ตีแผ่ช่องโหว่รับมือภัยพิบัติไทย ยังขาด ‘หน่วยงานกลาง’ รับผิดชอบ หนุนเพิ่ม ’ศักยภาพชุมชน‘ เผชิญเหตุ
วงเสวนาสมัชชาสุขภาพฯ ถอดบทเรียนเพื่อการจัดการภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต คสช. ชี้ รัฐไม่มีหน่วยงานกลางรับมือภัยพิบัติ ทำให้เกิดความสับสนตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิถึงวันนี้ ขณะที่ สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม แนะ ควรทำให้ข้อมูลงานวิชาการเข้าใจง่าย เพื่อชุมชนเตรียมการรับมือถูกวิธี ด้าน ผอ.มูลนิธิกระจกเงา เสริมศักยภาพ ปชช. ประเมินสถานการณ์เองได้ – ส่วนชุมชนต้องเตรียมก่อนเกิดภัยพิบัติ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์ จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 27 - 28 พ.ย. 2567 ภายใต้ประเด็นหลัก “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” โดยมีผู้เข้าร่วมงานทางระบบ online และ on-site กว่า 3,000 คน ซึ่งภายในงานยังมีการจัดเวทีเสวนานโยบาย เรื่อง “ถอดรหัสภัยพิบัติ EOC/คสช./สมัชชาสุขภาพจังหวัด” เพื่อให้องค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ที่มีประสบการณ์ในการรับมือกับภัยพิบัติมาร่วมกันถอดบทเรียน และแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ที่จะนำไปสู่การจัดการกับภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต โดยมีผู้สนใจรวมฟังกว่า 100 คน
นายอนันต์ แสงบุญ คณะทำงานสมัชชาสุขภาพ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีเรื่องเล่านิทานพื้นบ้านที่ชื่อว่า เมืองล่ม หนองหล่ม ในแทบจะทุกจังหวัด อันเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ว่าพื้นที่ภาคเหนือเคยประสบกับภัยพิบัติมาหลายครั้งแล้ว และนำมาสู่ความสูญเสียครั้งใหญ่ด้วย ซึ่งอุทกภัยใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ต่างกัน เพราะเป็นมวลน้ำ 2 ระลอก ที่ทิ้งระยะห่างเพียงแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้น จนทำให้เกิดความโกลาหลขึ้น
นายอนันต์ กล่าวต่อไปว่า ที่สำคัญคือ ไม่ได้มีการสร้างการตระหนักรู้ในพื้นที่ ทำให้ในระดับชุมชนไม่มีการเตรียมการรับมือเอาไว้ แม้ต่อมาสื่อกระแสหลักจะออกข่าวแจ้งเตือนก็ไม่มีความหมายแล้ว จนสุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นทุกคนต่างรอการช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก โดยชุมชนที่พึ่งพาตัวเองได้มีน้อยมาก และกว่าจะรู้ตัวก็สูญเสียไปมากแล้ว
“หนึ่งในชุมชนที่มีเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็งอย่าง ชุมชนชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ก็สามารถช่วยลดความเสียหายเบื้องต้นก่อนที่หน่วยภายนอกจะเข้ามาให้การช่วยเหลือได้ในระดับหนึ่ง โดยในชุมชนมีศูนย์บริการคนพิการ ที่ทำให้ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ทีมอาสาสมัครที่มาจากกลุ่มแรงงานต่างด้าว และกลุ่มเยาวชน สามารถเร่งให้การช่วยเหลือกลุ่มคนพิการ และผู้สูงอายุได้ทันท่วงที เพราะมีฐานข้อมูลและรู้พิกัดที่อยู่อาศัย อีกทั้งภายในอาคารของศูนย์บริการคนพิการฯ รวมถึงอาคารสถานที่อื่นๆ ในชุมชน ก็สามารถนำมาเป็นศูนย์พักพิงให้กับผู้ประสบภัยชั่วคราว โดยมีเหล่ากลุ่มแม่บ้านอาสา คอยทำอาหารแจกจ่าย” นายอนันต์ ระบุ
น.ส.ชุติมา น้อยนารถ กรรมการมูลนิธิลุ่มน้ำท่าจีน และคณะทำงานสมัชชาสุขภาพ จ.นครปฐม กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการทำงานมากว่า 10 ปี พบว่า สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้ก็คือ ต้องช่วยกันลดระยะห่างของข้อมูลทางวิชาการกับผู้ที่ได้รับผลกระทบให้มากที่สุด เช่น จ.นครปฐม เองแม้ว่าในพื้นที่จะมีกลุ่มงานทางวิชาการ ที่จัดทำข้อมูลองค์ความรู้ในการจัดการน้ำอย่างแข็งขัน แต่ข้อจำกัดที่พบก็คือ ประชาชนยังเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ยาก
อีกทั้งยังประกอบกับหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ไม่สามารถเตรียมความพร้อมการรับมือน้ำท่วมได้อย่างถูกวิธีก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ทำให้คณะทำงานสมัชชาสุขภาพ จ.นครปฐม ต้องเข้ามาช่วยเหลือในกระบวนการเรียนรู้ และทำความเข้าใจข้อมูลร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการตระหนักรู้ และนำไปสู่การออกแบบการรับมือภัยพิบัติได้อย่างถูกต้อง
น.ส.ชุติมา กล่าวว่า นอกจากนี้ ในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น ทุกฝ่ายจะต้องมีการมาร่วมกันพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไข อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมองค์พระปฐมเจดีย์ในช่วงปีที่ผ่านมา ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการ ที่อยู่โดยรอบองค์พระฯ ทำให้ต้องมีการระบายน้ำออกมายังพื้นที่รอบนอก ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ส่งผลให้เกิดความเสียหายในทุกๆ ระดับ ซึ่งขณะนั้นจึงมีการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพ จ.นครปฐม ขึ้น เพื่อทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 24 อปท. และ 7 หน่วยงานในพื้นที่ ได้ระดมความเห็นเพื่อหาทางออก และสร้างความเข้าใจร่วมกัน จนนำมาสู่การยกร่างผังในการบริหารจัดน้ำร่วมกันใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้
“หากมองไปที่ภาพใหญ่ในวันนี้ Climate Change (การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ) ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องให้ความสำคัญ หากว่ารัฐยังไม่เชื่อใน Climate Change อย่างแท้จริง มันจะสะท้อนออกมาชัดเจนผ่านนโยบายรัฐโดยตรง ส่วนตัวจึงมองว่า สช. ควรจะยกระดับประเด็นภัยพิบัติโลกเดือด ให้เป็นวาระแห่งชาติในปีหน้า เพราะเรื่องเหล่านี้ เราต้องเผชิญหน้าและเสี่ยงแบบมีเพื่อน ต้องทำงานร่วมกันแบบภาคีเครือข่าย มันจึงจะมีพลัง และผ่านไปด้วยดี” น.ส.ชุติมา กล่าว
ด้าน นายไมตรี จงไกรจักร์ ประธานมูลนิธิชุมชนไท และกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ปัญหาที่มักเกิดขึ้นเสมอ ในเวลาพบเจอกับสถานการณ์ภัยพิบัติ คือ แม้ว่าจะมีการย้ำเตือนภัยล่วงหน้า ทั้งจากนักวิชาการ จากหน่วยงานภาครัฐ แต่ประชาชนมักไม่เชื่อว่าภัยพิบัติเหล่านั้นจะเกิดขึ้นจริง เพราะเมื่อเผชิญน้ำท่วม ประชาชนมักสับสนว่าควรจะเชื่อข้อมูลจากหน่วยงานใด
“เพราะทุกฝ่ายแย่งกันเตือนแบบต่างคนต่างทำ จนถึงวันนี้ เรายังหาหน่วยงานกลางที่จะคอยแจ้งข่าวเตือนประชาชนยังไม่ได้เลย ประการต่อมา คือ หน่วยงานหลักในการรับผิดชอบในวันนี้คือใคร เพราะแม้จะมีกฎหมายระบุไว้ว่า ให้มีคณะกรรมการป้องกันภัยระดับจังหวัด และระดับชาติ แต่เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาก็จะแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่เองทุกครั้ง ไม่ใช้กลไกตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการอีก 2 ชุด คือ คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.น้ำแห่งชาติ กับ คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยแห่งชาติ สรุปแล้ว คณะกรรมการชุดไหน จะบริหารภัยพิบัติ” นายไมตรี กล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น แม้ประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 แต่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ไม่ได้เอื้อให้เกิดการสร้างการรับมือในภาวะภัยพิบัติเลยแม้แต่น้อย ทว่า ในวันนี้ทุกฝ่ายเล็งเห็นตรงกันแล้วว่าจะต้องมีการทบทวนและแก้ไข เพราะสถานการณ์ในวันนี้แตกต่างจากภัยพิบัติ หรือสึนามิ ซึ่งเป็นที่มาของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ชุมชนและท้องถิ่นมีอำนาจและงบประมาณในการจัดการตนเอง
ขณะที่ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ในหลายๆ ครั้ง ภัยพิบัติในระดับที่รุนแรง มักเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผู้คนส่วนใหญ่จึงมักยึดติดกับความคุ้นชินเดิม ทำให้ไม่มีความเชื่อว่าเหตุการณ์ร้ายแรงกำลังจะเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีประกาศแจ้งเตือนให้อพยพก็ไม่เป็นผล ดังนั้น ในระดับปัจเจก เมื่อต้องเผชิญเหตุกับสถานการณ์วิกฤติ ทุกคนจำเป็นต้องละทิ้งทุกอย่างเพื่อหนีเอาชีวิตรอด สัญชาตญาณในการหนีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
มากไปกว่านั้น การเตรียมความพร้อมก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยสังคมไทยควรจะต้องมีวัฒนธรรมในการเตรียมอาหารกระป๋องสำรองให้อยู่ในระดับที่จะรู้สึกมั่นใจได้ว่าสามารถเผชิญกับภัยพิบัติที่ยาวนานหลายวันไปจนถึงเป็นเดือนก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยได้ เหมือนที่เห็นในภาพยนตร์ต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง
“ต่อมาคือเรื่องของการฟื้นฟู ยอมรับว่าส่วนตัวไม่เชี่ยวชาญเรื่องงานเผชิญเหตุภัยพิบัติ แต่จะถนัดและอยู่ในหน้างานฟื้นฟูมากกว่า สิ่งที่พบเจออยู่เสมอ คือ พอน้ำเริ่มลด สื่อก็มักจะไปถามนักการเมืองว่า ตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งนักการเมืองก็จะตอบว่า ปกติแล้ว แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ เราไม่ควรวัดความปกติจากระดับน้ำที่ลดลง แต่ควรจะต้องดำเนินการและช่วยเหลือจนกระทั่งประชาชนทุกคน สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้แบบปกติ งานฟื้นฟูมันจะต้องไปให้ถึงจุดนั้น” นายสมบัติ กล่าว
นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า กุญแจสำคัญของการรับมือภัยพิบัติในอนาคต คือ การสร้างเสริมศักยภาพ 2 ระดับที่สำคัญ ได้แก่ ระดับปัจเจก ซึ่งจะต้องมีความเข้าใจและเท่าทันผ่านการศึกษาข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวที่จะต้องดูข้อมูลให้เป็น แล้วสามารถนำมาประเมินสถานการณ์ เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องได้ ส่วนต่อมา คือ ในระดับชุมชน ที่จะต้องเตรียมความพร้อมและซักซ้อมในการรับมือตั้งแต่ยังไม่เกิดภัยพิบัติ เช่น การมองหาและสร้างพื้นที่หลบภัยที่ชุมชนสามารถใช้ร่วมกันในยามฉุกเฉิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ผู้คนในชุมชนจะต้องเข้าใจและศึกษารายละเอียดทางภูมิศาสตร์ รวมไปถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนร่วมกันด้วย
ที่มา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
(https://www.nationalhealth.or.th/th/node/5313)
.....