Baipat Nopnom
5h ·
ผม : หลวงพี่คิดยังไงกับพวกไลฟ์โค้ช? คำคมที่เขาแชร์ๆ กัน เคยรู้สึกไหมว่า เรื่องแบบนี้ทำไมถึงคิดเองไม่ได้วะ
พระไพรวัลย์ : หนักไปกว่านั้นก็คือ บางคำคมนี่ อาตมาสงสัยมากว่ามันสามารถเรียกว่าเป็นคำคมได้ด้วยเหรอ
ไม่รู้ว่า ที่เขาแชร์ๆ กัน เพราะต้องการไกด์นำทางชีวิตจริงๆ หรือแชร์มาเพื่อเสียดสีเพื่อนในเฟซบุ๊กอีกที หรือไม่ก็จะมีประเภทยืมคำพูดคนอื่นมารับรองพฤติกรรมห่วยๆ ของตัวเองให้มันดูมีความชอบธรรมขึ้น สตีฟ จ็อบ เรียนไม่จบ ก็ประสบความสำเร็จได้ อย่ามองคนที่ภายนอก คนพูดจาแรงๆ แต่จริงใจ ดีกว่าคนพูดจาเพราะๆ แต่ข้างใน... อะไรแบบนี้ เห็นบ่อยมาก (หัวเราะ)
ผม : คนทุกวันนี้กดดันตัวเองจนชีวิตไม่เป็นชีวิตเพราะบทความประเภท สิ่งที่ต้องมีต้องทำก่อนอายุ 30 ผมว่าหรือจริงๆ แล้วอย่างแรกสิ่งที่ต้องทำก่อนอายุ 30 คือเลิกอ่านบทความประเภท สิ่งที่ต้องทำต้องมีก่อนอายุ 30 นั่นแหละ
พระไพรวัลย์ : อันนี้ออกแนวเลอะเทอะมาก ที่บอกว่า ชีวิตในวัยเท่านี้ควรจะมีอะไร คือชีวิตคนแต่ละคนมันไม่เหมือนกันป่ะ ไม่ว่าจะด้วยเหตุปัจจัยอะไรก็ตาม ดังนั้นมันจึงไม่สามารถเอาสูตรสำเร็จของคนๆ หนึ่งไปใช้เป็นสูตรสำเร็จของใครอีกหลายๆ คนได้
ในกระทู้พันทิป อาตมาเห็นบ่อยนะ คือคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองจะชอบถามว่า อายุเท่านี้มีเงินเก็บแค่นี้ น้อยไหม อายุเท่านี้มีเงินเดือนแค่นี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จหรือเปล่า คือส่วนหนึ่ง คนพวกนี้ยังติดกับดักของบทความประเภทที่โยมพี่บอก อ่านหนังสือแนวสร้างแรงบันดาลใจ แล้วคิดว่า ชีวิตตัวเองต้องเดินไปให้ถึงจุดตามที่หนังสือเขียนบอก อันนี้มันไร้สาระสิ้นดีเลย
ผม : เรื่องชีวิตสอนกันได้ไหม
พระไพรวัลย์ : ถ้าแลกเปลี่ยนพอได้นะ แต่ถ้าให้สอนนี่อาตมาว่าไม่ได้หรอก เพราะชีวิตมันเป็นเรื่องปัจเจกมากๆ มันเป็นเจตจำนงค์และเสรีภาพส่วนบุคคลของเจ้าของชีวิตนั้นๆ ถึงต่อให้บอกให้สอน สุดท้ายคนที่จะตัดสินใจในการใช้ชีวิตนั้นจริงๆ ก็คงมีแต่เจ้าของชีวิตคนเดียว ชีวิตเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่มีเพียงหนึ่งเดียวนะ ดังนั้นอาตมาจึงไม่คิดว่า มันจะสอนได้ พูดแบบไลฟ์โค้ชเลย (หัวเราะ)
ผม : บางคนบอกว่าสอนไม่ได้ เพราะไม่มีใครกล้าพูดว่าชีวิตตัวเองดี
พระไพรวัลย์ : ก็นั่นแหละ เราถึงต้องใช้วิธีการแชร์ประสบการณ์หรือการแลกเปลี่ยนกันแทน เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
ผม : สงสัยว่า เวลาที่มีปัญหาชีวิตทำไมคนเราต้องไปปรึกษาคนที่เราไม่ได้รู้จักเราดี คนที่ไม่ได้อยู่ในชีวิตเรา ทำไมเราไม่ไปคุยกับพ่อแม่หรือพี่น้องคนใกล้ตัว
พระไพรวัลย์ : คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า การเปิดเผยเรื่องราวแย่ๆ เปิดเผยถึงความอ่อนแอ และความล้มเหลวของตัวเองให้คนที่รู้จักได้ฟัง ไม่ใช่เรื่องที่ดี หรือแม้แต่ว่า ผู้ใหญ่ส่วนมากก็มักไม่ค่อยเปิดโอกาสหรือให้โอกาสสำหรับการรับฟังเด็กด้วยแหละ
ผม : ถ้าไปร้านหนังสือจะเห็นว่ามีหนังสือประเภท How To เต็มแผง การที่หนังสือแนวนี้มันเยอะ และขายดีด้วย มันสะท้อนอะไร
พระไพรวัลย์ : มันสะท้อนว่า คนต้องการแบบอย่าง ต้องการเอาอย่าง ไม่ได้ต้องการที่จะเป็นตัวของตัวเอง คนส่วนใหญ่อยากจะเป็นอย่างคนอื่นที่เขาชื่นชอบแล้วเขาก็คิดว่าชีวิตเขาจะเป็นแบบนั้นได้ หากอ่านหนังสือของคนพวกนี้ที่เขามองว่าประสบความสำเร็จในชีวิต
ผม : สังคมอ่อนแอด้วยไหม คู่มือการใช้ชีวิตหรือไลฟ์โค้ชเลยเกิดขึ้นได้ ลึกๆ มันแปลว่ารัฐล้มเหลวด้วยไหม สังคมมันสั่นคลอนมาจนถึงภายใน
พระไพรวัลย์ : อาตมาว่ามีส่วนนะ ด้วยอะไรหลายอย่าง การปลูกฝัง การกล่อมเกลาวิธีคิด สังคมไทยเป็นสังคมบูชาผู้นำ คนส่วนใหญ่ก็เลยมองไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตัวเอง
ผม : เรามีโค้ชที่ให้คำปรึกษาเรื่องการเงินการลงทุน โค้ชนั่นโค้ชนี่ แต่ไลฟ์โค้ชที่สอนเรื่องการใช้ชีวิต ควรไปเทรน ไปสอบ และมีใบรับรองไหม ไม่ใช่ใครก็เป็นได้
พระไพรวัลย์ : อาตมาว่ามันก็เหมือนกับพระนะ พระทุกรูปก็เทศน์ได้หมดแหละ แต่ว่ารูปไหนจะเทศน์ได้ลึกซึ้ง เทศน์ได้กินใจคน เทศน์ได้ตรงกับคำสอน อันนี้ก็คงอยู่ที่วิจารณญาณของคนฟัง ไลฟ์โค้ชก็เหมือนกัน ถ้าพูดส่งเดชไปเรื่อย สุดท้ายคนเขาเห็นแย้ง เขาก็เลิกฟัง แต่ถ้ามีใบรับรองอย่างที่โยมพี่ว่า ก็จะดีมากเลยนะ อย่างน้อยมันก็ช่วยการันตีคุณสมบัติช่วยคัดกรองอะไรบางอย่าง
ผม : ปัญหาของไลฟ์โค้ชอย่างหนึ่งจะชอบสอนว่า ปัญหาทุกอย่างเกิดจาก มายเซ็ต โดยละเลยโครงสร้าง ไม่เห็นว่าตัวเองสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เช่นหนังสือแนวพ่อสอนลูกรวย ไม่ใช่แค่มุ่งมั่น ขยัน หรือพยายาม แต่ประเทศนี้ธุรกิจบางอย่างมีการฮั้วผูกขาดกับรัฐ ทำให้คนอื่นไม่สามารถแข่งขันได้ ออกกฏหมายที่เอื้อต่อทุนใหญ่ วิธีคิดแบบพุทธเป็นวิธีคิดที่ไปกันได้ดีกับพวกไลฟ์โค้ชหรือเปล่า สอนให้พยายามแต่กลับตัดทอนรายละเอียดอย่างอื่นในชีวิตออกหมด จนสุดท้ายกลายเป็นพวกเกิดอะไรขึ้นก็จะโทษตัวเองไว้ก่อน แล้วปล่อยให้โครงสร้างลอยนวล
พระไพรวัลย์ : ในมุมหนึ่งเราก็ต้องไม่ละเลยที่จะตั้งคำถาม ฉุกคิด หรือแม้แต่เรียกร้องด้วย ทำไมเราขยันขนาดนี้ ยังโดนโกง ยังได้เงินค่าตอบแทนไม่คุ้มค่า คนอื่นเอาเปรียบเรามากไปหรือเปล่า เจ้านายเอาเปรียบไหม พ่อค้าคนกลางเอาเปรียบไหม หน่วยงานราชการช่วยอะไรเราได้บ้าง ทำไมเราต้องจากบ้านเข้ามาทำงานในเมือง ทำไมต้องทนกับฝุ่น pm 2.5 โควิด 19 ทั้งๆ ที่ชีวิตเราควรได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้
ทำไมระบบขนส่งมวลชนที่ดีและมีประสิทธิภาพถึงมีอยู่แค่ในเมืองหลวง ทำไมเราต้องจำทนกับสภาพรถติดทุกเช้าก่อนไปทำงาน ทำไม บลาๆ มันต้องไปด้วยกันทั้งหมดไม่ใช่ว่าต้องชีวิตก้มหน้ายอมรับกรรมอย่างเดียว ไม่ตั้งคำถาม ไม่เรียกร้องอะไรเลย อาตมาชอบคำพูดประโยคหนึ่งนะ ที่มิตรสหายคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าการทำงานหนักทำให้คุณรวย ทาสคงรวยที่สุดมาก่อนแล้ว (หัวเราะ)
ผม : เรื่องทาน คัมภีร์พุทธยังบอกว่า คนที่เกิดมารวยในชาตินี้เป็นเพราะชาติก่อนบริจาคทานมามาก นี่แปลว่า ความรวยสามารถ “ผูกขาด” ข้ามภพข้ามชาติ เพราะมีแต่คนรวยเท่านั้นแหละถึงจะสามารถบริจาคได้มากๆ ขนาดนั้น ดังนั้น คนรวยในชาตินี้ก็คือคนรวยในชาติที่แล้ว และคนรวยในชาตินี้อาจเป็นคนรวยในชาติต่อไป ความเชื่อแบบนี้มันละเลยรายละเอียดบางอย่างหรือเปล่า เช่นเจ้าสัวซีพีดีใจได้วันเดียวร่ำรวยไม่ใช่เพราะความพยายามอย่างเดียว เขาไม่พูดเรื่องความรวยที่เกิดจากการผูกขาดกับรัฐเลย
พระไพรวัลย์ : อาตมามองว่าสังคมไทย เป็นสังคมที่รับอิทธิพลคำสอนของพุทธศาสนาในแบบอรรถกถามากกว่าคำสอนที่มาจากตัวพระไตรปิฎกจริงๆ ด้วยซ้ำ อรรถกถาจะชอบอธิบายเรื่องการถวายทาน ผลของการให้ทานแบบอลังการมาก
ในขณะที่พุทธเจ้าพูดเรื่องปุพเพกตเหตุวาท หลักคำสอนอย่างหนึ่งที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ วิธีการอธิบายทุกอย่างโดยอ้างกรรมเก่าแบบภพชาติที่แล้ว ที่เป็นอยู่แบบนี้เป็นเพราะอดีตชาติ คุณเป็นเกย์เป็นเพศที่สามเพราะคุณเคยประพฤติผิดในกามหรือมีความคิดเห็นผิดๆ ในชาติที่แล้ว แล้วถามว่าอันนี้เป็นคำสอนของพุทธศาสนาไหม เป็นนะ มันเป็นอิทธิพลแบบอรรถกถาเลยที่อธิบายแบบนี้
พออธิบายเรื่องการให้ทานก็จะอธิบายแบบอลังการมาก เช่น พูดถึงเรื่องเศรษฐีคนหนึ่ง ชาติที่แล้วเป็นคนยากจน ไม่มีจะกิน แล้วถวายทานให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่ง แล้วก็นอนหลับไปตื่นมาปรากฏว่าดินในนาหรือภูเขาทั้งลูกกลายเป็นทองคำทั้งหมด อาตมามองว่ามันไม่ใช่ เหมือนที่โยมพี่บอกว่าการสอนแบบนี้มันละเลยเรื่องโครงสร้างหมดเลย กลายเป็นว่าพุทธศาสนาไม่สนใจโครงสร้างสังคม เรื่องความเหลื่อมล้ำไม่ต้องพูดถึง
ถ้าเรามองในมิติการเมืองสังคมเราจะเห็นว่ามันเกี่ยวโยงกันทั้งหมด ต่อให้คุณขยันขนาดไหน คุณปลูกยางแต่ราคายางรัฐบาลไม่ให้คุณได้ราคาดีคุณก็ไม่มีทางรวย ไม่ต้องถึงรวยหรอกเอาพออยู่พอกินยังยาก คุณขายข้าวพ่อค้าคนกลางกดราคาคุณ คุณไม่มีพื้นในการต่อรองราคาสินค้าหรือไม่มีพื้นที่สำหรับแปรสินค้าเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น คุณทำไปทั้งชาติ ต่อให้ลงนาแต่เช้าจรดค่ำ แต่ถ้าราคาปุ๋ยแพงกว่าราคาข้าว คุณก็ไม่มีวันรวย คุณก็มีแต่หนี้ ศาสนาไม่พูดเรื่องพวกนี้
ผม : พุทธเจ้าถือว่าเป็นไลฟ์โค้ชไหม
พระไพรวัลย์ : อาตมาไม่มั่นใจว่าไลฟ์โค้ชนอกจากสอนอย่างเดียวเขาสร้างเครือข่ายชุมชุมในการปฏิบัติด้วยรึเปล่า ถ้ามีแบบนั้นอาจจะเหมือนกัน แต่ถ้าสอนอย่างเดียว พุทธเจ้าอาจจะไปอีกสเตปหนึ่ง พุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างเดียวแต่ยังสร้างชุมชนในการทดลองคำสอนหรือสร้างวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับสิ่งที่ท่านสอนด้วย
ผม : อย่างธรรมะถือเป็นฮาวทูไหม เห็นพวกไลฟ์โค้ชพยายามจัดหมวดหมู่อยู่เหมือนกัน เช่น ธรรมแห่งความสำเร็จ หัวใจเศรษฐี
พระมหาไพรวัลย์ : ใช่ๆ อย่างเดียวกัน เขาพยายามจะทำให้เป็นแบบนั้น เป็นเรื่องๆ เลย พยายามจะสอน
ผม :การเอาธรรมะยากๆ มาทำให้เข้าใจง่ายๆ มันไปลดทอนคุณค่าบางอย่างหรือเปล่า
พระไพรวัลย์ : เฉพาะบางเรื่องนะ จะมองว่ามันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์มันอยู่ที่คนฟังเรื่องเหล่านั้นเขาสามารถเอาสิ่งที่เขาฟังไปทำอะไรบางอย่างกับชีวิตของเขาให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นรึเปล่าเท่านั้นเอง แต่ถ้ามันเป็นฮาวทูที่มันทำให้คนมองข้ามความซับซ้อนของปัญหาอันนี้อาตมาไม่เห็นด้วย
มันก็มีฮาวทูแบบนี้เยอะนะ สอนเหมือนกับว่าชีวิตเป็นของง่ายนะ แค่ปล่อยวาง ซึ่งพระก็จะชอบสอน แค่ปล่อยวางก็มีความสุขแล้ว รู้ว่าหินมันหนักแล้วจะไปแบกมันไว้ทำไม จริงๆ มันไม่ใช่ ชีวิตมันไม่ง่าย ชีวิตแต่ละชีวิตมันมีรายละเอียดของมัน ฮาวทูแบบนี้มันไม่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง
ผม : แล้วต้องบอกเขายังไง
พระไพรวัลย์ : ต้องบอกให้เขามองเห็นชีวิตตัวเองให้ชัดเสียก่อน ให้ยอมรับด้านบวกด้านลบ ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีเหมือนกัน บอกให้เขาไม่รังเกียจตัวเอง ให้ยอมรับกับความเจ็บปวด สอนให้เขาเรียนรู้และเป็นคำตอบให้กับชีวิตตัวเอง มากกว่าที่จะให้คำตอบที่สำเร็จรูปกับเขา
ผม : คนสมัยนี้ไปให้ค่ากับความสุขมากไปรึเปล่าก็เลยมองว่าความทุกข์เป็นศรัตรู
พระไพรวัลย์ : จริงๆ พุทธเจ้าไม่ได้สอนอะไรที่เป็นความสุขด้วยซ้ำนะ อย่างอริยสัจ ไม่ได้บอกว่าสุขขัง อริยสัจจัง นะ ท่านบอก ทุกขัง อริยสัจจัง ท่านบอกว่าไม่ได้สอนอะไรนอกจากทุกข์และการดับทุกข์ แสดงว่าธรรมะของพุทธเจ้าคือการสอนให้คนมองเห็นปัญหา แล้วทำความเข้าใจกับปัญหาที่มันเกิดกับชีวิตในมิติต่างๆ ไม่ได้สอนว่าให้มีความสุขลอยตัวอยู่เหนือปัญหา นั่นไม่ใช่แนวทางของพุทธเจ้า
(บางส่วนจากบทสัมภาษณ์)
พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ / ไม่ (ไลก์โค้ช)
_______________
จากหนังสือ IN CONVERSATION / ใบพัด นบ.