วันจันทร์, ตุลาคม 07, 2562
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี - ปาฐกถารำลึก 43 ปี 6 ตุลา : หยุดซึมเศร้า แล้วก้าวต่อไป
ปาฐกถารำลึก 43 ปี 6 ตุลา :
หยุดซึมเศร้า แล้วก้าวต่อไป
.......................................
.
.
เรียนท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ญาติวีรชน 6 ตุลา และเพื่อนมิตรผู้รักเสรีภาพและประชาธิปไตย
.
ชีวิตคนหนุ่มสาวหลายคนเปลี่ยนไปอย่างมากมายเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
.
ชีวิตผมก็เช่นกัน
.
ยามสายวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผมยืนอยู่นอกกำแพงรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิ่งงัน งุนงง หันรีหันขวาง ไม่รู้จะทำอย่างไร พยายามบังคับน้ำตาไม่ให้ไหลท้นออกมา ด้วยกลัวว่าจะเป็นเป้าสายตา
.
เช้าตรู่วันนั้น ผมตกใจตื่นขึ้นมาจากเตียงนอนในหอพักแพทย์รามาธิบดีเพราะพี่ๆที่หอพักแพทย์ตะโกนบอกกันเรื่องเหตุนองเลือดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
.
คืนวันที่ 5 ตุลาคม ผมออกจากที่ชุมนุมกลางสนามหญ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะมีภารกิจที่ต้องกลับมาทำที่ตึกสันทนาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
.
ตอนนั้นบรรยากาศเริ่มคุกรุ่นแล้ว แต่ผมไม่สังหรณ์ใจว่า จะเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ คิดเพียงว่า อาจมีความรุนแรงระดับเดียวกับที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งตลอดปี 2519
.
แม้จะรู้สึกแปลกไปบ้างที่คราวนี้น้ำเสียงวิทยุยานเกราะช่างแข็งกร้าวและหนังสือพิมพ์ดาวสยามช่างปลุกปั่น แต่ด้วยความอ่อนเยาว์ ไม่ประสีประสา จึงคิดไปไม่ถึงว่า จะเกิดอะไรขึ้นในอีก 10 ชั่วโมงข้างหน้า
.
เมื่อเสร็จภารกิจที่ตึกสันทนาการ ด้วยความอ่อนล้าที่ตรากตรำมาหลายวัน ผมจึงไปค้างนอนกับพี่นักศึกษาแพทย์ ที่หอพักแพทย์รามาธิบดี
.
ดังนั้น เมื่อตะลีตะลานตื่นขึ้น ผมจึงรีบนั่งรถเมล์จากรามาธิบดีมาถึงสนามหลวง และเห็นคนจำนวนนับร้อยคนมุงกันอยู่ริมสนามหลวง ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
.
ไม่มีเสียงปืน ไม่มีการวิ่งหลบวิถีกระสุน มีแต่กลิ่นไหม้ของยางรถยนต์ ซึ่งเมื่อผมเดินเข้าไปใกล้แล้วต้องเบือนหน้าหนี มีร่างของใครสองสามคนอยู่ที่กองยางรถยนต์นั้น
.
มองไปไกลอีกเล็กน้อย เห็นร่างคนถูกแขวนไว้ที่ต้นมะขาม และคนกลุ่มหนึ่งยังมุงดูกันอยู่ไม่ห่าง
.
ผมยืนอยู่สักพัก ก็รีบถอยออกมาจากตรงนั้น โดยไม่หันหลังกลับไปดูอีกเลย
.
เวลา 15 นาทีกลางสนามหลวงในวันนั้น เป็นห้วงเวลาที่ผมยังจำได้ ไม่เคยลืมจนถึงวันนี้
.
เด็กหนุ่มอายุ 19 ปี กับ ภาพที่จำฝังลึกลงไปสุดใจ ทำให้ผมเปลี่ยนวิธีมองโลกไปตลอดกาล
.
ความฝันแสนงาม โลกใบที่สดใส และผู้คนที่รักสันติภาพ อยู่ที่ไหนเล่า
.
ไม่มีหรอก ผมบอกตัวเอง คุณยังไม่รู้อะไรอีกมาก
พอแล้ว ความอ่อนเยาว์ ไม่ประสีประสา
.
คืนวันนั้น ผมเดินทางกลับบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด แล้วหมกตัวอยู่ในห้องแคบๆ ของตนเองเกือบเดือน อาม่าและแม่คอยเฝ้ามาไถ่ถามด้วยความเป็นห่วง
.
ผมกินข้าวไม่ลง คิดวนไปวนมา ไม่รู้จะทำอะไรต่อไป พยายามติดตามข่าวคราวของเพื่อนมิตรและผู้ร่วมชุมนุมอื่นๆ แต่ก็ถูกปิดกั้นทั้งทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ มีแต่ข่าวเรื่องพบอาวุธและอุโมงค์ในธรรมศาสตร์ และการติดตามจับกุมนิสิต นักศึกษา ผู้นำกรรมกร ผู้นำชาวนา นับพันคน
.
หนึ่งเดือนที่โลกรอบตัวดูเคว้งคว้างและมืดมน
.
ต้นเดือนพฤศจิกายน มหาวิทยาลัยเปิดเรียน แต่บรรยากาศในมหาวิทยาลัยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว หม่นหมอง เงียบเหงา ซึมเซา ผ่านไปวันๆ นักศึกษามาเรียนเสร็จก็รีบกลับบ้าน ไม่มีการจับกลุ่มพูดคุยกันอีก
.
ผมมักนั่งอยู่โดดเดี่ยวที่ม้าหินริมสนามหญ้ากลางแดดอุ่นและลมหนาว ของเดือนพฤศจิกายน ปล่อยความคิดล่องลอยไป ไม่มีจุดหมาย วันคืนผ่านไปช้าๆ ตั้งคำถามกับตนเองว่า จากนี้จะอยู่ต่อไปอย่างไร จะเรียนไปทำไม ภาพกลางสนามหลวงวันนั้น ยังผุดขึ้นมาเป็นครั้งคราว
.
หลังจากนั้น เริ่มมีรุ่นพี่มาติดต่อว่า อยู่ในเมืองไม่ปลอดภัย จะหลบเข้าไปในป่าเขาไหม ด้วยความคิดที่ถามตนเองมาตลอดว่า จะเรียนต่อไปทำไม ทำให้ตัดสินใจไม่ยากว่า การไปสู่ภูเขาเป็นหนทางเดียวที่เหลืออยู่
.
ผมเตรียมกาย เตรียมใจ เตรียมความคิด นับเดือนเพื่อให้พร้อมเสมอหากได้รับนัดหมาย ผมได้รับแจ้งว่า ให้ออกเดินทางไปพร้อมเพื่อนนักศึกษาแพทย์ชั้นเดียวกันอีก 1 คน
.
และเมื่อกำหนดนัดหมายมาถึง คืนก่อนวันนัดหมาย ผมนอนไม่หลับ พลิกตัวไปมาตลอดเวลา
.
ใจหนึ่งบอกตนเองว่า เราต้องเดินหน้าต่อไป จำภาพกลางสนามหลวงเช้าวันที่ 6 ตุลาไม่ได้หรือ อีกใจหนึ่งก็พะวงว่า เรากำลังตัดสินใจทิ้งครอบครัวไปโดยไม่รู้ว่าจะได้กลับเมื่อไร หรือจะได้กลับไหม
.
ที่สำคัญคือ อาม่าซึ่งเลี้ยงผมที่เป็นหลานชายคนแรกอย่างถนอมรักมาตั้งแต่แบเบาะ อาม่าจะทำใจได้ไหม ถ้าอาม่าตรอมใจจนป่วย ผมคงไม่สามารถยกโทษให้ตนเองไปตลอดชีวิต
.
วันรุ่งขึ้นที่นัดพบกัน ผมก้มหน้าอย่างละอายใจ แล้วบอกเพื่อนว่า ผมตัดสินใจไม่ร่วมเดินทางไปกับเขาแล้ว ในใจของผมเตรียมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนอย่างยินยอม เหมือนคนขี้แพ้
.
ผิดคาด เขากลับบอกผมว่า ไม่เป็นไร เขาเข้าใจ แต่เมื่อตัดสินใจอยู่ในเมืองต่อไป ขออย่างเดียว ขออย่างเดียว อย่าลืมเพื่อนของเราที่เสียชีวิตไปในวันที่ 6 ตุลา
.
ผมนิ่งงัน นั่งจมอยู่กับที่ มองเพื่อนผู้ตัดสินใจแน่วแน่ เดินคล้อยหลังห่างออกไปทุกที วินาทีนั้น ผมบอกกับตัวเองว่า ชีวิตผมต่อจากนี้ ไม่ใช่ชีวิตผมแบบที่ใช้ชีวิตมา 19 ปีอีกต่อไปแล้ว ความฝันของผมต่อจากนี้ ไม่ใช่ความฝันเดิมที่สวยใส และราบเรียบอีกต่อไปแล้ว
.
จากนี้ ผมจะไม่ใช่เด็กหนุ่ม อ่อนเยาว์ ไม่ประสีประสาคนเดิม
จากนี้ ผมจะไม่เพียงแค่เรียนหนังสือ แต่ผมจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ทำตามความฝัน อย่างมุ่งมั่น มีสติ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน
จากนี้ ผมจะหยุดซึมเศร้าแล้วก้าวต่อไป
.
เมื่อยังอยู่ในเมืองก็ทำตามเงื่อนไขที่อยู่ในเมือง ผมนัดพบพูดคุยกับเพื่อนมิตรที่ยังอยู่ในเมือง นอกมหาวิทยาลัยบ้าง หรือเวียนไปตามบ้านของเพื่อนบ้าง
.
เราเริ่มเผยแพร่ความจริงของ 6 ตุลาและข้อเขียนของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ด้วยการพิมพ์ลงกระดาษไขแล้วโรเนียวด้วยมือ ทำหนังสือทำมือ ทำหนังสือพิมพ์กำแพง และผลัดกันไปให้กำลังใจผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา
.
เมื่อสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายหลังรัฐประหารวันที่ 20 ตุลาคม 2520 เราเริ่มพบปะพูดคุยกันเพื่อฟื้นบทบาทของสโมสรนักศึกษา และเริ่มมีการติดต่อนัดหมายกันกับเพื่อนนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัย
.
เมื่อรัฐบาลเปิดให้มีบรรยากาศประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยมากขึ้น ผมและเพื่อนช่วยกันสร้างสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลขึ้นมาใหม่ ส่วนระหว่างมหาวิทยาลัย เรารวมกันเป็นสโมสรนักศึกษา 16 สถาบัน แล้วขยายตัวเป็นสโมสรนักศึกษา 18 สถาบันในเวลาต่อมา
.
ผมและเพื่อนเรียนไป สร้างกิจกรรมนักศึกษาไป อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ท่ามกลางกระแสข่าวที่สับสนเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างเพื่อนมิตรที่อยู่ในป่าเขากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งส่งต่อผ่านกันมา
.
แต่ผมไม่สนใจว่า ภายในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะแตกแยกทางความคิดกันอย่างไร
.
เช่นเดียวกับที่ผมไม่สนใจว่า ประเทศจีนหลังเหมาเจ๋อตงตายวุ่นวายแค่ไหน
จีนทำสงครามสั่งสอนเวียดนามมีความหมายอย่างไรต่อโลกสังคมนิยม
สงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตจะสิ้นสุดหรือไม่
.
เพราะสุดท้าย ความใฝ่ฝันของผม กับผองเพื่อน และวีรชน 6 ตุลา คือ
.
ทำอย่างไร เพื่อให้เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเลือกผู้บริหารประเทศด้วยตัวของเราเอง
.
เมื่อผมจบการศึกษา ผมผ่านประสบการณ์หลากหลาย ออกไปเป็นแพทย์ชนบท กลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ เป็นรัฐมนตรี เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ ชีวิตมีขึ้นมีลงหลายครั้ง สูงสุดคืนสู่สามัญ
.
แต่ผมไม่เคยลืมภาพจำของยามสายวันที่ 6 ตุลาคม 2519
.
ทุกครั้งที่ความทุกข์ ความเศร้า เข้ามาเกาะกุมจิตใจ ผมไม่เคยยอมแพ้
เพราะเมื่อผมนึกถึงผู้เสียชีวิตในวันที่ 6 ตุลา
นึกถึงเพื่อนผู้ทิ้งชีวิตสบายๆในเมืองหลวงไปสู่ป่าเขา และบางคนไม่ได้กลับมา
.
ผมจะลุกขึ้นแล้วบอกตนเองว่า “หยุดซึมเศร้า แล้วก้าวต่อไป”
.
แต่การก้าวต่อไปทุกครั้ง ผมก็บอกกับตนเองเช่นกันว่า อย่าไร้เดียงสา ต้องมีสติกำกับเสมอ และมีปัญญารู้เท่าทัน
ผ่านมาถึงวันนี้ หลังจากการก้าวเดินจากวันที่เปลี่ยนชีวิตผมมา 43 ปี ผมสรุปบทเรียนบอกกับตนเองไว้ 6 ประการดังนี้
.
1) ไม่มีใครอยากตาย แต่มีบางคนพร้อมเผชิญหน้ากับความตายเพื่อแลกกับอุดมการณ์ที่ตนใฝ่ฝัน
.
2) จงมีความสุขที่ได้ทำตามความฝัน
อย่ามีความสุขเพราะอยากให้ผู้คนยกย่องจดจำชื่อและตัวตนของเรา
คนอาจจำได้ในสิ่งที่เราทำ โดยไม่ใส่ใจเลยสักนิดว่าใครทำ
เพราะมีเรื่องราวอีกมากมายในประเทศนี้ หรือโลกใบนี้ที่จดจำกันไม่หมด
และ อีก 100 ปี หรือ 1,000 ปีข้างหน้า ก็จะไม่มีใครจดจำรายละเอียดนี้ได้อีก
.
3) ฝันให้ยิ่งใหญ่ แต่เดินไปทีละก้าว
อย่าโบยตีตัวเองจนหม่นหมองในความทุกข์ ใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมีความสุข ทำตามความฝันไปเรื่อยๆไม่หยุด เหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยก็ลุกขึ้นมาใหม่
.
ใครคิดเก่งก็ช่วยคิด ใครพูดเก่งก็ช่วยพูด ใครทำเก่งก็ช่วยทำ ใครถนัดนำก็นำไป ใครถนัดตามก็ตามสนับสนุน ใครมีแรงก็ช่วยแรง ใครมีเงินก็ช่วยเงิน
.
ระหว่างเดินไปด้วยกัน บ่นกันบ้าง ก็ไม่เป็นไร ตำหนิกันบ้างก็อย่าถือสา หนทางยังอีกยาวไกล อย่างไรก็ต้องกุมมือกันไป กอดคอกันไป
.
ไม่ชิงดีชิงเด่น ไม่ยึดติดในหัวโขน ไม่หลงใหลในอำนาจ
.
ใช้ปัญญาในการออกแบบจำลองของความฝัน ทดลองทำ ใช้ไม่ได้ก็ปรับปรุงหรือเปลี่ยนใหม่
ถ้าบรรลุซึ่งความฝันในช่วงชีวิตของเราก็ดี ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร คนรุ่นหลังเขาคงผลักดันความฝันของเขาเองต่อไป ถ้าคนรุ่นหลังไม่สำเร็จ คนรุ่นต่อไปก็จะมาทำต่ออีก
.
สักวันหนึ่ง ฝันที่ยิ่งใหญ่ย่อมเป็นจริง ผมเชื่อเช่นนั้น
.
ไม่ใช่เรื่องที่จะมาตำหนิกันว่า ทำไมคนรุ่นคุณทำไม่สำเร็จ
.
4) คำถามว่า “โลกพระศรีอาริย์ หรือ ยูโทเปีย เป็นอย่างไร และเป็นไปได้จริงหรือ” ไม่มีผลต่อความใฝ่ฝันของผม
.
นักวิชาการบางคนเคยบอกว่า ประวัติศาสตร์สิ้นสุดแล้ว เราได้การเมืองประชาธิปไตย เศรษฐกิจเสรี สังคมอุดมคติแล้ว
.
มาวันนี้ นักวิขาการบางคนกลับบอกว่า ประชาธิปไตยตายแล้ว เสรีนิยมล้มเหลว โลกกำลังเปลี่ยนแกนไปทางอำนาจนิยม
.
วิกฤตการณ์ในประเทศต่างๆทั่วโลก กำลังท้าทายภูมิปัญญาที่มีอยู่ในปัจจุบัน และต้องการทฤษฎีแบบใหม่
.
หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานสีเขียว และเทคโนโลยีอีกมากมายอาจเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา
.
แต่ไม่ว่าความพลิกผันจะมีมากเพียงใด เมื่อคิดย้อนไปที่จุดตั้งต้น
ความฝันของผมยังคงง่ายเหมือนเดิม คือ
.
เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเลือกผู้บริหารประเทศด้วยตัวของเราเอง
.
ผมจึงเปิดใจกว้างรับความรู้ใหม่ๆ ทฤษฎีใหม่ๆ ไม่จำกัดเฉพาะความรู้ดั้งเดิมของตนเอง
.
5) สรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ต้องเปลี่ยนแปลง
เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องหนีไม่พ้น ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า
ณ จุดตัดของกาลเวลาหนึ่ง ที่ปัจจัยทุกอย่างพร้อม การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น
.
ตัวอย่างเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
.
ณ วันที่ 6 มกราคม 2544 ด้วยปัจจัย 5 อย่าง ที่สั่งสมมาทีละเล็กละน้อยจนมาครบถ้วนในวันนั้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบบริการสาธารณสุขที่ทะเยอทะยานที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ
.
ปัจจัยแรกคือ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ศึกษาเรื่องหลักประกันสุขภาพ แล้วเริ่มช่วยสร้างระบบประกันสังคมด้านสุขภาพเมื่อ พ.ศ. 2535
.
ปัจจัยที่สอง รัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2540 นำไปสู่ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง รัฐบาลเข้มแข็ง
.
ปัจจัยที่สาม การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทย หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ดร.ทักษิณ ชินวัตรซึ่งผิดหวังจากการปรับเปลี่ยนพรรคพลังธรรม จึงต้องการสร้างพรรคการเมืองแบบใหม่ที่เน้นนโยบาย และเขายังมีภาวะผู้นำที่สั่งสมมาจากประสบการณ์ทางธุรกิจ
.
ปัจจัยที่สี่ ระบบราชการในกระทรวงสาธารณสุขที่ปูรากฐานมาตลอด 3 ทศวรรษ บุคลากรส่วนใหญ่มีอุดมการณ์เพื่อผู้ป่วย และ ณ เวลานั้น มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขชื่อ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา ซึ่งต้องการเปลี่ยนระบบบริการสาธารณสุขครั้งใหญ่ให้สำเร็จก่อนตนเกษียณอายุ
.
ปัจจัยที่ห้า อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ บุตรชายอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สานต่อความฝัน “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของบิดาด้วยการรวมพลังองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุขต่างๆ เพื่อรณรงค์เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
.
ทั้งห้าปัจจัยนี้ มาบรรจบตัดกันในวันที่ 6 มกราคม 2544 โดยจุดชี้ขาดที่สำคัญคือ เสียงของประชาชนซึ่งมาลงคะแนนเลือกตั้งในระบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งถึง 248 ที่นั่ง มากเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของการเมืองไทย และได้รับฉันทานุมัติเต็มเปี่ยมในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
.
จากวันนั้น วันที่ 6 มกราคม 2544 การสาธารณสุขไทย และการเมืองไทยก็เปลี่ยนไป ไม่กลับไปเหมือนเดิมได้อีก
.
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอนิจจัง การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์
ดังนั้น ถ้าทุกคนทำในสิ่งที่ตนทำได้ ทำเรื่อยๆ ทำไม่หยุด ทำเสริมซึ่งกันและกัน
ณ จุดตัดของกาลเวลาหนึ่ง ความใฝ่ฝันย่อมเป็นจริง
.
6) สุภาษิตของทิเบตกล่าวว่า “พรุ่งนี้หรือชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อน”
.
วันนี้เรายังลืมตาตื่น แต่พรุ่งนี้เราอาจหลับไปตลอดกาล
วันนี้จีงควรอยู่อย่างมีสติ อยู่อย่างราวกับว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต
ไม่มีอะไรติดค้างใคร ไม่มีอะไรติดค้างในใจ
เพื่อวินาทีที่เราจะจากไป เราบอกกับตัวเองได้ว่า
ฉันได้ใช้ชีวิตอย่างที่ฉันฝันแล้ว
.
...........................................
.
เพื่อนมิตรผู้รักเสรีภาพและประชาธิปไตย
.
เวลา 43 ปี อาจยาวนานสำหรับบางคน
แต่สำหรับเรา ผมเชื่อว่า รู้สึกเหมือนเพิ่งผ่านไปเมื่อวานนี้เอง
.
เราเสียใจที่วีรชน 6 ตุลา เพื่อนของเราต้องจากไปก่อนเวลาอันควร
เราขอคารวะในความกล้าหาญและเสียสละของเพื่อนผู้จากไป
ขอเพื่อนโปรดรับรู้ว่า เพื่อนยังอยู่ในใจของเรา และเป็นพลังให้เราก้าวเดินต่อมาจนถึงวันนี้
.
วันนี้ แม้เรายังเดินไปไม่ถึงฝัน เพราะอุปสรรคมากมายที่ผ่านมาแล้ว
และยังมีอีกมากมายที่รออยู่ข้างหน้า
.
บางครั้งเราเจ็บปวด หลายครั้งที่เราหมดแรง
แต่เราพร้อมจะปาดน้ำตา
.
หยุดซึมเศร้า แล้วก้าวต่อไป
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
https://www.facebook.com/surapongofficial/photos/a.1224577807642374/2048048598628620/?type=3&theater