วันจันทร์, ตุลาคม 07, 2562

งบประมาณปีหน้าผ่านหรือไม่ผ่าน ใคร 'ไม่' เดือดร้อน


ประยุทธ์ไปพูดที่เมืองทองธานีเมื่อวันก่อนถึงงบประมาณปีหน้า (๓.๒ ล้านล้าน ขาดดุล ๔๓.๖ แสนล้าน) “ถ้าไม่ผ่านคนเดือดร้อนกันทั้งประเทศ เกษตรกรก็เดือดร้อน คงไม่ใช่ตนคนเดียว” น่าจะไม่ได้พูดพล่อยเกินไปนัก

ชาวบ้านธรรมดาย่อมเดือดร้อนอยู่แล้วไม่ว่างบประมาณจะผ่านหรือไม่ ตราบเท่าที่รัฐบาลชุดที่สองของประยุทธ์ยังคงสืบทอดอำนาจต่อไป งบประมาณไม่ผ่านจะทำให้คณะรัฐมนตรีพลังประชารัฐไปไม่เป็น การบริหารเศรษฐกิจสับสนยิ่งกว่าเก่า

ถ้าผ่าน พวกรัฐมนตรีและเจ้าสัว ประชารัฐก็จะไปคล่องดั่งตั้งใจ สังคมตกอยู่ในสภาพ รวยกระจุก จนกระจายกันต่อไปยิ่งกว่าเดิม และยืดอายุยาวขึ้นเพราะเจ้าสัวได้ป่านขดใหม่ไว้สาว
 
สามวันให้หลังประยุทธ์ เจ้าสัวใหญ่ประชารัฐ ธนินท์ เจียรวนนท์ ไปพูดที่อิมแพ็คฯ เหมือนกัน งานเปิดตัวหนังสือ ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียวถึงเรื่องความเสี่ยงในการลงทุนว่า ต้องคำนึง เพราะโลกยุค ไทยแลนด์ ๔.๐ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

“การลงทุนในรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน มีความเสี่ยงแต่ก็มีโอกาสสำเร็จ ถ้ารัฐบาลเข้าใจ เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องเศรษฐกิจแท้ๆ ไม่ใช่เรื่องของประชาชน...

รัฐบาลต้องพร้อมร่วมรับผิดกับเอกชน ถ้าเสี่ยงก็ต้องเสี่ยงด้วยกัน ถ้าล้มก็ต้องล้มด้วยกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนเสี่ยง รัฐบาลไม่เสี่ยง” เจ้าสัวธนินทร์ยังพูดถึงทฤษฎีลดความเสี่ยงของตนว่า “ถ้าบอกว่าเสี่ยง ๓๐% ได้ ๗๐% ผมทำ”

ย้อนไปอีกหนึ่งอาทิตย์ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ คนที่เป็นตัวแปรสำคัญกับกลุ่มประชารัฐ พูดถึงความล่าช้าของโครงการรถไฟเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบินว่า “เป็นหัวใจหลักของอีอีซี สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน ถ้าไม่เกิดจะทำให้การลงทุนสะดุด”

ด้าน รมว.คมนาคม จากมุ้ง ภูมิใจไทย น้องชายเนวินออกลูกขู่นิดๆ เพราะตอนนั้นกลุ่มซีพียังไม่ยอมสรุปเงื่อนไขเซ็นสัญญาโครงการ “กลุ่มซีพีอาจยังมีปัญหาแหล่งเงินกู้ กับเป็นห่วงเรื่องการส่งมอบพื้นที่ที่อาจจะทำให้ก่อสร้างไม่ทันกำหนดเวลา ๕ ปี

ซึ่งการส่งมอบพื้นที่จะมอบให้ ๑๐๐% ตามที่ต้องการไม่ได้ จะส่งมอบได้ตามความพร้อมและทยอยให้เสร็จใน ๒ ปี” และ “ในทีโออาร์กำหนดให้เอกชนเป็นผู้รับภาระการตรวจสภาพพื้นที่ก่อสร้าง คงไม่ใช้เวลาเคลียร์เป็นปีแล้วค่อยออกหนังสือให้เริ่มสัญญาโครงการ”

นายศักดิ์สยามเสียงแข็ง “ถ้าไม่เซ็นจะริบเงินค้ำประกัน ๒,๐๐๐ ล้านบาท ถูกขึ้นแบล็กลิสต์ และจะเรียกกลุ่ม BSR มาเจรจาทันที” กลุ่มบีเอสอาร์นี่เป็นผู้ประมูลมาอันดับสอง ซึ่งในกลุ่มนี้มีบริษัทซีโน-ไทยของ เสี่ยหนูเป็นพันธมิตรชิดชอบ

เจ้าสัวซีพีก็เห็นด้วยว่าถ้า อีอีซีไม่เกิดจะแสดงว่าไทยกำลังถดถอย และทุนต่างชาติจะย้ายไปลงที่เวียดนามกับอินโดฯ แทน ทว่ายังยืนยัน “รัฐบาลต้องร่วมกับเอกชน เอาจุดเด่นของเอกชนมาบวกรวมกัน มาลดจุดอ่อนของรัฐบาล แต่ TOR ไม่ใช่”


จึงต้องย้อนไปอีกเพื่อดูภาพรวมใหญ่ เม็กกาโปรเจ็คไทยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซีที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่รู้จักกันในแวดวงไอทีไทยว่า ‘I-Tube 4.0’ เป็นประธานใหญ่

นั้นได้เคาะ โมเดลผังเมือง อีอีซี ออกมาแล้วสำหรับ ๓ จังหวัดภาคตะวันออก แปดริ้ว เมืองชล และระยอง เนื้อที่ ๘,๒๙๐,๐๐๐ ไร่ แบ่งพื้นทีออกเป็น ๔ โซนนิ่ง สีแดง ๑ ล้าน ๖ หมื่นไร่เป็นเขตเมือง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา แหลมฉบัง พัทยา อูตะเภา

สีม่วง ย่านอุตสาหกรรม ๔ ล้าน ๒ หมื่น ๔ พันไร่ อยู่ในชลบุรีและระยอง บางส่วนซึ่งไม่ใกล้ป่า แหล่งน้ำ และชายทะเล ที่เหลือเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ราว ๔ ล้าน ๘ แสน ๗ หมื่นไร่ หดไปจากผังเมืองเดิมเล็กน้อย (แค่ ๒ ล้านไร๋) เพราะตัดเอาไปเป็นเขตอุตสาหกรรมและชุมชนเมือง
 
เขตสุดท้ายเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรและธรรมชาติ มี ๑ ล้าน ๖ แสน ๗ หมื่นไร่ ทั้งนี้โดยประมาณการว่าภายในปี ๒๕๘๐ พื้นที่ทั้ง ๓ จังหวัดดังกล่าว จะ “มีประชากรเพิ่มขึ้นจาก  ล้านคน เป็น  ล้านคน รองรับนักท่องเที่ยวได้ ๕๕.๔๗ ล้านคน”

ข้อสำคัญจะก่อให้เกิด “การจ้างงาน .๗ ล้านตำแหน่งงาน ก่อให้เกิดการเติบโตของจีดีพี ๑๐ ล้านล้านบาท” ในเวลาเกือบ ๓๐ ปีนี่นะ


วัดจากกึ๋นของทีมประชารัฐที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาล คสช.๑ ตลอด ๕ ปีที่ผ่านมา เชื่อยากว่าควาสสำเร็จอีอีซีจะได้เท่าที่ฝัน หากไม่ตีกลับล้มคว่ำไม่เป็นท่า ถ้าความเสี่ยงของเจ้าสัวเกิน ๓๐% นักท่องเที่ยวไม่มา นักลงทุนไม่มี

ยิ่งเมื่อดูจากสัดส่วนผังเมืองด้วยแล้วพื้นที่อยู่อาศัยในชุมชนเมือง ด้านอสังหาริมทรัพย์คงจะ บูมแน่ เห็นซีพีไปกว้านซื้อที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา แถวบางคล้า บางน้ำเปรี้ยวเตรียมไว้ล่วงหน้าหลายหมื่นไร่ สำหรับโครงการหมู่บ้านอยู่อาศัยและมอลขนาดใหญ่

เรื่องรถไฟไปถึงคงไม่เป็นปัญหา ขอให้คมนาคมส่งมอบที่ดินตามสัญญาก็แล้วกัน ภายในสองปีนี่สายสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ไปได้แค่ต้นทางกรุงเทพฯ ถึงแปดริ้วก็โอเคเนอะ