วันเสาร์, เมษายน 17, 2564

อะไรก็เกิดขึ้นได้ใน#รัฐมาเฟีย ผู้สื่อข่าวแนวหน้าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายและยัด 6 ข้อหา เพราะออกไปทำข่าวการชุมนุม "ผมไม่ได้ทำอะไรเลย ตลอดเหตุการณ์ใช้เพียงมือถือ วิ่งไปวิ่งมาถ่ายรูปเท่านั้นเอง ไม่ได้ไปตะโกนยั่วยุเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ไปขว้างปาสิ่งของ ไม่มีเลย”



ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
11h ·

“ผมไม่ได้ทำอะไรเลย ตลอดเหตุการณ์ใช้เพียงมือถือ วิ่งไปวิ่งมาถ่ายรูปเท่านั้น” ปากคำผู้สื่อข่าวแนวหน้า ผู้ถูกฟ้อง 6 ข้อหาจากการปฏิบัติหน้าที่ รายงาน #ม็อบ28กุมภา
_____________________________________________________________
บัญชา (สงวนนามสกุล) เป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามจากสำนักพิมพ์แนวหน้า วัย 35 ปี โดยจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
.
ตั้งแต่เด็ก เขาชอบคิด เขียน และอ่านหนังสือ พร้อมกับความสนใจการเมือง อยากรู้ว่าผู้ชุมนุมคิดอย่างไร คุยอะไร และสถานการณ์การชุมนุมในพื้นที่จริงเป็นอย่างไร บัญชาจึงเข้าร่วมสังเกตการณ์ชุมนุมตั้งแต่ปี 2548 ขณะศึกษาในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในช่วงปี 2551 หรือการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2552-2553 บัญชาลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์อยู่เสมอ ก่อนที่จะหันมาเป็นผู้สื่อข่าวเต็มตัวให้กับสำนักพิมพ์แนวหน้า
.
ย้อนกลับไปในค่ำคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 บัญชาได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการสำนักข่าวให้ไปเขียนข่าวและถ่ายรูปประกอบเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม ‘REDEM’ หรือ #ม็อบ28กุมภา ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
.
การลงพื้นที่ทำข่าวในวันนั้น บัญชาไม่ได้สวมปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชนในการทำข่าวชุมนุม
.
“ผมอยากได้ภาพในมุมของฝั่งม็อบบ้าง วันนั้นผมเลยไม่ได้ใส่ปลอกแขนไป และถ่ายรูปส่งให้ บก. เป็นระยะๆ จริงๆ ผมทำแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว”
.
บัญชาทวนว่า วันนั้นเขาไปตัวเปล่า มีเพียงแว่นกันน้ำ หมวกนิรภัย หน้ากากอนามัย และเครื่องมือที่ใช้ในการทำข่าว คือโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว
.
เขาเดินทางจากหลักสี่และลงพื้นที่ทำข่าวอยู่บริเวณหอการค้า ระหว่างนั้นเขาเดินถ่ายรูป รับฟังว่าผู้ชุมนุมคุยอะไร และเดินตามกลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังเคลื่อนขบวนไปยังหน้าราบ 1
.
ในช่วงแรกเหตุการณ์ยังสงบ ดำเนินไปด้วยดี ก่อนกลุ่มผู้ชุมนุมเดินไปถึงหน้าตู้คอนเทนเนอร์ เผชิญกับเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน บัญชาได้ยินกลุ่มผู้ชุมนุมคอยเตือนกัน “อย่าใช้ความรุนแรง อย่ายั่วยุเจ้าหน้าที่”
ครู่ต่อมา เขาเริ่มเห็นการใช้แก๊สน้ำตา และได้ยินกลุ่มผู้ชุมนุมตะโกนว่ามีเหตุปะทะกันบริเวณหน้าโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ในเวลาประมาณ 21.00 น.
.
“ตอนนั้นผมยังไม่ได้กลับ เพราะได้ยินฝั่งตำรวจตะโกน ‘ให้เวลาสิบนาที มาเอามอเตอร์ไซต์ไป เดินมาตัวเปล่า เราจะไม่จับ’ แต่สักพักมีเสียงผู้ชุมนุมหรือใครก็ไม่รู้ตะโกนสวนว่า ‘อย่าไป! ไปเดี๋ยวโดนจับ!’ พอเราอยู่ตรงนั้น เราเลยอยากรู้ว่าตกลงมีการจับกุมหรือไม่มี หรือแค่พูดต่อๆ กัน
.
“ตอนนั้นแบตมือถือเราหมดแล้ว แต่เราอยากรู้ว่าสุดท้ายมันเป็นยังไง อยากรู้ว่าจับหรือไม่จับ อย่างน้อยมันก็เป็นข้อเท็จจริงหนึ่งที่เรามองเห็น”
.
ท่ามกลางสถานการณ์อันคลุมเครือไม่แน่ชัด บัญชาตัดสินใจทำหน้าที่สื่อมวลชนต่อ เขาเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณหน้าปั๊มเชลล์ เขาไม่คาดคิดว่า วินาทีต่อมาเขาจะถูกเจ้าหน้าที่เข้าทำร้ายและจับกุมโดยไม่ทันตั้งตัว
.
“ผมไม่คิดว่าตำรวจจะวิ่งข้ามจากหน้าราบ 1 มาถึงฝั่งปั๊มเชลล์ เพราะว่าผมเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมยังยืนตะโกน ยืนดู ยืนมุงอะไรกันอยู่บนเกาะกลาง ผมนึกว่าเหตุการณ์มันจะจบแค่นั้น แต่ที่ไหนได้ ตำรวจวิ่งมาถึงฝั่งปั๊ม ด้วยความที่ผมตกใจ ผมก็วิ่งหนี แล้วผมก็โดนจับ
.
“ผมได้ยินว่า เขาบอกให้เลิกชุมนุม แกนนำประกาศยุติการชุมนุมแล้ว แต่ด้วยความที่ผมมองว่า เราไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะผมมั่นใจตัวเองว่าเราไม่ได้ถือสิ่งของไปขว้างปา ไม่ได้ไปตะโกนยั่วยุด่าทอเจ้าหน้าที่ เราแค่เดินไปเดินมา วิ่งไปวิ่งมา ถ่ายรูปเท่านั้นเอง คงไม่โดนจับ และเราก็มาตั้งหลักตรงปั๊มเชลล์แล้ว ไม่ได้อยู่ตรงเกาะกลางถนน จุดที่อาจจะเกิดความรุนแรง”
.
ถึงแม้บัญชาแสดงตัวเป็นสื่อมวลชน ผู้มาปฎิบัติหน้าที่ ไม่ได้เป็นผู้ร่วมชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ยังคงเข้าจับกุม
.
“เจ้าหน้าที่วิ่งเข้ามารวบตัว กดผมลงพื้น จำได้ว่าโดนเตะไปทีหนึ่ง เพราะว่าร่วงลงกับพื้น จากนั้น ถูกกระบองตี แต่ว่าเลือดไม่ออก ผมตะโกนบอกเขาว่า ‘พี่ ผมเป็นสื่อ ดูบัตรผมได้’ สักพักเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนคนหนึ่งก็บอกว่าพอแล้วๆ แต่ผมก็ยังโดนจับมัดมือด้วยลวดพลาสติก (Cable Tie) อยู่ดี”
.
หลังจากนั้น เขาถูกควบคุมตัวไปรวมกับผู้ชุมนุมอีก 18 คน ข้างโรงพยาบาลทหารผ่านศึก จนถึงเวลาประมาณ 23.00 น. บัญชาถูกควบคุมตัวขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขังของตำรวจขนาดหกล้อ ระหว่างรออยู่ในรถ เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งสิทธิ ไม่ได้แจ้งว่าจะพาไปที่ใด และไม่ได้แจ้งว่าสามารถติดต่อใครได้หรือไม่
.
หลังจากมาถึงกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 (บก.ตชด. 1) จังหวัดปทุมธานี เจ้าหน้าที่ได้เรียกผู้ถูกจับกุมไปถ่ายรูป ทำประวัติบุคคล รวมถึงมีการตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยนิติเวชจากโรงพยาบาลตำรวจ
.
ระหว่างที่ถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ แม้บัญชาจะแสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชน ซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่รายงานเหตุการณ์ชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ยังคงตั้งข้อกล่าวหาถึง 6 ข้อหา รวมไปถึงข้อหามั่วสุมใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ซึ่งพฤติการณ์ทั้งหมดของเขา ไม่ได้เป็นเช่นข้อกล่าวหาเหล่านั้นเลย
.
ระหว่างเริ่มมีข่าวสารออกไปว่ามีการควบคุมตัวผู้สื่อข่าว และเขายืนยันกับทางตำรวจ ทำให้บัญชาได้รับการปล่อยตัวตั้งแต่ในชั้นตำรวจ ไม่ได้ถูกนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลเหมือนกับผู้ที่ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ
.
“ผมเข้าใจว่า วินาทีที่จับกุม ตำรวจไม่รู้ผมเป็นใคร ผมไม่ได้ติดปลอกแขน เวลานั้นใครที่วิ่งไปวิ่งมา เขาจับหมด ผมเข้าใจ ผมรับได้ ไม่ได้ว่าเขา แต่สิ่งที่ผมอยากตั้งคำถาม ก็คือ เมื่อไปถึงที่ ตชด. แล้ว ผมยืนยันว่าผมเป็นสื่อ เขาสัมภาษณ์ผม ถามข้อมูล ผมก็แจ้งไปแล้วว่าผมเป็นสื่อจริง แต่เขาไม่สอบผมเพิ่ม หรือให้โอกาสผมแสดงหลักฐาน ผมยืนยันว่ามาทำตามหน้าที่ ได้ส่งรูปและข้อมูลให้กอง บก.จริง
.
“ถ้าเขาสอบเพิ่ม อาจไม่มีการตั้งข้อหาก็ได้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ ตชด. ไม่สนใจอะไร ไม่คิดจะถามเพิ่มเติม”
.
นี่คือการถูกจับกุมครั้งแรกของบัญชา แม้กายไม่ได้รับบาดเจ็บมากนัก แต่จิตใจของเขาได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย
.
“พอโดนจับ ผมก็เริ่มรู้สึกว่าผมควรจะกลับไปที่ม็อบอีกไหม ถ้าพลาดซ้ำสองมันจะทำให้คนข้างในต้นสังกัดเดือดร้อน ผมประมาท ไม่คิดว่าจะโดนจับรอบนี้
.
“เพราะผมไม่ได้ทำอะไรเลย ตลอดเหตุการณ์ใช้เพียงมือถือ วิ่งไปวิ่งมาถ่ายรูปเท่านั้นเอง ไม่ได้ไปตะโกนยั่วยุเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ไปขว้างปาสิ่งของ ไม่มีเลย”
.
16 เมษายน 2564 ในการนัดรายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งในคดี อัยการฝ่ายคดีอาญา 4 ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องบัญชาต่อศาลอาญา
.
จากการปฏิบัติหน้าที่ผู้สื่อข่าวในการชุมนุม บัญชากลับต้องใช้เวลาสำหรับการต่อสู้คดีในศาลต่อไป
อ่านเนื้อหาฉบับเว็บไซต์ได้ที่: https://tlhr2014.com/archives/28337
.....
Aon Chotmanee
โดนวันเดียวกัน คนของพี่หลังจากที่โดนเหตุการณ์วันนั้นสุขภาพจิตเสีย เครียดมาก อุตส่าห์ทำงานเก็บเงินเรียนอยากมีอนาคตดี แต่อนาคตเขามืดลงในวันนั้น28กุมภา

สมชาย ลัคนาพันธ์
ใครก็ตกเป็นเหยื่อความอยุติธรรมจากรัฐได้ทั้งนั้น เพราะรัฐไทยมันทรราชไปนานแล้ว!
เขาถึงบอกไง ว่า "ไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส"
ซึ่งมันก็อย่างนั้นจริง ๆ นั่นแหละ! (ยกเว้นแต่ว่าเราทุกคนจะ "สยบยอมก้มหัวลงเป็นทาส" อย่างจำนน!)
.....


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
7h ·

++ สั่งฟ้อง! 19 ปชช.-นักข่าว ข้อหาหลัก “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ต่อสู้ขัดขวาง จนท.” เหตุชุมนุม #ม็อบ28กุมภา++
.
.
16 เมษายน 2564 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ หลังพนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 มีความเห็นสั่งฟ้องคดี 19 ประชาชน เหตุชุมนุม #ม็อบ28กุมภา ที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในข้อหาหลัก ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, “ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ “ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน” ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญา โดยศาลรับไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 884/2564
.
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (16 เมษายน 2564) มีเพียงบัญชา (สงวนนามสกุล) นักข่าวสำนักพิมพ์แนวหน้า เท่านั้น ที่เดินทางมาตามนัดฟังคำสั่งอัยการ หลังพนักงานสอบสวนส่งตัวให้อัยการเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากบัญชาได้รับการประกันตัวในชั้นตำรวจ และได้รับการปล่อยตัวที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จ.ปทุมธานี หลังถูกจับกุมเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564
.
ส่วนอีก 17 คน ซึ่งศาลให้ประกันตัวในชั้นฝากขัง เจ้าหน้าที่นัดมารายงานตัวต่อศาลในวันจันทร์หน้า (19 เมษายน 2564) ก็จะเป็นการมารับทราบคำฟ้องในวันนั้น ขณะที่อีกคนคือ “แซม สาแมท” ผู้ต้องหาชาวไทย-กัมพูชา ปัจจุบันถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ในข้อหาเดียวกันและข้อหา “เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต”
.
หลังศาลรับฟ้อง ทนายได้ยื่นประกันตัวบัญชาด้วยเงินสดจำนวน 35,000 บาทจากกองทุนราษฎรประสงค์ ต่อมา ศาลให้ประกันตัว ทำให้เขาไม่ถูกควบคุมตัวในชั้นพิจารณาคดี
.
วันเดียวกันนี้ มีรายงานว่า พนักงานอัยการยังได้ยื่นฟ้อง ธีรยุทธ (สงวนนามสกุล) พนักงานส่งของ ซึ่งถูกจับบริเวณเซเว่น ใกล้ สน.ดินแดง ในเวลาประมาณ 01.40 น. ของวันที่ 1 มี.ค. 2564 ภายหลังเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณ สน.ดินแดง โดยแยกฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 883/2564 ธีรยุทธจะเข้ารายงานตัวต่อศาลในวันจันทร์ที่ 19 เม.ย. 2564 เช่นกัน
.
.
อ่านคำฟ้องคดีนี้: https://tlhr2014.com/archives/28364