พูดถึงกบฏบวรเดชแล้ว มีประวัติศาสตร์ และฮีโร่ท้องถิ่นของขอนแก่น ในเหตุการณ์นี้ด้วย
ที่ขอนแก่น เราจะเห็นอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลอง แต่เราไม่รู้ว่าทำไม มันถึงมาอยู่ตรงนี้
12 ตุลาคม 2476 ชาวขอนแก่นเริ่มได้ข่าวการกบฏจากคนที่นั่งรถไฟมาจากโคราช
สมัยนั้น การติดต่อสื่อสารลำบากมาก การข่าวยากเย็น แต่ข่าวลือเรื่องการกบฏก็ลือไปชั่วทั้งเมือง
ต่อมา เมื่อการกบฏเกิดขึ้นจริง โดยมีฐานของฝ่ายกบฏอยู่ที่โคราช ขอนแก่นจึงถูกตัดขาดจากกรุงเทพฯ การติดต่อสื่อสารกับฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎรขาดไป
เหล่าข้าราชการ มาประชุมกัน เพื่อฟังข่าวจากวิทยุ และต้องตัดสินใจกันเองว่าจะเอาอย่างไร
ข้าราชการขอนแก่น ตกลงตัดสินใจ ว่าจะอยู่ฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎร
แต่ฐานของกบฏอยู่ที่โคราช กองร้อยที่อุดรในเวลานั้นก็ไม่รู้ว่าอยู่ฝ่ายไหน ถ้าพวกกบฏยกขึ้นมาตีขอนแก่นจะทำอย่างไร?
พระณรงค์ฤทธี ผู้ว่าราชการจังหวัด จึงแต่งตั้งให้ นายอุดม บุญประกอบ อัยการจังหวัด อายุยี่สิบกว่าๆ รวบรวมพรรคพวก ตั้งเป็น อาสาต่อต้านกบฏ ขึ้น
ว่ากันว่าตอนนั้น เมียของ นายอุดม บุญประกอบ พึ่งจะคลอดลูกไม่กี่วัน แต่เขาอาสาทำภารกิจเสี่ยงตาย จึงต้องปิดเรื่องนี้เป็นความลับกับเมีย
กลุ่มอาสารวบรวมผู้คน รวมระเบิดจากการรถไฟ และกระสุนปืนจากชาวบ้านในตลาด เอาไปรวมไว้ที่สถานีตำรวจ เพื่อเตรียมแจกจ่ายอาวุธให้ประชาชนต่อต้านกบฏ
สถานการณ์เป็นอย่าง ตึงเครียด
จนกระทังวันที่ 17 ตุลาคม ข่าวทางวิทยุก็แจ้งว่า ฝ่ายกบฏพ่ายแพ้ที่บางเขน กบฏแตกพ่ายถอยกลับไปที่โคราช
ทว่าศึกของขอนแก่นพึ่งเริ่มขึ้น เมื่อกบฏถอยกลับมาอีสาน จะต้องยึดหัวเมืองต่างๆ เพื่อตั้งฐานกำลังแน่ๆ
ผู้ว่าจึงเรียกประชุมกันว่าจะตั้งรับการบุกของฝ่ายกบฏอย่างไร
ตกลงว่า ทางแรกต้องสะกัดการเดินทัพเสียก่อน
นายอุดม บุญประกอบ จึงนำพลพรรคอาสาไปปฏิบัติภารกิจลับ เพื่อระเบิดทำลายทางรถไฟ บริเวณใกล้เมืองพล
เมื่อทหารฝ่ายกบฏขึ้นรถไฟมาถึง เห็นทางรถไฟขาดก็โกรธจัด จึงส่งทหารไปตามหาผู้ก่อการให้ได้
แต่พวกนายอุดมถอยกลับไปแล้ว
ทหารฝ่ายกบฏจึงทำอะไรไม่ได้ ถ้าจะเคลื่อนเข้าขอนแก่นก็กังวล เพราะไม่รู้จำนวน และถนนสมัยนั้นยังไม่ดี เมื่อใช้ทางรถไฟไม่ได้ จึงตัดสินใจยึดเมืองพลไว้ รอดูท่าทีก่อน
ฝ่ายอาสาและข้าราชการของขอนแก่นเตรียมการที่จะต้องรบกับทหารกบฏที่บ้านไผ่
จนกระทั้ง วันที่ 19 ตุลาคม ข่าวของทหารจากอุดรก็มาถึง ว่าอุดรเข้ากับฝ่ายรัฐบาล พร้อมทั้งจะนำกำลังหนึ่งกองร้อย มาช่วยขอนแก่นตั้งรับกบฏที่บ้านไผ่ ทำให้ขวัญของฝ่ายขอนแก่นดีขึ้นมาก มีการสร้างแนวป้องกันกบฏที่สะพานข้ามแม่น้ำชี
ข่าวทัพฝ่ายสนับสนุนคณะราษฎรและกองร้อยที่บ้านไผ่ ทำให้ชาวเมืองพลฮึกเหิม
21 ตุลา ตำรวจ ข้าราชการเมืองพล ร่วมกับอาสาประชาชน เข้ายึดเมืองคืนจากทหารกบฏ โดยฝ่ายกบฏยอมวางอาวุธแต่โดยดีไม่ได้มีใครตาย
เป็นอันว่า ขอนแก่น สามารถต่อต้านฝ่ายกบฏไว้ได้
วันที่ 22 ตุลาคม ก่อนที่ฝ่ายรัฐบาลจากกรุงเทพจะเริ่มเคลื่อนกำลังบุกเข้าตีโคราช
ฝ่ายรัฐบาลส่งเครื่องบินใบพัด 2 ลำบินมาจากกรุงเทพ เพื่อถือจดหมายจากรัฐบาล มาให้ขอนแก่น
รัฐบาลอยากรู้สถานการณ์ของอีสานเหนือ ว่าได้เข้าร่วมกับบวรเดชหรือไม่ เพื่อจะได้วางแผนว่าควรจะโจมตีโคราชหรือไม่
ถ้ารัฐบาลรู้ว่า เวลานี้ฝ่ายกบฏโดดเดี่ยว ย่อมมีผลต่อทั้งยุทธศาสตร์ และกำลังใจอย่างใหญ่หลวง
ทางขอนแก่นตัดสินใจว่า จะต้องส่งคนไปรายงานข่าวนี้ให้รัฐบาลในทันที
ทว่าเครื่องบินน้ำมันบินกลับเหลือไม่พอ จะต้องหาน้ำมันมา ซึ่งเสียเวลา
จึงตัดสินใจถ่ายน้ำมันสองเครื่องรวมกัน ใส่เครื่องเดียว แล้วไปวัดดวงเอาว่าจะถึงมั้ย
มีคนที่จะโดยสารไปกับนักบินได้เพียงคนเดียว
หน้าที่นี้ตกเป็นของ นายอุดม บุญประกอบ
ในวันนั้นชาวขอนแก่น มิตรสหาย ลูกเมีย ต่างพากันมาส่ง นายอุดม บุญประกอบ (ตรงบริเวณที่ปัจจุบันนี้เป็นโรงเรียนสนามบิน)
โดยที่ ไม่มีใคร แน่ใจว่าจะไปถึงกรุงเทพหรือไม่ จะโดนสะกัดหรือไม่
ท้ายที่สุด นายอุดม ก็ลงเครื่องที่สนามหลวง และแจ้งข่าวต่อ กรุงเทพได้ตรงเวลา
ในที่สุดกบฏก็พ่ายแพ้ พระองค์เจ้าบวรเดช หนีออกนอกประเทศ
นายอุดมบินกลับมาขอนแก่น
เมืองขอนแก่นได้รับอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นของขวัญ
ส่วนนายอุดมได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ด้วยอายุเพียง 28 ปี และไม่มีบรรดาศักดิ์ใดใดเลย ถือว่าเป็นผู้ว่าที่อายุน้อยที่สุด และเป็นผู้ว่าคนแรกๆที่ไม่มีบรรดาศักดิ์
เรื่องของนายอุดม ยังไม่จบแค่นี้
เขายังมีบทบาทต่อ ในการเป็นเสรีไทย เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เห็นได้ชัดว่าเขาคือข้าราชการ จากลูกสามัญชน ผู้รักชาติ และประชาธิปไตยอย่างยิ่ง
ขนาดหนังสืองานศพของ นายอุดม บุญประกอบ ปี 2512 ยังพิมพ์รัฐธรรมนูญ พรบ.พรรคการเมือง กับ พรบ.เลือกตั้ง แจก
Starless Night - Harit Mahaton