วันศุกร์, มีนาคม 26, 2564

ที่ฟัน ส.ส.หญิง ‘ทีมกัด’ กับ ‘ดาวฤกษ์’ เนี่ย อีกปาหี่ ‘damage control’


จะเรียกว่า อำนาจเบ็ดเสร็จแบบ นูโว น่าจะได้ ในเมื่อใช้วิธีตบหัวบ้างลูบหลังบ้าง บางครั้งลูบหัวก่อนแล้วตบหลังก็มี เช่นกับม็อบหลังจากฉีดน้ำใส่อย่างแรง ยิงแก๊สน้ำตา กระสุนยาง แล้วประกาศว่า ทรงรับรักษาผู้บาดเจ็บทั้งหมดงี้

หรือในกรณีดราม่าทางการเมือง ศาลฎีกาฟัน ส.ส.หญิง ทีมกัดคนหนึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ชั่วคราว ๖ เดือน ในความผิดการบุกรุกที่ป่าสงวนเอาไปทำไร่เลี้ยงไก่ ขืนเลี่ยงบาลีไปมากจะเข้าเนื้อ และการถอด ส.ส.หญิงอีกคนในกลุ่ม ดาวฤกษ์

“ให้ออกทุกตำแหน่งที่เกี่ยวกับการเมือง เป็นเวลา ๓ เดือน” เป็นการลงโทษฐานสร้างรอยร้าวกับพรรคร่วมรัฐบาล ที่เป็นฐานเสียงสำคัญ “โหวตงดออกเสียงให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา”

๓ เดือน ๖ เดือน มันเพียงแค่ประวิงเวลา ให้ภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานผ่อนคลาย ถอด เดียร์วทันยา วงศ์โอภาษี ออกจากวิปรัฐบาล หรือถอด ปารีณา ไกรฤกษ์ ออกจากงานหน้าที่ผู้แทนฯ เป็นอีกปาหี่ในการ ‘damage control’ ผ่อนปรนความเสียหายเท่านั้น

การปกครอง ด้วย กฎหมาย (ที่ไม่ใช่การปกครอง โดยกฎหมาย) แต่โดยอำเภอใจ ยังดำเนินต่อไปด้วยการผ่านร่าง พรบ.ข้อมูลข่าวสารราชการ โดยคณะรัฐมนตรี อันมีเนื้อความกำหนด “ให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบดิจิทัล”

อ้างไว้สวยหรู รื่นหู “มุ่งเน้นในเรื่องของสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นหลัก เพื่อปกป้องประโยชน์ของตนเอง ประโยชน์สาธารณะ และเพื่อการมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย” บลา บลา แต่แทรกซ้อนไว้ด้วยพิษร้ายนานา

“หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบ จะไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้ก็ได้ หากปรากฏอย่างชัดแจ้ง” ว่าผู้ร้องขอมากเกินไป “โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือมีลักษณะเป็นการก่อกวน...สร้างภาระจนเกินสมควรแก่หน่วยงานของรัฐ” คือถ้าเกิดความรำคาญก็ไม่ให้ งั้นสิ

“ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หากเปิดเผยแล้ว อาจมีการนำไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และข้อมูลด้านการถวายความปลอดภัย จะเปิดเผยไม่ได้” อย่างเช่นภาพในหลวง ราชินีในชุดคร็อปท้อป ที่สนามบินมูนิคน่ะหรือ


กับ “ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งไม่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารใด...อาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง” แต่ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่า กรรมการฯ จะไม่ยืนกระต่ายขาเดียวเหมือนศาลไม่ให้ประกันผู้ชุมนุม

หรือกรณีที่พรรคก้าวไกล “ได้เสนอชุดร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน” ซึ่งหนึ่งใน ๕ ฉบับเป็นเรื่อง “การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เพื่อให้มีการยกเว้นความผิด” และโทษ

กลับมี “กลุ่มงานพระราชบัญญัติ และญัตติ ๑ สำนักการประชุมสภาผู้แทนราษฎร” เป็นผู้วินิจฉัยปะหน้าออกมาก่อนเลยว่า “เป็นการขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา ๖” กษัตริย์ “อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แต่ตีความคำ ละเมิดเกินจริง

ในเมื่อข้อแก้ไข ม.๑๑๒ ของพรรคก้าวไกล เสนอว่า “ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต...เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด” ก็ฟังขึ้น โดยเฉพาะถ้า “พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง”


เสร็จแล้วในเวลานี้ ทางปฏิบัติของการบังคับใช้กฎหมาย ทำกันอย่างไร ดูได้จากเหตุเกิดเมื่อ ๒๕ มีนา ๖๔“ตำรวจ สน.ทุ่งสองห้องจับบ่อนพนันย่านแจ้งวัฒนะ ๑๔...ถูก บิ๊กตำรวจชุดปราบอบายมุขของ” สตช.นั่นเองแหละ เบรค

“โทรศัพท์สายตรงด่ากราด อ้างเคลียร์นายเรียบร้อยแล้ว ก่อนสั่งปล่อยเจ้ามือและผู้ต้องหา” ทั้งๆ ที่ความผิดที่เกิดและจับได้คาหนังคาเขา ตรงเป๊ะตามลักษณะที่ระบุไว้ในกฎหมายทุกอย่าง การอ้างว่า “บ่อนดังกล่าวได้เคลียร์เรียบร้อยแล้ว” ไม่ใช่บังคับใช้กฎหมาย

แต่เป็นการใช้สถานะตามกฎหมาย เอาไปข่มขู่ ข่มเหง และคุกคามเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการในพื่นที่ ว่า “หากมีปัญหาอาจจะเดือดร้อนในภายหลังได้ ทำให้ชุดจับกุมต้องทำตามคำสั่งดังกล่าว” ทั้งที่การบุกจับบ่อนนี้เคยมีแล้วเมื่อสิ้นปี ๖๓ เด้งกันระนาว

แบบนี้ทางนานาอารยะเขาเรียกกันว่า ใช้อำนาจบิดเบือนทางร้าย ไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ เป็นอาชญากรรมชั่วช้ายิ่งกว่าอาชญาตัวจริง หากกระทำความเสียหายและสูญเสียแก่หมู่คนจำนวนมาก นับสิบ ยี่สิบ นับร้อย นับพัน

มันเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ‘Crimes Against Humanity’

(https://www.komchadluek.net/news/crime/462073?qt, https://www.matichon.co.th/politics/news_2642706, https://prachatai.com/journal/2021/03/92259 และ https://www.matichon.co.th/politics/news_2642127)