วันเสาร์, มิถุนายน 19, 2564

ร่วมมองกับ ‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์’ รัฐธรรมนูญในฝัน จะเป็นจริงกับสังคมไทยได้?



CARE คิด เคลื่อน ไทย
8h ·

ขอฝันใฝ่ ในฝันปั้นรัฐธรรมนูญ
.
ร่วมมองกับ ‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์’ รัฐธรรมนูญในฝัน จะเป็นจริงกับสังคมไทยได้?
นับเป็นอีกหนึ่งวิกฤตที่ยืดเยื้อมานานที่สุดตลอดทศวรรษแห่งความสูญหายของการเมืองไทย ที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดของผู้สถาปนาอำนาจที่แท้จริง “วิกฤตรัฐธรรมนูญ”
แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะถูกใช้มา 4 ปี แต่สิ่งที่กำหนดไว้กำลังส่งผลดีเฉพาะเพียงบางกลุ่มแต่กลับเป็นผลร้ายกับคนส่วนใหญ่และทำให้ผู้คนเรียกร้องให้แก้ไขอย่างเร่งด่วน
.
นำไปสู่การขยับของฝ่ายการเมืองต่างๆที่ไม่ปฏิเสธกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ผลสุดท้ายรัฐธรรมนูญที่ถูกแก้ไขจะนำไปสู่ฉบับใหม่ที่ดีกว่า หรือยังคงอยู่กับแบบเดิมที่ถูกให้เหมือนเอื้อคนส่วนใหญ่แต่แก่นแท้ยังกลับคงอยู่
.
ใน CARE Talk Special ได้เชิญ ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ได้ชื่อว่ามีบทบาทสำคัญในพื้นที่ถกเถียงทางวิชาการด้านรัฐธรรมนูญไทยและเคลื่อนไหวกับกลุ่มเพื่อนอาจารย์ในนาม นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ในช่วงปี 2553 ซึ่งก็มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกับตอนนี้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข หรือฉบับใหม่ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?
.
.
แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับ vs รายมาตรา?
อ.วรเจตน์ กล่าวว่า ถ้าดูสถานการณ์ในเวลานี้ (รัฐธรรมนูญฉบับใหม่) อาจจะเกิดค่อนข้างยาก ต้องเข้าใจก่อนว่า รัฐธรรมนูญคือภาพสะท้อนความเป็นจริงของตัวระบอบการปกครอง กำหนดกติกาแห่งอำนาจในทางการเมือง รัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขทั้งฉบับ เกิดขึ้นได้หรือไม่? แรงกดดันของฝ่ายที่ผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดมีมากพอที่จะทำให้ฝ่ายกุมอำนาจในเวลานี้ โอนอ่อนผ่อนตามหรือไม่ เนื้อหาที่จะทำนั้นทำได้แค่ไหน
.
“ถ้าดูสถานการณ์ในตอนนี้ โอกาสแก้ทั้งฉบับจะยาก แรงกดดันไม่มาก ทำให้มีแนวโน้มเป็นแก้รายมาตราไป เฉพาะบางบัญญัติที่เห็นพ้องต้องกันทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านถึงจะสามารถเป็นบทบัญญัติใหม่ได้ โดยส่วนตัวว่า คิดว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้ จะมีการแก้ไขแบบปะฉุกันต่อไป” อ.วรเจตน์ กล่าว
.
อ.วรเจตน์ กล่าวอีกว่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่า (แก้ไขทั้งฉบับ) จะไม่เกิดขึ้นเลย โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดโอกาสให้จัดทำประชามติถามว่า ต้องการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองจะสามารถเสนอญัตตินำไปสู่การทำประชามติให้จัดทำฉบับใหม่หรือไม่ ถ้ากระบวนการเป็นไปตามหนทางรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเกิดเหตุไม่คาดหมายขึ้น เช่น รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ เราก็จะได้ฉบับใหม่ แต่อาจไม่ใช่ฉบับในฝันหรอก
.
.
หน้าตาของรัฐธรรมนูญในฝัน
.
อ.วรเจตน์ กล่าวว่า เวลาพูดถึงความฝัน ก็ฝันอะไรก็ได้อยู่แล้ว เราต้องเข้าใจความฝันกับความจริง บางทีเป็นคนละเรื่องกัน ถ้าดูจากประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมา ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็นในอนาคต ควรไม่ยาวมาก อันแรกเลย ผมค่อนข้างเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ไม่ยาวจะมีประโยชน์ในระยะยาวมากกว่า ส่วนรายละเอียดต่างๆคงจะไปอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ นั้นเป็นในแง่โครงสร้าง ส่วนในแง่รูปแบบเนื้อหา ภายใต้ตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไปไกลได้ที่สุด คือในเชิงระบอบคือ ราชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentary Monarchy) มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐและมีรัฐสภา คงเป็นแบบเดียวกัน ถ้าเกิดเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ อันนั้นค่อยว่ากัน
.
อีกข้อของรัฐธรรมนูญในฝันคือ การจัดวางสถานะตำแหน่งของประมุขรัฐในรัฐธรรมนูญว่าควรจะจัดวางอย่างไร มีพระราชอำนาจแค่ไหน พระราชอำนาจที่มีอยู่ เกิดใช้โดยพระองค์เอง ไม่มีคนรับผิดชอบแทนพระองค์ จะต้องรับผิดชอบทางกฎหมายมากน้อยแค่ไหน หรือว่ากิจการหลายอย่างก็ควรเปลี่ยนจากอำนาจของพระมหากษัตริย์มาเป็นองค์กรทางการเมืองแทน เพื่อไม่ให้พระมหากษัตริย์ต้องรับผิดทางกฎหมาย อันนี้คือในส่วนที่คิดว่าควรจะต้องมี
.
จะว่าไป เนื้อหาในส่วนประมุขของรัฐจะว่าไม่แตะไม่ได้ แต่ก็เป็นเรื่องกำลังอำนาจในความเป็นจริง ความต้องการของประชาชนด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ
.
ในแง่ของสถาบันทางการเมือง (นิติบัญญัติ,บริหาร,ตุลาการ) ยังคงเดิม อาจไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก แต่ต้องทบทวนบทบาทขององค์กรอิสระ เรื่องของขอบเขตอำนาจหน้าที่ เรื่องระบบเลือกตั้ง
.
ประเด็นสำคัญคือ บทบาทของกองทัพ ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ผ่านไม่มีการพูดอย่างชัดเจน ถ้าจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา อำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกของทหารอาจต้องเอาออกไป และปฏิรูปตัวกฎอัยการศึกด้วยถ้าไม่ได้มีการแก้ไขและถูกใข้มาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย บางอย่างซึ่งเท่าที่เราคุยกัน สังคมยังมองไปไม่ถึง ไม่ว่าเรื่องการยึดอำนาจในช่วงหลัง กองทัพมีการประกาศกฎอัยการศึกก่อนเพื่อปูทางสู่การรัฐประหาร นี่เป็นประเด็นที่ต้องแก้กัน
.
อีกส่วนคือสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นส่วนที่ต้องมีและทำให้หลักการชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่เขียนเรื่องประกันสิทธิ ยกเว้นมากมาย องค์กรรัฐก็มีอำนาจก้าวล่วงสิทธิ และประชาชนไม่ได้มีสิทธิจริงๆ นี่เป็นภาพใหญ่ที่ควรต้องเป็น
.
.
เนื้อหา ‘รัฐธรรมนูญ’ ไม่ต้องยาวมาก?
.
อ.วรเจตน์กล่าวว่า ผมคิดว่าแบบเนื้อหายาว เราได้ทดลองในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แต่ไม่พอดี และที่ต้องพูดอีกอย่าง ต่อให้เนื้อหายาว ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ต้องตีความ เนื้อหายิ่งยาว ยิ่งมีปัญหาในการตีความอยู่ ในทางกฎหมายเคยมี กรณีกษัตริย์ปรัสเซีย เคยออกกฎหมายให้ผู้พิพากษามีอำนาจในการตีความ จัดทำกฎหมายให้ละเอียดมากๆ จะได้รู้เลย ไม่ต้องตีความ แต่สุดท้ายกลับยุ่งยากกว่าเดิม ปัญหาในการตีความไม่อยู่ที่ว่าเนื้อหาจะยาวหรือสั้น รัฐธรรมนูญควรวางหลักใหญ่เอาไว้ สิ่งสำคัญที่รัฐธรรมนูญฉบับไม่ยาวมาก จะสร้างคุณค่าและจิตใจให้กับประชาชน รัฐธรรมนูญหลายประเทศก็ไม่ได้ยาว รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯใช้กันมา 200 ปี ไม่ได้ยาวมาก แต่มีส่วนประกอบอื่นตามมา ผมจึงเลยเห็นว่า รัฐธรรมนูญแค่ร้อยมาตราเศษก็เพียงพอ ไม่ต้องขนาด 300 เยอะไป รายละเอียดอื่นๆ อาจไปในกฎหมายอื่น ยกตัวอย่างปัญหาคุณสมบัติรัฐมนตรี ก็ไม่มีความจำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อันนี้อาจทำเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะรัฐมนตรีก็ได้ ประเทศไทยไม่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พรป.)ว่าด้วยคณะรัฐมนตรีเลยนะ ไม่มีพรป.สภาผู้แทนราษฎร เราไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญหมด ไม่ควรเป็นแบบนั้น เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญคงสถิตสถาพร รัฐธรรมนูญมีเฉพาะแค่เนื้อหาสำคัญ ส่วนรายละเอียดอื่นไว้ในกฎหมายชั้นรองลงมาดีกว่า เวลาเปลี่ยนแปลงอะไรก็ไม่ต้องถึงขั้นแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งจะทำได้ยาก กฎเกณฑ์ที่ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญแต่อยู่ในกฎหมายรองลงมา ซึ่งจะยืดหยุ่นและรับกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ดีกว่า
.
อ.วรเจตน์ กล่าวถึงคำถาม หากรายละเอียดไว้ในกฎหมายลูกก็จะแก้ง่ายเกินไปหรือไม่ว่า อันนี้เป็นตรรกะที่ไม่ไว้ใจนักการเมืองก็จะกลับไปสู่ประเด็นเดิมๆในสังคมไทย ถึงแม้เราพร้อมกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขขนาดไหน ผมเชื่อว่าว่าถ้าระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย พรรคการเมืองมีระบบที่ดี พวกเขาจะรู้ร้อนรู้หนาวในความรู้สึกของประชาชน จะไม่ทำอะไรน่าเกลียดเกินไป ความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ศีลธรรม จะช่วยกำกับให้พรรคการเมือง นักการเมืองเอง ที่ต้องไปเลือกตั้ง ถ้าเกิดเลือกตั้ง มีส.ส.เนี่ย ก็ต้องใส่ใจความรู้สึกประชาชนใช่ไหม ผมจึงไม่ค่อยกังวลว่า นักการเมืองจะแก้ ถ้าเราพูดแบบนี้ก็ทำอะไรไมได้ เพราะกฎหมายออกโดยนักการเมืองอยู่แล้ว แต่ว่าในความชอบธรรม เขามาจากประชาชน
.
.
‘นักการเมือง’ ต้องมีมาตรฐานจริยธรรม?
.
อ.วรเจตน์ กล่าวว่า สำหรับผม จะมีก็ได้ จริยธรรม แต่จะมีปัญหาในการใช้อำนาจขององค์กรที่ตัดสิน โดยในช่วงหลังการรัฐประหาร 2549 ต้องเอาประเด็นจริยธรรม ศีลธรรม มากำกับนักการเมือง แต่ต้องไม่ลืมว่า นั้นจะเป็นการให้อำนาจกับองค์กรบางส่วน เช่น ศาลหรือองค์กรอิสระที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน จะสามารถเล่นการเมืองหรือแสดงเจตจำนงการเมือง เป็นผู้เล่นทางการเมืองได้โดยไม่สนใจใคร ไม่มีความพร้อมต้องรับผิดกับใคร ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นอันตรายอีกแบบ สิ่งนี้เป็นบาลานซ์กัน คือต้องสร้างกฎเกณฑ์ที่ต้องเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง สร้างสำนึกเหล่านี้ขึ้นมา อาจต้องใช้เวลาปรับกันได้ ถ้าให้ระบบแก้ไขในระบบไป ไม่ต้องปิดสวิตช์ ตัดตอนอย่างที่ทำกันมา การเมืองจะพัฒนาดีกว่านี้ แต่ว่าเราไปปิดสวิตช์ตลอด ปัญหาก็มาเรื่องเดิมๆ ตกค้างมาจากการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองซึ่งยังไม่ยุติ บางฝ่ายที่เป็นฝ่ายการเมือง กับฝ่ายประจำ หรือฝ่ายจารีตกับฝ่ายประชาธิปไตย ก็เป็นปัญหาบ้านเรามาโดยตลอด
.
.
ระบบการเลือกตั้ง ต้องใส่ในรัฐธรรมนูญแบบละเอียด?
.
อ.วรเจตน์ กล่าวว่า ขอย้อนกลับไปในทางประวัติศาสตร์เล็กน้อย เราทดลองทั้ง 2 แบบก่อนปี 2492 เราก็ไม่ได้ระบุระบบเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ที่วางระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ถึงได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์เลือกตั้งขึ้นมา โดยส่วนตัวผมคิดว่า มองได้ 2 อย่างที่ต้องกำหนดแน่ๆในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พระราชบัญญัติ แต่เป็นหลักการทั่วไปของการเลือกตั้ง หลักทั่วไปเช่น การเลือกตั้งโดยเสรี หรือโดยลับ หรือการเลือกโดยตรง อันนี้ควรอยู่ไว้ในรัฐธรรมนูญ หลักการสำคัญที่ให้ประชาชนใช้สิทธิควรไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนระบบเลือกตั้ง โดยส่วนตัวชอบระบบเลือกตั้งที่ไว้ใน พรป.หรือพระราชบัญญัติธรรมดามากกว่า คือระบบต้องสามารถเปลี่ยนแปลงได้ไม่ยากนัก เช่น ถ้าช่วงหนึ่งระบบเลือกตั้งที่ใช้ไม่เหมาะกับยุคสมัย ก็ควรจะเปลี่ยน เปิดพื้นที่สภาให้เปลี่ยนได้ แต่ถ้าจะใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่ไม่ต้องขั้นใส่วิธีคำนวณอะไรขนาดนั้น คุณวางระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก หรือสัดส่วน หรือระบบผสม อันนี้วางหลักได้ แต่วิธีการต่างๆไม่จำเป็นต้องใส่ในรัฐธรรมนูญ ถ้าใช้บัตร 2 ใบแบบในปี 40 ที่แยกกันแบบ ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ แต่ถ้าใช้ระบบแบบเยอรมนี แบบที่ใช้คะแนนเสียงของพรรคการเมืองเป็นตัวตั้งแล้วเอาส.ส.เอาออก ใช้บัตรใบเดียวก็ได้ แต่แบ่งฝั่งซ้ายขวาก็ได้ ถ้าจะพูดบัตรใบเดียวหรือสองใบก็ต้องพูดว่าเป็นระบบเลือกตั้งแบบไหนด้วย ระบบเยอรมนีใช้บัตรใบเดียวนะแต่แบ่งเป็น 2 ฝั่ง ส.ส.แบ่งเขตอยู่ฝั่งซ้าย อีกฝั่งแบบบัญชีรายชื่อ เขาจะเอาคะแนนเสียงของพรรคเป็นฐานคำนวณที่นั่งของพรรคการเมืองในสภา และเอาส.ส.เขตมาหักออก จะใช้คล้ายกันรธน.60 แต่ดีกว่า
.
ถ้าเกิดเราจะเอาระบบจัดสรรปันส่วนผสมแบบรัฐธรรมนูญ 2560 โดยส่วนตัว ฟันธงได้ว่า ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนีดีกว่าเห็นๆ ระบบแบบรธน.60 เอาคะแนนเดียวก็จริง เอาส.ส.เขตมาหักออกก็จริง อาจดูคล้ายกัน แต่ปัญหาคือ ระบบนี้กลับไม่ได้เคารพเจตนารมย์ของประชาชนว่าเขามีคะแนนเสียง บางทีอยากเลือกส.ส.เขต แต่ไม่อยากให้คะแนนกับบัญชีรายชื่อ หรือกลับกัน ก็อยากเลือกบัญชีรายชื่อ ไม่อยากเลือกเขต แต่เขาถูกบังคับทั้งส.ส.เขต ฉะนั้นเอา 2 คะแนนก็ได้ คือต้องพูดเรื่องหลักคือคะแนน ไม่ใช่บัตร บัตรเดียวก็ได้ แต่ต้อง 2 ช่อง ถ้าจะเอา 2 คะแนนที่ดีสุด คือเอาพรรคการเมืองเป็นตัวตั้ง แล้วมาหักจากส.ส.เขต ซึ่งจะสะท้อนเป็นรูปธรรมที่สุด
.
ดีรองลงมา คือแบบรธน.40 แต่เน้นที่ส.ส.เขตเยอะ คือ 400 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 100 ถ้าจะเอาใกล้เคียงกว่านี้ จะเป็น 300 ที่นั่งส.ส.เขต หรือ 200 ปาร์ตี้ลิสต์ก็ได้ หรือพาราเรลล์ก็ได้ ไม่ถึงกับแย่ ยังเคารพเจตจำนงประชาชนอยู่ แต่แบบพาราเรลจะเน้นแบบเสียงข้างมาก แต่คะแนนเสียงบางส่วนตกน้ำ แต่ผมคิดว่ายังไงก็ดีกว่า แบบจัดสรรปันส่วนผสมแน่ บางคนก็โต้เถียงว่าดี เพราะสะท้อนเจตนารมณ์จริงๆ คือใบบัตรเดียว แต่มีข้อเสียสำคัญคือ ขาดการเคารพเจตจำนงประชาชนจริงๆ หลายประเทศที่เคยใช้ระบบที่เราใช้ในรธน.60 ก็เลิกใช้แล้ว ผมก็เห็นด้วย ผมไม่ค่อยชอบระบบรธน.60 ระบบเลือกตั้งในรธน.ร่างชุดอ.บวรศักดิ์นั้นโอเคกว่า เรายังไม่เคยลองระบบนี้ ก็น่าจะดี ส่วนใหญ่คนมักต่อต้านที่ว่าระบบเข้าใจยาก ประชาชนไม่เข้าใจ จริงๆแม้แต่ประเทศเจริญแล้วก็ไม่เข้าใจ เขารู้แต่ว่ามี 2 คะแนนพอ คือเลือกส.ส.เขตกับบัญชีรายชื่อ
.
ส่วนเรื่องคำนวณคะแนน ให้เป็นเรื่องของนักเทคนิคเอา ไม่ต้องสอนให้ประชาชนคำนวณเป็นขนาดนั้น ไม่จำเป็นเลย ประชาชนทั่วไปรู้แค่ว่า เลือกคนที่รัก พรรคที่ชอบ จบ!
.
.
ระบบสภาเดี่ยว vs สองสภา
.
อ.วรเจตน์ กล่าวว่า ส.ว.จะมีอยู่หรือไม่ จะต้องตอบคำถามแรกก่อนว่า มีไว้ทำไม? จุดประสงค์ในการมีพวกเขาคืออะไร? ถ้าเราตอบไม่ได้ หรือตอบไม่ได้ มีเพื่อสนับสนุนอะไรบางอย่างที่เป็นสิ่งแปลกปลอมต่อระบอบประชาธิปไตย อย่างส.ว.แต่งตั้ง ทำระบบปั่นป่วนหมด เราเคยใช้มาอดีต ถ้าทำแบบนี้ไม่ควรมี ถ้าจะมี จะต้องมีความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย อันนี้สำคัญ แต่ส.ว.แต่งตั้งชุดปัจจุบันที่เกิดขึ้น เรามีส.ว.ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ คือปี 2489 เราเรียกว่า พฤษฒสภา หรือสภาผู้อาวุโส อันนี้มาจากเลือกตั้งโดยอ้อม ส.ส.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เลือก 2 ชั้น เค้ามีความชอบธรรม ส่วนแบบรธน.40 ส.ส.และส.ว.มาจากการเลือกตั้งก็จริง แต่ถูกครณาว่าเป็นสภาผัวเมีย แต่รธน.40 โดยการออกแบบ จะต้องเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว เพราะฐานคนเลือกตั้งเป็นคนเดียวกัน ระบบบ่งชี้โดยสภาพอยู่แล้ว ถ้าเราจะมีส.ว. เราควรปฏิเสธส.ว.จากการแต่งตั้ง ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่จะเลือกระบบแบบไหนค่อยว่ากัน ส่วนสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ ก็ต้องมาคุยกัน ว่าจะกำหนดบทบาทส.ว.ยังไง ว่าเป็นสภารับรองหรือสภาพี่เลี้ยงต่างๆไหม
.
แต่ถ้าถามโดยส่วนตัว ผมอยากได้สภาเดียว ง่ายสุด ไม่ต้องมี 2 สภา แต่ถ้ามีสภาเดียว อาจต้องกำหนดเทคนิคทางกฎหมายไว้ ในการกำกับการทำงาน เพราะไม่มีสภาที่ 2 คอยกลั่นกรองแล้ว ตัวกฎหมายก็จะผ่านเร็วขึ้น แต่ต้องปรับตัวคณะกรรมาธิการ ซึ่งตัวกฎหมายรัฐสภาจะมาช่วย ระบบของการคุมสมาชิกพรรคการเมือง ไม่ควรเป็นระบบที่ไล่สมาชิกออกจากพรรคได้ง่ายๆ แต่ควรมีว่าสมาชิกที่ฝ่าฝืนมติพรรค อาจต้องเจอบทลงโทษไม่ใช่ไล่ออกแล้วต้องหาพรรคใหม่ แบบที่เราเขียน อันนี้ผิดหลัก เขามาจากประชาชน ถ้าเกิดไล่ออกแล้วหาพรรคใหม่ไม่ได้ เขาพ้นสมาชิกภาพ ต้องไปหาพรรคใหม่ ทั้งที่ประชาชนเลือกเขาเพราะอยู่พรรคนี้ ผมจึงมองว่าระบบการลงโทษส.ส.ที่ไม่ทำมติพรรค อาจลงโทษว่าจะไม่ส่งลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หรือถอดตำแหน่งกรรมาธิการในโควตาพรรคคืน เท่ากับเป็นกบฏในพรรค แต่ว่าในอีกด้านต้องยอมรับว่า ส.ส.แต่ละคนควรมี Free Mandate พรรคเวลาออกเสียง จะบังคับเขาไม่ได้ เขาต้องออกเสียงโดยมโนธรรมสำนึก ต้องรักษาสมดุล 2 อย่างนี้ให้ได้ ในกติกา แต่เราจะให้พรรคไม่มีอาวุธเลยไม่ได้ ไม่งั้นพรรคการเมืองไม่มีวินัย แต่ไม่ใช่ว่าวินัยที่ทำพรรคไม่ถูกใจก็ไล่ออกเลย ไม่น่าจะใช่ ไม่น่าจะเป็นแบบนั้น พวกนี้ปรับในกฎหมายลำดับต่ำลงมา ไม่ใช่อยู่ในรัฐธรรมนูญ
.
มีเทคนิคหลายอย่างที่จะช่วยให้การทำงานในสภาเป็นไปได้ดี มืออาชีพมากขึ้น มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ต้องปรับกฎหมายรัฐสภา ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องรัฐธรรมนูญอย่างเดียว
.
ถ้าหากไม่มี ส.ว. ตัวองค์กรอิสระจะเป็นอย่างไร อ.วรเจตน์ กล่าวว่า จะถ้ามีองค์กรอิสระอยู่ในอนาคต ไม่ควรเป็นองค์กรในระดับรัฐธรรมนูญ ปกติองค์กรอิสระที่อยู่ตามกฎหมายนั้นเรียกว่า องค์กรอิสระในทางปกครอง เกิดขึ้นโดยกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นมา องค์กรอิสระในระดับรัฐธรรมนูญเป็นนวัตกรรมของรัฐธรรมนูญ 2540 มีเยอะแยะในฐานะสูงมาก รธน.40 สร้างขึ้นมาเพื่อคานกับฝ่ายการเมืองแล้วขยายมากขึ้นหลังปี 2550
.
เอาเข้าจริง องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในความเห็นผม คือระบบราชการอีกอย่างหนึ่ง ระบบราชการระดับสูงโดยสภาพการทำงานเพื่อมาคุมฝ่ายการเมือง ซึ่งจริงๆ พวกเขาขาดความชอบธรรมในหลายมิติ เป็นลักษณะของการเอาฝ่ายประจำมคุมฝ่ายการเมือง เพราะฝ่ายประจำส่วนหนึ่งอยู่ฝ่ายการเมือง ซึ่งจริงๆไม่น่าจะถูก องค์กรอิสระนั้น โดยวิธีการเกิดและวิธีการคิด หน้าที่ของเขา ควรใช้งานหลักบทกฎหมาย แต่งานบางอย่างพวกเขา ไม่ควรอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ก็ดึงงานเหล่านี้ให้เป็นขององค์กรอิสระ โดยความเห็นชอบบางส่วนของสภา ระบบการตรวจสอบก็โดยศาลเข้าตรวจสอบ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าองค์กรอิสระ อาจเอาออกตามรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรอิสระตามปกครอง แต่รัฐธรรมนูญเขียนประกันความเป็นสถาบันบางองค์กร แต่รายละเอียดให้รัฐสภาเป็นผู้กำหนด ที่มาที่ไปนั้นออกแบบได้หลายอย่าง โดยองค์กรอิสระจะต้องได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร แต่กำหนดมติให้สูงหน่อย เพื่อบีบให้รัฐบาลและฝ่ายค้านตกลงกันให้ได้ เช่น 2 ใน 3 ประมาณนี้ และต้องบรรจุความรับผิด ต้องรายงานกิจการบางอย่างต่อสภา ว่าแต่ละปีได้งบประมาณไปทำอะไร องค์กรอิสระไม่จำเป็นต้องมีเยอะแยะ เพราะเวลาเกิดปัญหาก็จะมีการถกเถียงเรื่องเขตอำนาจเช่นศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง ยุ่งยาก แล้วก็ทฤษฎีในทางรัฐธรรมนูญยังตอบกฎหมายได้ไม่ถนัด ถ้าจะมีได้ องค์กรที่จะมีได้ ก็เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง อาจจะต้องยอมให้ได้ แต่ไม่เห็นด้วยระบบราชการของกตต. ที่ต้องมีกกต.จังหวัด ควรใช้มหาดไทยในการจัดการ ไม่ควรมีการสร้างระบบราชการขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง แต่ควรใช้กลไกของมหาดไทย ส่วนเลือกตั้งก็รับฟังคำสั่งของกกต. ปกติก็ดำเนินการจัดการเลือกตั้งโดยมหาดไทย แค่บางมหาดไทยบางครั้งเข้าข้างรัฐบาล ถ้าเราไปสร้างระบบใหม่ขึ้นมา จะทำให้มีความเทอะทะมากเกินไป สิ้นเปลืองงบประมาณ
.
กกต.ทำหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้ง ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย กลไกลระดับอำเภอ ตำบล รับนโยบายจัดการเลือกตั้ง จากกกต.ได้ แม้เกรงใจมหาดไทย แต่ก็สามารถกำหนดระบบไม่ให้มหาดไทยเข้าไปมีอำนาจในการสั่งการเรื่องนี้
.
.
ศาลรัฐธรรมนูญ ควรมีอยู่หรือไม่?
.
อ.วรเจตน์ กล่าวว่า เอาจริง เรื่องนี้พูดยาก เพราะบ้านเราใช้หลักของความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นจะมีปัญหาตลอดเวลา หากรัฐสภาออกกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนนูญ และต้องมีคนชี้ขาด ในทางวิชาการก็เถียงตลอด คนที่ชี้ขาดได้ควรเป็นองค์กรแบบไหน จะให้การเมือชี้ขาด เช่นสภาตั้งคณะกรรมการมาตัดสินในเรื่องดังกล่าว เป็นการเมืองแท้ๆ หรือองค์กรกึ่งตุลาการ เช่นตุลารัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ตัวผู้พิพากษา เป็นตุลาการที่แต่งตั้งโดยสภา หรือศาล มีคนเสนอว่า ให้ศาลฎีกาเป็นคนตัดสินดีกว่า
.
แต่โดยส่วนตัว ไม่เห็นด้วยว่าต้องให้ศาลฎีกาตัดสินเรื่องนี้ ผมว่าศาลฎีกามีงานตัดสินในคดีแพ่งและอาญามากพอแล้ว ควรต้องมีองค์กรทำหน้าที่ อาจเรียกว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่ว่าต้องออกแบบที่มาที่ไปของตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่มาจากที่ประชุมใหญ่ แต่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนเลย ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งที่เขาใช้อำนาจสำคัญ ตอนสมัยทำในนามนิติราษฎร์ ได้เคยเสนอให้มีคณะกรรมการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แทนศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรกึ่งการเมือง-ตุลาการให้ที่มามาจาก 3 ฝ่ายอำนาจ ฝ่ายละ 3 คน แต่ว่าแน่นอนองค์กรต้องเชื่อมโยงกับประชาชน ต้องร้อยเรียงกัน แบ่งแยกไม่ได้ ไม่งั้นขาดความชอบธรรม
.
.
‘ศาล’ องค์กรที่ต้องแตะได้ ปฏิรูปได้
.
อ.วรเจตน์ กล่าวถึงในส่วนของศาลผู้ใช้อำนาจตุลาการตามรัฐธรรมนูญว่า เยอะมาก มีหลายอย่างที่ต้องแก้ รัฐธรรมนูญ 2560 แทบไม่แตะเลย จริงๆระบบศาลตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาองค์กรตุลาการแทบไม่ได้ผลกระทบกระเทือน เหมือนเขตสงวนของคนในระบอบเก่ามาทำงานในระบอบใหม่ ระบบวิธีการได้มาซึ่งตัวตุลาการก็เป็นแบบเดิม หนำซ้ำระบบตุลาการใช้เป็นลักษณะที่เรียกว่า ดินแดนที่ไม่มีใครแตะต้อง บริหารงานบุคคลเอง จัดสอบคัดเลือกเอง แล้วลามมาถึงระบบการศึกษากฎหมายอีก
ดังนั้นศาลเอง คำถามหนึ่ง ต้องมีการปฏิรูปใหญ่เลยไหม ใช่ต้องปฏิรูป เพราะเมื่อพูดถึงศาล อันหนึ่งที่เป็นคาถาพิเศษที่ชอบท่องกัน คือความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ซึ่งสำคัญอยู่ เพราะถ้าไม่มีความเป็นอิสระก็คาดหวังความยุติธรรมยาก แต่ว่าความเป็นอิสระนั้น เป็นคนะละเรื่องการกำหนดการบริหารงานบุคคลหรือที่มาในการได้ซึ่งตุลาการ ความเป็นอิสระของเช่น อธิบดีไม่สามารถสั่งผู้พิพากษาได้ ต้องมีองค์คณะในระบบ ไม่ใช่ตรวจตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกัน ต้องมีระบบที่ตุลาการต้องมีความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย
.
ความชอบธรรมในทีนี้คือ คำว่าตำแหน่งของเขาต้องเชื่อมโยงกับประชาชนได้ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เช่น คณะกรรมการคัดเลือกตุลาการ ก็ต้องมีตัวแทนจากสภาผู้แทนราษฎรเข้าร่วมไปคัดเลือก ตัวสายโซ่ความชอบธรรมจะไม่ขาด ระบบวินัยทางตุลาการต้องมีการประกัน ตรวจสอบกันระหว่างศาล เช่น ศาลอาญาจะถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง หรืออาจมีองค์คณะตัดสินวินัยผู้พิพากษาโดยเฉพาะ แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าแตะ ไม่มีใครมีปัญหากับศาล ที่ใช้อำนาจตีความ ประสบการณ์ของผมที่เคยเจอกรณีไม่รายงานตัวกับคสช.
.
ผมว่าวัฒนธรรมการทำงานในศาลก็ต้องเปลี่ยน เจ้าหน้าที่ธุรการควรอยู่กับศาลหรือกระทรวงยุติธรรม พอเป็นแบบที่เป็นอยู่ เจ้าหน้าที่ธุรการทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับประชาชน บางทีเจ้าหน้าที่ศาลก็เป็นเจ้านายของประชาชน ไม่นานมานี้ ผมถ่ายตัวตึกศาลไม่ได้เลย ผมไม่รู้ว่าทำไม อ้างว่าไม่สงบเรียบร้อยในศาล ถ่ายรูปต้องถ่ายไกลๆ หรือแม้แต่การทำบัลลังก์ศาลจะทำสูงไปไหน ในแง่วัฒนธรรม ศาลต้องให้ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น
.
อย่างไรก็ตาม อ.วรเจตน์ กล่าวว่า ถึงกล่าวแบบนั้นแต่ก็ไม่ได้แปลว่า เราจะทำอะไรกับศาลก็ได้ ในสังคมๆหนึ่งต้องมีองค์กรหนึ่งที่พูดแล้วสิ้นสุด ในทางกฎหมาย ไม่เช่นนั้นสังคมจะหาข้อยุติไม่ได้ บางทีเขาอาจพูดผิดหรือตัดสินผิดก็ได้ แต่ต้องจบ ไม่ใช่พูดผิดหรือตัดสินผิดบ่อยๆ แล้วประชาชนไม่เชื่อมั่น ซึ่งจะเสื่อมลง ข้อกฎหมายที่มีความซับซ้อนก็รับได้ แต่ว่าก็ต้องสร้างความเข้มแข็งในทางวิชาการเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งต้องมีส่วนนี้ แต่ว่าถ้าเกิดทางวิชาการ กลัวว่าจะไม่ได้แต่งตั้งเป็นกรรมการวิชาการไรนี่นั้น เดี๋ยวไม่ได้งานวิจัย ก็เกิดวัฒนธรรมการวิจารณ์ยาก
.
ศาลอาจมีอะไรบางอย่างมากขึ้น โดยเฉพาะในทางหลักการ ว่าก็จะอยู่ในกฎหมายระเบียบราชการบริหารข้าราชการตุลาการ
.
ส่วนศาลทหารก็ควรไปอยู่ในทหาร อาจจำเป็นในแง่วินัย หรือแง่ทำผิดอาญา ในระบบราชการทั้งหมด ระบบการบังคับบัญชาของทหารเข้มข้นที่สุด เข้าใจว่าเป็นหน่วยป้องกันประเทศ เป็นการดำรงอยู่ของรัฐเวลามีสงคราม ศาลทหารอาจมีได้ในยามสงคราม การตัดสินใจสนามรบ แต่ว่าที่จริงควรศาลวินัยทหารมากกว่า ก็น่าเห็นใจ ทหารผู้น้อย คือระบบการดูแลทหารชั้นผู้น้อยไม่ค่อยดี ทหารไม่มีไอเดียเรื่องสิทธิ ทั้งที่ทหารก็เป็นประชาชน ลูกหลานเกิดเป็นอะไรไปขึ้นมา เขาเข้าไปรับราชการ ไม่ได้เป็นทาสหรือคนใช้นายพล ดังนั้น เวลาลงโทษอะไรที่ไม่ถูกต้อง ก็ต้องมีระบบตรวจสอบผู้บังคับบัญชาได้ ระบบการต้องมีผู้พิพาษาที่มีความรู้เรื่องกฎหมายหรือมีพลเรือนเข้าร่วม แต่ศาลทหารที่ผมไปเจอ เป็นพลเรือนที่ขึ้นศาลทหาร มีแต่ทหาร คดีผมก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ก็ไม่ได้ว่าอะไรพวกเขา แต่ว่าในแง่ระบบ ศาลาทหารโดยเนื้อแท้ยังเป็นศาลได้ไหม ถ้ายังต้องขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม โดยส่วนตัวไม่น่าเรียกได้ อาจต้องคิดว่าจะมีศาลปกครองทหาร หรือถ้าเป็นคดีอาญาจะต้องมีศาลอาญาคดีทหารไหม แต่ในแง่นี้คือ ไม่ควรเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารไง แต่เข้าใจว่าเป็นเครื่องมือเวลาทำรัฐประหาร อย่างที่เคยพูดว่าการรัฐประหารเป็นระบบในระบอบบ้านเราซ้อนขึ้นมาที่เรียกว่า ระบอบรัฐประหาร ซึ่งเกิดขึ้น และเกิดความคุ้นชินเวลาทำงาน การยึดอำนาจสำเร็จ ทุกคนรู้ว่าต้องทำอะไร เราซ้อมจนชิน เลยเป็นระบบขึ้นมา รัฐประหารเป็นอะไรที่อยู่คู่สังคมไทย ถ้าต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย รัฐประหารต้องถูกขจัด ทหารต้องมีความเป็นมืออาชีพ แต่ไม่ใช่ว่าใหญ่เทอะทะ การรบก็เปลี่ยนแล้ว แต่ชอบคิดว่าเพื่อนบ้านต้องเกรงใจเรา ต้องมีเรือดำน้ำ
.
.
“กองทัพ” องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ถึงเวลาต้องถูกจัดวาง
.
อ.วรเจตน์ กล่าวว่า ผมเคยเสนอให้มีผู้ตรวจการณ์กองทัพ แต่งตั้งโดยรัฐสภา รับเรื่องร้องทุกข์ของทหาร มีอำนาจดูงบประมาณของทหาร ส่วนข้าราชการพลเรือนเขามีระบบการตรวจสอบอยู่แล้ว เช่น กตง. แต่ว่าที่เราต้องมีอันนี้ เพราะระบบบังคับบัญชาของทหารค่อนข้างเข้ม แล้วเราต้องให้ทหารอยู่ใต้อำนาจรัฐบาลพลเรือน ทหารจะต้องตระหนักว่าอยู่ภายใต้พลเรือนซึ่งไม่เคยมีในบ้านเรา ทหารมีลักษณะดำรงอยู่เหมือนรัฐอิสระ คือถ้าพูดถึงรัฐธรรมนูญที่ควรจะไป คือผมให้เกียรติและเห็นใจทหารชั้นผู้น้อย แต่ต้องมีทหารมืออาชีพ ไม่ใช่ทหารที่บริหารประเทศ จะต้องเป็นคนที่ประชาชนเลือก ทุกอาชีพต้องมีความเป็นมืออาชีพ
.
.
สถาบันพระมหากษัตริย์ การปฏิรูปที่แทบเป็นไปไม่ได้?
.
อ.วรเจตน์ กล่าวถึงบทบัญญัติที่สังคมไทยหรือการเมืองไทยในปัจจุบันแทบไม่เคยกล้าแตะอย่างสถาบันพระมหากษัตริย์ การปฏิรูปที่แทบเป็นไปไม่ได้?
.
อ.วรเจตน์ กล่าวถึงบทบัญญัติที่สังคมไทยหรือการเมืองไทยในปัจจุบันแทบไม่เคยกล้าแตะอย่างสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า ต้องแก้ไขเยอะมาก คือปัญหาใหญ่ตอนนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่า ถ้าย้อนกลับไปประวัติศาสตร์การเมืองไทย สถานะตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้สถิตย์นิ่งอยู่ แต่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ โดยเฉพาะตำแหน่งแห่งที่ พระราชอำนาจ มักเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร มีการเคลื่อน เพิ่มอำนาจขึ้นมา เช่นรัฐประหาร 2490 ตามด้วยรธน.2492 หรือการรัฐประหาร 2534 เกิดรธน.2534 อันนี้สถานะในส่วนกฎมณเฑียรบาลก็เปลี่ยน หรือล่าสุด รธน.2560 เป็นจุดหักเหสำคัญและเป็นสิ่งที่การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่พูดถึง ซึ่งมีเหตุผลอยู่คือ รธน.60 ไปถวายพระราชอำนาจในตัวบท เราพูดถึงตัวบทในสถาบัน ไม่ใช่ตัวพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ต้องเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์คือตำแหน่งๆหนึ่งของรัฐ ทีนี้ พระราชอำนาจมีหลายส่วนอย่างหน่วยราชการในพระองค์ ซึ่งแยกออกจากระบบต่างหาก ก่อนหน้านี้อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันหลุดออกไปขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์ อันต่อมาคือ คณะสงฆ์ อันนี้เกี่ยวข้องกับศาสนจักรด้วย อำนาจการแต่งตั้งสมณศักดิ์ อำนาจเคลื่อนออกจากมหาเถรสมาคม อันที่ 3 ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย 2 ครั้งติดๆกัน
.
ทีนี้ เรื่องนี้มีรายละเอียดมาก และยังไม่ใช่เวลาทำในตอนนี้ แต่สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือตัวหลักการ สำหรับผม อำนาจต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบในนิติรัฐ เว้นแต่บ้านเราจะไม่มีนิติรัฐหรือมีบางส่วนก็ว่าไปแล้วแต่ อย่างที่บอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นผลมาจากระบอบการปกครอง รธน.60 มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงระบอบไปแล้ว โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์
.
เรื่องการจัดการทรัพย์สินฯก็อยู่ใน พรบ.อยู่แล้ว ทีนี้บางเรื่องอย่าง ข้าราชการในพระองค์ อาจจะต้องย้อนกลับไปก่อน รธน.60 ไหม เพราะที่ดีที่สุดคือ ก่อนปี 2490 เพราะรัฐธรรมนูญในช่วงนั้นแนวโน้มไปในลักษณะราชาธิปไตยแบบรัฐสภามากที่สุด องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ พ้นไปจากการเมือง ไม่ได้ใช้อำนาจโดยพระองค์เอง แต่มีผู้รับสนองพระราชโองการ ซึ่งคนที่ได้รับความเสียหายสามารถฟ้องศาลกับผู้รับสนอง
.
คือบทบาทบัญญัติที่มีในหมวดพระมหากษัตริย์นั้น มีไว้เพื่อเฉลิมพระเกียรติ คือประเทศที่มีกษัตริย์ สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันการเมืองจารีตที่เชื่อมอดีตกับปัจจุบัน จะมีประเพณีต่างๆมา ดังนั้นสถานะของพระมหากษัตริย์กับประธานาธิบดีจะไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง พระมหากษัตริย์มาจากการสืบสันตติวงศ์ แม้จะมีเลือกก็เลือกโดยกลุ่มบุคคลที่มีความเป็นจารีต สถานะของกษัตริย์บางส่วนจะไม่มีในประธานาธิบดี ซึ่งก็แล้วแต่ประเทศ จะถวายแค่ไหน ขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นเป็นกรณีที่ดี สหรัฐฯไปจัดการหลังสงครามโลกในส่วนกองทัพและพระจักรพรรดิ สถาบันพระจักรพรรดิต้องเปลี่ยนจากเดิมจากรัฐธรรมนูญสมัยเมอิจิ แต่ว่าให้สถานะประมุขของรัฐและมีฐานะเป็นเหมือนผู้ใหญ่ของบ้านเมือง คือมนุษย์เวลาเกิดความทุกข์ร้อน มีใครซักคนเป็นหลักชัยได้ในยามวิกฤต ก็จะทำให้มีขวัญกำลังใจคนในประเทศดี อย่างสมเด็จพระราชินีอลิสซาเบ็ธของอังกฤษกรณีโควิด หรือสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นตอนเกิดซึนามิ ซึ่งตำแหน่งในทางสัญลักษณ์ ตำแหน่งอื่นนี้อาจทำได้ไม่ดีเท่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะและบุคลิกภาพของพระองค์ มีความสามารถไม่เท่ากัน แต่ในฐานะสถาบันเราก็คาดหวังเช่นนั้น
.
ส่วนที่ว่าความเป็นจอมทัพไทย แล้วทหารต้องฟังพระมหากษัตริย์มากกว่าฟังรัฐมนตรีกลาโหม อันนี้ก็ต้องคุยกันในทางกฎหมาย ถ้าหลักเรื่องเป็นความมีอำนาจสูงสุดของรัฐบาลพลเรือนปรากฏขึ้นจริงก็จะไม่มีปัญหา พระมหากษัตริย์ก็มีพระราชอำนาจในแง่ถวายพระเกียรติ ก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ ถ้าอธิบายทางกฎหมายได้อำนาจบังคับบัญชาของทหารไม่ได้อยู่ที่พระมหากษัตริย์แต่อยู่ที่ รัฐมนตรีกลาโหม ในกรณีฉุกเฉินก็โอนอำนาจให้อยู่ที่นายกรัฐมนตรีก็ไม่เป็นไร เราจะต้องพูดกฎอัยการศึก กฎหมายฉุกเฉินอีก เราจะเขียนแค่ไหน อันนี้แล้วแต่ ไม่ได้ซีเรียสสำหรับผม
.
.
รัฐธรรมนูญถึงฝัน แต่ทำยังไงไม่ให้ถูกฉีกทิ้ง?
.
อ.วรเจตน์ กล่าวว่า เอาเข้าจริงในทางกฎหมายนั้น ทำได้น้อย เราต้องพูดแบบนี้ ถ้าจะฝันว่าเขียนบทบัญญัติซักอันเหมือนลงยันต์ว่าจะไม่ถูกฉีก ผมคิดว่า กำลังฝันอยู่ เราเคยมีประสบการณ์กรณีรัฐธรรมนูญ 2517 เคยเขียนว่า การนิรโทษกรรมที่เป็นการกระทำมุ่งล้มล้างราชบัลลังก์หรือรัฐธรรมนูญ จะกระทำไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญ 2517 ก็ใช้ได้แค่ 2 ปีก็เกิดเหตุสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 อยู่ดี ก็ไม่เห็นเกิดอะไรขึ้น นิรโทษกรรมเหมือนเดิม
.
แต่ถ้าเป็นผม การที่รัฐธรรมนูญจะถูกฉีกหรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับประชาชนมีความพร้อมจะสู้ไหม เพื่อรักษาตัวรัฐธรรมนูญเอาไว้ ถ้าพร้อมสู้ การทำรัฐประหารมันหายไป ก็จะไม่ถูกฉีกทิ้ง อยู่ที่ประชาชน แม้จะพูดว่าประชาชนไม่มีปืน แต่ที่ผ่านมา หลายประเทศประชาชนเคยต่อสู้แบบนี้ ประเทศเหล่านื้ทหารยึดอำนาจยาก ไม่ใช่ทหารที่เป็นรัฐอิสระซึ่งเสี่ยงมาก อันนี้ต้องว่ากันที่การให้การศึกษากับทหาร นักกฎหมายก็เหมือนกัน
.
เพราะฉะนั้น ในแง่การเขียนอาจทำได้ไม่มาก แต่ที่คิดว่าทำได้ คือการลบล้างผลพวงจากการรัฐประหารที่นิติราษฎร์เคยเสนอไว้เมื่อหลายปีก่อน เราทำรัฐธรรมนูญแล้วประกาศที่มีการนิรโทษกรรมหรือยึดอำนาจเป็นโมฆะหรือเสียเปล่า ไม่ได้มีผลย้อนหลัง เราใช้ประชามติว่าสิ่งที่เคยนิรโทษกรรมไม่ได้มีผลทางกฎหมายเหมือนไม่เคยมี ไม่ได้แปลว่าทำกฎหมายเพื่อถอดถอน แต่ประชาชนจะประกาศการนิรโทษกรรมที่ทำมา เสียเปล่าทางกฎหมาย กฎหมายไม่รับรู้ ทหารที่ใส่นิรโทษกรรมไว้เหมือนห้ามล้อไม่ให้ดำเนินคดีได้ ถ้าทำรัฐธรรมนูญเลิกส่วนนี้ เหมือนดึงตัวห้ามล้อออก กฎหมายก็ไหลต่อนำทหารที่ยึดอำนาจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งอันนี้ยาก ในทางความเป็นจริงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ทหารไม่ยอมแน่ ถ้าเกิดทำแบบนี้ ต้องการเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่และประชาชนชนะเด็ดขาด เอาผู้ยึดอำนาจที่ยังมีชีวิตอยู่มาขึ้นศาล
.
แต่ถ้าถามว่าไม่มีเทคนิคทางกฎหมายเลยไหม ในการทำให้การรัฐประหารยากขึ้น ไม่ถึงขนาดนั้น โดยเรื่องแรกคือ กฎอัยการศึก ทุกวันนี้ในความเห็นผมกฎอัยการศึกเหมือนม้าไม้เมืองทรอย การรัฐประหารล่าสุดในปี 2557 ก่อนยึดอำนาจ ผู้บัญชาการทหารบกประกาศเพื่อยึดกุมล่วงหน้า 2 วัน ผมมั่นใจว่ายึดอำนาจแน่แต่ไม่รู้ว่าอีกกี่วัน การประกาศกฎอัยการศึกคือใบเบิกทางให้ยึดอำนาจ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เราไม่เคยมีการทบทวนเลย
ที่ทำได้คือ ต้องแก้ไขกฎอัยการศึกเสียใหม่
.
อันที่สอง ที่ผมสังเกต การรัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุด (2549,2557) มักเกิดขึ้นตอนที่เราไม่มีสภาผู้แทนราษฎร คุณทักษิณยุบสภาตอนปี 49 เดือนกุมภาพันธ์เลือกตั้งแต่กลายเป็นโมฆะ เพราะเลือกตั้งโมฆะก็มีการประกาศเลือกตั้งใหม่ในเดือนตุลาคม แต่ถูกรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ซึ่งเป็นรัฐบาลรักษาการ ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีส.ส.นานหลายเดือน ปี 2557 ก็เหมือนกัน ยุบสภา เป็นรัฐบาลรักษาการ ต่อมาจัดเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยิ่งลักษณ์ทำงานไม่ได้ ก็ให้นิวัฒน์ธำรงมารักษาการแทน แล้วมีขบวนการ กปปส. เลือกตั้งโมฆะอีก พล็อตเรื่องคล้ายกัน
.
ที่น่าสังเกตเวลาทำรัฐประหารตอนไม่มีส.ส. คือพอยุบสภาคือ ตัวส.ส.นั้นสิ้นสุดเลย ถ้าจะทำให้ไม่เกิดรัฐประหาร จะต้องมีสภาผู้แทนราษฎรรักษาการณ์ พอไม่มีส.ส.ตอนยุบสภา อำนาจไปอยู่ที่วุฒิสภาหมดเลยทั้งที่ความจริง มีเหตุผลทางกฎหมาย เวลาที่ประชาชนยังไม่มีตัวแทนคนใหม่ งานอันเดิมที่มีอยู่ ควรต้องถูกรันต่อไป อาจมีคนเถียงว่า เสนอแบบนี้ ส.ส.ที่หาเสียงตอนนั้นก็ได้เปรียบกว่าคนอื่นสิ เราก็ต้องตัดตรงนี้ไป อะไรบางอย่างที่ได้เปรียบต้องตัดออก แต่ความเป็นรักษาการณ์ต้องมีอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ถ้าไม่มีจะบ่อนเซาะทำลายรัฐบาลได้ง่าย
.
แม้เป็นรักษาการณ์ ส.ส.อาจทำบางเรื่องได้ เพราะว่ารักษาการณ์ ถ้ามีกฎหมายสำคัญก็ต้องจำเป็น เราดีไซน์ระบบได้ องค์กรนี้ยังมีอยู่ แต่ว่าคือมันหายไป ต้องคิดระบบนี้ขึ้นในรัฐธรรมนูญไทย เพื่อทำให้ไม่เกิดสุญญากาศในอำนาจนิติบัญญัติ อาจมีความจำเป็นเช่นกรณีแต่งตั้งพระสำเร็จราชการแทนพระองค์ วุฒิสภาไม่ได้มาจากประชาชน หรือต่อให้ส.ว.เลือกตั้งจากประชาชนก็ต้องมีส.ส.รักษาการณ์หรือสภาเดี่ยวยิ่งต้องมีรักษาการณ์ เพื่อทำให้เกิดความต่อเนื่อง
.
แต่ถ้ามีส.ส.ชุดใหม่เข้ามาทำงาน งานเก่าของส.ส.ชุดเก่าก็ต้องตกไป เพราะถือหลักความไม่ต่อเนื่องของสภา ชุดใครชุดมัน จบเป็นจบ คณะกรรมาธิการถ้ามีงานแม้ยังไม่เสร็จ พอมีส.ส.ชุดใหม่ก็ต้องจบ ก็ต้องเริ่มใหม่
.
รัฐธรรมนูญเรามีข้อยกเว้น เช่นว่า ถ้าคณะรัฐมนตรี มีกฎหมายอะไรค้างอยู่และอย่างสานต่อ ก็ให้รัฐสภาทำต่อได้เลย อันนี้เป็นหลักการที่คงไว้ได้ หลักการไหนไม่ดีก็เปลี่ยน แม้แต่บัญญัติที่ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองอันนี้ไม่เห็นด้วย ควรลงอิสระได้สำหรับผมนะ แต่อาจเพิ่มข้อกำหนด ถ้าเป็นส.ส.อิสระ อาจไม่ได้เวลาอภิปราย หรืออาจได้แค่สั้นๆ หรือกรรมาธิการก็ไม่ได้เป็น เพราะกรรมาธิการกำหนดตามโควตาของพรรค เราจูงใจให้คนสังกัดแต่ไม่บังคับ เพราะหลักการลงเลือกตั้งเป็นสิทธิ ถ้าไม่มีพรรคไหนอยากเข้า แต่มีความนิยมในพื้นที่ก็ต้องลงได้
.
นอกจากนี้ อ.วรเจตน์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนั้น เป็นผลจากระบอบและตัวสะท้อนความเป็นจริงของดุลอำนาจในแต่ละช่วงเวลา อย่างที่ผมพูดไปอาจจะไม่เกิดขึ้นแลย เพราะผมไม่มีอำนาจไปทำรัฐธรรมนูญ หรือต่อให้เสนอ คนก็ไม่เอาเพราะไม่ได้ประโยชน์
.
เมื่อถามหากถูกเชิญจากสสร.เป็นประธานยกร่างรธน.จะตอบคำเชิญหรือไม่ อ.วรเจตน์ก็กล่าวว่า คงไม่มีใครเชิญ แต่ก็กล่าวว่า ในความรู้สึก เวลาทำรัฐธรรมนูญ ต้องมีหลักอย่างหนึ่งว่า องค์กรที่จัดทำต้องมีความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยด้วย ถ้าผมไปทำ ประชาชนควรจะเห็นชอบกับผมหรือตัวแทนประชาชนยอมรับว่าผมเหมาะไปทำ อันนี้พอมีโอกาส ผมไม่ได้จำเป็นว่าต้องอยากทำร่างรธน. ชีวิตผมคงไม่น่าได้ทำ เพียงแต่สักช่วงหนึ่ง ถ้าได้เขียนตำรา ผมอาจร่างรธน.ของผมเองทิ้งเอาไว้ อาจเป็นช่วงเวลาอันไกล เพราะต้องเขียนตำราในทางกฎหมายมหาชนก่อน ผมต้องการสร้างมาตรฐานทางกฎหมายมหาชนไว้ก่อนที่จะจากโลกไปให้คนรุ่นหลัง แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำอะไร ไม่ต้องมาจับผม ผมไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้เขียนร่างรธน.ที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ยกเว้นคณะรัฐประหาร 2490 ที่ทำร่างรธน.ฉบับใต้ตุ่มก่อนรัฐประหาร อันนั้นจะเข้าข่าย
.
ทั้งที่ อ.วรเจตน์ ได้ทิ้งท้ายให้กับผู้มีอำนาจที่คิดพยายามเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ผมคงไม่ฝากอะไร เพราะคงมีคนในการเมือง มีนโยบาย ประโยชน์ของเขาที่ต้องรักษา แต่กับประชาชนทั่วไปซึ่งที่จริง เขาต้องถือว่าเป็นเจ้าของอำนาจ ไม่อยากให้สิ้นหวัง การต่อสู้ให้ได้มาเพื่อประชาธิปไตย ต้องใช้เวลา ไม่เสร็จโดยเร็ว ต้องการความพร้อมของสังคมหลายอย่าง ในระหว่างที่ฝ่ายหนึ่งพยายามผลักดันความคิดประชาธิปไตย หลักนิติรัฐไปข้างหน้า จะก็มีอีกฝ่ายฉุดรั้งเอาไว้ ฝ่ายที่ฉุดรั้งเนี่ยก็มีหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่รู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลงแต่ไม่อยากให้เปลี่ยนหรือพยายามถ่วงให้นานที่สุดตราบมีลมหายใจ หรือบางส่วนหลักประชาธิปไตยไม่พร้อมกับสังคมไทยซึ่งได้ยินมาตลอด อย่างเช่นยกเรื่องโจรกับพระประชุมกัน ทั้งที่ความเป็นจริง ไม่ได้เป็นแบบนั้น นอกจาก การยกตัวอย่างเพื่อทำลายหลักคิดประชาธิปไตย ทีนี้ สำหรับคนซึ่งมีความรู้ความคิดผลักดันต่อไป ต้องทำงานความคิดไปเรื่อยๆ ไม่รู้จะสัมฤทธิ์ผลเมื่อไหร่ แล้วก็ไม่ช่วงไม่สำเร็จก็ต้องต่อรอง อาจไมได้ทั้งหมดมากหรือน้อย แต่ต่อให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นมา ก็ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ บางคนอาจรับสิ่งที่มีจากอดีตเข้ามา ถึงที่สุด เวลาเขียนอะไรก็ต้องตระหนักปัจจัยและข้อจำกัดอยู่ดี แต่จะค่อยเป็นคนไปมากกว่า และไม่ควรคิดว่าทำอะไรควรเห็นผลทันที แต่พออายุมากขึ้น เห็นอะไรมากขึ้น ความคิดที่อยากเปลี่ยนไม่ได้หายไป แต่ว่าบางสิ่งต้องใช้เวลา แค่เราทำไว้แต่อาจไม่ได้เห็นในช่วงชีวิตเราก็ไม่เป็นไร สักวันจะเกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงก็ต้องเกิด โลกไม่ได้หยุดนิ่ง ผมคิดแบบนี้ ใจสบายขึ้น
#คิดเคลื่อนไทย