ตู่ไปบ่นที่กองทัพบกในงานเปิดห้อง ‘สองกบฏ’ บวรเดชและศรีสิทธิสงคราม
(ที่ถูกคณะราษฎรปราบได้ในปี ๒๕๗๖) “ตั้งแต่รับราชการมา ไม่เคยต้องโดนด่าเหมือนตอนมาเป็นนายกฯ”
และยืนยันจะอยู่ตรงนี้ ไม่ยอมไปไหน
จะออดอ้อนอย่างไรกับพวกทหารด้วยกัน
ก็ไม่ทำให้เหตุของการโดนด่าเหือดหายไปได้ ดูท่าแล้วว่ามันจะอยู่ติดตัวของตู่ไปชั่วกัปชั่วกัลป์
ว่าเป็นผู้นำกลุ่มฉวยโอกาสทางการเมืองยึดอำนาจปกครอง แล้วใช้เวลา ๕ ปีกระชับอำนาจได้แน่นหนา
แต่ว่าไร้สมรรถภาพอย่างสิ้นเชิงในอันที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้
แล้วยังดึงดันจะอยู่ต่อด้วยกลเม็ดมดเท็จและวิชามารต่างๆ ทั้งดูด ทั้งโกง ทั้งกดขี่ข่มเหงฝ่ายตรงข้าม
นั่งกินบนหลังประชาชน จนเป็นเหตุให้โดนด่าดังกล่าว
โชคดีที่ระบบการเงินของไทยยังมีเสถียรภาพพอสมควรในช่วง
๑๐ ปีที่ผ่านมา ตามการประเมินของ ‘ไอเอ็มเอฟ’
และ ‘เวิร์ลด์แบ๊งค์’ “แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น
เช่น ความเปราะบางในภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง”
ทั้งนี้จากการแถลงของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ร่วมกับเลขาธิการสำนักงานกำกับหลักทรัพย์
และเลขาธิการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย เมื่อ ๗ ตุลาคมที่ผ่านมา
ความเข้มแข็ง ‘พอประมาณ’ ทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค จากผลพวงตกทอดของช่วงสิบปีที่แล้วนี่เองทำให้คณะทหาร
คสช.ยังดึงดันที่จะครองอำนาจกันต่อไป ด้วยความร่วมมือของเทคโนแครทและเจ้าสัว ‘นักฉวยโอกาส’ ที่เรียกตัวว่า ‘ประชารัฐ’
รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขัน หรือ World
Economic Forum (WEF) ประจำปี ๒๕๖๒
แสดงว่าประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มจากปีที่แล้ว ๐.๖ แต่ตกอันดับลงไปอยู่ที่ ๔๐
จากทั้งหมด ๑๔๑ ประเทศ ไม่เลวนักหรอก
ท่ามกลางอาการฝืดเคืองในการทำมาหากินของประชาชน
การค้าปลีกในระดับรากหญ้า การเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนเพื่อการส่งออก
ภาคบริการที่รองรับการท่องเที่ยว หนี้ครัวเรือน และเงินหมุนเวียนใช้จ่ายรายวัน ล้วนตรงข้ามกับผลประกอบการของบรรษัทยักษ์ใหญ่
ดร.วิเลิศ ภูริวัชร
คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ตัวเลขรายงานของ WEF มองเห็นการชะลอตัวในประสิทธิภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยในเวทีโลก
(อันนี้ทำให้ชาวบ้านผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ ‘เจ้าสัว’ ต้องคิดหนักว่าถ้า คสช. ภายใต้จั่วหัว ‘ตู่ ๒’ ยังครองอำนาจกันต่อไปอีกสี่ซ้าห้าปี
มันจะชะลอไปถึงไหน จมปลักกองขยะสินค้าและผลิตผลขายไม่ออกเน่าเละ หรือว่าติดลบล้มละลาย)
เนื่องจากพบว่าจุดอ่อนของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยมีสี่อย่าง
แรกเลยคือ ขาด ‘ทักษะ’ เหมือนกับยกหางตนเป็น
‘ไอทู้บ ๔.๐’ แต่ปราศจากกึ๋น
ปีนี้ไทยขยับลงใต้ไปอยู่อันดับ ๗๓ ปีก่อน ๖๖ รองลงไปเรื่องการแข่งขันตลาดภายในประเทศ
คะแนนต่ำมากที่ ๕๓.๕
ข้อนี้น่าจะอธิบายได้ไม่ยากด้วยคำเดียว ‘เซเว่น’ อะไรๆ ก็ไปอยู่ที่นั่น ตั้งแต่ ‘ประชารัฐ’ ไปถึง ‘อีอีซี’
ตั้งแต่ ‘ดิจิทัล’ ไปถึง
‘ไฮสปีด’ ไม่พ้น ‘ซีพี-แท้ทรู’
(กรณีหลังนี่แนะนำให้ไปดูข่าว “'ศุภชัย เจียรวนนท์'
นั่งประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฯ คนแรกของประเทศไทย” ตามนี้ https://www.voicetv.co.th/read/GgRMdcJz7)
จุดอ่อนเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่เห็นกึ๋นของ ‘ตู่ ๒’ ว่าจะแก้ไขได้อีกอย่างคือ ‘สภาพแวดล้อมในหน่วยงาน’ หรือ institutions ต่างๆ ปัจจุบันยังมีความโปร่งใส ‘ไม่ดี’ นัก คะแนนลดลงจากปีที่แล้ว ๕๕.๑ มาอยู่ที่ ๕๔.๘ ซึ่งอธิบายด้วยภาษาพื้นบ้านได้ว่าวัฒนธรรมองค์กรยังข้น
เลยมีผลกระทบไปถึงจุดอ่อนข้อสี่
ที่ว่าความสามารถทางนวัตกรรม ‘Innovation Capability’ ของไทยดีขึ้น จาก ๔๒.๑ มาเป็น ๔๓.๙ แต่ว่าสภาพสังคมของไทย “ยังไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมได้เอง”
มีผู้ใหญ่-ผู้น้อย ห้ามล้ำหน้า อย่าดีเกิน
สรุปว่าแม้ไทยจะได้คะแนนดีขึ้นในความสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจ
แต่มีปัจจัยที่จะทำให้ด้อยลงเผชิญหน้าอยู่
ในขณะที่ความเป็นไปได้ในการมีประสิทธิภาพของรัฐบาล คสช.๒ ยังมองไม่เห็น
ดังนี้เมื่อศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ
ธนาคารไทยพาณิชย์ “ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี ๒๕๖๒ เหลือ ๒.๘% จากประมาณการเดิมที่ ๓.๐%” แม้จะอ้างว่าเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกยังถดถอย สงครามการค้าสหรัฐ-จีน เป็นตัวการ
บลา บลา บลา
แต่ว่า ‘Bottom line’ ท้ายที่สุดแล้วก็อยู่ที่ความสามารถแข่งขันและหาญสู้โดยพลังทางเศรษฐกิจไทย
ที่อยู่ในกำกับของกิจการใหญ่ ซึ่ง ณ วันนี้ยังเกี่ยงให้ ‘ประชารัฐ’ แบกรับความเสี่ยงเป็นหลัก (จำคำของ ‘เจ้าสัว’ ธนินทร์ เจียรวนนท์ ได้นะ ‘๗๐-๓๐’ ต่ำกว่านี้ผมไม่ทำ)
แล้วยังไม่บังเอิญเสียด้วย คนที่ครองอำนาจสืบทอดผลพวงที่ยึดแย่งเขามา
ไม่รู้จะแย้งหรือหาทางออกอื่นได้อย่างไร
คอยแต่กินบุญเก่าที่มีคนทำไว้เมื่อสิบปีที่แล้ว ครั้นเบื่อเต็มทนจะลงจากหลังเสือก็ไม่กล้า
กลัวถูกเช็คบิลเอาคืน เพราะไปจองเวรเขาเอาไว้มาก