วันศุกร์, ธันวาคม 13, 2567

การเมืองการละครแห่งการแบล็คเมล์


Thanapol Eawsakul
17 hours ago ·

ทักษิณ ชินวัตร ประวิตร วงษ์สุวรรณ ธรรมนัส พรหมเผ่า
การเมืองแห่งการแบล็คเมล์
....
(1)
ทักษิณ กับธรรมนัสมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ผ่าน “เสธ.ไอซ์” ไตรรงค์ อินทรทัต เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 ของทักษิณ ธรรมนัสมีส่วนร่วมในฐานะฟันเฟืองในการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่ปี 2541
แต่หลังจากนั้นไม่นานธรรมนัสก็ประสบชะตากรรมต้องเข้าคุกเข้าตะรางและถูกถอดยศ เปลี่ยนชื่อและกลับเข้ามารับราชการอีกครั้ง วนเวียนกันหลายรอบ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณและธรรมนัส ยังถือว่าเหนียวแน่น
ธรรมนัส ปรากฏชื่อใน ผู้สมัครบัญชีรายชื่อสส.พรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง 2557 ด้วย แม้วาการเลือกตั้งครั้งนั้นจะเป็นโมฆะ
(ผมก็เป็นคนหนึ่งในการเลือกพรรคเพื่อไทยและธรรมนัสด้วยในการเลือกตั้ง 2557)
(2)
ทักษิณ (ตท.10) กับประวิตร วงษ์สุวรรณ (ตท.6) เริ่มมีความสัมพันธ์แบบห่างๆในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้องเตรียมทหาร โดยอนุพงษ์ เผ่าจินดา เพื่อนเตรียมทหาร รุ่น 10 ของทักษิณ เป็นลูกน้องของประวิตร เป็นตัวเชื่อม
ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดูเหมือนจะหมดอนาคต ในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เมื่อถูก สุรยุทธ์ จุลานนท์เด้งออกไปจากสายบังคับบัญชา แต่ทักษิณขึ้นมาเป็นนายกในปี 2544 เริ่มมีความขัดแย้งกับกองทัพ และนำไปสู่การ ปลดสุรยุทธ์จุลานนท์ออกจากผบ. ทบ ในเดือนกันยายน 2545 ให้ไปดำรงตำแหน่งผบ.สูงสุดเพียงตำแหน่งเดียว
ขณะที่ผบ. ทบคนต่อมาคือสมทัต อัตตะนันทน์ และชัยสิทธิ์ ชินวัตร ญาติของทักษิณ ที่มาจากทหารช่าง
เมื่อชัยสิทธิ์ ชินตรประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหาความรุนแรงในชายแดนใต้ ประวิตร วงษ์สุวรรณก็ได้มาเสียบเป็นตำแหน่ง ผบ. ทบ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2547
ซึ่งทักษิณบอกว่าเป็นผลจากการไปเกาะขอบโต๊ะขอตำแหน่ง
(3)
สนธิ บุญยะรัตกลิน เป็นผบ. ทบต่อจาก ประวิตร วงษ์สุวรรณ และกลายมาเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่สนธิไม่ได้เป็นคนคุมกำลัง เพราะคนคุมกำลังคนสำคัญคืออนุพงษ์ เผ่าจินดา เพื่อนตท 10 ของทักษิณ แต่เป็นลูกน้องคนสนิทของประวิตรวงษ์สุวรรณ
อนุพงษ์เป็นแม่ทัพภาค 1 ที่คุมกำลังการรัฐประหารทั้งหมด
ในเวลานั้นอนุพงษ์เลือกรุ่นพี่ (ประวิตร )มากกว่าเพื่อนร่วมรุ่น (ทักษิณ)
(4)
หลังรัฐประหาร 2549 อนุพงษ์ เผ่าจินดาขึ้นเป็นผบ. ทบในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 และอยู่ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2553 เป็นผู้บัญชาการทหารบกในเหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแดง เมษายน-พฤษภาคม 2553 หลังจากนั้นก็ส่งไม้ต่อให้ประยุทธ์-จันทร์โอชาเป็นผบ.ทบ. จากวันที่ 1 ตุลาคม 2553 จนถึง 30 กันยายน 2557
ทั้ง 2 คนเป็นลูกน้องของประวิตร วงษ์สุวรรณ ในนามบูรพาพยัคฆ์
ไม่เพียงเท่านั้นประวิตร ยังสนับสนุนลูกน้องตัวเอง มาเป็น ผบ.ทบ.อีก 2 คนคือ
อุดมเดช สีตบุตร 1 ตุลาคม 2557 – 30 กันยายน 2558
ธีรชัย นาควานิช 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559
(5)
ภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นอกจากประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รวมทั้งคุมตำรวจด้วย ส่วนอนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็เป็น รมว.มหาดไทย
ในเวลา นั้น ธรรมนัส พรหมเผ่า ถูกขึ้นแบล็คลิสต์ เป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญของคนเสื้อแดง
ธรรมนัส พรหมเผ่าถูกเรียกเข้ามารายงานตัวและมีการอายัดทรัพย์สิน
ส่วนความสำเร็จในการรัฐประหารแทบไม่มีการต่อต้านนั้น มีข่าวลือจากจตุพร พรหมพันธุ์ ในฐานะแกนนำผุ้ชุมนุมว่า มีการรู้เห็นเป็นใจกันระหว่างทักษิณ และผู้ทำรัฐประหารด้วย
(6)
กรณีจำนำข้าวเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเล่นงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนำไปสู่การดำเนินคดี จนนำมาสู่การพิพากษาจำคุกและยึดทรัพย์ยิ่งลักษณ์พร้อมพวก
แต่ยิ่งลักษณ์ เลือกการหนีออกนอกประเทศ ท่ามกลาวข่าวลือเรื่องการอำนวยความสะดวกของผู้มีอำนาจในตอนนั้น ซึ่งประวิตร ในฐานะ รองนายกที่ดูแลทั้งทหารและตำรวจก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
แต่บอกว่า "ไม่รุ้ ไม่รู้"
(7)
แต่เมื่อต้องมีการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 รัฐบาลรัฐประหารต้องการสืบทอดอำนาจ จึงต้องตั้งพรรคพลังประชารัฐ ขึ้นมา ปกติของพรรคทหารจึงจะต้องเอาบรรดานักการเมืองโดยเฉพาะบ้านใหญ่และผู้มีอิทธิพลเข้ามา เป็นฐานกำลังของตัวเอง และธรรมนัส พรหมเผ่าก็ได้รับดีลพิเศษจากประวิตร วงษ์สุวรรณให้มา เป็นขุนพลภาคเหนือ พร้อมกับเป่าคดีต่างๆ ที่เคยมีมา
(7)
หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยให้ประยุทธ์ จันทร์โอชาสืบทอดอำนาจ ขณะที่ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็กลายเป็นขุนพลคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ และได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกล้าประกาศว่าตัวเองคือเส้นเลือดใหญ่ค้ำจุนรัฐบาลประยุทธ์
"เขารู้ว่าผมเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่จะเอาเลือดไปหล่อเลี้ยงในหัวใจของรัฐบาล จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อล้มผม"
(
เมื่อมาถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ก็เกิดดีลพิสดารขึ้นมา พรรคเพื่อไทยพยายามจะถอดชื่อประวิตร วงษ์สุวรรณออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้ใจ แต่พรรคอนาคตใหม่ในเวลานั้นไม่ยอม แต่เมื่อต้องอภิปรายประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยรังสิมันต์ โรม พรรคเพื่อไทยก็เล่นเกมถ่วงเวลา โดยศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ สส.อุตรดิตถ์ มาพูดไปเรื่อย ๆ จนหมดเวลา และปิดประชุม
ทำให้รังสิมันต์ โรมต้องอภิปราย นอกสภา
(9)
หลังจากนั้นไม่นาน พานทองแท้ ชินวัตร ก็รอดคดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทย ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ว่าเป็นอิทธิพลจากบ้านป่าฯ
พานทองแท้ ชินวัตร : ศาลพิพากษายกฟ้อง “ลูกทักษิณ” คดีฟอกเงินกรุงไทย
https://www.bbc.com/thai/thailand-50528366
(10)
ความสัมพันธ์ ระหว่างธรรมนัส พรหมเผ่าและพรรคพลังประชารัฐ เริ่มมีรอยปริร้าวมากขึ้น เมื่อมีข่าวว่า มีการลงขันล้มประยุทธ์ จันทร์โอชาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ปี 2564 จนนำมาสู่การสั่งปลด ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตร และนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช. แรงงาน ในวันที่ 7 กันยายน 2564
ธรรมนัส คือคนที่ประยุททธ์ พูดถึงเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ว่า
"การแอบอ้างเบื้องสูงว่าจะมีการเปลี่ยนตัวนายกฯ ถือว่าผิดอย่างร้ายแรง ผมคนเดียวเท่านั้นที่มีโอกาสถวายข้อราชการ คนอื่นไม่มี ชัดเจนมั้ย"
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=4949099518490181&set=pb.100001705461683.-2207520000..&type=3
(11)
แต่พรรคพลังประชารัฐก็ขาดธรรมนัสไม่ได้เพราะไม่มีมือทำงาน ประวิตร วงษ์สุวรรณก็ยังต้องใช้งานธรรมนัส อยู่แม้จะมีการย้ายพรรคกันไปมาจนในที่สุด ก่อนการเลือกตั้ง 2566 ธรรมนัสก็ได้ลง ส.สในนามพรรคเพื่อพลังประชารัฐ
(12)
แต่กลายเป็นว่าการเลือกตั้ง 2566 ดีลการร่วมมือกันระหว่างทักษิณ ชินวัตรพรรคเพื่อไทยและประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ ได้รับการ เปิดเผยโดยจตุพร พรหมพันธุ์ ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถ ปฏิเสธได้เต็มปากเต็มคำ และสิ่งเหล่านี้ก็มาเป็นความจริงภายหลังการโหวตให้เศรษฐา ทวีสินเป็นนายกรัฐมนตรี และทักษิณได้กลับบ้านแบบไม่ติดคุก
ไม่เพียงแต่ประวิตร วงษ์สุวรรณที่เข้าร่วมรัฐบาลเท่านั้นยังมีพรรครวมไทยสร้างชาติของประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้ามาร่วมด้วย
(13)
ธรรมนัส พรหมเผ่าหลังการเลือกตั้ง 2566 ถึงแม้ว่าตัวจะอยู่กับพรรคพลังประชารัฐแต่ใจก็มีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นในการบริหารประเทศของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสินพรรคพลังประชารัฐจึงถูกแบ่งเป็น 2 ฟากคือ
ฟากของ ประวิตรวงษ์สุวรรณ และฟากของธรรมนัส พรมเผ่า
ความสัมพันธ์ 2 ฟากนี้ ขาดสะบั้นลงภายหลังจากการ ล้มเศรษฐา ทวีสิน โดยประวิตรหวังลึก ๆ ว่าจะเป้นนายกรัฐมนตรีกับเขาบ้าง แต่กลายเป็น แพทองธาร ชินวัตรลูกสาวของ ทักษิณชินวัตร
(14)
สุดท้ายความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐสายประวิตร วงษ์สุวรรณก็ขาดสะบั้น เมื่อการตั้งรัฐบาลแพรทองธาร ชินวัตร ไม่มีพรรคพลังประชารัฐเข้าร่วม
แต่มีเสียงโหวตของ กลุ่มธรรมนัส พรหมเผ่าจนเป็นที่มาของ 3 เก้าอี้รัฐมนตรี และการตั้งพรรคกล้าธรรม มารองรับ
(15)
พรรคพลังประชารัฐและประวิตร ยังถือไพ่เหนือกว่าธรรมนัสคือการ “ขัง” ไว้ในพรรคพลังประชารัฐ ตราบใดที่ยังไม่มีมติขับออกกลุ่มธรรมนัสก็ไม่สามารถย้ายพรรคได้
(16)
หลังจากนั้นปฏิบัติการเช็คบิลประวิตร วงษ์สุวรรณก็เริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลาประชุม และการเปิดเผยการรุกป่าคนใกล้ชิดของ ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยคนที่ดูแลกระทรวงเกษตรไม่ใช่ใครที่ไหนคือนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ คนที่เฝ้าบ้านป่ารอยต่อสมัยประวิตร มีอำนาจและรู้เส้นสนกลในเป็นอย่างดี
(17)
มติพรรคพลังประชารัฐล่าสุดคือการขับ 20 สส. กลุ่มธรรมนัสออกจากพรรคเพื่อเข้าร่วมพรรคกล้าธรรมที่ตั้งรอไว้แล้ว ซึ่งดีลนี้ไม่มีอะไรมากกว่าการเลิกเช็คบิลประวิตรและคนรู้ใจ
นฤมล รับ ธนดล เบรกลุยสอบไร่ภูนับดาว ลั่นไม่เกี่ยว พปชร.ยอมขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัส
https://www.matichon.co.th/politics/news_4949696
(18)
ทั้งหมดไม่มีอะไรมากว่าสัจธรรมที่ว่า “โจรมันจะสามัคคีกันตอนปล้น และจะทะเลาะกันตอนแบ่งสมบัติ”
ปล.
ผมเคยเขียน “วิถีโจรของพลังประชารัฐ กรณีศึกษาธรรมนัส พรหมเผ่า” 19 มกราคม 2565
https://www.facebook.com/thanapol.eawsakul/posts/pfbid022tM5UyFHYd2KPKziusTuDyk8u9oFaY9yEME8A3gara7e9WTNY8GtnHcBUcLkiX7l

https://www.facebook.com/thanapol.eawsakul/posts/9124207544312670