วันจันทร์, ธันวาคม 02, 2567
เรื่องราวแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ ที่ท่านอาจจะไม่รู้มาก่อน นักวิชาการบางส่วนสันนิษฐานว่าตำนานแจ็คเกิดขึ้นหลังชาวอังกฤษเริ่มเบื่อหน่ายตำนานกษัตริย์อาเธอร์และการผจญภัยของบรรดาอัศวินผู้มีเกียรติ จึงหันไปหาเรื่องเล่าของคนธรรมดาผู้สามารถทำสิ่งยิ่งใหญ่
พื้นที่ให้เล่า
17h ·
“เขาพบเข้ากับสุภาพสตรีทั้งสาม ซึ่งถูกแขวนไว้ด้วยเส้นผมของเธอเอง สามสาวผ่ายผอมจนแทบขาดใจ กล่าวว่าสามีของพวกเธอถูกยักษ์สังหาร ยักษ์สั่งให้สามสาวกินเนื้อของสามีเสีย ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษให้อดอาหารจนกว่าจะตาย”
“คุณสุภาพสตรีทั้งหลาย”แจ็คผู้ฆ่ายักษ์กล่าว “ข้าพเจ้าได้สังหารเจ้ายักษ์ไปแล้ว ดังนั้นจึงขอคืนเสรีภาพให้ทุกท่าน” แจ็คมอบกุญแจให้สามสาว จากนั้นจึงเดินทางต่อไปผจญภัยต่อไปยังภูมิภาคเวลส์....
‘แจ็คผู้ฆ่ายักษ์’ (Jack the Giant Killer) เป็นนิทานพื้นบ้านฝั่งอังกฤษซึ่งเพิ่งปรากฏเป็นบันทึกในช่วงศตวรรษที่ 18 (ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1711) ก่อนหน้านี้เรื่องราวของเด็กหนุ่มหัวใส ผู้สามารถสังหารยักษ์ได้เป็นเรื่องเล่าแนวปากต่อปาก เนื่องจากในประเทศอังกฤษมีเรื่องเล่าช้านานเกี่ยวกับยักษ์ซึ่งอาศัยอยู่ทั้งในถ้ำและหมู่เกาะห่างไกล ยักษ์บางตัวขโมยฝูงวัวของชาวบ้านเป็นอาหาร แต่ก็มียักษ์ที่ออกล่ามนุษย์ และสะสมทรัพย์สินมีค่ารวมถึงสิ่งของวิเศษมากมาย
เรื่องราวของแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ในเวอร์ชั่นต้นตำหรับของอังกฤษ ไม่มีต้นถั่วยักษ์ที่คุ้นตา แต่เล่าถึงลูกชายชาวนาในรัชสมัยของกษัตริย์อาเธอร์ผู้โด่งดัง แจ็คเป็นเด็กหนุ่มแสนฉลาดที่รักการผจญภัย เขาได้กำจัดยักษ์ใจร้ายไปหลายตัว เริ่มจากยักษ์ขโมยวัวซึ่งถูกเด็กหนุ่มขุดหลุมกับดักก่อนจับสังหาร ตามมาด้วยยักษ์ผู้อาศัยอยู่ในปราสาท ซึ่งแจ็คสามารถล่อให้ยักษ์ถูกจับแขวนคอก่อนสังหารได้สำเร็จ ในระหว่างนั้นเองแจ็คได้พบสุภาพสตรีทั้งสาม และได้ปล่อยพวกนางเป็นอิสระ
แจ็คยังได้เดินทางผจญภัยอีกหลายครั้ง เจอเข้ากับยักษ์สองหัวและสามหัว จนได้สิ่งของวิเศษมากมายไม่ว่าจะเป็นผ้าคลุมล่องหน หมวกแห่งความรอบรู้ ดาบที่ฟันได้ทุกสิ่ง และรองเท้าที่ทำให้เดินทางอย่างรวดเร็ว แจ็คได้ร่วมผจญภัยกับพระโอรสของกษัตริย์อาเธอร์ สามารถปลดปล่อยสตรีแสนงามผู้ตกเป็นทาสของลูซิเฟอร์ และได้สมรสกับธิดาคนงามของท่านดยุก
ตำนานแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ บรรยายฉากการสังหารยักษ์แต่ละตนไว้ค่อนข้างโหดร้าย แต่เมื่อถูกนำมาเขียนเป็นนิทานสำหรับเด็ก รายละเอียดต่างๆ ถูกตัดทอนออกไป ส่วนภาพประกอบก็วาดใหม่ให้ดูน่ากลัวน้อยลง ยกตัวอย่างเช่นผลงานของฮิวจ์ ทอมสัน นักวาดภาพประกอบผู้โด่งดังในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เขาวาดฉากซึ่งตัวเอกไปเจอการทรมานของสตรีทั้งสามออกมาได้อย่างสวยงามชวนอ่านมากกว่าจะทำให้น่ากลัว
นักวิชาการบางส่วนสันนิษฐานว่าตำนานแจ็คเกิดขึ้นหลังชาวอังกฤษเริ่มเบื่อหน่ายตำนานกษัตริย์อาเธอร์และการผจญภัยของบรรดาอัศวินผู้มีเกียรติ จึงหันไปหาเรื่องเล่าของคนธรรมดาผู้สามารถทำสิ่งยิ่งใหญ่
นิทานแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ในมุมหนึ่ง ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตขึ้นและการเผชิญกับปัญหา เด็กๆ อาจมีประสบการณ์ว่าผู้ใหญ่เป็นเหมือนยักษ์ที่น่ากลัว แต่เรื่องราวของแจ็คสอนพวกเขาว่าอย่าได้กลัวใครแค่เพราะขนาดตัว พวกเขาสามารถเอาชนะยักษ์ด้วยปัญญาและจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย (และในบางครั้งคนตัวโตกว่า ก็ไม่ได้ฉลาดกว่าเสมอไป)
อ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านอาจสงสัยว่า แล้วเรื่องราวของแจ็คปีนต้นถั่วมีที่มาจากไหน อันที่จริงนิทานเรื่อง “แจ็คกับต้นถั่ววิเศษ” เป็นหนึ่งในซีรีส์นิทานที่หยิบเอาคาแรกเตอร์ความเป็นแจ็คมาขยายความต่อจนเกิดเป็นเรื่องเล่ามากมาย โดยทั่วไปแล้วนิทานอังกฤษที่มีตัวเอกชื่อแจ็คมักมีบุคลิกคล้ายกันคือเป็นเด็กหนุ่มที่ดูภายนอกเหมือนเกียจคร้าน แต่กลับมีไหวพริบสามารถวางกลอุบายอย่างแยบยลและประสบผลสำเร็จยิ่งใหญ่ แจ็คเป็นตัวเอกแนวหัวขบถต่างจากฮีโร่อัศวินที่มักมีคุณธรรมกล้าหาญ
นิทานที่มีตัวเอกชื่อแจ็ค ถูกเรียกรวมๆ กันว่าเป็น “Jack tales” ซึ่งประกอบไปด้วยนิทานดังต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น "Jack and the Beanstalk", "Jack Frost", "Jack the Giant Killer", "Little Jack Horner" และ "This Is the House That Jack Built" ต่อมานิทานแนวนี้ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกาผ่านการอพยพของชาวอังกฤษเข้าไปตั้งถิ่นฐานในโลกใหม่
แต่ทุกท่านคิดอย่างไรกับนิทานแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ เมื่อพูดถึงนิทานเรื่องนี้ หลายท่านมักนึกถึงต้นถั่วก่อนหรือเปล่า แวะมาพูดคุยกันได้ในกล่องข้อความ
References:
History of Jack and the Giants, https://surlalunefairytales.com/book.php?id=103&tale=3760
Jack the Giant Killer https://sacred-texts.com/neu/eng/eft/eft20.htm
Jack the Giant Killer', 1898 illustrated by Hugh Thomson. https://www.facebook.com/photo/?fbid=1456695075268360&set=a.959781478293058
JACK THE GIANT KILLER https://ufdc.ufl.edu/UF00085589/00001/images
Introduction to Jack Tales https://www.folkstreams.net/.../introduction-to-jack-tales
Jack Tales and other Magic Tales https://guides.loc.gov/folktales.../jack-tales-magic-tales
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1103864141105930&set=a.196274125198274