วันพุธ, มีนาคม 31, 2564

ทวนความจำ ธนาธรพูดอะไรในไลฟ์เรื่องวัคซีน ในโอกาสที่ ธนาธร เข้ารับทราบข้อกล่าวหา 112 ปมไลฟ์เรื่องนี้


ธนาธร เข้ารับทราบข้อกล่าวหาปมไลฟ์วัคซีนโควิด ไม่กังวลโดน ม.112 : Matichon TV

Mar 30, 2021

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เดินทางเข้าทราบข้อกล่าวหาปมไลฟ์วัคซีนโควิด บอกไม่กังวลโดนมาตรา 112 เพราะ ไม่ได้ล่วงละเมิดและก้าวล่วง ทำไปด้วยเจตนาที่ดีต่อสังคม 

.....
วัคซีนโควิด: "ธนาธร" วิจารณ์รัฐบาลจัดซื้อวัคซีนล่าช้า-แทงม้าตัวเดียว-ฉวยโอกาสสร้างความนิยม



18 มกราคม 2021
บีบีซีไทย

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกโรงวิจารณ์นโยบายการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า "ล่าช้า" และตั้งคำถามถึงแนวทางจัดหาวัคซีนแบบ "แทงม้าตัวเดียว" จาก บ.แอสตร้าเซนเนก้า และแสดงความกังวลต่อการที่บริษัทเอกชนซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดวัคซีน

นายธนาธรตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 และการเข้ามาเกี่ยวข้องของ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ทางเฟซบุ๊กไลฟ์วันนี้ (18 ม.ค.) ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาให้ความมั่นใจกับประชาชนไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าว่า รัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้อย่างรอบคอบและยึดความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก "จะมีแพ้บ้าง ก็เป็นเรื่องปกติ" และล่าสุดได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาและจัดสรรวัคซีนแล้ว

ประธานคณะก้าวหน้ากล่าวว่าเหตุที่เขาออกมาตั้งข้อสังเกตในเรื่องนโยบายและแนวทางการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลเป็นเพราะการได้วัคซีนล่าช้าและไม่ครอบคลุมกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ นอกจากจะทำให้ประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงแล้ว ยังทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 เป็นไปอย่างล่าช้ากว่าประเทศอื่น

บีบีซีไทยสรุป 5 ข้อสังเกตของนายธนาธรต่อเรื่องวัคซีนโควิด-19 ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาลประยุทธ์ โดยเป็นข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์พิเศษนายธนาธรและจากสิ่งที่เขานำเสนอทางเฟซบุ๊กไลฟ์

1. รัฐบาลประมาท ไม่เร่งการเจรจาจัดหาวัคซีนจนเกิดความล่าช้า

ประเด็นแรกที่ประธานคณะก้าวหน้าวิพากษ์วิจารณ์ คือ กระบวนการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนต่างชาติและจัดหาวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 ของรัฐบาลภายใต้การนำโดย พล.อ. ประยุทธ์ เป็นไปอย่างล่าช้าและไม่สามารถครอบคลุมประชากรอย่างเหมาะสมและทันท่วงที เพื่อให้ประชากรที่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นมากพอในประชากร หรือ ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity)

ความล่าช้าดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงในประชาชนในการติดโรคอีกด้วย

เขามองว่า เป็นความประมาทเลินเล่อของรัฐบาลที่ไม่เร่งเจรจากับบริษัทผู้วิจัยและผลิตวัคซีนต่างประเทศทั้ง ๆ ที่แผนพิมพ์เขียวเพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประชาชนไทยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 2563 แต่รัฐบาลก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามการจัดซื้อจัดหาวัคซีนล่วงหน้า จนกระทั่งเดือน พ.ย. กระทรวงสาธารณธสุขจึงหนังสือด่วนที่สุด เรื่องโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) ที่ผ่านมา ผ่านการผลิตและโอนถ่ายเทคโนโลยีการผลิตมายังของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดของไทย

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ไทยจะได้วัคซีนล็อตแรกจำนวน 26 ล้านโดส สำหรับประชากรราว 10 ล้านคนในกลางปี 2564 จึงทำให้รัฐบาลจะต้องเจรจากับซิโนแวค ไบโอเทค บริษัทผู้ผลิตยาและชีวเภสัชภัณฑ์ของจีน เพื่อจัดหาวัคซีนโควิดแบบเร่งด่วนจำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งล็อตแรกจะจัดส่งมาภายในเดือน ก.พ.นี้

เขาระบุว่าไทยได้วัคซีนล่าช้าและครอบคลุมประชากรน้อยกว่าหลายประเทศในเอเชีย เช่น มาเลเซียที่ปิดสัญญาซื้อวัคซีนได้ค่อนข้างเร็วและมีวัคซีนครอบคลุม 71% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ไต้หวันและ ฟิลิปปินส์จัดหาวัคซีนได้สำหรับ 42% และ 45.1% ตามลำดับ

"กว่าจะรู้ตัวว่าล่าช้า ก็สายไปเสียแล้ว" นายธนาธรกล่าวและให้ความเห็นว่า ความล่าช้านี้ยังทำให้ไทยต้องซื้อวัคซีนในราคาต่อโดสที่สูงขึ้นด้วย

"หากว่าจัดซื้อจัดหาตั้งแต่แรกก็อาจจะได้ราคาถูก แต่ก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนในการสร้าง herd immunity เพราะฉะนั้น ราคา ประสิทธิภาพและจำนวนจึงสัมพันธ์กัน ต่อให้แพงแต่ประสิทธิภาพดีคุณก็ไม่จำเป็นจะต้องฉีดให้ครบ 100%"

แต่เขาเห็นว่า "เรื่องราคาเป็นเรื่องรอง" เมื่อเทียบกับความจำเป็นที่ต้องจัดซื้อวัคซีนมาให้ประชาชน
"ถ้าเป็นผมต่อให้วัคซีนแพงผมก็จะซื้อ ผมรู้สึกว่า ราคาสำคัญน้อยกว่าเวลา"

เมื่อสอบถามถึงความแตกต่างระหว่างรูปแบบการจัดซื้อแบบชิโนแวค และกรณีของแอสตร้าเซเนก้าที่ได้วัคซีนมาพร้อมกับการถ่ายโอนเทคโนโลยีการผลิต นายธนาธรเห็นด้วยว่าที่ระยะกลางระยะยาว จำเป็นจะต้องมีการผลิตวัคซีนในประเทศ ปัญหาก็คือทำไมไม่ให้องค์การเภสัชกรรม หรือระดมบริษัทยาในประเทศไทยมาร่วมกันผลิต

"อาจจะจัดให้เป็นมีบทบาทในซัพพลายเชน โดยให้องค์การเภสัชฯ เป็นกลุ่มบนที่เป็นผู้ประสานงาน ควบคุมมาตรฐานการผลิตกับบริษัท แอสตร้าเซเนก้า ในขณะที่อาจจะมีบริษัทโรงงานอีกกลุ่มมาเป็นผู้ผลิตยา" เขาอธิบาย



ก่อนหน้านี้ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงกับบีบีซีไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ภายในปีนี้คาดว่าประชากรอย่างน้อย 50% จะต้องได้รับวัคซีน

ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติอธิบายถึงความพยายามในการจัดหาวัคซีนของทางการไทยว่ามีทั้งการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศ ซึ่งการพัฒนาและทดลองวัคซีนต้องใช้เวลานานและมีหลายขั้นตอน จึงทำให้เกิดความล่าช้า แต่คาดว่าจะสามารถทดสอบในคนได้ ภายในปีนี้

ส่วนแนวทางที่สองคือความร่วมมือต่างประเทศโดยเน้นการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีเป็นสำคัญ และที่ดำเนินการไปแล้วคือ ความร่วมมือกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนให้แก่ บ.สยามไบโอไซเอนซ์

"นี่เป็นความมั่นคงของประเทศแล้วว่า ประเทศเราผลิตวัคซีน viral vector ได้หนึ่งชนิดแล้ว" ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติกล่าว

ส่วนแนวทางที่สามคือการจัดซื้อวัคซีนโดยตรงแต่จะต้องขึ้นอยู่กับข้อมูล การวิจัยพัฒนาที่ผ่านมาเพื่อพิจารณาผู้ที่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีน ทั้งในส่วนที่สำเร็จแล้วและใกล้จะสำเร็จซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ซิโนแวคจากจีน

"แนวทางทั้ง 3 อย่างนี้ก็เพื่อโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนของไทยให้มากที่สุด" ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติกล่าว

2. "แทงม้าตัวเดียว" ไม่เปิดทางเลือกอื่นจากบริษัทอื่น ๆ

หัวหน้าคณะก้าวหน้าตั้งคำถามถึงการที่รัฐบาลเลือกที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการเอกชนรายเดียว คือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 จากแอสตร้าเซนเนก้า โดยไม่มีการเจรจากับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังมีองค์กรที่มีความพร้อมอื่น ๆ ในประเทศซึ่งถูกระบุในแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2563 - 2565 ว่ามี 6 หน่วยงานที่มีศักยภาพผลิตวัคซีนแบบปลายน้ำ เช่น สถานเสาวภา ของสภากาชาดไทย, บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด, องค์การเภสัชกรรม, บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด, ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์ โมเลกุล ม. มหิดล และโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี

"ไม่มีชื่อของสยามไบโอไซเอนซ์อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2563 - 2565 ของประเทศไทยเลย" เขากล่าว

เมื่อพิจารณาในแง่ผลประผลประกอบการของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์และบริษัทในเครือทั้งหมด ยังไม่มีบริษัทใดเลยประสบความสำเร็จทางด้านการเงิน ขาดทุนแทบจะทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่สยามไบโอไซเอนซ์ ตั้งมาแล้วกว่า 10 ปี ด้วยทุนจดทะเบียน 4,800 ล้านบาท โดยมีการขาดทุนสะสมกว่า 581 ล้านบาท

จากข้อมูลที่สยามไบโอไซเอนซ์รายงานต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ผลประกอบการปี 2556 - 2562 ขาดทุนอย่างต่อเนื่องหลายสิบล้านบาท แม้ว่าจะมีรายได้รวมที่เข้ามาเพิ่มขึ้นในแต่ละปีก็ตาม

"บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เหมาะสมที่จะทำภารกิจนี้หรือเปล่า" เขาตั้งคำถาม

ในประเด็นนี้ ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ อธิบายว่า แอสตร้าเซนเนก้าเป็นผู้เลือกสยามไบโอไซเอนซ์ผ่านการประสานงานของเอสซีจี ในขณะที่แอสตร้าเซนเนก้ากำลังมองหาศูนย์การผลิตในอาเซียน และไทยถือว่าเป็น แหล่งของนักเรียนหัวกะทิที่พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และเมื่อประเมินแล้วทั้งในแง่บุคลากร ศักยภาพ เครื่องมือทั้งโรงงานที่มีและที่ลงทุนมาแล้วกว่า 4,500 ล้านบาท รวมทั้งทุนการผลิต สยามไบโอไซเอนซ์ จึงเหมาะสม


กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 AZD1222 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด

3. ความขัดกันของผลประโยชน์

นายธนาธรยังอ้างถึงรายงานการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติครั้งที่ 5/2563 วันที่ 5 ต.ค. 2563 มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของโครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบและเตรียมความพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญของโครงการนี้คือ "การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิด viral vector ดำเนินการโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด งบประมาณ 600 ล้านบาท"

ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตในระดับนานาชาติเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ผ่านการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากต่างประเทศ แต่มีความกังวลเรื่อง "การขัดกันแห่งผลประโยชน์" จากการนำงบประมาณของรัฐไปสนับสนุนบริษัทเอกชน

"มีประเด็นข้อกังวลเรื่องของการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (conflict of interest) เนื่องจากเป็นการนำงบประมาณจากรัฐบาลไปสนับสนุนบริษัทเอกชน ซึ่งขอให้พิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบและโปร่งใส และมีความเห็นว่าสถาบันวัคซีนแห่งชาติต้องเปิดเผยข้อมูลการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้ทราบด้วย" รายงานการประชุมซึ่งบีบีซีไทยได้เห็นเอกสารฉบับสำเนาระบุ

4. รัฐบาลฉวยโอกาสจากโควิด กอบกู้ความนิยมช่วงที่มีการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

นายธนาธรตั้งคำถามว่าการตัดสินใจ "แทงม้าตัวเดียว" โดยเลือกวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งให้ สยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้ผลิตวัคซีนนั้นเป็นการกระทำที่ต้องการสร้างความนิยมทางการเมืองมากกว่าเรื่องสาธารณสุขหรือไม่ เนื่องจากการจัดหาวัคซีนนี้เพิ่งเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

หัวหน้าคณะก้าวหน้าขยายความประเด็นนี้เพิ่มเติมกับบีบีซีไทยว่า เขาเชื่อว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ อาศัยเรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 มากอบกู้ความนิยมต่อสถาบันกษัตริย์ซึ่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

"การกระทำครั้งนี้เป็นการกระทำที่ต้องการสร้างความนิยมทางการเมืองมากกว่าที่ต้องการจะหาข้อสรุปในการจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรไทยให้มากที่สุดและเร็วที่สุดหรือเปล่า" นายธนาธรตั้งคำถาม

นายธนาธรตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การเลือกพึ่งพาวัคซีนจาก แอสตร้าเซนเนก้า-ไบโอไซเอนซ์ ยังเป็นการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการแสดงให้เห็นถึง "ความจงรักภักดี"

บีบีซีไทยสอบถามไปยังนายอนุทินเพื่อขอคำชี้แจงต่อประเด็นข้อกล่าวหาต่าง ๆ ของนายธนาธร นายอนุทินปฏิเสธที่จะให้ความเห็น



นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาลปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อข้อวิจารณ์ของนายธนาธรที่ว่ารัฐบาลนำเรื่องวัคซีนมาสร้างความนิยมทางการเมือง แต่ยืนยันว่าการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลเป็นเรื่องของสาธารณสุขที่รัฐบาลจะต้องดูแลประชาชน โฆษกรัฐบาลอธิบายว่าในเรื่องของวัคซีนโควิด รัฐบาลมีเป้าหมายหลักสองประการคือ การจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรอย่างน้อย 50% หรือประมาณ 33 ล้านคนภายในปีนี้ และประเทศไทยต้องมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนเอง ซึ่งจะใช้สำหรับทั้งประชากรไทยและภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ ในพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับ แอสตร้าเซนเนก้าเมื่อ 27 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีพระราชดำริให้ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย ให้เข้าร่วมดำเนินการบรรจุและแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19

"เราต้องมีการเตรียมการภายในประเทศคือ เมื่อรับวัคซีนมาแล้ว จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งอันนี้ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานให้บริษัทสยามไบโอไซเอนส์ ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย อยู่ในขั้นตอน คือเมื่อรับวัคซีนเข้ามาแล้วจะมีการบรรจุ แจกจ่าย" นายกฯ กล่าว

5.สถานะของสถาบันกษัตริย์กับผู้เล่นทางเศรษฐกิจไปด้วยกันไม่ได้

ในช่วงสุดท้ายนายธนาธรกล่าวว่า เนื่องจาก บ.สยามไบโอไซเอนซ์ มีในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรง หากมีอะไรผิดพลาดขึ้น ประชาชนย่อมต้องตั้งคำถามกับบริษัท ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ที่ตัดสินใจเรื่องนี้จะต้องรับผิดชอบ

ทั้งนี้ สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น บ.สยามไบโอไซเอนซ์ ในฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามีทุนจดทะเบียน 4,800 ล้านบาท แบ่งเป็น 48 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีพระนามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นอันดับ 1

"ผู้ถือหุ้นของสยามไบโอฯ คือในหลวงรัชกาลที่ 10 คุณประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ อนุมัติดีลนี้ ถ้ามีอะไรผิดพลาด คุณประยุทธ์จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าเกิดว่าวัคซีนผลิตได้ช้ากว่ากำหนด ถ้าเกิดว่าการผลิตวัคซีนมีปัญหาในการแจกจ่ายประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ถ้าเกิดว่าประชาชนเกิดการแพ้วัคซีนหรือวัคซีนมีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย คุณประยุทธ์จะรับผิดชอบไหวหรือไม่"

นายธนาธรกล่าวกับบีบีซีไทยเพิ่มเติมว่าเขาเห็นว่า "สถานะผู้เล่นทางเศรษฐกิจกับสถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยไปด้วยกันไม่ได้"

เขากล่าวว่าขณะนี้มีหลายบริษัททั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และที่ไม่อยู่ ที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรง ซึ่งทำให้พระมหากษัตริย์กลายเป็น "ผู้เล่นทางเศรษฐกิจ" และอาจตกอยู่ในสถานะของการเป็นคู่ขัดแย้งซึ่งตามหลักสากลผู้เล่นทางเศรษฐกิจอาจถูกฟ้องร้องหรือถูกวิจารณ์ได้ แต่ภายใต้กฎหมายปัจจุบันพระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะที่ฟ้องร้องและวิจารณ์ไม่ได้ ซึ่งนายธนาธรมองว่าเป็นปัญหา

"ถ้าจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องอย่าให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้เล่นทางเศรษฐกิจ" นายธนาธรกล่าว