วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 17, 2564
บทเรียนจากชิลี : 'ลาก่อนท่านนายพล' ชาวชิลีฉลองชัยชนะ ประชามติหนุนร่างรธน.ใหม่แทนฉบับมรดกเผด็จการ
ประชาชนชิลีแสดงความยินดีหลังประชามติร้อยละ 78 ลงคะแนนเห็นชอบร่างรธน.ใหม่แทนฉบับเผด็จการตั้งแต่สมัย ออกุสโต ปิโนเชต์ อนึ่งประชามตินี้เกิดขึ้นหลังมีการประท้วงต่อเนื่องอย่างหนักตั้งแต่ปีที่แล้ว นอกจากนี้ผู้ลงคะแนนยังเห็นชอบคณะกรรมการผู้ร่างรธน.ฉบับใหม่จะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วย
'ลาก่อนท่านนายพล' ชาวชิลีฉลองชัยชนะ ประชามติหนุนร่างรธน.ใหม่แทนฉบับมรดกเผด็จการ
2020-10-28
ประชาไท
27 ต.ค. 2563 หลังจากการประท้วงที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความไม่พอใจการขึ้นราคาค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ ยกระดับมาเป็นการประท้วงต่อต้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมภายใต้รัฐบาลฝ่ายขวานำโดยประธานาธิบดี เซบาสเตียน ปิเญรา การประท้วงในชิลีดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปีนี้ ทำให้รัฐบาลปิเญราประกาศว่าจะจัดให้มีการลงประชามติมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2562
ในการลงประชามติล่าสุดจากการนับคะแนนเกือบทั้งหมดผลปรากฏว่าผู้โหวตเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวนอย่างน้อย 78 โดยที่ประธานาธิบดีปิเญรากล่าวชื่นชมที่การลงประชามติเป็นไปอย่างสันติและกล่าวว่ามันเป็น "จุดเริ่มต้นของการที่เราจะต้องก้าวเดินไปร่วมกัน"
การประท้วงในชิลีมีประชาชนนับล้านคนออกมาชุมนุมเพื่อแสดงความไม่พอใจจากปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างหนักในประเทศ หนึ่งในประเด็นหลักๆ ที่พวกเขาเรียกร้องคือการให้ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกจากสมัยเผด็จการ ออกุสโต ปิโนเชต์ ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำหนักขึ้นเช่นการแปรรูปทำให้ภาคส่วนสาธารณสุข, การศึกษา, ที่อยู่อาศัย และระบบบำนาญกลายเป็นของเอกชน
การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เดิมทีแล้วมีกำหนดการว่าจะจัดในเดือน เม.ย. ปีนี้แต่เนื่องจากวิกฤตการระบาดของ COVID-19 ทำให้มีการเลื่อนมาเป็นเดือน ต.ค. โดยที่คณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่ามีผู้มาลงคะแนนเกือบ 7.5 ล้านคน
ในประชามติครั้งนี้มีคำถาม 2 คำถาม คำถามแรกคืออยากให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเป็นฉบับใหม่หรือไม่ สองคือ จะให้หน่วยงานแบบใดกลุ่มไหนเป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากจะมีการโหวตให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญใหม่มากกว่าครึ่งหนึ่งแล้วยังมีผู้ลงคะแนนร้อยละ 79 สนับสนุนให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนร้อยละ 100 แทนอีกทางเลือกหนึ่งคือให้มีการสรรหาแต่งตั้งจากสมาชิกสภาครึ่งหนึ่ง
สื่อบีบีซีระบุว่าชิลีเป็นประเทศที่มีอัตราความยากจนลดลงมากตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นยุคหลังจากเผด็จการปิโนเชต์สิ้นอำนาจแล้ว และทำให้ชิลีกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่รวยที่สุดในอเมริกาใต้เมื่อเทียบกับรายได้ต่อหัว แต่ทว่าชิลีก็ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก และชาวชิลีจำนวนมากก็อยากไปประเทศกระจายความมั่งคั่งให้เท่าเทียมมากกว่านี้
มีประชาชนบางส่วนให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาอยากให้รัฐธรรมนูญใหม่มีตัวแทนจากกลุ่มชนชั้นล่างและให้โอกาสในการต่อสู้สำหรับคนที่อยู่ในระบบที่บิดเบี้ยวให้ชนชั้นนำได้เปรียบโดยการให้การศึกษาที่ดีและการเข้าถึงการประกันสุขภาพได้มากขึ้น ประชาชนคนอื่นๆ ที่กล่าวในทำนองเดียวกันว่าพวกเขาต้องการสวัสดิการในด้านการศึกษา สาธารณสุข และการเคหะที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ถ้าหากผลการลงประชามติในครั้งนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง กำหนดการต่อไปคือการเลือกตั้งในวันที่ 11 เม.ย. 2564 เพื่อเลือกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะดำเนินไปอีก 9 เดือน และอาจจะมีการขยายช่วงเวลาอีก 3 เดือนได้หนึ่งครั้ง โดยที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะนำมาให้ชาวชิลีได้ลงประชามติอีกในปี 2565
จากผลการลงประชามติล่าสุดนี้ทำให้ประชาชนพากันเฉลิมฉลองการสิ้นสุดมรดกทางกฎหมายของยุคเผด็จการทหาร และต้อนรับสิ่งที่เหมาะสมกับประชาธิปไตยสมัยใหม่ สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนนี้ได้มาจากการประท้วงของประชาชน หนึ่งในผู้โหวตสนับสนุนที่ออกมาเฉลิมฉลองกล่าวว่าเขาอยากขอบคุณคนรุ่นใหม่ทุกคนที่เริ่มต้นการประท้วงและต่อสู้เพื่อประชาชนจนทำให้เกิดสิ่งที่พวกเขาอยากจะเห็นมานานแล้ว
รัฐธรรมนูญในยุคสมัยเผด็จการปิโนเชต์มีการร่างขึ้นโดยไม่ได้มาจากความคิดเห็นของประชาชน และเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกวิจารณ์ว่าปิดกั้นการเปลี่ยนแปลง ดูมองเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของหน้าประวัติศาสตร์ที่มืดมนของชิลี
ผู้คนที่เฉลิมฉลองหลายพันคนพากันเต้นรำ, ตะโกนคำขวัญ, โบกธง และจุดพลุที่ลานพลาซาอิทาเลียในซานติเอโก หนึ่งในผู้ชุมนุมคลี่ป้ายที่ระบุถึงอดีตเผด็จการทหารปิโนเชต์ว่า "ลาก่อนท่านนายพล" และ "การลบมรดกของท่านจะกลายมาเป็นมรดกของเรา"
อ้างอิง:
Jubilation as Chile votes to rewrite constitution, BBC, 27-10-2020
‘An End to the Chapter of Dictatorship’: Chileans Vote to Draft a New Constitution, New York Times, 25-10-2020