วันพุธ, มีนาคม 24, 2564

ชีวิตอันผกผันของแอน ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมัน เมื่อถูกตั้งข้อหา 112 และราคาของความอยุติธรรมที่ต้องแลกกับ ”“Nieder mit dem Feudalismus, lang lebe das Volk”



ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
18h ·

ในวาระที่มาตรา 112 ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับเหล่าผู้ตื่นรู้ ศูนย์ทนายฯ ชวนอ่านซีรีส์บทสัมภาษณ์สะท้อนหลากหลายเรื่องราวชีวิตของผู้อ่านแถลงการณ์ 3 ภาษา ที่การชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมันเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 – ผู้ชุมนุมกลุ่มแรกสุดของขบวนที่ไม่ได้ขึ้นปราศรัยหรือเป็นแกนนำ ทว่ากลับถูกตั้งข้อหาร้ายแรงอย่าง มาตรา 112 คู่กับมาตรา 116
ชวนสำรวจความฝัน ความหวัง และภาพสะท้อนความกล้าหาญของเหล่าคนธรรมดาสามัญที่ถูกตั้งข้อหาเพียงเพราะอาสาเป็นตัวกลางเพื่อสื่อสารกับฟากฟ้า ในวันที่ต้องเดินบนถนนสาย 112 โดยมีอนาคตข้างหน้าเป็นเดิมพัน
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
.
แอน: “ชีวิตผกผันเมื่อถูกตั้งข้อหา 112 และราคาของความอยุติธรรมที่ต้องแลก”
.
“Nieder mit dem Feudalismus, lang lebe das Volk”
.
ถ้อยประโยคข้างต้นเป็นคำแปลภาษาเยอรมันของ “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” – ประโยคถ้อยสะท้อนการต่อสู้ของมวลชน #คณะราษฎร63 และความหวังถึงสังคมที่เท่าเทียมของพวกเขา ถูกระบุทิ้งท้ายไว้ในแถลงการณ์ภาษาเยอรมันซึ่งถูกอ่านที่ด้านหน้าสถานทูตเยอรมันในการชุมนุมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564
.
ในจำนวนผู้อ่านแถลงการณ์ภาษานี้ทั้ง 4 ราย “แอน” (นามแฝง) คือคนที่เรียนและใช้ภาษาเยอรมันมายาวนานที่สุดเมื่อเทียบกับรายอื่น เธอจึงรับหน้าที่ถ่ายทอดเนื้อความในส่วนที่ออกเสียงค่อนข้างยาก รวมถึงประโยคส่วนท้ายนี้ด้วย
.
ปัจจุบัน แอนทำงานเป็นพนักงานระดับสูงในบริษัทด้านพลังงานแห่งหนึ่งบนถนนสาทร เมื่อครั้งยังวัยรุ่น เธอเคยไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศเยอรมันหนึ่งปี ผลจากการตัดสินใจทำให้ จากเด็กที่เคยเรียนสายวิทย์ แอนเลือกที่จะเบนเข็มไปเรียนภาษาเยอรมันเป็นวิชาหลัก จนกระทั่งได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาภาษาเยอรมัน
.
หลายปีก่อนหน้าการต่อสู้ของมวลชนคณะราษฎร แอนยอมรับว่าตัวเธอเองก็ไม่ได้แตกต่างจากชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ทั่วไปที่เลือกยืนข้างมวลชน #กปปส ในสมัยที่หลักการประชาธิปไตยถูกมองด้วยสายตาวิพากษ์วิจารณ์ จุดเปลี่ยนเล็กๆ ทางความคิดของแอนเริ่มมาจากการที่สังเกตเห็นมาตรการบางอย่างของ กปปส. ที่เข้ามาก้าวก่ายชีวิตของเธอและใครหลายๆ คน
.
“เนื่องจากว่าเราทำงานอยู่แถวสาทร มันมีมาตรการบางอย่างของม็อบที่เรารู้สึกว่ามันคุกคามเราและคนอื่น อย่างเช่นเวลาที่ต้องขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินทุกครั้ง จะต้องมีการ์ดมาคอยตรวจค้นกระเป๋า ซึ่งเขาไม่มีสิทธิมาทำแบบนั้น ทำให้การเดินทางที่ควรจะสะดวกกลายเป็นไม่สะดวก เริ่มรู้สึกไม่โอเค แล้วก็เริ่มลามไปตั้งคำถามกับเรื่องอื่นๆ จนเพื่อนแนะนำให้เราหาอะไรที่อยู่ฝั่งตรงข้ามอ่าน พอตื่นรู้ก็คิดได้ว่าเราคงจะไม่กลับไปเชื่ออะไรเหมือนเมื่อก่อนอีก (หัวเราะ) ”
.
สำหรับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 ที่ด้านหน้าสถานทูตฯ แอนเล่าย้อนไปว่า ในตอนแรกเธอคิดแค่ว่าจะไปร่วมในฐานะของมวลชนแต่เพียงอย่างเดียว ด้วยความที่ที่ทำงานใกล้กับสถานที่ชุมนุม เลยอยากจะแวะไปเพื่อสังเกตการณ์ ตัวเธอเองก็ไม่ใช่ขาประจำม็อบ เคยเข้าร่วมเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากติดภาระทางการงาน จนกระทั่งเพื่อนของแอนติดต่อมา เล่าว่าทางผู้จัดการชุมนุมประกาศในทวิตเตอร์ว่าต้องการคนที่จะขึ้นมาอ่านแถลงการณ์ทั้งหมด 3 ภาษา ความกล้าหาญที่วาบขึ้นมาในฉับพลันทันด่วนทำให้เธอติดต่อไปหาผู้จัด และขออาสาก้าวขึ้นไปเป็นตัวแทนเพื่อประกาศเจตนารมณ์ของมวลชน
.
เธอยอมรับว่า การตัดสินใจที่ด้านหน้าสถานทูตฯ เป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างกะทันหัน และไม่ได้คิดถี่ถ้วนเกี่ยวกับผลกระทบทางกฎหมายที่อาจตามมา หรือกระทั่งความเสี่ยงที่อาจจะโดนมาตรา 112 สิ่งเดียวที่รบกวนจิตใจภายหลังจากอ่านแถลงการณ์จบคือความกังวลเรื่องเพื่อนร่วมงานที่อาจจะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างไปจากตัวเอง ซึ่งหากมีคนรู้ว่าเธอเข้าร่วมในการชุมนุม คิดว่านั่นน่าจะส่งผลกระทบกับสังคมออฟฟิศ
.
“ถึงทางบริษัทจะมีนโยบายว่าสามารถแสดงออกทางการเมืองได้ในนามของตัวเองได้ แต่เราไม่อยากให้คนในองค์กรเดียวกัน ที่อาจจะคิดไม่เหมือนกับเรา รู้ว่าเป็นเราที่ขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ เราเป็นคนเดียวในกลุ่มคนอ่านที่เลือกปิดหน้าปิดตา ใส่หน้ากากผ้า แล้วก็ขอหมวกกันน็อคของการ์ดมาใส่เพื่อพรางตัว แต่ทั้ง ๆ ที่เราทำขนาดนี้ รัฐยังอุตส่าห์ตามตัวเราเจอเลย (หัวเราะ) ”
.
“ตอนที่อ่านเราไม่ได้คิดหรือกังวลว่าจะมีคดีความตามมา เพราะเราเชื่อมั่นมากว่าสิ่งที่เราทำเป็นการใช้สิทธิที่ให้ไว้ตามรัฐธรรมนูญ คนเราควรจะสามารถแสดงความคิดเห็นอะไรก็ได้ อีกอย่างเรารู้สึกว่ามันเป็นแค่จดหมายฉบับหนึ่ง เราแค่ไปอ่าน ไม่ได้เป็นคนเขียน หน้าที่ของเราคือถ่ายทอดเนื้อหาในจดหมายเพียงเท่านั้น”
.
ผลจากการอ่านแถลงการณ์ทำให้แอนและผู้ชุมนุมอีก 13 ราย ถูกตั้งข้อหาหนักตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา แน่นอนว่าการถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมไม่ได้ส่งผลแค่ตัวของแอนเอง แต่กับครอบครัวเองก็ได้รับผลกระทบในหลายๆ แง่ โดยเฉพาะทางด้านของจิตใจ แต่ในเวลานี้เมื่อทุกอย่างล่วงผ่านมาจนอีกแค่เพียง 3 วันก่อนที่เธอจะเดินทางไปฟังคำสั่งฟ้องของอัยการ ซึ่งมีท่าทีว่าจะฟ้องคดี และอาจจะต้องถูกฝากขังระหว่างพิจารณา ความกังวลที่ควบแน่นมานานหลายเดือนแม้จะไม่คลี่คลาย แต่ก็ไม่ได้ทิ่มแทงอย่างที่เคย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แอนและครอบครัวก็พร้อมที่จะรับมือกับอนาคตเบื้องหน้าที่แทบจะไม่มีความแน่นอนใดๆ
.
“สิ่งที่หนักหนาในความรู้สึกมากที่สุดภายหลังจากที่ถูกดำเนินคดีก็คือ เรากลัวว่าพ่อแม่จะรู้เรื่องคดีที่เราโดน ตอนแรกพยายามที่จะปิดไม่ให้เขารู้ แต่เพราะสื่อเอาชื่อเราไปเผยแพร่ แล้วมีคนเอาเรื่องเราไปบอกพ่อกับแม่ กลายเป็นว่าเขารู้เรื่องนี้จากคนอื่นที่ไม่ใช่เรา”
.
“พอนึกย้อนก็จำได้ว่าเครียดมากเรื่องครอบครัว เกิดจากการที่เราไม่รู้ว่าจะอธิบายเรื่องนี้กับพ่อแม่ยังไง กินข้าวอะไรไม่ลง พอเขารู้ก็เหมือนยกภูเขาออกจากอก แต่ยังไงความเครียดมันก็ยังมี ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราต้องจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง”
.
“พอเขารู้ ก็โดนตำหนิเล็กๆ พูดทำนองว่าเหมือนเขาเคยบอกแล้วใช่ไหม อะไรอย่างนี้ ด้วยความที่เรากับครอบครัวเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง แต่เขาก็ไม่ได้ซ้ำเติมอะไรมาก เพราะเขาเองก็เครียดกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา จนถึงตอนนี้ คุณแม่เขาก็พยายามช่วยเต็มที่ เขาเป็นข้าราชการบำนาญ ก็คุยกับเราว่า วันที่ฟังคำสั่งฟ้อง ถ้าถูกเอาไปฝากขัง เขาจะช่วยยื่นประกันตัวเราได้ไหม แต่เราก็ยังไม่แน่ใจว่ากับคดีการเมืองมาตรฐานในเรื่องการประกันตัวจะยังไง”
.
“ตั้งแต่วันที่เรารู้ว่าตัวเองโดนคดี จนถึงวันนี้ก็หลายเดือน ความรู้สึกตอนนี้ยังตุ้มๆ ต่อมๆ มันมีผลกระทบกับตัวเราอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อ 20 ปี ก่อนตอนที่เราไปเรียนที่เยอรมัน พอกลับมาไทย น้ำหนักขึ้นมา 10 กิโล ลดกลับมาได้มากสุดก็แค่ 2 – 3 กิโล เราเคยเป็นคนที่ชอบกิน จนพอมาโดนคดี น้ำหนักเรากลับมาเท่าเดิมกับก่อนที่จะไปเรียนสมัยวัยรุ่น ตอนนี้คือผอมลงไปเยอะเลย (หัวเราะ) ”
.
“ความรู้สึกตอนนี้มันมีหลายเฉดมาก เราพยายามบอกตัวเองว่า เราไม่ได้ทำความผิดอะไร บางวันที่เครียดมากๆ ก็ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการจมอยู่กับงาน การทำงานสำหรับเรามันคือการเยียวยาอย่างหนึ่ง พยายามคุยกับเพื่อนที่รู้ว่าเรากำลังเจอกับอะไร ซึ่งเขาก็คอยให้กำลังใจ บอกตัวเองว่าไอ้เรื่องพวกนี้มันคงทำร้ายเราได้เท่านี้แหละ”
.
“ความเครียดมันไม่ได้หายไปไหน แต่แค่ยังไม่ถึงระดับที่ต้องพึ่งพานักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ ยังอยู่ระดับที่ยังสามารถจัดการความรู้สึกได้ แต่ยังมีความกังวลตรงที่เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป จะต้องสูญเสียอิสรภาพไหม ประมาณนั้น”
.
หากลองย้อนดูการพิจารณาคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในยุคของ #คสช หลายคดี ผู้ต้องหาจำนวนมากถูกบีบให้ต้องรับสารภาพ เนื่องจากการถูกฝากขังอย่างยาวนานโดยไม่ได้ประกัน แม้ว่าศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาก็ตาม สำหรับแอน เมื่อรับรู้ถึงข้อเท็จจริงข้างต้น เธอจึงเริ่มกระบวนการเตรียมความพร้อมหากต้องถูกฝากขัง ทั้งเรื่องบ้านและรถที่ยังต้องผ่อน การศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตในเรือนจำ และเรื่องของงานที่เธอยังเป็นห่วงมากกว่าเรื่องอื่นๆ
.
“ถึงตอนนี้คงจะทำธุรกรรมทางการเงินอะไรไม่ทัน ก็ได้แต่ฝากน้องชายให้ช่วยเรื่องผ่อนบ้านกับรถต่อ หากฉุกเฉินจริงๆ เราก็ต้องขอความช่วยเหลือกับทางครอบครัว”
.
“เราพยายามเคลียร์งานในมือให้มากที่สุด ถ้าเราต้องถูกควบคุมตัวจริงๆ น้องในทีมจะได้สามารถทำงานแทนเราต่อไปได้ แต่ยังไม่ได้แจ้งทางฝ่ายบุคคลหรือหัวหน้างาน เพราะเรายังกังวลว่าถ้าบอกไปแล้ว มันจะกระทบกับตำแหน่งของเราไหม”
.
“อีกส่วนที่เตรียมการไว้ก็คือ หนังสือแสดงเจตจำนงชี้แจงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา เราชี้แจงไปว่า คดีความที่เกิดขึ้น ถึงเราจะถูกควบคุมตัว แต่เรายังไม่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดนะ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา อยากให้บริษัทรู้เอาไว้ว่า การกระทำแบบนี้ของรัฐไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และจากนโยบายต่างๆ ของบริษัทได้รับรองเรื่องการแสดงออกของบุคคล เราไม่ได้ทำกิจกรรมนี้ในเวลางาน ขอให้องค์กรได้พิจารณาเพื่อที่จะคงสถานภาพการเป็นพนักงานให้กับเราและขอใช้สิทธิลาแบบไม่รับเงินเดือนไป”
.
“หนังสือชี้แจงเรายังไม่ได้ยื่นกับทางบริษัท แต่กะจะฝากเพื่อนร่วมงานให้ยื่นให้ กรณีที่เราถูกฝากขัง”
.
“นอกจากเรื่องงานกับทรัพย์สิน เราก็พยายามศึกษาเรื่องชีวิตในเรือนจำด้วย วันก่อนในแอปพลิเคชัน Clubhouse มีห้องที่คนที่เคยกลายเป็นผู้ต้องขังเขามาแบ่งปันเรื่องประสบการณ์และชีวิตข้างใน ฟังเสร็จแล้วเราก็จิตตก แต่ก็คิดว่าในฝั่งของผู้หญิงน่าจะไม่โหดเท่าในฝั่งของผู้ชาย ของผู้หญิงน่าจะเป็นเหมือนกับโรงเรียนคอนแวนต์ คือคนส่วนใหญ่ที่เขาเข้ามาเล่าประสบการณ์มักจะเป็นผู้ชาย ซึ่งข้างในมันยากลำบากมาก ก็ได้แต่หวังว่าของฝั่งผู้หญิงจะไม่ถึงระดับนั้น ถ้าเราต้องเข้าไปจริงๆ”
.
กระทั่งวันนี้ที่รัฐพยายามปลุกผี 112 ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อกดทับเพดานการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน แอนสะท้อนความรู้สึกของเธอ จุดผกผันในชีวิตของพนักงานออฟฟิศที่ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาทางการเมือง การที่กฎหมายถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความหวาดกลัวมากกว่าการธำรงความยุติธรรม และที่น่ากลัวที่สุดคือความต้องการของรัฐที่พยายามกดปราบความเห็นต่าง เมื่อรู้ว่าความหวาดกลัวคืออาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการกับประชาชน
.
“มาตรา 112 ในความรู้สึกคือเป็นกฎหมายที่มีความคลุมเครือ แล้วก็ไม่แฟร์ เอาไว้ใช้กลั่นแกล้ง จนวันนี้ที่เรามาโดนเองก็รู้สึกว่า มันเป็นมาตราที่หาเหตุผลอะไรไม่ได้ เราเชื่อว่าหลายปีที่ผ่านมา คนในสังคมก็น่าจะรู้สึกแบบเดียวกัน”
.
“การที่รัฐเอามาตรานี้กลับมาใช้เพื่อปิดปากประชาชน เหมือนว่าต้องการสร้างให้เกิดความกลัว ต้องการเชือดไก่ให้ลิงดู พอมันเกิดขึ้นกับเรา เอาจริงๆ มันก็ได้ผลในระดับหนึ่ง เพราะว่าเราเองก็ไม่ได้เตรียมใจที่จะมาติดคุก ความกลัวไม่ได้อยู่แค่เรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว แต่บางทีเราก็คิดไปถึงครอบครัวและคนรอบข้าง พ่อแม่เรา ญาติ เพื่อน กลัวว่าเขาจะโดนรังควานหรือเปล่า เพราะพอเราคุยกับคนอื่นที่เขาออกมาเคลื่อนไหวจริงจัง บางทีก็โดนคุกคามทางไลน์ หรือว่ามีเจ้าหน้าที่มาเฝ้าที่หน้าบ้าน กลายเป็นกลัวว่าคนรอบข้างเราจะไม่ปลอดภัยไปด้วย”
.
https://tlhr2014.com/archives/24286