ที่มา แคมเปญรณรงค์ใน change.org บันทึกเมื่อ 23.30 น. ของวันที่ 16 ต.ค.62
DRG - 773 รายชื่อ กระทุ้ง ส.ส.ไม่อนุมัติ พ.ร.ก.โอนกรมทหารราบที่ 1 - ราบ 11 ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์
2019-10-17
ประชาไท
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย - 773 รายชื่อลงชื่อร่วมกับทนายอานนท์ ร้อง ส.ส.ไม่อนุมัติ พ.ร.ก.โอนกรมทหารราบที่ 1 - ราบ 11 ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ ชี้ขัดรัฐธรรมนูญและหลักการในระบอบประชาธิปไตยฯ ไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน 'บีบีซีไทย' เผยท่าทีฝ่ายค้าน มีเพียง 'อนาคตใหม่' ที่ตั้งคำถาม
16 ต.ค.2562 จากกรณีการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ ) ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ นอกจากจะมีประเด็นสำคัญคือการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯประจำปี 2563 แล้ว อีกประเด็นสำคัญคือการพิจารณา พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา มีผลให้อัตรากาลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ไปเป็นของ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์
773 รายชื่อ ร้อง ส.ส.ตีตก พ.ร.ก.
โดยเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา อานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและทนายความสิทธิมนุษยชน โพสต์จดหมายเปิดผนึก ถึง ส.ส.เรียกร้องขอให้เปิดการอภิปรายและลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยให้เหตุผล 2 ประเด็นด้วยกันคือ ขัดรัฐธรรมนูญ และขัดกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ล่าสุดวันนี้ มีนำข้อเรียกร้องดังกล่าวของ อานนท์ ไปตั้งเป็นแคมเปญรณรงค์ใน change.org ขณะนี้ (23.30 น. ของวันที่ 16 ต.ค.62) มีผู้ร่วมลงชื่อ 773 รายชื่อแล้ว
โดย อานนท์ ระบุว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวขัดต่อรัธรรมนูญและขัดต่อหลักการในระบอบประชาธิปไตยดังนี้ 1. ในแง่รูปแบบ พ.ร.ก.ดังกล่าวมิใช่กฎหมายที่เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทาง เศรษฐกิจของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และมิใช่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ การตรา พ.ร.ก. ดังกล่าวของรัฐบาลจึงขัดกับมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ 2560
2. ในแง่เนื้อหา การโอนหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เป็นกองกำลังทางทหารไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์และขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการขยายพระราชอำนาจทางการทหารของสถาบันกษัตริย์จนเกิดขอบเขตของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งการถวายความปลอดภัยต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์รวมทั้งการบริหารหน่วยงานดังกล่าวเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอันจะสามารถตรวจสอบถ่วงดุลโดยรัฐสภาและศาล การโอนอัตารากำลังพลของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ไปขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์จึงขัดกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างชัดเจน
"ขอให้ท่านในฐานะผู้แทนของปวงชนชาวไทยทำหน้าที่เปิดอภิปรายและได้โปรดมีมติไม่อนุมัติกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้กฎหมายนั้นเป็นอันตกไป อนึ่ง ขอให้กำลังใจในการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร ในการใช้สิทธิและเสรีภาพแทนปวงชนชาวไทย เพราะหากแม้แต่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นตัวแทนปวงชนไร้ซึ่งเสรีภาพในการทำหน้าที่แล้ว บรรดาประชาชนพลเมืองไฉนเลยจะมีสิทธิเสรีภาพได้ ขอให้ท่านรักษาความศักดิ์สิทธิของรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยให้สมภาคภูมิและสมเกียรติแห่งการเป็นผู้แทนราษฎรให้ถึงที่สุดด้วย" จดหมายของ อานนท์ ทิ้งท้าย
ทนายอานนท์ ร้อง ส.ส.ไม่อนุมัติ พ.ร.ก.โอนกรมทหารราบที่ 1 - ราบ 11 ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์
เผยแพร่ พ.ร.ก.โอนกรมทหารราบที่ 1 และ ราบ 11 ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์
เปิด 4 เหตุฉุกเฉินจำเป็นรีบด่วนในการออก 'พระราชกำหนด' ตามรัฐธรรมนูญ 60
DRG จี้ ส.ส.มติไม่อนุมัติ พ.ร.ก.นี้
วันเดียวกัน กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group - DRG) ออกข้อกังวลต่อความเป็นประชาธิปไตยและสำนึกของความเป็น ส.ส.ในระบอบประชาธิปไตย จากกรณีดังกล่าวเช่นกัน โดยเรียกร้องต่อ ส.ส.ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชน ให้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย และลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว เพื่อการรักษาหลักการแบ่งแยกอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย ส.ส. ควรทำหน้าที่พิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง และไม่ปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลเผด็จการทหารในอดีต นำวิธีการผ่านกฎหมายที่เคยกระทำในยุคที่มีสภาตรายางอย่างสภานิติบัติญัติแห่งชาติ (สนช.)กลับมาใช้ได้อีก และหาก พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวไม่ได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภาแล้ว DRG ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์แสดงการรับผิดชอบทางการเมืองตามธรรมเนียมปฏิบัติเช่นเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีในอดีตเคยกระทำไว้ด้วย
บีบีซีเผยท่าทีฝ่ายค้าน มีเพียง 'อนาคตใหม่' ที่ตั้งคำถามถึงความจำเป็น
ขณะที่ บีบีซีไทย ได้สำรวจท่าทีของ ส.ส.ฝ่ายค้าน วันนี้ (16 ต.ค.) พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า พท. เห็นว่าจะต้องฟังคำอธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นในการออกกฎหมายฉบับนี้เป็น พ.ร.ก. ก่อนถึงจะตัดสินใจว่าจะโหวตรับเป็น พ.ร.บ. หรือไม่
"แต่ตอนนี้ถ้าดูตามหลักการแล้ว มันเป็นสิ่งที่ปฏิเสธยาก" พล.ท.ภราดรกล่าว
สุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่าที่ประชุมวิปในวันนี้ "ลืมหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา" ดังนั้นจึงนัดประชุมกันก่อนเริ่มประชุมสภาฯ ในวันพรุ่งนี้ (17 ต.ค.) เวลา 08.00 น. เพื่อลงมติว่าวิปฝ่ายค้านจะมีมติว่าจะโหวตรับหรือไม่รับ พ.ร.ก. สุทินยอมรับว่า จากการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ สมาชิกหลายคนเสนอให้โหวตรับ พ.ร.ก. ส่วนตัวเขานั้นเห็นว่า พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณฯ "ไม่มีอะไรต้องพิจารณามาก เป็นเรื่องของกองทัพ รายละเอียดไม่เยอะ และไม่น่าจะมีใครอภิปรายอะไรมากมาย"
ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ บีบีซีไทยรายงานว่า ดูเหมือนเพียงพรรคเดียวที่ตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้เนื่องจากเห็นว่าไม่เข้าเกณฑ์ "จำเป็นรีบด่วน" ตามรัฐธรรมนูญ โดย พรรคอนาคตใหม่ยืนยันว่าข้อสังเกตดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของหลักการการออกกฎหมายของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับสถาบัน
ก่อนหน้านี้ พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยว่า เท่าที่ศึกษาเนื้อหาใน พ.ร.ก. ยังไม่พบว่าเข้าเงื่อนไข 3-4 ประการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญคือ มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือเพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยอมรับว่าแกนนำพรรคได้หยิบยกเรื่องการ "งดออกเสียง" รับรอง พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณฯ มาหารือภายในพรรคจริง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากสมาชิกมีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลายโดยแบ่งเป็น 3 แนวทาง ทั้งให้ลงมติเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง
ขณะที่ พล.ท.ภราดรให้ความเห็นว่า อนค. มีเสรีภาพในการแสดงทัศนะต่อกระบวนการออกกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยที่จะเห็นต่างกันได้ และสุดท้ายแล้วเรื่องนี้ต้องจบที่เสียงส่วนใหญ่ในสภาว่าจะโหวตรับ พ.ร.ก. ฉบับนี้หรือไม่