วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 17, 2564

อ่าน Upheaval : จุดพลิกประเทศยามวิกฤต บทเรียนจากชิลีถึงไทย



อ่าน Upheaval : จุดพลิกประเทศยามวิกฤต บทเรียนจากชิลีถึงไทย

8 Jul 2019
1O1

ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

เมื่อไม่นานนี้ผมมีโอกาสอ่านหนังสือเล่มใหม่ของ Jared Diamond ชื่อว่า Upheaval: Turning Points for Nations in Crisis[1] หรือแปลเป็นไทยได้ว่า ความผันผวน: จุดเปลี่ยนของประเทศในยามวิกฤต ว่าด้วยกรณีศึกษาของประเทศต่างๆ ที่ผ่านวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงในช่วงประวัติศาสตร์สำคัญๆ ของตน อาทิ ประเทศฟินแลนด์ในการรับมือกับอิทธิพลทางทหารของรัสเซีย ญี่ปุ่นกับการปฏิรูปประเทศในยุคเมจิและการรับมือกับปัญหายุคปัจจุบัน อินโดนีเซียในยุคของซูฮาร์โตและยุคหลังซูฮาร์โต วิกฤตของสหรัฐอเมริกาในโลกยุคใหม่ ฯลฯ

หนังสือเล่มนี้ยังได้รับการแนะนำโดย Bill Gates ให้เป็นหนังสือน่าอ่านสำหรับช่วงฤดูร้อนปีนี้ด้วย[2] ถือเป็นหนังสือที่อ่านได้อย่างเพลินๆ ไม่ได้มีเนื้อหาที่หนักหรือลึกซึ้งนักเมื่อเทียบกับหนังสือเล่มก่อนๆ ของผู้เขียนที่มีชื่อเสียงมากอย่างเรื่อง Guns, Germs, and Steel[3]

น่าเสียดายที่ Jared Diamond ไม่ได้เขียนถึงประเทศไทย เพราะเขาเลือกเล่าเรื่องของประเทศที่ตัวเองเคยไปใช้ชีวิตหรือคุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นดีแล้วเท่านั้น แต่ก็มีหลายๆ เหตุการณ์ของบางประเทศ ที่เมื่ออ่านแล้วก็ทำให้หวนคิดถึงประเทศไทยของเราเหมือนกัน เพราะเงื่อนไขทางสังคม การตอบสนองของบุคคลต่อปัจจัยต่างๆ ในสังคม หรือแม้แต่กิเลสของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติใด เอาเข้าจริงก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

บทเรียนของชิลี

มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้ ที่อ่านแล้วราวกับว่าเขากำลังเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดในไทย นั่นคือบทที่เกี่ยวกับประเทศชิลี[4] ยุคนายพลปิโนเชต์ขึ้นสู่อำนาจ และยุคที่เตรียมตัวลงจากอำนาจเพื่อเปิดทางให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแทน ซึ่งสามารถเอามาใช้เป็นข้อคิด ข้อเตือนใจสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะในยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่านได้เป็นอย่างดี เพราะมีความคล้ายคลึงกันหลายๆ อย่าง

ชิลีจัดว่าเป็นประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสังคมในระดับค่อนข้างดีในภูมิภาค แต่ก็ต้องผ่านช่วงเวลาของความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมือง การใช้อำนาจพิเศษทางการเมือง บทบาทของกองทัพในการควบคุมให้บ้านเมืองมีความสงบและเศรษฐกิจก้าวหน้า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างรุนแรง และในที่สุดเมื่อสังคมเห็นว่าถึงเวลาที่ควรเปลี่ยนแปลง ผู้กุมอำนาจรัฐก็ยินยอมปล่อยอำนาจ

แต่ก็มิวายที่จะสร้างระบบกฎหมาย รัฐธรรมนูญ การวางตัวบุคคล ระบบศาล เพื่อให้มั่นใจว่ามรดกที่ตนเองสร้างจะยังคงอยู่อีกยาวนาน สังคมมีการแบ่งแยกเป็นกลุ่มคนชั้นกลาง คนชั้นสูง ที่ได้ประโยชน์และเห็นชอบกับระบบ แม้จะตระหนักถึงข้อบกพร่องต่างๆ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน การทุจริตคอร์รัปชัน แต่ก็สามารถยอมรับได้ ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มอื่นๆ ที่เสียโอกาส ไม่ได้รับประโยชน์ หรือไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจรัฐอย่างปราศจากความชอบธรรม ซึ่งสุดท้ายก็ต้องอาศัยการประนีประนอมทางการเมืองเพื่อผลักดันให้ประเทศเดินหน้าได้

ภูมิทัศน์การเมืองชิลีโดยสังเขป

ประเทศชิลี ถือเป็นประเทศที่มีความเจริญเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกาทั่วไป ไม่มีปัญหาในเรื่องของสงครามกับเพื่อนบ้าน ไม่เคยมีผู้นำเผด็จการทหารเหมือนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น อาร์เจนตินา เปรู แต่ในยุคแห่งสงครามเย็นช่วง 1960s ซึ่งกระแสสังคมนิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์ แพร่หลายในอเมริกาใต้ เกิดวิกฤตขีปนาวุธคิวบา (1962) กระแสความนิยมของแนวคิดฝ่ายซ้าย คนหนุ่มสาว ปัญญาชน ศิลปิน ได้แผ่ขยายกว้างออกไปในหลายๆ ประเทศในภูมิภาค

ในปี 1970 ชิลีได้เลือกตั้งผู้นำซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาผู้นิยมลัทธิสังคมนิยมขึ้นมา คือประธานาธิบดี Salvadore Allende ซึ่งนำเอานโยบายแบบสังคมนิยม เช่น การควบรวมกิจการเอกชนให้กลายเป็นของรัฐ การนำเอาอุดมการณ์สังคมนิยมเข้าไปไว้ในระบบการศึกษา ทำให้ผู้นำฝ่ายขวา ชนชั้นนำ และกองทัพ เฝ้ามองด้วยความกังวล

ด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งพยายามเข้ามาแทรกแซงประเทศในลาตินอเมริกาให้โค่นล้มผู้นำที่มีแนวทางฝ่ายซ้าย ดังที่ปรากฏในประเทศอาร์เจนติน่า เปรู กัวเตมาลา บราซิล เป็นต้น ผนวกกับเป็นช่วงที่เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า มีเงินเฟ้อสูงถึง 600% ประชาชนเดือดร้อน ในที่สุดจึงนำไปสู่การรัฐประหารโดยคณะกองทัพในปี 1973 โดยมีเป้าหมายเพื่อกลับมาปฏิรูปประเทศใหม่ (National Reconstruction) ซึ่งนำไปสู่ระบบเผด็จการทหารอันยาวนานถึง 17 ปี (1973-1990) และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายทั้งในทางดีและร้ายต่อสังคมชิลี มรดกทางการเมืองหลายเรื่องในยุคนี้ต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการแก้ไข

รู้จักนายพลปิโนเชต์

ในปี 1973 พลเอกปิโนเชต์เป็นผู้บัญชาการกองทัพบกของชิลีที่มีภาพลักษณ์คนแก่ใจดี เคร่งศาสนา เขาไปโบสถ์อย่างสม่ำเสมอ ความคิดก็ไม่ได้มีความลึกซึ้งอะไรนัก อันที่จริงแล้วคณะรัฐประหารได้เลือกเขาซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกมาเป็นผู้นำในช่วงแรก เพราะเป็นผู้ที่มีอาวุโสสูงสุด เทียบกับผู้นำเหล่าทัพอื่นๆ แต่ก็มีข้อตกลงว่าจะมีการหมุนเวียนสลับตำแหน่งกับผู้นำทหารคนอื่นๆ ตามวาระ

แต่หลังจากที่เขาขึ้นมาสู่อำนาจ เขาก็เริ่มทำการยึดอำนาจไว้แต่ผู้เดียว พร้อมทั้งดำเนินการปราบปรามผู้นำนักศึกษา ประชาชน นักการเมือง รวมถึงทหารฝ่ายตรงข้าม มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการลับ DINA เพื่อดำเนินการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง ในช่วงของการเข้าสู่อำนาจ มีผู้ที่ถูกจับกุมถึงกว่า 130,000 คน มีผู้ถูกฆ่าหรือถูกทำให้สาบสูญถึง 3,200 คน มีผู้ที่ต้องหนีออกนอกประเทศกว่าหนึ่งแสนคน มีการส่งคนไปลอบสังหารผู้เห็นต่างที่หนีออกไปลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านหลายครั้ง ถึงขนาดที่เคยส่งคนไปทำการลอบวางระเบิดอดีตนักการทูตชิลี ถึงกรุงวอชิงตัน ดีซี ในปี 1976 ซึ่งถือเป็นการก่อการร้ายบนแผ่นดินอเมริกาโดยต่างชาติเพียงครั้งเดียว ก่อนยุค World Trade Center การปกครองของปิโนเชต์ถือเป็นหนึ่งในระบอบที่กดขี่และกระทำทารุณกรรมแก่ประชาชนมากที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ชิลี

ในช่วงท้ายของปิโนเชต์ แม้จะถูกมองว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความโหดร้าย มีการทรมาน จับกุม ฆ่าคนมากมาย แต่ก็เป็นบุคคลที่สังคมทหารและผู้นำของชิลีส่วนหนึ่งให้การชื่นชม เขาถูกจับกุมในประเทศอังกฤษ ในปี 1998 เมื่ออายุ 86 ปี โดยคำร้องของศาลสเปนในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่สุดท้ายก็ได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกกักขังในบ้านในกรุงลอนดอนเป็นเวลา 503 วัน

เมื่อเขากลับเข้ามายังประเทศชิลี ก็มีผู้นำทหารมาคอยให้การต้อนรับ แต่ภายหลังเขาถูกดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวกับการทุจริต โดยถูกกักตัวอยู่ในบ้าน ก่อนจะเสียชีวิตในปี 2006 ในวัย 91 ปี โดยมีคดีติดตัวอยู่ถึงกว่าสามร้อยคดี โดยรวมก็ถือว่ามีชีวิตที่ไม่ได้ลำบากนักแม้จะหมดอำนาจลงไปแล้วก็ตาม

เผด็จการที่ทำให้เศรษฐกิจดี คนชั้นกลาง คนรวย นิยมพอใจ

ภายใต้ระบอบเผด็จการของปิโนเชต์ เขาสามารถเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศจากที่เคยตกต่ำ และมีเงินเฟ้อสูงถึง 600% มาเป็นระบบที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ เงินเฟ้อต่ำกว่า 9% และเศรษฐกิจโตกว่าปีละ 10% โดยได้รับอิทธิพลของแนวคิดทางเศรษฐกิจแบบเสรีภายใต้กลไกตลาดตามแบบตะวันตก โดยเฉพาะอิทธิพลของแนวคิดเศรษฐศาสตร์สำนักชิคาโก โดยศาสตราจารย์ Milton Friedman จนมีชื่อเรียกกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชิลีที่สมาทานแนวคิดเช่นนี้ว่า ‘Chicago Boys’

นโยบายสำคัญๆ เช่น การลดอัตราภาษีนำเข้า การแปลงให้รัฐวิสาหกิจกลายเป็นของเอกชน (Privatization) การส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบแข่งขัน ทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น นโยบายเหล่านี้ถือว่าเป็นมรดกสำคัญของระบอบปิโนเชต์ที่ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน ด้วยนโยบายเหล่านี้ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนชิลีโดยเฉลี่ยดีขึ้น แม้จะไม่ได้ส่งผลเชิงบวกต่อการกระจายรายได้มากนัก แต่ก็ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง มีความพอใจกับระบบนี้ค่อนข้างมาก

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กติกาการเลือกตั้ง เพื่อประโยชน์ของตน

ภายใต้ระบบของปิโนเชต์ที่ปกครองมายาวนาน (1973-1990) ได้มีความพยายามสร้างภาพความชอบธรรมให้กับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารโดยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิมที่มีตั้งแต่ปี 1925 แต่ประชาชนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด สุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 1980 ก็ผ่านการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร มีการออกแบบระบบการเลือกตั้งเพื่อให้ฝ่ายซ้ายมีโอกาสได้รับเลือกน้อยลง มีสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง และมาจากข้าราชการประจำหลายตำแหน่ง มีการลงมติเพื่อต่ออายุให้ปิโนเชต์เป็นประธานาธิบดีต่ออีกเกือบสิบปี

แต่ทุกสิ่งยอมตกอยู่ภายใต้กฎแห่งอนิจจัง รวมถึงความนิยมของปิโนเชต์เช่นกัน ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำในช่วงกลางทศวรรษ 1980s กระแสการต่อต้านในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน แรงต่อต้านจากโบสถ์คาทอลิค และการลดการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ในปี 1988 รัฐบาลได้จัดให้มีการลงมติเพื่อต่ออายุปิโนเชต์อีกครั้ง แต่คราวนี้ เสียงเกินครึ่ง (58 %) ไม่เห็นด้วยกับการต่ออายุของเขา ทำให้ปี 1990 เป็นปีสุดท้ายที่เขาจะได้เป็นประธานาธิบดี

การเมืองชิลียุคหลังปิโนเชต์ลงจากอำนาจ

สิ่งที่น่าสนใจคือหลังจากการลงประชามติในปี 1988 ที่ไม่ต่ออายุให้ปิโนเชต์แล้ว กองทัพและปิโนเชต์มีการเตรียมการที่จะรักษาอำนาจเอาไว้เท่าที่ทำได้ เช่น การแต่งตั้งให้ตนเองเป็นสมาชิกวุฒิสภาแบบตลอดชีวิต การยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดจนถึงปี 1998 การตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุด (Supreme Court Justice) ซึ่งเป็นพวกของตนเอง เพื่อป้องกันเรื่องคดีความที่อาจตามมา การกำหนดให้มีการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยมาจากผู้นำของกองทัพและผู้นำฝ่ายข้าราชการที่มีแนวโน้มสนับสนุนแนวคิดฝ่ายขวา รวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญให้จัดสรรรายได้ 10% ของเหมืองทองแดงของรัฐ เข้าไปเป็นงบประมาณกองทัพโดยตรง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ทำได้ยากลำบาก เพราะมีการกำหนดให้ต้องอาศัยเสียงถึง 70% ของการลงมติจึงจะสามารถทำได้ เรียกได้ว่า แม้ว่าปิโนเชต์จะไม่ได้อยู่ในอำนาจต่อไปแล้ว แต่องคาพยพที่อยู่ในฝ่ายของเขายังมีความพร้อมที่จะคอยช่วยเหลือ หากรัฐบาลใหม่มีทีท่าว่าจะเอาผู้นำเหล่าทัพในอดีตมาลงโทษ ก็ใช้การข่มขู่ว่าจะทำการรัฐประหาร หรือเอารถถังออกมาวิ่งบ้าง

สรุปภาพรวมของยุคปิโนเชต์

ยุคปิโนเชต์เป็นยุคที่ทหารเป็นใหญ่ ภายใต้ธงของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ระบบสิทธิมนุษยชนตกต่ำอย่างรุนแรง แต่ก็เป็นยุคที่ระบบเศรษฐกิจเป็นไปด้วยดี คนชั้นกลาง คนชั้นสูง มีความพึงพอใจกับระบบ ไม่ได้อินังขังขอบกับชะตากรรมของผู้ที่เห็นต่างที่ถูกกระทำมากนัก แม้ภายหลังชนชั้นกลางจะมีความขัดข้องใจต่ออภิสิทธิ์ของทหารและการทุจริตคอร์รัปชันของปิโนเชต์บ้างก็ตาม ส่วนผู้ต่อต้านหรือคนที่เห็นต่าง ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก หากไม่ถูกทรมาน สังหาร หนีออกนอกประเทศ ก็ต้องถูกบังคับให้อยู่กันแบบเงียบๆ เอาไว้



บทเรียนจากการเมืองชิลีหลังปิโนเชต์

บทเรียนที่ 1: ระบบเผด็จการสามารถตั้งอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของชนชั้นกลาง และเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักต่อความรู้สึกพึงพอใจในระบบการเมืองของประชาชน

แม้ปิโนเชต์จะได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังอาชญากรรมที่ทำโดยรัฐ เช่น การอุ้มฆ่าและการทรมานผู้เห็นต่าง อย่างยาวนานและมีหลักฐานชัดเจน แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายทางการเมืองที่ทำให้ประเทศปลอดจากภัยคอมมิวนิสต์ มีระบบเศรษฐกิจที่มั่นคงเติบโต โดยเฉพาะชนชั้นกลางและชนชั้นนำ ก็ยังยินดีที่จะใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบบของเขา เห็นได้จากการออกเสียงรับรองรัฐธรรมนูญในปี 1980 ที่มีถึง 67% และเสียงที่ให้เขาอยู่ในอำนาจต่อในปี 1988 แม้จะแพ้ แต่ก็ยังสูงถึง 42 %

ดังนั้นโมเดลเช่นนี้ จึงมีเผด็จการหลายๆ ประเทศนำมาใช้ โดยหวังว่าหากสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเมือง หรือทางเศรษฐกิจได้ ก็น่าจะยังสามารถกุมอำนาจรัฐและความนิยมของคนชั้นกลางหรือคนชั้นสูง ซึ่งมีความสำคัญต่อการค้ำจุนระบบเอาไว้ได้

บทเรียนที่ 2: มรดกทางการเมืองของเผด็จการมีทุกสมัย สามารถแก้ไขได้แต่ต้องใช้เวลา

การเตรียมการหลังการลงจากตำแหน่งของผู้นำเผด็จการ มีการตอบสนองเช่น การแต่งตั้งตนเองให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาตลอดชีวิต การแต่งตั้งให้ตนเองและพวกพ้องยังมีอำนาจปกป้องตนเองได้ในระดับหนึ่ง การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากพวกของตนเอง การแต่งตั้งผู้พิพากษาสูงสุด ก่อนที่ตนเองจะหมดอำนาจลง การออกแบบระบบการเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์ต่อพรรคพวก การกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางปกติทำได้ยากและซับซ้อน

แต่ในที่สุด ด้วยความร่วมมือของฝ่ายการเมืองและประชาชน ชิลีก็สามารถยกเลิกวุฒิสมาชิกแบบแต่งตั้งทั้งหมด โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในปี 2005 หรืออีก 25 ปีหลังจากนั้น

บทเรียนที่ 3: บทเรียนเรื่องการสร้างการประนีประนอมทางการเมือง (Political Compromise)

หลังการลงจากตำแหน่งของปิโนเชต์ ชิลีมีผู้ชนะการเลือกตั้งที่มาจากแนวร่วมฝ่ายซ้ายหรือสายกลางหลายคน แต่ทุกคนก็จำเป็นต้องดำเนินนโยบายภายใต้ความระมัดระวังว่ายังมีอำนาจจากกองทัพที่คอยจับตาอยู่ และผู้ที่สนับสนุนระบอบปิโนเชต์ โดยเฉพาะคนชั้นสูง นักธุรกิจ เศรษฐีก็ยังมีไม่น้อย ดังนั้นจึงต้องพยายามดำเนินนโยบายแบบกลางๆ อาจมีกรณีที่โดดเด่นบ้าง เช่น สมัยประธานาธิบดี Michelle Bachelet จากพรรคสังคมนิยม ได้นำเอาสำนักงานเก่าของหน่วยงาน DINA มาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ Villa Grimaldi เพื่อแสดงให้เห็นความโหดเหี้ยมของการทรมานประชาชนในสมัยปิโนเชต์ ส่วนนโยบายทางเศรษฐกิจก็ยังดำเนินตามหลักเสรีนิยมแบบปิโนเชต์ เพียงแต่อาจมีการเพิ่มสวัสดิการแบบทางฝ่ายสังคมนิยมบ้าง

สังคมที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน (Political Pluralism) มีทั้งฝ่ายซ้าย สังคมนิยม เสรีนิยม ฝ่ายขวา อนุรักษนิยม แม้ระบบการเลือกตั้งจะสามารถตอบโจทย์ความขัดแย้งได้ แต่เมื่อได้อำนาจรัฐมาแล้ว การดำเนินนโยบายต่างๆ ยังต้องมีการประนีประนอมทางการเมืองและคำนึงถึงฝ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มพวกของตน ดั่งสโลแกนที่ว่า ”ชิลีสำหรับชาวชิลีทุกคน” (A Chile for all Chileans) มิเช่นนั้นจะไม่สามารถดำเนินการใดๆ ต่อไปได้

บทเรียนที่ 4: ความยุติธรรมบางครั้งต้องใช้เวลา…แต่หลายครั้งก็อาจจะไม่มา

แม้จะทราบกันดีว่ารัฐบาลในยุคปิโนเชต์ได้ทรมานและสังหารผู้เห็นต่างและผู้ต่อต้านระบบเป็นจำนวนมหาศาล แต่กว่าที่ชิลีจะมีการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงและสมานฉันท์ (Truth and Reconciliation Commission) ก็ต้องรอจนถึงในปี 1991 และ 2003 ซึ่งได้สืบสวนและสรุปว่ามีประชาชนที่โดนฆ่าในยุคปิโนเชต์ ถึง 3,200 คน

คดีสะเทือนขวัญคือการทรมานและสังหารศิลปินนักดนตรีฝ่ายซ้าย Victor Jara อย่างโหดเหี้ยมในปี 1973 หรือการเผาทั้งเป็นนักศึกษา Rodrigo Rojas ในปี 1986 ก็เพิ่งจะมีการดำเนินคดีในปี 2015 นี่เอง ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 29 ปีในกรณีแรก และ 42 ปีในกรณีหลัง กว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้รับการลงโทษ ซึ่งผู้ที่ถูกลงโทษก็นับเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

อันที่จริงแล้วหนังสือ Upheaval เล่มนี้ยังมีการยกตัวอย่างของประเทศอินโดนีเซีย[5]มาเป็นกรณีศึกษาด้วย ในอดีตประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนแห่งนี้ก็เคยผ่านยุคของการใช้การปกครองแบบเผด็จการทหาร โดยอ้างว่าจำเป็นต่อการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ในช่วง 1965-1966 มีการกวาดล้างสังหารประชาชนผู้สนับสนุน หรือสงสัยว่าเป็นผู้สนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ไปกว่า 2-3 ล้านคน

แต่หลังจากการล่มสลายของระบอบซูฮาร์โตในปี 1998 กองทัพอินโดนีเซียก็ปรับตัวให้เข้าสู่ระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยได้อย่างน่ายกย่อง ในขณะที่กองทัพไทยก็มีแนวโน้มแบบนั้นหลังจากเหตุการณ์พฤษภาวิปโยค พ.ศ. 2535 ตามมาด้วยการมีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ซึ่งให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจให้ประชาชน แต่หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่เป็นต้นมา กองทัพไทยก็กลับมามีบทบาทและอิทธิพลในทางการเมืองอีกครั้ง และยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายลง การย้อนกลับมาศึกษาประวัติศาสตร์ของชิลีในยุคนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าหยิบยกมาศึกษาเช่นกัน

จากบทเรียนต่างๆ ที่ว่ามา ผมหวังว่าจะสามารถนำมาใช้เติมมุมมองการเมืองไทยได้บ้าง แม้สถานการณ์วิกฤตการเมืองไทยในปัจจุบันอาจไม่ได้โหดร้ายรุนแรงขนาดชิลีในยุค 1970-1980s แต่หลายๆ แนวทางก็ดำเนินไปในทำนองเดียวกัน เชื่อว่าผู้มีปัญญาน่าจะสามารถนำบทเรียนจากประวัติศาสตร์ของชิลีมาศึกษา เพื่อจะได้มองเห็นภาพของการเมืองไทยในปัจจุบันและอนาคตได้ชัดเจนขึ้น

อ้างอิง

[1] หนังสือ Upheaval: Turning Points for Nations in Crisis สำนักพิมพ์ Little, Brown and Company (2019) 512 หน้า

[2] Gatesnote: a blog of Bill Gates https://www.gatesnotes.com/Books/Upheaval

[3] หนังสือเรื่อง Guns, Germs, and Steel ถือเป็นเล่มที่สร้างชื่อเสียงในระดับโลกให้กับ Jared Diamond เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลพูลิซเซอร์ในปี 1998 และถูกนำไปทำหนังสารคดีของ National Geographic Society มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบในวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ รวมถึงภาษาไทย

[4] “บทที่ 4: A Chile for All Chileans” ในหนังสือ Upheaval: Turning Points for Nations in Crisis

[5] “บทที่ 5: Indonesia, the Rise of a New Country” ในหนังสือเดียวกัน