวัคซีน COVAX ขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยจะเริ่มจัดส่งให้ภายในสิ้นปี 2563 นอกจากนี้ แอสตราเซเนกาและสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียบรรลุข้อตกลงในการจัดหาวัคซีนจำนวน 1 พันล้านโดสให้แก่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ซึ่งจะจัดส่งให้ทันภายในสิ้นปี 2564
อย่างไรก็ตาม อินเดียเผชิญกับภาวะการระบาดหนักของโรคโควิด-19 จนสายพานการผลิตวัคซีนต้องชะงักไปชั่วคราว แต่ช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ปูนาวาลา ให้คำมั่นว่าสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียจะเพิ่มกำลังการผลิตจนสามารถส่งมอบวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดสให้กับรัฐบาลอินเดียได้ จากเดิมที่ตั้งเป้าผลิตวัคซีนไว้ที่ 65 ล้านโดสในเดือน พ.ค.
เนเธอร์แลนด์
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2563 สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า แอสตราเซเนกาเซ็นสัญญาการผลิตวัคซีนโควิด-19 กับฮาลิกซ์ (Halix) บริษัทยาในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งฮาลิกซ์เผยว่าทางบริษัทได้ยืนยันความเป็นหุ้นส่วนกับสถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัทแอสตราเซเนกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ต่อมาในวันที่ 26 มี.ค. 2564 องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) มีมติรับรองให้โรงงานของบริษัทฮาลิกซ์ในเมืองไลเดนสามารถดำเนินการผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาได้ สารตั้งต้นของวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตโดยบริษัทฮาลิกซ์จะถูกส่งต่อไปยังโรงงานผลิตวัคซีนของแอสตราเซเนกาในอิตาลี อังกฤษ และอินเดีย รวมถึงโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศอื่นๆ ที่บริษัทแอสตราเซเนกาทำข้อตกลงไว้
อย่างไรก็ตาม มติของ EMA ทำให้ฮาลิกซ์ต้องส่งมอบผลผลิตสารตั้งต้นวัคซีนโควิด-19 ให้กับสหภาพยุโรปเป็นหลัก แม้ว่าในตอนแรก แอสตราเซเนกาและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดตั้งใจจะใช้โรงงานนี้เป็นฐานการผลิตหลักเพื่อส่งมอบวัตถุดิบสำหรับผลิตวัคซีนให้กับประเทศอังกฤษก็ตาม
ที่มา ประชาไท
https://prachatai.com/journal/2021/06/93335