วันอาทิตย์, เมษายน 25, 2564

ความเน่าเฟะของสังคมไทยตั้งแต่หัวจรดเท้า จะด่าที่ไหนก็ได้หมด



The Politics ข่าวบ้าน การเมือง
16h ·

#ความบัดซบเชิงโครงสร้าง

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มช. เขียนบทความเรื่อง “ไวรัสโควิด และความบัดซบเชิงโครงสร้าง” วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาการบริหารจัดการโควิด ระบุว่า

ข่าวที่ทำให้ผมรู้สึกสะเทือนใจและโกรธอย่างมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือ กรณีของอาม่า 3 คน ที่ติดโควิด แต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจนเสียชีวิตไปแล้วหนึ่งคน (แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องแรกและเรื่องเดียว แต่ยังคงจะมีเรื่องราวทำนองนี้ให้ได้ยินไปอีกพอสมควรในห้วงเวลานี้)

ไม่ปฏิเสธว่าเพราะมันเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกับชีวิตในครอบครัวของผม ในปัจจุบัน แม่ผมอายุเข้าเลข 9 และอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้แม้แต่น้อยอันเนื่องมาจากสุขภาพทางกาย รวมถึงการเป็นอัลไซเมอร์ในระดับที่ไม่สามารถจดจำคนใกล้ตัวได้ ต่อให้เป็นลูกชายคนโปรดของแม่ก็ตาม

นับตั้งแต่เกิดการแพร่กระจายของไวรัสโควิดตั้งแต่เมื่อปีก่อน พวกเราพี่น้องที่อยู่ในครอบครัวต่างต้องระมัดระวังตัวกันอย่างมาก เพราะต่างรู้กันดีว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นกับแม่ในยามนี้คงเป็นเรื่องยากอย่างมากที่จะแก้ไขได้ สำหรับผมที่ทำงานอยู่ต่างจังหวัด เวลาที่จะกลับไปเยี่ยมในแต่ละเดือน ผมจะจำกัดการพบปะและเคร่งครัดกับการใช้ชีวิตของตัวเองเป็นเวลาอย่างน้อยก็ครึ่งเดือนเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่กลายเป็นคนนำเชื้อไปแพร่ให้กับแม่

ผมได้เฝ้ารอมาตลอดเวลา ด้วยความต้องการรู้ว่ารัฐบาลจะจัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างไรตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา นอกจากเรียกร้องให้การ์ดไม่ตก ขอโทษนะครับ มึงไม่ต้องบอกกูหรอก กูนะระวังจนแทบจะหาชุดป้องกันไวรัสมาใส่แล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เห็นความพยายามอันชัดเจนเกิดขึ้น ใครก็รู้ว่าการใส่หน้ากากมันไม่ได้ช่วยจัดการกับไวรัส การจัดหาวัคซีนก็ดังที่รู้กันว่าต้องรอให้เกิดหายนะแก่ประชาชนขึ้นเป็นระลอกที่สามจึงจะเพิ่งรู้ร้อนรู้หนาว

ไม่ต้องบอกก็เดาได้ว่าบรรดาชนชั้นนำทั้งหลายทั้งหัวดำหัวหงอกคงฉีดวัคซีนคุณภาพดีกันไปหมดแล้ว จึงได้ไม่รู้สึกว่าต้องรีบร้อนทำอะไรกันมาก หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็อาจจะมีการโปรยทรัพยากรบางอย่างลงมาพร้อมกับการเรียกร้องบุญคุณของพวกมึงกันอีก

ผมตระหนักว่าหายนะจากไวรัสโควิดไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความเลวส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น หากเป็นเพราะ “ความบัดซบเชิงโครงสร้าง” ที่ปกคลุมสังคมไทยอยู่ในห้วงเวลานี้ บรรดาชนชั้นนำที่มองไม่เห็นหัวประชาชนเพราะระบบการเมืองที่เป็นอยู่ไม่ได้เป็นแรงกดดันต่อพวกเขาได้

จึงไม่ต้องแปลกใจว่าท่ามกลางการก่นด่าต่อประชาชนถึงความไม่มีสำนึก ไม่มีวินัย หรืออะไรอีกสารพัดที่จะหยิบมา แต่พอเป็นกิจกรรมของบรรดาชนชั้นนำหรือเครือข่ายของตนเรื่องก็กลับเงียบกริบ การจัดงานที่ไม่ต้องมีการใส่หน้ากาก, ข่าวคราวเรื่องคนมีสีจัดปาร์ตี้จ้างผู้หญิงมาเอนเตอร์เทนจนกลายคลัสเตอร์ในหลายที่, หรือการจัดงานเลี้ยง ก็ล้วนแต่ไม่มีการติดตามเอาเรื่องกันบ้าง

แม้ว่าในห้วงยามแห่งวิกฤตมันอาจมีข้อดีอยู่บ้างตรงที่ได้ช่วยเผยปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ภายในให้แสดงออกมาอย่างชัดเจน แต่สำหรับสังคมไทยดูราวกับจะมีความเน่าเฟะเปิดออกมามากล้นจนน่าอัศจรรย์ใจเป็นยิ่งนัก