วันพุธ, มิถุนายน 02, 2564

ล่าตัว "สมศักดิ์ เจียมฯ" ส่อกินแห้ว



ล่าตัว "สมศักดิ์ เจียมฯ" ส่อกินแห้ว

28 พ.ค. 2564
The Nation TV

สำหรับการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น สิ่งแรกที่มักจะถูกพูดถึงทันทีเวลาเราจะขอตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่กระทำผิดตามกฎหมายไทย แล้วไปหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ ก็คือ ประเทศที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไปพำนัก มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทยหรือไม่ เพราะถ้ามีสนธิสัญญาระหว่างกัน กระบวนการขอส่งตัวจะง่ายกว่า
"ทีมข่าวเนชั่นทีวี" ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ไทยมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศต่างๆ รวมถึงการสืบสิทธิ์จากสหราชอาณาจักร (เครือจักรภพอังกฤษ) รวมแล้ว 14 ประเทศ ได้แก่

สหราชอาณาจักร เบลเยียม สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย ฟิจิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน เกาหลีใต้ ลาว บังกลาเทศ และศกัมพูชา

จะเห็นได้ว่า 14 ประเทศที่ไทยมีสนธิสัญญาด้วย "ไม่มีประเทศฝรั่งเศส" ซึ่งเชื่อว่าเป็นถิ่นพำนักของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


แต่แม้จะไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน การขอตัว หรือขอให้ส่งตัว ก็ยังเกิดขึ้นได้โดยใช้ "หลักต่างตอบแทน" ประกอบกับสนธิสัญญาความช่วยเหลือกันในเรื่องอื่นๆ เช่น สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา ซึ่งไทยมีสนธิสัญญานี้กับ 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ อินเดีย และฝรั่งเศส



จะเห็นว่าสนธิสัญญาความร่วมมือนี้มีฝรั่งเศส และยังบรรลุข้อตกลงเพิ่มเติมกับอีกหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ โปแลนด์ ศรีลังกา ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม เป็นต้น

แต่ไม่ว่าจะมีสนธิสัญญา หรือไม่มีสนธิสัญญา คือใช้หลักต่างตอบแทน โดยปกติแล้ว การขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน จะต้องมีหลักการร่วมกันดังนี้

  • ต้องเป็นความผิดของทั้งสองประเทศ (ซึ่งต้องระบุลักษณะความผิดอย่างเฉพาะเจาะจงด้วย เช่น ฆ่า ข่มขืน ฯลฯ)
  • ต้องไม่เข้าข้อห้ามการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
  • ต้องไม่ใช่การพิจารณาคดีซ้ำ
  • คดียังไม่ขาดอายุความ


สำหรับข้อห้ามการส่งผู้ร้ายข้ามแดน มีด้วยกันหลายข้อ หลักๆ ก็คือ
  • เป็นความผิดทางการเมือง เพราะถือว่าไม่เป็นอาชญากรรมที่แท้จริง แต่เป็นการกระทำผิดเพราะมีแนวคิดไม่ตรงกับผู้มีอำนาจบริหารประเทศในขณะนั้น
  • เป็นความผิดต่อกฎหมายพิเศษ เช่น กฎหมายการล่าสัตว์ กฎหมายป่าไม้ กฎหมายการพิมพ์ ความผิดต่อศาสนา ความผิดเกี่ยวกับกฎหมายทหาร เป็นต้น
  • ความผิดที่มีโทษประหารชีวิต เรื่องนี้เป็นไปตามสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
  • พยานหลักฐานไม่เพียงพอ
  • การไม่ส่งพลเมืองของชาติตนไปดำเนินคดีในรัฐอื่น
นี่คือหลักการและข้อยกเว้นทั้งหมด ทีนี้อาจเกิดข้อสงสัยว่า เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ไทยจะมีโอกาสได้ตัว "อ.สมศักดิ์ เจียมฯ" มาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ คำตอบฟันธงได้เลยว่า "ยากมาก" เพราะ
  • ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน
  • ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่น่าจะมีบัญญัติเป็นความผิดในฝรั่งเศส เพราะไม่มีระบบกษัตริย์
  • อาจมองได้ว่าเป็นคดีทางการเมือง
  • ประเทศฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมาเป็นลำดับแรก

ที่สำคัญ คดีที่มีความคลุมเครือ เป็นความผิดตามกฎหมายพิเศษ หรือมีเฉพาะประเทศไทย เช่น กฎหมาย ป.ป.ช.บางฐานความผิด ก็เคยถูกปฏิเสธการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาแล้ว แม้ในประเทศที่มีสนธิสัญญาระหว่างกัน อย่างเช่น การขอตัว นายทักษิณ ชินวัตร กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ซึ่งไม่เคยประสบความสำเร็จเลยตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา หรือ 15 ปีล่วงมาแล้ว
.....
Somsak Jeamteerasakul
แห้ว อร่อยนะครับ