Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
14h ·
[รำลึก 45 ปีการจากไปของบุญสนอง บุณโยทยาน]
"ผู้ใดแอบอ้างว่า “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินไม่ได้ เพราะมหากษัตริย์ต้องทรงเป็นใหญ่” ผู้นั้นเป็นกาฝากราชบัลลังก์พยายามดึงเอาพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่เหนือการเมืองมาเป็นเครื่องมือหากิน และผู้เป็นศัตรูกับประชาชน"
บุญสนอง บุณโยทยาน, จากบุญสนองถึงพี่น้องชาวเชียงใหม่, ไม่ทราบแน่ชัดว่าเผยแพร่ปีใด สันนิษฐานว่าน่าจะช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งซ่อม จังหวัดเชียงใหม่ 29 มิ.ย. 2518, ตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งใน “เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์ สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์” พิมพ์ครั้งที่ 2 ครบรอบ 25 ปีของการเสียชีวิต 28 กุมภาพันธ์ 2544 จัดทำโดย สถาบันพัฒนาการเมือง
...
“หลังตุลาคม 2516 อาจารย์มหาวิทยาลัยรวมทั้งข้าราชการประเภทต่าง ๆ จำนวนร้อยถูกแต่งตั้งเข้าไปทำหน้าที่ในทางการเมืองให้แก่รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประชาชนทั่วไปเขารู้ทั้งนั้นว่าคนเหล่านี้ใช้โอกาสและตำแหน่งเพื่อหาผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ค่อยมีใครโต้แย้งว่าอาจารย์หรือข้าราชการทั่วไปเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ผมกำลังเข้าใจว่าอาจเป็นไปได้ที่ใครก็ตามมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมือง ฝ่ายขวาหรือฝ่ายที่กุมอำนาจนั้นเขามีสิทธิชอบธรรม และในทางตรงกันข้ามแม้แต่ประชาชานคนเดินถนนทั่วไป ถ้าลงได้มีกิจกรรมทางการเมือง ในแนวทางของประชาธิปไตยหรือทางซ้ายก็มักจะถูกสาดโคลนกล่าวร้ายป้ายสี ถูกกลั่นแกล้งจับกุม คุมขังเป็นปรกติธรรมดา
[...]
“ผู้ที่กล่าวว่า อาจารย์ในฐานะเป็นข้าราชการจะใช้อิทธิพลชักจูงลูกศิษย์ และประชาชนทั่วไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนนั้น อันนี้ถือว่าเป็นการแสดงทัศนะทางการเมืองของฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับประชาชน ที่ถือว่าประชาชนย่อมโง่เขลาเบาปัญญาจะถูกหลอกถูกต้มโดยง่ายเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเขาเป็นผู้ที่มีความสามารถในการใช้ความคิด ถ้าเขาจะสนับสนุนหรือต่อต้านใคร ย่อมไม่ใช่เป็นเพราะคนนั้นเป็นนักการเมืองหรือมีตำแหน่งสูงอะไร เขาย่อมพิจารณาถึงหลักเกณฑ์อย่างจริงจังตามเหตุผล”
[...]
“ที่มีผู้อ้างว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยควรเป็นกลางทางวิชาการนั้นพอจะรับฟังได้ แต่จะให้เป็นกลางทางการเมืองทั้ง ๆ ที่ประเทศชาติกำลังจะล่มจมนั้น เป็นการหลีกเลี่ยงทางความรับผิดชอบต่อประชาชนและสังคมโดยแท้ สิ่งที่ผมและคนที่อยู่ในแนวทางเดียวกับประชาชนอื่น ๆ จะได้รับก็มีอยู่อย่างเดียวคือความภาคภูมิใจที่ได้รับใช้ประชาชน และสังคมด้วยมุ่งมั่นในอุดมการณ์ และความหวังที่ว่า ปัญหาเลวร้ายต่าง ๆ ที่ประชาชนในสังคมของเราต้องเผชิญอยู่ ประชาชนก็สามารถจะร่วมกันขจัดให้หมดสิ้นไป ได้สักวันหนึ่ง”
บุญสนอง บุณโยทยาน, บทสัมภาษณ์: เป็นกลางทางวิชาการพอได้ แต่เป็นกลางทางการเมืองไม่ได้, ประชาชาติรายสัปดาห์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 59, 2 มกราคม 2518
...
“เมื่อขบวนการของนิสิต นักศึกษา นักเรียน กรรมกรและชาวนาสำแดงออกซึ่งพลังในการคัดค้านต่อต้านประเด็นต่าง ๆ แต่ละครั้งมักมีข่าวลืออยู่เสมอว่ามีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังซึ่งเป็นมือที่สามบ้าง เป็นนักการเมืองที่หวังประโยชน์ส่วนตนบ้างหรือเป็นผู้อยากดัง อยากหาชื่อเสียงให้กับตนเองบ้าง และที่สำคัญคือเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ไม่ว่าข่าวลือดังกล่าวนั้นจะมาในกระแสไหน เราพอจะวิเคราะห์ได้ว่าทั้งผู้ที่เผยแพร่ข่าวลือและผู้ยอมรับเอาข่าวลือนั้นมีสมบัติร่วมกันอยู่บางประการอันได้แก่
1.เป็นผู้ไม่สามารถคิดและเชื่อว่าประชาชนวงการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตกอยู่ในภาวะของความบีบคั้นกดขี่ (รวมทั้งอาจต่ำต้อย ยากจน และด้อยการศึกษาในระบบโรงเรียน) จะพัฒนาความสำนึกและรวมพลังกันได้ถ้าไม่มี คนมีปัญญาไปจูงจมูกเขาเหมือนวัวควาย สมบัติประจำตัวอันนี้คือสมบัติของผู้ดูถูกประชาชน
2.เป็นผู้ที่ฝังแน่นอยู่ในระบบศักดินาสวามิภักดิ์ เป็นซากเดน ของความคิดที่ว่าพฤติกรรมทุกอย่างของมนุษย์ที่เป็นบุคคลแต่ละคนก็ดี หรือขบวนการของประชาชนก็ดีจะต้องเป็นพฤติกรรม ที่มีคนสั่งให้ทำเสมอ เพราะมนุษย์ในระบบศักดินาย่อมมีนายคอยบังคับบัญชาบงการให้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง แนวความคิดในระบบศักดินา เป็นแนวความคิดที่เน้นด้านบารมี และอำนาจเหมือนมนุษย์ของบุคคลที่อาจชักจูงให้ปุถุชนหรือชนชั้น “ผู้น้อย” เดินไปทางไหนก็ได้โดยไม่ต้องใช้สมองและปัญญาของตน ซากเดนของความคิดแบบนี้ทำให้คนบางคนเชื่อได้สนิทแน่นว่าบุคคลเพียงคนเดียว สองคนสามารถชักจูงคนนับหมื่นนับแสนให้ทำอะไรเมื่อใดก็ได้
3.เป็นผู้ที่ไม่มีความเข้าใจและประสบการณ์ ทำให้ยอมรับได้ว่า ประชาชนวงการต่าง ๆ พึงมีเหตุผลและความจำเป็นอันใดต้องประท้วงเรียกร้องและต่อสู้เพื่อสถานการณ์ที่ดีกว่าที่เขาเป็นอยู่หรือมีอยู่แล้ว เมื่อประชาชนถูกกดขี่สำแดงออกมาแต่ละคราว เขาก็สรุปเอาอย่างง่ายดายทุครั้งว่าเป็นเพราะ “ผู้อื่น” มีเหตุผลที่จะผลักดันหรือ “ก่อความวุ่นวาย”
บุญสนอง บุณโยทยาน, ผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการนักศึกษา, สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 12 ตุลาคม 2517.
อ่านประวัติและผลงานทั้งหมดของบุญสนอง บุณโยทยานได้ที่นี่ https://doctorboonsanong.blogspot.com