วันเสาร์, เมษายน 10, 2564

ประเทศไทยวิกฤตหนัก ราคาที่ทุกคนต้องจ่ายเพื่อปกป้องรักษาสถาบันกษัตริย์ ด้วยการทำลายทุกความน่าเชื่อถือของระบบยุติธรรม


.....
iLaw
8h ·

9 เมษายน 2564 ศาลอาญานัดฟังคำสั่งประกันตัวหกจำเลยคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ได้แก่ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ที่อดอาหารมาเป็นเวลา 25 วันแล้ว, อานนท์ นำภา, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และหมอลำแบงค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และแอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ ในคดีมาตรา 112 จากการจุดไฟที่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ ต่อมาศาลอ่านคำสั่งให้ประกันตัวเพียงหมอลำแบงค์-ปติวัฒน์คนเดียวเท่านั้น โดยมีความเคลื่อนไหวสำคัญดังนี้
.
.
29 มีนาคม 2564 : ไผ่-สมยศ-หมอลำแบงค์รับเงื่อนไขประกัน
.
นัดตรวจพยานหลักฐานคดี 19 กันยาฯ ไผ่-จตุภัทร์, สมยศและหมอลำแบงค์-ปติวัฒน์ แถลงต่อศาลว่า หากศาลอนุญาตให้ประกันตัว ทั้งสามจะยอมรับเงื่อนไขที่ศาลกำหนด โดยศาลได้บันทึกคำแถลงดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2564 จากนั้นในวันที่ 5 เมษายน 2564 ทนายจำเลยยื่นคำร้องประกันตัวจำเลยทั้งสามและศาลมีคำสั่งไต่สวนพร้อมกำหนดเงื่อนไขการประกันให้จำเลยทั้งสาม ซึ่งทั้งสามแถลงว่าจำปฏิบัติตามเงื่อนไข ศาลจึงนัดให้จำเลยทั้งสามมาฟังคำสั่งประกันในวันที่ 9 เมษายน 2564
.
.
7 เมษายน 2564 : เพนกวิน-ไมค์-อานนท์ไม่รับเงื่อนไขประกัน
.
ศาลเบิกตัวเลยแปดคนที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี 19 กันยาฯ รวมทั้งแอมมี่-ไชยอมร จำเลยร่วมที่คดีถูกกล่าวหามาตรา 116 มาศาลเพื่อดูคลิปวิดีโอการปราศรัยซึ่งเป็นหลักฐาน วันดังกล่าวทนายจำเลยขออนุญาตศาลที่พิจารณาคดี ซึ่งเป็นคนละคนกับศาลที่พิจารณาเรื่องขอประกันตัวให้จำเลยอีกสี่คนคือ เพนกวิน-พริษฐ์, อานนท์, ไมค์-ภาณุพงศ์และรุ้ง-ปนัสยา ปรึกษาเรื่องการยอมรับเงื่อนไขการประกันตัวกับพ่อหรือแม่ ศาลอนุญาตโดยให้พ่อหรือแม่ของจำเลยเข้ามาครั้งละสองคน และให้เวลาปรึกษาคู่ละไม่เกินสิบนาที ผู้พิพากษาเรียกแม่ของอานนท์และไมค์-ภาณุพงศ์เข้ามาก่อนเป็นสองคนแรก แล้วจึงเรียกแม่ของพริษฐ์และพ่อของปนัสยาเข้ามาเป็นชุดที่สอง เมื่อพ่อแม่แต่ละคนเข้ามาในห้องพิจารณาคดี ศาลเรียกไปคุยที่หน้าบัลลังก์ก่อนแล้วจึงให้ไปนั่งคุยกับลูกโดยกำชับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้ดูแลระหว่างการพูดคุยไม่ให้มีการส่งเอกสารใดๆ ออกไปข้างนอกและเรียกหัวหน้าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปพูดคุยด้วย
.
ผลของการหารือ เพนกวิน-พริษฐ์, อานนท์และไมค์-ภาณุพงศ์แถลงไม่รับเงื่อนไขการประกันตัวใดๆ อานนท์แถลงว่า การกำหนดเงื่อนไขเป็นอำนาจของศาล หากศาลเห็นควรให้ประกันโดยมีเงื่อนไขก็ให้กำหนดไว้ในคำสั่งประกันตัว แล้วเขาคือ ผู้ที่จะตัดสินใจเองว่า จะปฏิบัติตามหรือไม่ หากศาลเห็นว่า สิ่งนั้นเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกันก็จะถูกยกเลิกสัญญาประกันตัวตามขั้นตอนปกติ ด้านปนัสยา แถลงเพียงว่า ต้องกลับไปศึกษาต่อให้จบและจะปฏิบัติตามเงื่อนไขหากศาลกำหนดเงื่อนไขในการประกันตัว
.
.
8 เมษายน 2564 : อานนท์แถลงปฏิเสธกระบวนการอยุติธรรม
.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า จำเลยในคดี 19กันยาฯ 21 คน (7 คนถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นข้อหาหลัก ส่วนจำเลยอีก 15 คนถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เป็นข้อหาหลัก) ยกเว้นปติวัฒน์ แถลงขอถอนทนายความโดยให้เหตุผลโดยสรุป 3 ข้อว่า
.
1. จำเลยไม่ได้รับสิทธิในการปรึกษาหารือกันในทางคดีอย่างเป็นส่วนตัวและเป็นความลับ ระหว่างทนายความและลูกความ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมจนสิทธิของจําเลยและทนายความถูกละเมิดแม้อยู่ในห้องพิจารณาคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการออกมาตรการรักษาความปลอดภัยหลายส่วน
.
2. จําเลยที่ต้องขังและจําเลยที่ได้รับการประกันตัวไม่ได้รับสิทธิในการปรึกษาหารือกันในทางคดี ไม่อนุญาตให้พูดคุยหารือกันอย่างเพียงพอ
.
3. คดีนี้ศาลไม่ได้สั่งให้พิจารณาคดีลับ แต่กลับมีคําสั่งหรือมาตรการต่างๆ ในการไม่อนุญาตให้ครอบครัว และ/หรือ ญาติของจําเลย รวมทั้งบุคคลภายนอกเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้ ตามหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและโปร่งใส จําเลยและทนายความได้แถลงต่อศาลหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา โดยอ้างถึงพฤติการณ์เดิม
.
.
ขณะที่อานนท์เขียนคำแถลงต่อศาลในคดี โดยเป็น “คำแถลงปฏิเสธกระบวนการอยุติธรรม” ระบุว่า ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ถูกกระทำด้วยการบั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งที่จำเลยยังถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย
อ่านทั้งหมด : https://tlhr2014.com/archives/28118
.
.
9 เมษายน 2564 : หมอลำแบงค์ได้ประกันเพียงคนเดียว
.
กรณีคำสั่งประกันตัว ไผ่-จตุภัทร์, สมยศและหมอลำแบงค์-ปฏิภาณ ศาลเลื่อนเวลาอ่านคำสั่งจากเวลา 11.00 น. เป็นเวลา 13.00 น. จากนั้นเลื่อนออกไปอีกครั้งเป็น 15.00 น. ก่อนที่จะมีคำสั่งในเวลา 15.45 น.ให้ประกันหมอลำแบงค์-ปติวัฒน์ โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามไม่ให้กระทำการลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือไปร่วมกิจกรรมที่อาจทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
.
ข่าวแจกสื่อมวลชนที่ออกโดยศาลอาญาระบุเหตุผลโดยสรุปได้ว่า แม้ไผ่-จตุภัทร์และสมยศจะเคยแถลงว่า หากศาลให้ประกันตัวโดยกำหนดเงื่อนไข ทั้งสองจะปฏิบัติตามเช่นเดียวกับปติวัฒน์ แต่ในวันที่ 8 เมษายน 2564 ระหว่างนัดสอบคำให้การ และตรวจพยานหลักฐาน รวมทั้งกำหนดวันนัดสืบพยานคดีนี้ จำเลยทั้งสองไม่ยอมลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาคดี ทนายของจำเลยทั้งสองยังนำรายงานกระบวนพิจารณาไปเขียนเพิ่มเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยว่า ทนายความของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 2 และจำเลยที่ 4 ถึงจำเลยที่ 22 ไม่ของลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาคดีเนื่องจากไม่ยอมรับกระบวนพิจารณา รวมทั้งมีพฤติการณ์ขอถอนการเป็นทนายความและไม่ยอมไปกำหนดวันนัดพิจารณาคดีที่ศูนย์นัดความ ทำให้กระบวนการนัดความเกิดยากลำบาก เป็นอุปสรรคและความเสียหายต่อการพิจารณาคดี คำแถลงของจำเลยทั้งสองที่ว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลหากได้รับการประกันตัวจึงไม่น่าเชื่อถือ จึงให้ยกคำร้องประกันตัว
.
ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่าเงื่อนไขที่ศาลกำหนดให้ปติวัฒน์ปฎิบัติตามคือ ห้ามไม่ให้กระทำการลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือไปร่วมกิจกรรมที่อาจทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลใช้คำว่า "สถาบันพระมหากษัตริย์" แต่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กำหนดบุคคลที่ให้ความคุ้มครองไว้ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นอกจากคำร้องของทั้งสามคนแล้ว วันนี้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นคำร้องประกันตัวจำเลยคดีมาตรา 112 อีกหกคนได้แก่ เพนกวิน-พริษฐ์ (คดี #Mobfest), อานนท์, ไมค์-ภาณุพงศ์, รุ้ง-ปนัสยา, แอมมี่-ไชยอมร คดีจุดไฟที่พระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่สิบ และจัสติน-ชูเกียรติ คดีแปะกระดาษบนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ โดยศาลอาญายกคำร้องทั้งหมด
.
.
ดูรายละเอียดคดีเพิ่มเติม >>> https://freedom.ilaw.or.th/case/921