iLaw
11h ·
เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐาน
ราชทัณฑ์คุมเข้ม! สมยศประกาศคงมีชีวิตอีกไม่นาน
.
.
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 704 ศาลอาญา รัชดา ศาลนัดตรวจหลักฐานคดีการชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร จำเลยในคดีนี้มีทั้งหมด 22 คน แบ่งเป็นจำเลยที่เบิกตัวมาจากเรือนจำ 9 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, หมอลำแบงค์หรือปดิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก, แอมมี่ ไชยอมร, รุ้ง ปนัสยา, และชูเกียรติหรือจัสติน นอกจากนั้นก็มีจำเลยที่ได้รับการประกันตัวอีก 13 คน
.
ในห้องพิจารณามีการจัดเก้าอี้และแปะป้ายชื่อจำเลยแต่ละคนไว้ เก้าอี้ด้านหลังห้องพิจารณามีญาติของจำเลยเข้ามานั่งฟังการพิจารณา นอกจากคู่ความแล้ว คนที่จะเข้ามาในห้องพิจารณาคดีต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ศาลอย่างชัดเจนว่าเป็นญาติของใครตั้งแต่จุดคัดกรองชั่วคราวบริเวณลานจอดรถนอกอาคารศาล โดยในช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ศาลได้เดินไปบอกกับญาติของจำเลยว่า อย่าเข้าไปกอด พูดคุย หรือให้กำลังใจจำเลย ขอให้นั่งฟังเฉยๆ
.
เวลาประมาณ 11.10 น. จำเลยคนอื่นๆ ได้รับการประกันตัวทยอยเดินทางมาถึงศาลครบถ้วน คนที่มาช้า คือ ไบรท์ ชินวัตร ที่ถูกจับจากหมู่บ้านทะลุฟ้าในช่วงค่ำวันที่ 28 มีนาคม 2564 ซึ่งตำรวจพาตัวมาจากสโมสรตำรวจ ส่วนครูใหญ่ อรรถพล มาถึงช้าเพราะเครื่องบินจากขอนแก่นมาถึงล่าช้า
.
ศาลออกนั่งบัลลังก์ในเวลา 11.50 น. และเริ่มทำการขานชื่อจำเลยทีละคน ห้านาทีต่อมา จำเลยที่ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำเดินเข้ามาในห้องพิจารณาโดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประกบสองคนและคล้องแขนจำเลยไว้ตอนเดินเข้ามา แอมมี่ ไชยอมรเดินเข้ามาเป็นคนแรก พร้อมด้วยเพนกวิน พริษฐ์ ที่มาด้วยรถเข็นพร้อมเสาน้ำเกลือ โดยทีเจ้าหน้าที่ใส่ชุดพยาบาลเดินตามมาด้วย ตามมาด้วย ไมค์ ภาณุพงศ์ ไผ่ จตุภัทร์ สมยศ หมอลำแบงค์ ทนายอานนท์ จัสติน และรุ้งปนัสยาที่ถูกเบิกตัวมาจากทัณฑสถานหญิงกลาง
.
เมื่อจำเลยมาครบถ้วนแล้ว นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความแถลงว่าได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปอีกนัดหนึ่ง เนื่องจากพยานหลักฐานมีจำนวนมาก และเพิ่งได้รับเอกสารในวันที่ 25 มีนาคม จึงยังไม่ได้ตรวจดู และยังไม่ได้รับพยานวัตถุ ศาลจึงได้ถามว่าอัยการจะคัดค้านหรือไม่ อัยการตอบว่าไม่คัดค้าน และตกลงกันว่าจะเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปเป็นวันที่ 8 เมษายน 2564 เวลา 9.00 น.
.
ระหว่างการพิจารณา ศาลอนุญาตให้แต่ทนายความปรึกษาคดีกับจำเลยที่คุมถูกขังเท่านั้น เมื่อณัฐชนนจะเดินไปคุยกับเพนกวินเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็เข้ามาห้าม ทนายความต้องแถลงขอให้คู่คดีได้คุยกันบ้าง ศาลอนุญาตให้แยกคุยทีละคู่ อย่างไรก็ตาม ทนายความได้ขออนุญาตศาลให้แม่ของเพนกวินได้เข้าไปพูดคุยกับลูก เนื่องจากเห็นว่ามีสภาพร่างกายที่อ่อนเพลียมาก แม่ของเพนกวินเดินเข้าไปกอดลูก โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยืนห้อมล้อมอย่างใกล้ชิด เมื่อน้องสาวของเพนกวินจะเข้าไปคุยด้วยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็พยายามห้าม อ้างว่าศาลไม่อนุญาต ทั้งนี้จากการสังเกตพบว่าในวันนี้มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อยู่ในห้องพิจารณาคดีประมาณ 20 คน
.
ในช่วงหนึ่งของการพิจารณา ศาลเรียกให้รุ้งปนัสยาเข้าไปคุยที่หน้าบัลลังก์ โดยสอบถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง รุ้งเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ถูกคุมขังใช่หรือไม่ ระหว่างที่ตอบคำถามศาล รุ้งร้องไห้และบอกว่า อยู่ในเรือนจำไม่มีเวลาต่อสู้คดี ไม่มีเวลาหาพยานหลักฐาน พวกเราสู้อะไรไม่ได้เลย ทนายความได้ยินว่า ศาลพูดกับรุ้งว่า จะให้โอกาสเต็มที่ในการต่อสู้คดี รุ้งจึงบอกว่า หนูขอแค่ข้อเดียวคือ ขอสิทธิประกันตัว
.
ทางด้านสมยศ ได้ลุกขึ้นแถลงต่อศาลโดยมีใจความสำคัญว่า คดีนี้คงใช้พิจารณานาน ผมคงจะสิ้นลมก่อน ดังนั้นขอให้ศาลช่วยบันทึกลงในสำนวนคดีว่า
.
๐ ข้อ 1 ผมไม่ได้รับสิทธิประกันตัวจากศาลทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการต่อสู้คดี พวกผมไม่ได้อยู่ในฐานะจะต่อสู้คดีได้ ผมคงมีชีวิตอยู่ไม่นาน เพราะสภาพเรือนจำไม่เอื้อให้มีชีวิตยืนยาว ท่านอัยการมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการหาพยานหลักฐาน แต่พวกผมมีแต่กำแพงสูงและกรงขัง
.
๐ ข้อ 2 ตอนนี้ผมติดคุกเท่ากับว่าศาลตัดสินแล้วว่าผมผิด ถ้าสุดท้ายศาลยกฟ้อง ผมก็ติดไปแล้ว หรือศาลพิพากษาลงโทษ ผมก็ติดไปแล้วเช่นกัน ผลไม่ได้ต่างกัน
.
๐ ข้อ 3 ผมไม่อยากเห็นคนต้องเจ็บตัว หรือสูญเสียในการออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวผม ซึ่งที่ผ่านมาโดนทั้งกระสุนยางและแก๊สน้ำตา หรือแม้แต่เพนกวินที่ต้องทรมานเพราะอดข้าว จึงขอร้องให้ศาลสั่งประหารชีวิต เพื่อจำหน่ายคดีของผม เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาคดีนี้และพี่น้องคนอื่นจะได้ไม่ต้องเจ็บหรือสูญเสียอีก
.
สุดท้าย สมยศย้ำว่า ผมอยู่ในสภาพที่ต่อสู้อะไรไม่ได้ ขอวิงวอนให้บันทึกไว้ หรือหากศาลไม่บันทึก ก็ขอให้ทนายจำเลยบันทึกไว้แล้วยื่นเป็นคำร้องต่อศาล
.
เวลาประมาณเวลา 12.40 น. ศาลสั่งให้พักการพิจารณาเพื่อให้จำเลยที่ถูกคุมขังได้รับประทานอาหารกลางวันและนัดพิจารณาคดีต่อในช่วงบ่ายเวลา 13.30 น.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
7h ·
วันนี้ (29 มี.ค. 64) ประมาณ 11.00 น. สุรีย์รักษ์ ชิวารักษ์ แม่ของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษา/นักกิจกรรมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เข้ายื่นคำร้องต่อศาลอาญา รัชดาฯ ขอให้ย้ายที่กักขังเพนกวินจากสถานกักขังกลางปทุมธานีไปโรงพยาบาลพระรามเก้า หลังวานนี้ แม่เพนกวินได้รับแจ้งจากสถานกักขังกลางปทุมธานีว่า เพนกวินอ่อนเพลีย ไม่มีแรง สภาพร่างกายทรุดโทรมอย่างมาก อาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิต
.
โดยวันนี้ เพนกวินที่ถูกเบิกตัวมาศาลในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ต้องนั่งรถเข็นพร้อมทั้งถุงน้ำเกลือ หลังยอมให้แพทย์เข้าน้ำเกลือเมื่อวานนี้
.
เพนกวินอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวเข้าวันที่ 15 แล้ว นับตั้งแต่เขาประกาศอดอาหารเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ผ่านมา หลังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ม.112 โดยศาลปฏิเสธให้ประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 64 แม้จะมีการยื่นประกันตัวถึง 5 ครั้ง
.
นอกจากนี้ หลังการแถลงต่อศาลถึงความอยุติธรรมที่เขาได้รับและประกาศอดอาหารในห้องพิจารณาคดี เพนกวินยังถูก ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา กล่าวหาว่า ละเมิดอำนาจศาล และลงท้ายด้วยศาลมีคำสั่งให้จำคุก 1 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 15 วัน ก่อนพิจารณาให้กักขัง 15 วัน แทนโทษจำคุก และมีการนำตัวไปกักขังที่สถานกักขังกลางปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 64
.
คำร้องที่แม่เพนกวินยื่นต่อศาลมีเนื้อหาว่า เนื่องจากเมื่อวานนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นมารดาของพริษฐ์ ผู้ถูกกล่าวหาได้รับแจ้งจากสถานกักขังกลางปทุมธานีว่าขณะนี้พริษฐ์มีสภาพร่างกายทรุดโทรมอย่างมากและมีอาการที่น่าวิตกจนอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตซึ่งสภาพของสถานกักขังกลางอาจไม่สามารถดูแลได้
.
และเนื่องจากพริษฐ์เคยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างถูกกักขัง แต่ศาลไม่อนุญาต ซึ่งพริษฐ์มีความประสงค์จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ลงโทษดังกล่าว และประสงค์จะอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลอุทธรณ์ ดังนั้น ในขณะนี้ซึ่งมีเหตุจำเป็นเกี่ยวกับสุขภาพของพริษฐ์ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงให้ขอศาลมีคำสั่งในวันนี้ให้ส่งตัวพริษฐ์ไปกักขังที่โรงพยาบาลพระรามเก้า ซึ่งพริษฐ์มีประวัติการรักษาพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อรักษาชีวิตของพริษฐ์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด
.
ต่อมาในเวลาราว 17.00 น. ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องเรื่องขอให้ย้ายที่กักขังเพนกวิน โดยผู้พิพากษา นาง เมตตา ท้าวสกุล โดยให้เหตุผลประกอบว่า
.
“ตามพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2506 หากผู้ต้องกักขังเจ็บป่วยและเข้าสถานพยาบาลในสถานกักขั งแต่ไม่อาจทุเลาได้ เป็นอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่จะอนุญาตให้ผู้ต้องกักขังไปรักษาตัว ณ สถานที่อื่น และกรณีที่มีเหตุอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของผู้ต้องกักขัง เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์มีอำนาจสั่ง
.
“เหตุที่ผู้ร้องกล่าวมาจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลที่จะสั่งได้ ส่วนกรณีที่อยู่ในอำนาจศาลที่จะสั่งได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 24 วรรคท้าย การที่ศาลจะส่งให้ไปกักขัง ณ สถานที่อื่น เนื่องจากการกักขังอาจเป็นอันตรายแก่ผู้ต้องกักขัง ต้องปรากฏว่า ผู้ต้องโทษกักขังจะได้รับอันตรายจากการกักขังดังกล่าว เมื่อศาลไม่ได้รับหนังสือจากสถานที่กักขังแจ้งเหตุดังกล่าว และผู้ร้องไม่ได้แสดงพยานหลักฐานว่า ผู้ต้องโทษกักขังจะได้รับอันตรายตามคำร้อง อีกทั้งไม่ปรากฏว่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองโรงพยาบาลพระราม 9 ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้ร้องจะประสงค์ย้ายผู้ถูกกล่าวหาไปกักขัง ยินยอมที่จะรับผู้ถูกกล่าวหาไปกักขัง ณ สถานที่ดังกล่าว ให้ยกคำร้อง”
ขอบคุณรูปภาพข่าวจาก The Momentum
.
.
https://tlhr2014.com/archives/27689