การอ้าง ‘หน้าที่’ เพื่อให้ร้าย ทำร้ายผู้ที่ยึดมั่นและต้องการประชาธิปไตย ปรากฏในระยะนี้อย่างน้อยสองกรณี ขนาดเบาะๆ เกิดที่กลาโหม ด้วยการสั่งสอบความประพฤติ ‘ร้อยโท’ คนหนึ่งที่แสดงความเห็นสนับสนุน ‘แอมมี่’ นักกิจกรรมซึ่งถูกข้อหา ม.๑๑๒
กรณีหนักกว่า เป็นการอ้าง ‘หน้าที่’ ปกป้องสถาบันกษัตริย์ ในการเตะตัดขาทำร้ายหญิงคนหนึ่ง ผู้ไปยืนชูสามนิ้วให้เห็น ล้มทั้งยืนกองกับพื้น นอกจากผู้กระทำการคนนั้นลอยนวลแล้ว ยังพูดอย่างยะโสว่าจะไล่ฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อคนที่ก่นด่าว่าตนโหดร้าย
อริยะ รัตนภูผา หนึ่งในกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันกษัตริย์ ๖ คน ที่รุมล้อมนักกิจกรรมหญิงฝ่ายประชาธิปไตยบนลานสกายว้อค ก่อนเขากระโดดเข้าเตะจนหญิงนั้นล้มทั้งยืน บอกว่าการคุกคามทำร้ายฝ่ายมีความเห็นตรงข้าม เป็นการทำหน้าที่กตัญญูต่อแผ่นดิน
หน้าที่ซึ่งไม่เคยมีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใด ให้ทำการ “ละเมิดสิทธิเสรีภาพทางร่างกาย ความคิดเห็น การแสดงออกของบุคคลอื่น และการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน” สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนาโต้แย้ง
เขาบอกด้วยว่า “อ้างแบบนี้ มันก็เหมือนกับเผด็จการทหารอ้างว่า #ทำรัฐประหารเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ นั่นแหละ มันอ้างมั่วๆ ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ทำรัฐประหารได้หรอก” เช่นกันกับกรณีทหารสัญญาบัตรแสดงจุดยืนทางการเมืองของตน
รองโฆษกกองทัพบกแถลงถึงการสั่งสอบสวนนายร้อยโท ที่แสดงจุดยืนเห็นพ้องด้วยกับการแสดงออกทางสัญญลักษณ์ของ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ซึ่งจุดไฟเผาซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์กษัตริย์ ร.๑๐ ว่าถ้าเขากระทำการวิจารณ์จริง ก็มีความผิด
“ถือมีความผิดในระเบียบปฏิบัติเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ที่จะต้องไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง...ผิดวินัยทหาร โดยจะมีจากโทษเบาไปหาหนัก” เพราะถือว่าเป็นข้าราชการต้องมีจิตวิญญาน ‘ที่ดี’
“และหากเป็นทหารต้องยึดสถาบันหลักของชาติ ทั้งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นที่ตั้ง” ด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ หัวหน้าทีมโฆษกกลาโหมเสริมว่า “เราไม่ได้ปิดกั้นการแสดงออกทางความคิด...แต่ทหารควรทำ ‘หน้าที่’ ทหาร”
เป็นคำพูดที่ปราศจากตรรกะเสียนี่กระไร ไม่ปิดกั้น แต่ห้าม พูดเหมือนเด็กเกเร เอาแต่ใจ เอาแต่ได้ มีจิตวิญญานที่ขาดมนุษยธรรม ไม่เคารพในสิทธิของผู้อื่น หากนำความเห็นของ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ในกรณีอื่นมาปรับใช้ คงได้ว่า
“สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าไปสู่ ‘ยุคนาซีใหม่’ เพราะอำนาจดิบ/เถื่อน/ของทรราชเถลิงอำนาจขึ้นครอบงำ” ทำให้ประเทศไทยกำลังเป็น ‘Kingdom of Tyranny’ ดังที่มีเสียงวิพากษ์มากขึ้นหนาหู โดยแท้ แม้ว่า ศ.อรรถจักร์ พูดถึงเรื่องเสรีภาพในมหาวิทยาลัย
ต่อการที่ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษาฯ กล่าวถึงการใช้เสรีภาพ ‘ต้องมีขอบเขต’ จำกัด “ใครที่ต้องการเสรีภาพที่สุดขั้ว ที่มากล้นกว่านี้ ก็ไม่ควรอยู่ในชุมชนมหาวิทยาลัย” ไม่เพียงกระทบถึงนักศึกษาที่แสดงความเห็นทางสังคมและการเมืองของตน
เอนกแขวะบรรดาคณาจารย์ซึ่งสนับสนุนการแสดงออกทางการเมืองของลูกศิษย์ในเวทีสาธารณะ ด้วยการคอยตามยื่นประกันขอปล่อยตัวชั่วคราว แก่นักศึกษาที่ถูกจับกุมคุมขังจากการที่ออกไปชุมนุม ปราศรัย เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูป
เขาแสดงอำนาจบาตรใหญ่ต่ออาจารย์ส่วนหนึ่งว่าจำนวน ‘น้อยนิด’ “ถ้าไม่เชื่ออยากจะรุกล้ำอะไรมากกว่านี้ ตนก็เสียใจที่จะบอกว่าขอให้เตรียมตัวรับผลที่จะตามมาก็แล้วกัน” อันเป็นการข่มขู่และคุกคามต่อเสรีภาพของอาจารย์มหาวิทยาลัยโดยตรง
จน Anusorn Unno รำพึงว่า “อเนจอนาถเอนก...ไม่เคยแสดงความเห็นที่เป็นคุณต่อการเผชิญปัญหาหรือความท้าทายของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าพบหลังเข้ารับตำแหน่งเพียงหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้เข้มงวดกับการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา
...โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการกล่าวว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ ยกเว้นประเด็น ‘ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ หากใครไม่พอใจเสรีภาพแบบนี้ก็ไม่ควรอยู่ในมหาวิทยาลัย” เป็นต้น
มันเป็นความก้าวร้าวที่เข้าลักษณะ “ปิดกั้นความคิดคน และพยายามดันให้คนทั้งสังคมคิดคำนึงไปในทางทิศที่ตนเองต้องการ...ข่มขู่ไม่ให้มีความคิดต่างออกไป” เป็นพฤติกรรม ‘สร้างวัฒนธรรมความกลัว’ แบบนาซี คืบเข้าไปในอาณาเขตแห่งเสรีภาพ
“ปราการที่ต้องทำลายก่อนก็คือมหาวิทยาลัย” โดยมีเอนกนี่แหละเป็น agent เส้นสายให้กับพวกเผด็จการ
(https://www.matichon.co.th/politics/news_2642671, https://www.facebook.com/anusorn.unno/posts/10159252401302716, https://www.matichon.co.th/politics/news_2643026 และ https://www.facebook.com/suraphotthaweesak/posts/3846546805438630)