วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 05, 2567

เสวนาวิชาการ “ทางออกไทยผ่านรัฐธรรมนูญประชาชน” พรรคการเมืองถูกสกัดกั้น ตลอดประวัติศาสตร์ของการมีรัฐธรรมนูญ "สังคมไทยไม่ได้เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยอยู่ดีดีก็เอารัฐธรรมนูญมาวางได้เลย สังคมไทยเดิมมีพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจสูงสุด การแทนที่อำนาจนี้เป็นเรื่องใหญ่และยาก"


iLaw
10h ·

4 ธันวาคม 2567 ที่ห้องประชุม 50 ปี ชมรมวิชาการ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานเสวนาวิชาการ ชื่อหัวข้อ “ทางออกไทยผ่านรัฐธรรมนูญประชาชน” โดยมีทั้งนักวิชาการ ภาคประชาชน และนักการเมือง ร่วมพูดคุยในประเด็นความเป็นไปได้ของการออกจากรัฐธรรมนูญ 2560 https://www.ilaw.or.th/articles/48899
ผศ.ดร. มาลินี คุ้มสุภา หัวหน้าสำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวปาฐกถาว่า สังคมไทยไม่ได้เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยอยู่ดีดีก็เอารัฐธรรมนูญมาวางได้เลย สังคมไทยเดิมมีพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจสูงสุด การแทนที่อำนาจนี้เป็นเรื่องใหญ่และยาก ซึ่งในยุโรปพัฒนาการสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18-19 พบว่าสิ่งที่มาแทนการยึดติดตัวบุคคลได้คือการมีกติการ่วมกัน แนวคิดนี้เผยแพร่มาสู่สังคมไทยโดยการให้ความหมายว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ หมายความว่าสูงสุดจริงๆ สูงกว่าพระมหากษัตริย์ด้วย
ความสำคัญของรัฐธรรมนูญเริ่มตั้งแต่ช่วงร.ศ.103 หรือต้นของรัชกาลที่ 5 ก่อนการปฏิรูปการปกครอง เคยมีคณะเจ้านายกลุ่มหนึ่งและข้าราชการเข้าชื่อกันขอให้พระมหากษัตริย์นำรัฐธรรมนูญมาใช้ในการปกครองประเทศ แต่รัฐกาลที่ 5 ทรงเขียนจดหมายตอบโต้และหันไปปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก่อนที่จะพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ
ถัดมาในสมัยร.ศ.130 ภายใต้รัชกาลที่ 6 ก็มีกลุ่มนายทหารที่เห็นความสำคัญ และพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ไม่สำเร็จ ถูกเรียกว่ากบฏ ร.ศ.130 จึงเห็นว่ามีความพยายามเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงของสองรัชกาล ก่อนจะมาสำเร็จในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หลังจากสำเร็จแล้วความสำคัญของรัฐธรรมนูญจึงค่อยๆ ขยายตัว
ในปี 2476 ระหว่างที่มีความพยายามจะมีพรรคการเมืองในนามสมาคมคณะราษฎร ก็ถูกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกสั่งยุบสมาคมไปเป็นสโมสรราษฎร์สราญรมย์ จะเห็นได้ว่าความพยายามยุบพรรคหรือขัดขวางการมีพรรคการเมืองมีมาตั้งแต่ยุคแรกของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย กว่าจะมีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรกก็ในปี 2498 ใช้เวลากว่า 20 ปี กว่าจะมีกฎหมายให้จัดตั้งพรรคการเมือง และมีการเลือกตั้งได้
ความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญค่อยๆ พัฒนามาในสังคมไทย โดยเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วก็มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง มีปัญหาการเลือกตั้งสกปรก แล้วก็มีรัฐประหาร กลายเป็นวงจรอุบาทว์ในสังคมไทย พัฒนาการของพรรคการเมืองและการเลือกตั้งก็ไปไหนไม่ได้เพราะต้องเจอกับการรัฐประหารเป็นช่วงๆ
พัฒนาการของประชาธิปไตยมาก้าวกระโดดขึ้นไปผ่านการปฏิรูปการเมืองในปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใจฟู เราเคยเลือกตั้งได้ทั้งสส. แต่ก็ไปวางกับดักที่คอยสะกัดกั้นพรรคการเมืองอีก คือ การเกิดขึ้นขององค์กรอิสระ และนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองผ่านคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นกับดักที่ร้ายกายสร้างบาดแผลให้กับสังคมไทยในเวลาต่อมา
พรรคการเมืองตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมามีอุปสรรคคอยสะกัดกั้นเรื่อยมา จนกระทั่ง 2540 ที่เราว่าจะไปให้ถึงฝันแล้ว ก็โดนกับดักขององค์กรอิสระมาสะกัดกั้นเช่นกัน และมีอีกสิ่งหนึ่งที่ฝักรากอยู่ในการเมืองไทยก็คือ บทบาทของตุลาการนำการเมือง ก็คือการยุบพรรค
ตั้งแต่ปี 2541 ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองไปแล้ว 110 พรรค นี่คือกับดักหรือผลงานที่องค์กรอิสระทำงานผ่านศาล องค์กรเหล่านี้ก็มีที่มาทั้งจากคณะรัฐประหารคสช. ที่แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งวุฒิสภา มาเพื่อแต่งตั้งองค์กรอิสระทั้งหลาย เราเห็นแล้วว่าวันนี้มันมีกับดักในรัฐธรรมนูญ
ถึงวันนี้เราหมดหวังไหม ไม่นะคะ เพราะองค์กรอิสระตั้งมาได้ก็หมดอายุได้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็กำลังจะหมดอายุหลายคน กกต. ปีนี้ยังไม่หมดอายุ ปี 2568 ก็จะหมดอายุได้ ความฝันคือการหาวิธีที่จะทำให้อำนาจขององค์กรเหล่านี้หมดอายุไป
เราจะเห็นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการสกัดกั้นด้วยจำนวน สส. สว. เสนอมาแล้วยี่สิบกว่าครั้งก็ไม่ผ่าน แต่ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จมาแล้ว 22 ครั้ง ในรอบ 87 ปี แม้กระทั่งในช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้งก็ยังสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ 12 ครั้ง แบ่งเป็น 5 ครั้งหลังวิกฤตการณ์ทางการเมือง 7 ครั้งหลังรัฐประหาร เช่น รธน. 2557 ยังแก้ไปถึง 4 ครั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะออกแบบมาให้แก้ไขยากกว่ารัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมา