พฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2562 เป็นวันที่ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วน ของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 จะถูกพิจารณาในรัฐสภา
โดยปกติแล้วประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (constitutional monarchy) มีการแบ่งแยกอำนาจคืออำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เพื่อถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ซึ่งการออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จะกระทำโดยฝ่ายนิติบัญญัติคือรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นที่ฝ่ายบริหารคือรัฐบาลสามารถออกกฎหมายเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ได้ โดยมีเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 มาตรา 172 คือต้องเป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะ 1. รักษาความปลอดภัยของประเทศ 2. รักษาความปลอดภัยสาธารณะ 3. รักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ 4. ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ รวมถึงต้องเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น และหลังจากออก พ.ร.ก. แล้ว ให้รัฐบาลเสนอ พ.ร.ก. นั้นต่อรัฐสภาโดยเร็วเพื่อพิจารณาว่าจะอนุมัติให้ พ.ร.ก. นั้นมีผลใช้บังคับเป็น พ.ร.บ. ต่อไปหรือไม่
การออกพระราชกำหนดโอนกำลังพล และงบบางส่วนของทบ.ไปเป็นของหน่วยฯถวายความปลอดภัยฯ โดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอันใดและไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องรักษาความมั่นคงของประเทศ การออกพระราชกำหนดฉบับนี้ของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศจึงไม่สมเหตุสมผล เป็นการออกกฎหมายโดยพร่ำเพรื่อของฝ่ายบริหารโดยไร้ความจำเป็น
การออก พ.ร.ก. ดังกล่าวที่มีผลให้โอนกองกำลังทางทหาร ได้แก่ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ อ้างเหตุผลว่าเพื่อสนับสนุนภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการถวายอารักขาและถวายพระเกียรติ และการรักษาความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์และพระราชอาคันตุกะ รวมทั้งให้การปฏิบัติภารกิจทั้งปวงตามพระราชอัธยาศัยและตามพระราชประเพณีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด แล้วสรุปสั้นๆ ว่านี่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ แต่กลับไม่แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงว่ามีเหตุอันใดที่เป็นภัยคุกคามต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ต่างๆ ในระดับที่ใหญ่หลวงและเร่งด่วนถึงกับต้องโอนกรมทหารราบถึง 2 กรมที่มีกองพันเป็นจำนวนรวมถึง 6 กองพัน มีอัตรากำลังกว่า 4,000 นายออกจากการบังคับบัญชาของกองทัพบกมาเป็นส่วนราชการในพระองค์โดยทันทีเท่านั้นจึงจะแก้ปัญหาได้
การออก พ.ร.ก. ดังกล่าวของรัฐบาลจึงเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นความพยายามละเมิดหลักการแบ่งแยกอำนาจของฝ่ายบริหารที่พยายามก้าวก่ายในการออกกฎหมายที่โดยหลักควรเป็นงานของฝ่ายนิติบัญญัติด้วย
นอกจากนี้การออก พ.ร.ก. โอนกองกำลังทหารขนาดใหญ่ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ที่ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการออกกฎหมายที่สะท้อนภาวะไร้ความรับผิดชอบของรัฐบาล และละเมิดต่อหลักการทางประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในการบริหารราชการแผ่นดินพระมหากษัตริย์จะทรงใช้อำนาจผ่านคณะรัฐบาล จึงถือเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่จะถวายการถวายอารักขารักษาความปลอดภัยรวมถึงกิจการต่างๆ โดยที่พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงใช้อำนาจด้วยพระองค์เอง แต่จะทรงใช้อำนาจผ่านรัฐบาลและรัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดหากเกิดปัญหาในกรณีใดๆ ตามหลัก The king can do no wrong (because the king can do nothing) ซึ่งเป็นหลักการที่สอดคล้องกับกฎหมายในมาตรา 6 หมวด 2 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”
จากเหตุผลหลายประการในข้างต้นนี้ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) จึงขอเรียกร้องต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชน ให้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย และลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว เพื่อการรักษาหลักการแบ่งแยกอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย ส.ส. ควรทำหน้าที่พิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง และไม่ปล่อยให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลเผด็จการทหารในอดีต นำวิธีการผ่านกฎหมายที่เคยกระทำในยุคที่มีสภาตรายางอย่างสภานิติบัติญัติแห่งชาติกลับมาใช้ได้อีก ดังที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ว่ารัฐสภาเคยลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ถึง 3 ครั้ง ได้แก่ การไม่อนุมัติ พ.ร.ก. จัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2487 และ พ.ร.ก. จัดสร้างพุทธบุรีมณฑล พ.ศ. 2487 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนจอมพล ป. ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง และการไม่อนุมัติ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2529 ในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จน พล.อ.เปรมต้องประกาศยุบสภา โดยมีเหตุผลว่าหากให้สภาชุดนี้ยังคงทำหน้าที่ต่อไป ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินและจะกระทบถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ
และหาก พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวไม่ได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภาแล้ว DRG ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงการรับผิดชอบทางการเมืองตามธรรมเนียมปฏิบัติเช่นเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีในอดีตเคยกระทำไว้ด้วย
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG
.
ความเห็นจากโพสต์เขียนอธิบายได้ชัดเจนดี / ในสภาฯประยุทธ์จะอธิบายไหมว่าทำไมต้องเป็นพรก.หรือจะมีเหตุผลเพี้ยนๆเหมือนตอนถวายสัตย์ไม่ครบ
...
ขอสนับสนุนตัดงบ กลาโหม แล้วมาเพิ่มงบ การศึกษา โรงพยาบาล อนามัย เกษตรกร อื่นๆที่ประชาชนได้ประโยชน์ จะดีมากเลยค่ะ เพราะตั้งเกิดมาไม่เคยเห็นทหารรบกับใครเลย นอกจากรบกับประชาชนในประเทศตัวเอง