วันพุธ, ตุลาคม 02, 2562

ควันหลง "ม.44" ของ คสช.2 คือออก "พระราชกำหนด" ควรมิควรแล้วแต่สะดวก bypass รัฐสภา





#คณะรัฐมนตรี ภายใต้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชุด 'คสช.2' ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมาได้สองเดือนกว่าใช้อำนาจออก #พระราชกำหนด เป็นฉบับที่สองแล้ว แทนที่จะส่งร่างกฎหมายที่ต้องการออกให้รัฐสภาพิจารณาตามระบบปกติ ล่าสุดเป็นเรื่องการโอนกำลังพลและงบประมาณไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ แสดงให้เห็นว่า คณะรัฐมนตรีชุดนี้ยังติดใจอำนาจออกคำสั่งด่วนๆ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนใดๆ แบบที่เคยมี #มาตรา44 อยู่ในมือ ในยุค 'คสช.1'

30 กันยายน 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาล 'คสช.2' ลงนามออกกฎหมายเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก
กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/P…/2562/A/103/T_0001.PDF

การออกพ.ร.ก. ครั้งนี้ให้เหตุผลสรุปได้ว่า หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์เป็นส่วนราชการในพระองค์ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานงาน บังคับบัญชา ควบคุม กำกับดูแลและปฏิบัติงานในการถวายอารักขาและถวายพระเกียรติ และการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวจำเป็นต้องมีความพร้อมในทุกด้าน จึงสมควรโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณไป เพื่อสนับสนุนภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ รวมทั้งให้การปฏิบัติภารกิจทั้งปวงตามพระราชอัธยาศัยและตามพระราชประเพณีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ

ก่อนหน้านี้ 26 สิงหาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาล 'คสช.2' ลงนามออกกฎหมายเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาแล้วหนึ่งฉบับ ให้เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.
ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 จนกว่าคณะรัฐมนตรีจะเห็นควรให้บังคับใช้ก็ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาภายหลัง http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/P…/2562/A/092/T_0001.PDF

การออก พ.ร.ก. ในครั้งนั้นให้เหตุผลสรุปได้ว่า การออกกฎหมายใหม่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความพร้อมในด้านความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยังต้องมีการเตรียมการรองรับการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีตามหลักการใหมให้สอดคล้องกัน แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า หน่วยงานที่จะเป็นผู้ปฏิบัติการหรือบังคับการตามกฎหมายยังมีปัญหาและอุปสรรค
เกี่ยวกับความพร้อมด้านบุคลากรและขั้นตอนการปฏิบัติ จึงมีความจำเป็นที่ต้องขยายกำหนดเวลาการใช้บังคับออกไปก่อน เนื่องจากหากมีการใช้บังคับตามกำหนดเวลาเดิมในขณะที่ยังไม่มีความพร้อมอาจเกิดผลร้ายต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง กรณีดังกล่าวจึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ในอันที่จะรักษา ความมั่นคงทางสังคมอันจะส่งผลถึงความปลอดภัยสาธารณะและความปลอดภัยของประเทศ https://ilaw.or.th/node/5388

ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 การออกกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ รัฐสภา ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีต้องการออกกฎหมาย ก็มีอำนาจตามมาตรา 133 ที่จะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้ ในกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาจะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร ประกอบได้ด้วย ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส. ฝ่ายค้าน ซึ่งต้องอาศัยเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่ง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลก็มีจำนวนมากกว่าอยู่แล้ว แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม และเมื่อผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็ต้องผ่านวุฒิสภา โดยอาศัยเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งอีกเช่นกัน ซึ่ง ส.ว. ก็เป็นคนที่เลือกมาเองทั้งหมด ดังนั้น การผ่านกฎหมายในระบบปกติโดยรัฐสภาจึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับรัฐบาลชุดนี้ https://ilaw.or.th/node/5343

ภายใต้รัฐสภาชุดปัจจุบัน วันที่ 8 สิงหาคม 2562 คณะรัฐมตรีได้เสนอร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 และพ.ร.บ. เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 เข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาแทนญัตติอื่น มีการอภิปรายของ ส.ส. ถึงข้อกังวลเล็กน้อย สุดท้ายที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับหลักการ พร้อมตั้งกรรมาธิการเต็มสภา แล้วจึงลงมติเห็นชอบแบบเอกฉันท์ "สามวาระรวด" ในวันเดียวกัน วันต่อมาที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบให้ร่างกฎหมายทั้งสองใช้เป็นกฎหมายต่อไป เป็นการผ่านกฎหมายสองฉบับแรกของรัฐสภาชุดปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า เมื่อเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐสภาชุดนี้ก็พร้อมยกมือสนับสนุนให้อยู่แล้ว หากส่งเรื่องเข้าพิจารณาออกเป็นพระราชบัญญัติในระบบปกติก็ย่อมสามารถทำได้

จึงไม่มีเหตุผลเป็นพิเศษ ที่รัฐบาล 'คสช.2' จะใช้อำนาจ 'ทางลัด' ออกเป็น พ.ร.ก. โดยไม่ผ่านขั้นตอนการออกกฎหมายตามปกติ

รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 กำหนดเงื่อนไขในการออก พ.ร.ก. ว่า จะทำได้เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่า เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ เท่านั้น หากไม่ใช่กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน การออกกฎหมายต้องเป็นไปตามระบบปกติ โดยอำนาจของรัฐสภา

มาตรา 172 ยังกำหนดด้วยว่า เมื่อมีการออก พ.ร.ก. ไปแล้ว ในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไปคณะรัฐมนตรีต้องเอา พ.ร.ก. นั้น เสนอให้รัฐสภาพิจารณาว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ ซึ่งหากรัฐสภาลงมติ "กลับ" ไม่เห็นชอบด้วยกับการตัดสินใจที่คณะรัญมนตรีทำไปแล้วจะเกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้ และจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลโดยไม่จำเป็น

ปัญหาสำคัญ คือ การออกพ.ร.ก.ทั้งสองฉบับ ถือว่า "มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้" ที่ต้องรีบออกเป็น พ.ร.ก. จริงหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของรัฐสภาที่ก็สามารถออกกฎหมายได้ในเวลาเพียงสองวัน ก่อนหน้านี้ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านเคยยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบแล้วว่า การออก พ.ร.ก. ฉบับเดือนสิงหาคมนั้นเป็นไปโดยถูกต้องตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 กำหนดไว้หรือไม่

การใช้อำนาจลักษณะเช่นนี้ คล้ายกับการใช้อำนาจพิเศษตาม "มาตรา44" ในยุคของ คสช.1 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ด้วยความเห็นชอบของ คสช. สามารถลงนามออกคำสั่งอะไรก็ได้ในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แม้จะมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ทำหน้าที่พิจารณาออกกฎหมายอยู่ในมืออยู่แล้ว แต่หาก คสช. ต้องการออกกฎหมายอะไรก็สามารถใช้อำนาจพิเศษตาม "มาตรา44" ออกเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ได้เลย โดยที่ไม่ต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งตลอดเวลากว่าห้าปีในยุคของ คสช.1 ใช้อำนาจพิเศษนี้ออกคำสั่งไปรวมแล้ว 211 ฉบับ เรียกได้ว่า ใช้ได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องเกรงใจใคร (ดูทั้งหมดได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/3679)

เมื่ออำนาจพิเศษเช่นนี้หมดไปแล้วพร้อมกับการตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ทางรัฐบาล 'คสช.2' ยังติดใจการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ จึงเลือกช่องทางการออกเป็น 'พระราชกำหนด' มาแทนที่ความรวดเร็วทันใจของ "มาตรา44"