วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 03, 2564

“เป็นความผิดของรัฐบาลนะคะ ไม่เกี่ยวกะสยามไบโอ” คุณนายแป้งแสดงให้เห็น


ไม่ว่าจะมีคดีสั่งจับ ลุงพล พยายามแย่งซีน หรือ “อภิปรายอย่างราชสีห์ โหวตอย่างหนู” เบียดแทรก ปัญหาวัคซีนสกัดโควิด-๑๙ ไม่ดี-ไม่พอ ก็ยังเป็นข้อวิตกกังวลรวมหมู่ของมหาชน แม้นว่าผู้รับผิดชอบและเกี่ยวข้องพยายามเบี่ยงเบนความผิดพลาดกันแล้วก็ตาม

ถึงคราวศูนย์กลางของปัญหาออกมาพูดบ้าง นั่นคือ สยามไบโอไซน์ผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าในไทย ชี้แจงให้หายข้องใจ “ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้รับจ้างผลิต...ถือเทียบได้กับมาตรฐานอื่นที่แอสตร้าเซนเนก้าเป็นผู้เลือก” ทำให้สามารถผลิตได้ภายใน ๖ เดือน

ประกาศสรรพคุณก็อย่างหนึ่ง ที่ว่ามีประสิทธิผล “มากถึง ๘๐% หลังจากการฉีดเข็มแรก” เพราะในต่างประเทศได้รับการตรวจสอบแล้ว “นับเป็นการยืนยันคุณภาพของวัคซีนโควิด-๑๙ ที่ผลิตในประเทศไทย” อันนี้ไม่รู้ใช้หลักตรรกวิทยาสำนักไหน

“เป็นความผิดของรัฐบาลนะคะ ไม่เกี่ยวกะสยามไบโอ รัฐบาลเสือกแทงม้าเต็งเอง ม้าหลุดโค้งวัดเบญฯ อย่าโทษม้า” Atukkit Sawangsuk เหน็บแนม “อุตส่าห์จ่ายเงินจองล่วงหน้า ๒,๓๗๙ ล้าน (ตามมติ ครม.๑๗ พ.ย.๖๓) เรื่องของรัฐบาลทำสัญญากับแอสตร้า” เอง

ใครฟังย่อมคิดอย่างเดียวกับอธึกกิต ว่าคุณนายแป้ง ผอ.ฝ่ายสื่อสารของสยามไบโอ ชี้แจงมานั้นเพื่อจะแสดงให้พสกนิกรรับรู้เสียบ้าง บริษัทของนาง “ไม่เกี่ยว” โดยเฉพาะที่ฟิลิปปีนส์บ่นได้รับวัคซีนล่าช้า นั่นจากแอสตร้าฯ “ไม่ใช่จากสยามไบโอฯ”

ถึงกับฉายวิดีโอการส่งมอบวัคซีนเมื่อวันที่ ๒ มิถุนาให้กระทรวงสาธารณสุข มีคนใหญ่ของบริษัทสยามไบโออย่าง พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล กับเจมส์ ที้ก ประธานแอสตร้าฯ ไทยแลนด์ เป็นสักขีพยาน ว่าส่งไปแล้วกว่า ๒ แสนโด๊สเซส ปลายอาทิตย์อีกเป็นล้าน

รวมความว่าทำได้ตามกำหนดส่งเดือนมิถุนายน แต่เอ๊ะ กำหนดที่ว่านั่นระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรบนตาราง ว่าเดือนมิถุนาส่ง ๖ ล้านโด๊สเซส ไฉนตัวเลขจริงที่จะส่งมอบก่อนวันที่ ๗ มิ.ย.จึงแค่ ๑.๘ ล้านโด๊สเซส ไม่เท่านั้นจำนวนนี้ “เป็นสิทธิ์ขาดของแอสตร้าจัดส่งไปไหนก็ได้

ส่วนที่แอสตร้าทำสัญญากับไทยเป็นอีกเรื่อง” @KhaosodOnline รายงานคำพูดของ นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผอ.สื่อสารองค์กรของสยามไบโอฯ แต่ก็เอาเถอะ ถึงอย่างไรเรื่องปริมาณวัคซีนตอนนี้ยังพอใจชื้น เมื่อมีทั้งวัคซีน ตัวเลือก และ ทางเลือกกำลังจะมากัน

ซิโนแว็คจะมาเพิ่มอีก ๑๑ ล้าน ซิโนฟาร์ม ๑ ล้าน จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ๕ ล้าน โมเดอร์น่า ๑ ล้าน กับไฟ้เซอร์ ๒๐ ล้าน อันหลังนี่ที่ประชาชนอยากได้ เอกชนจะเป็นผู้นำเข้าผ่านทางสิทธิบัตรอำนาจสั่งซื้อของวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ทั้งหมดนั่นท่ามกลางฉากหลังของการแพร่เชื้อโควิดระลอกนี้ที่ยังร้อนแรง สถิติเมื่อวาน (๒ มิ.ย.) “พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น ๓,๔๔๐ ราย...เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ๓๘ ราย หนึ่งในนั้นเป็นทารกวัย ๑๐ เดือน” และวันนี้มีติดเชื้อรายใหม่ ๓,๘๘๖ คน ตายอีก ๓๙ คน

ตอนนี้งบประมาณปี ๖๕ ซึ่งสาธารณสุขโดนตัด แต่กองทัพแอบเพิ่ม ก็ผ่านแล้ว หลังจากปรากฏการณ์ละครน้ำเน่าในสภา “อภิปรายอย่างราชสีห์ โหวตอย่างหนู” กลายมาเป็น นิวนอร์มอล ที่ภาพลักษณ์การเมืองย้อนยุคไปปี ๒๕๑๕ อันนำไปสู่เหตุ ๑๔ ตุลา ๑๖


แต่ครั้งนี้ต่างกับครั้งนั้นตรงที่มีการเสนอร่างกฎหมาย “เอาผิดเจ้าพนักงานยุติธรรม” โดย รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ให้เหตุผลว่าเนื่องจากยุคนี้มีการ ‘บิดเบือนกฎหมาย’ กันเป็นนิจสิน “ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของรัฐมนตรี” แป้งมัน

“กรณีของการรับสินบนบริษัทโตโยต้า ที่กำลังเป็นที่น่าสนใจในต่างประเทศและในไทย...หรือจะเป็นกรณีไม่ให้ประกันตัวของแกนนำคณะราษฎรโดยไม่ได้มีเหตุผลที่อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย” จำเป็นต้องมีการเพิ่มเติมฐานความผิดใหม่ในประมวลกฎหมายอาญา

ซึ่งผู้ใช้อำนาจทางกระบวนยุติธรรม เช่นผู้พิพากษา ตุลาการ พนักงานสอบสวน อัยการ และผู้ว่าคดี กลายเป็นผู้วิเศษกันไปหมด พิจารณาวินิจฉัยคดีไม่ตรงตามระเบียบแบบแผนทางยุติธรรม หรือนิติธรรม แม้แต่ประธานศาลฎีกา

ดังคดีนายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยื่นฟ้องนางเมทินี ชโลธร ฐานที่สั่งย้ายตนโดยมิชอบ เป็นความผิดมาตรา ๑๕๗ และ ๙๑ นั้นหากเป็นกรณีความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือกรณีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองต่อประชาชนทั่วไป

ก็จะยื่นฟ้องร้องได้ยาก เนื่องเพราะ “เรายังไม่มีกฎหมายที่กำหนดฐานความผิดนี้เลย” รังสิมันต์กล่าวในการแถลงที่อาคารรัฐสภา

(https://www.facebook.com/MoveForwardPartyThailand/posts/328578495440844, https://www.thansettakij.com/content/covid_19/482286 และ https://www.bbc.com/thai/thailand-57326920t1Hc)