วันอาทิตย์, ธันวาคม 15, 2567

ก่อนสภานัดลงมติถอดถอน ปธน.ยูน เกิดอะไรขึ้นบ้างในเกาหลีใต้


บีบีซีไทย - BBC Thai
16 hours ago
·
ความโกรธเคืองส่วนใหญ่ของชาวเกาหลีใต้ตอนนี้ พุ่งเป้าไปที่ สส. ที่ปกป้องผู้นำเกาหลีใต้ ในการประท้วงเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา เสียงโห่ร้องได้เปลี่ยนจากแค่ "ถอดถอนยุน" ไปเป็น "ถอดถอนยุนและยุบพรรค"
สภานิติบัญญัติเกาหลีใต้นัดประชุมเพื่อลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล เป็นครั้งที่สอง หลังจากสัปดาห์ที่แล้ว เขารอดพ้นจากการถอดถอนแบบฉิวเฉียด

14 ธันวาคม 2024
บีบีซีไทย

สภานิติบัญญัติของเกาหลีใต้ลงมติเห็นชอบถอดถอนประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ออกจากตำแหน่ง ด้วยคะแนนเสียง 204 เสียง ต่อคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ 85 เสียง

ผลการลงมติของสมาชิกสภานิติบัญญัติครั้งนี้จะทำให้นายยุนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีทันที และนายฮัน ด็อก-ซู นายกรัฐมนตรี จะปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทน

ในการลงมติของสมาชิกสภานิติบัญญัติทั้งสิ้น 300 คน ยังมีผู้ที่งดออกเสียง 3 เสียง และเป็นโมฆะ 8 เสียง หลังจากนั้นนายวู วอน-ชิก ประธานสภานิติบัญญัติเกาหลีใต้ ได้ประกาศผลการลงมติว่าสภาเห็นชอบให้ถอดถอนนายยุน ซอก-ยอล และปิดการประชุม

นายวู วอน-ชิก ชี้แจงกระบวนการหลังจากนี้ด้วยว่า อำนาจและหน้าที่ประธานาธิบดีของนายยุนจะยุติปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเมื่อเอกสารการถอดถอนถึงมือเขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมติการถอนถอนถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม กระบวนการถอดถอนผู้นำเกาหลีใต้อาจยังต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ เนื่องจากยังต้องมีการพิจารณาคดีในศาลรัฐธรรมนูญ โดยหากตุลาการรัฐธรรมนูญ 6 ใน 9 คน ลงมติรับรองการถอดถอน จึงจะเป็นการถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งโดยสมบูรณ์

ภายใต้ฉากทัศน์นี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนถัดไปของเกาหลีใต้จะต้องเกิดขึ้นภายใน 60 วัน หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

ประธานาธิบดียุนรอดพ้นจากการลงมติถอดถอนเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว และยังคงรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้ แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้เขาลาออกเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่เขาพยายามจะประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา

การลงมติของสภานิติบัญญัติในวันนี้ (14 ธ.ค.) เกิดขึ้นท่ามกลางการชุมนุมของชาวเกาหลีใต้นับหมื่นคนที่ออกมารวมตัวด้านนอกสภานิติบัญญัติในกรุงโซล ระหว่างที่สมาชิกสภานิติบัญญัติกำลังลงมติ



วิเคราะห์: 'นี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของความวุ่นวายทางการเมืองในเกาหลีใต้'

เลฟ-เอริก อีสลีย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอีฮวาในกรุงโซลกล่าวว่า การผ่านมติถอดถอนนั้น "ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของความวุ่นวายทางการเมืองในเกาหลีใต้"

"มันไม่ใช่แม้กระทั่งจุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุด ซึ่งในที่สุดมันจะมีเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ต่อเนื่องเข้ามาอีก" เขากล่าว

กระบวนการหลังจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดเวลา 180 วัน ในการวินิจฉัยว่าจะถอดถอนประธานาธิบดียุนหรือคืนตำแหน่งให้เขา หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนจะต้องมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ภายใน 60 วัน ภายหลังมีคำวินิจฉัย

ศ.อีสลีย์ กล่าวว่า นายลี แจ-มยอง ผู้นำฝ่ายค้านของเกาหลีใต้จากพรรคประชาธิปไตยหรือดีพี (Democratic Party - DP) ซึ่งพ่ายแพ้ให้กับนายยุน ซอก-ยอล ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2022 อย่างฉิวเฉียด ถูกคาดการณ์ว่าจะชนะการเลือกตั้งเพื่อเข้ามาแทนที่นายยุน แต่นายลีเองก็ยังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงทางกฎหมาย เนื่องจากเขาอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษาอยู่หนึ่งคดี และยังมีอีกหลายคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งอาจทำให้เขาหมดสิทธิในการดำรงตำแหน่งสูงสุด

"ดังนั้นก่อนที่จะมีการแข่งขันในการเลือกตั้ง จะมีการแข่งขันในศาลก่อน" นักวิชาการผู้นี้กล่าว



ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวสารในเกาหลีใต้เคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็วจนหนังสือพิมพ์ไม่สามารถตามทันได้ ความพยายามอันน่าตกใจของประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ในการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนวันอังคารที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและล้มเหลวจนไม่ทันที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง

เมื่อประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล สั่งให้ทหารออกปฏิบัติการตามกฎอัยการศึก หนังสือพิมพ์ได้ปิดต้นฉบับไปแล้ว และเมื่อถึงฉบับวันถัดมา ความพยายามยึดอำนาจครั้งนั้นก็ล้มเหลวไปแล้ว

ภายในหนึ่งสัปดาห์ ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ได้เปลี่ยนท่าทีจากที่เขาออกมาแสดงความสำนึกผิดและขอโทษเพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกถอดถอน มาสู่ท่าทีที่ท้าทายอย่างเปิดเผย โดยประกาศว่าจะต่อสู้ต่อไปเมื่อความพยายามในการนำเขาลงจากอำนาจกำลังรุกคืบมาถึง



ประธานาธิบดียุน ถูกห้ามออกจากประเทศในขณะที่กำลังถูกสอบสวนในข้อหากบฏ ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษประหารชีวิต ขณะเดียวกันเขาก็เผชิญกับการลงมติถอดถอนครั้งที่สองในสุดสัปดาห์นี้ (เสาร์ที่ 14 ธ.ค.) ท่ามกลางการสนับสนุนจากพรรคของนายยุนที่ค่อย ๆ หายไป ขณะที่เสียงแห่งความโกรธของผู้คนหลายพันคนที่ออกมาประท้วงทุกคืนก็ดังขึ้นเรื่อย ๆ

ในช่วงเวลาสั้น ๆ ของสัปดาห์นี้ ดูเหมือนว่าเขาจะบรรลุข้อตกลงกับพรรคของเขาในการลาออกก่อนกำหนด เพื่อแลกกับการที่พรรคไม่ถอดเขาออกจากตำแหน่งในการลงมติเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (7 ธ.ค.) แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็ไม่มีสัญญาณจากประธานาธิบดีหรือรายละเอียดของแผนดังกล่าว และเริ่มเห็นได้ชัดว่าผู้นำเกาหลีใต้ไม่มีความตั้งใจที่จะลาออกแต่อย่างใด

เมื่อวันพฤหัสบดี ประธานาธิบดียุน ปรากฏตัวพร้อมกับประกาศว่า "ผมจะสู้จนถึงที่สุด" พร้อมกล่าวแก้ต่างให้กับการตัดสินใจในการยึดอำนาจประเทศ

การกล่าวสุนทรพจน์ของเขายืดยาวและเต็มไปด้วยทฤษฎีสมคบคิดที่ไม่มีหลักฐาน รวมถึงการกล่าวอ้างอย่างคลุมเครือว่าเกาหลีเหนืออาจเข้ามาควบคุมการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้ ซึ่งเขาพ่ายแพ้ในการได้เสียงควบคุมรัฐสภา นายยุนระบุว่า สภาคือ "ปีศาจ" และพรรคฝ่ายค้านนั้น "อันตราย" และบอกด้วยว่าการประกาศกฎอัยการศึกของเขา คือความพยายามปกป้องประชาชนและรักษาประชาธิปไตยเอาไว้

ผู้นำเกาหลีใต้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาหลบซ่อนตัว ขณะที่ตำรวจพยายามบุกเข้าค้นสำนักงานประธานาธิบดีเพื่อรวบรวมหลักฐาน พรรคพลังประชาชนหรือพีพีพี (People Power Party – PPP) ที่นายยุนสังกัดพยายามลดกระแสความโกรธเคืองของประชาชนด้วยการประกาศว่า นายยุนจะไม่ได้รับอนุญาตให้ตัดสินใจในเรื่องใด ๆ อีกต่อไป แม้ว่านักกฎหมายจะเห็นพ้องกันว่าไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น


ผู้ประท้วงชาวเกาหลีใต้กำลังโกรธเคืองประธานาธิบดีและ สส. ที่กำลังปกป้องเขา

ความเคลื่อนไหวของสมาชิกสภานิติบัญญัติและการประท้วงของประชาชน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนต้องตั้งคำถามเดียวกันว่า ใครกำลังบริหารประเทศ ? โดยเฉพาะเมื่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพของประธานาธิบดียุนกล่าวว่า พวกเขาจะไม่เชื่อฟังคำสั่งของนายยุน หากเขาพยายามประกาศกฎอัยการศึกอีกครั้ง

ลิม จี-บง ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโซกันกล่าวว่า ในตอนนี้มีช่องว่างทางอำนาจที่น่ากังวลในประเทศที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากการถูกโจมตีจากเกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่อง

"ไม่มีข้อกฎหมายใดสำหรับการจัดการนี้ เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายและยุ่งเหยิง" เขากล่าว

นี่เป็นประเด็นที่ชัดเจนสำหรับคนในวงนอกที่เห็นว่าสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงและแปลกประหลาดเช่นนี้ ไม่สามารถจะปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไปได้ แต่พรรคพลังประชาชนหรือพีพีพี (PPP) ของนายยุน ใช้เวลาระยะหนึ่งก่อนที่จะตระหนักได้ว่า การถอดถอนประธานาธิบดียุน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ในช่วงแรกสมาชิกพรรคพีพีพีของนายยุนปกป้องเขาอย่างกระตือรือร้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง และถูกกลืนกินด้วยความเกลียดชังต่อนายอี แจ-มยอง ผู้นำฝ่ายค้านของเกาหลีใต้ ซึ่งพวกเขากลัวว่าจะกลายเป็นประธานาธิบดี หากยุนถูกถอดถอน

แต่ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (12 ธ.ค.) หลังจากที่ชะลอเรื่องนี้มาหลายวัน ฮัน ดง-ฮุน ผู้นำพรรคพีพีพี ออกมาเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนลงมติถอดถอนนายยุน โดยบอกว่า "ประธานาธิบดีต้องถูกพักการปฏิบัติหน้าที่จากตำแหน่งทันที"


คิม ซัง-อุก สส. เกาหลีใต้ ที่เตรียมลงมติถอดถอนผู้นำ

การถอดถอนประธานาธิบดีจะเป็นผลต่อเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จำนวน 2 ใน 3 ลงมติเห็นชอบ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีสมาชิกพรรครัฐบาล 8 คนเข้าร่วมกับฝ่ายค้าน ก่อนหน้านี้มีสมาชิกไม่กี่คนที่ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะทำเช่นนั้น หนึ่งในคนแรกที่เปลี่ยนความคิดคือ คิม ซัง-อุก

เขากล่าวกับบีบีซีจากสำนักงาน สส. ที่รัฐสภาว่า "ประธานาธิบดีไม่มีคุณสมบัติในการเป็นผู้นำประเทศอีกต่อไป เขาไม่เหมาะสมโดยสิ้นเชิง"

อย่างไรก็ตาม นายคิมกล่าวว่า ไม่ใช่ สส. ทุกคนจะทำตามแนวทางของเขา เพราะยังมีกลุ่มหนึ่งที่ยังคงจงรักภักดีต่อประธานาธิบดียุน

นอกจากนี้การที่เขาอยู่ในเขตเลือกตั้งที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมอย่างมาก คิมกล่าวว่าเขาได้รับคำขู่ฆ่าเอาชีวิตเพราะเปลี่ยนฝ่าย

"พรรคและผู้สนับสนุนของผม เรียกผมว่าคนทรยศ" เขากล่าว และกล่าวถึงการเมืองของเกาหลีใต้ว่าเป็น "การเมืองที่มีลักษณะของความเป็นฝักฝ่ายอย่างเข้มข้น"

อย่างไรก็ตาม ความโกรธเคืองส่วนใหญ่กลับพุ่งเป้าไปที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ปกป้องนายยุนจนถึงตอนนี้ในการประท้วงเมื่อคืนวันพุธ (11 ธ.ค.) เสียงโห่ร้องได้เปลี่ยนจากแค่ "ถอดถอนยุน" ไปเป็น "ถอดถอนยุนและยุบพรรค"

"ตอนนี้ผมเกลียดทั้งสองฝ่ายมาก แต่คิดว่าผมเกลียด สส. มากกว่าประธานาธิบดี" ชาง โย-ฮุน นักศึกษาปริญญาโทวัย 31 ปี กล่าว โดยเขาได้เข้าร่วมกับผู้คนอีกหลายหมื่นคนท่ามกลางอากาศหนาวเย็น เพื่อแสดงความผิดหวัง


ชาง โย-ฮุน เป็นหนึ่งในชาวเกาหลีใต้ที่ลงถนนประท้วง

ขณะเดียวกันในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกสภานิติบัญญัติได้รับข้อความข่มขู่และสายโทรศัพท์มากมายจากประชาชน ซึ่งหนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อธิบายให้บีบีบีซีฟังว่าเป็น "การก่อการร้ายทางโทรศัพท์" ขณะที่บางคนก็ได้รับดอกไม้ไว้อาลัยในงานศพ

ถึงแม้ว่าจะมี สส. จำนวนมากพอที่ลงมติเห็นชอบให้ถอดถอนยุนในสุดสัปดาห์นี้ พรรคของเขาที่ตอนนี้แตกแยกและได้รับความเกลียดชังอย่างกว้างขวาง กำลังเผชิญกับการสูญเสียพื้นที่ทางการเมือง "พวกเราถึงขนาดไม่รู้ว่าเราเป็นใคร หรือยืนอยู่ตรงไหนอีกแล้ว" เจ้าหน้าที่พรรคคนหนึ่งกล่าวกับบีบีซีอย่างหมดหวัง

คิม ซัง-อุก สส.เกาหลีใต้ ที่ย้ายข้างกล่าวว่า จะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูความไว้วางใจจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

"เราจะไม่หายไป แต่เราต้องเริ่มต้นสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่จากศูนย์" เขากล่าว "มีคำกล่าวว่าเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของเกาหลีใต้เป็นระดับชั้นนำ แต่การเมืองของเกาหลีใต้เป็นระดับชั้นล่าง ตอนนี้เป็นโอกาสที่จะได้สะท้อนถึงเรื่องนี้"

ผู้นำยุนได้สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อชื่อเสียงของเกาหลีใต้ในฐานะประชาธิปไตยที่มีรากฐานมั่นคง แม้ว่าค่อนข้างจะมีอายุน้อยก็ตาม

เมื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติสามารถพลิกการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุน ซุก-ยอล ได้อย่างรวดเร็ว ได้ทำให้เกิดความภาคภูมิใจว่าสถาบันประชาธิปไตยของประเทศยังคงทำงานได้ แต่ความเปราะบางของระบบก็ถูกเปิดเผยอีกครั้ง เมื่อพรรคพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้นายยุนยังคงอยู่ในตำแหน่ง ซึ่งฝ่ายค้านระบุว่านี่เป็น "การรัฐประหารครั้งที่สอง"

อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ยุน จอง-อิน จากสถาบันวิจัยกฎหมายของมหาวิทยาลัยเกาหลี ยืนยันว่า ประเทศกำลังเผชิญกับ "ความผิดปกติ ไม่ใช่ความล้มเหลวเชิงระบบของประชาธิปไตย" โดยชี้ให้เห็นถึงการประท้วงที่มีผู้คนจำนวนมากออกมาทุกค่ำคืน

"ประชาชนเหล่านี้ไม่ได้ตกใจ พวกเขากำลังสู้กลับ พวกเขามองว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นของพวกเขา" เธอกล่าว


ดอกไม้พวงหรีดไว้อาลัยถูกส่งไปให้กับ สส. ที่กำลังพิจารณาลงมติ

ความเสียหายยังเกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับเป้าหมายที่นายยุนต้องการจะบรรลุ ประธานาธิบดียุนมีวิสัยทัศน์ว่าเกาหลีใต้จะกลายเป็น "รัฐที่สำคัญระดับโลก" โดยมีบทบาทที่ใหญ่ขึ้นบนเวทีโลก เขาหวังแม้กระทั่งว่าจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมกลุ่มประเทศ G7 ที่เป็นกลุ่มประเทศชั้นนำ

นักการทูตชาวตะวันตกคนหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาหวังว่าจะมี "การแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว" ต่อวิกฤตนี้ "เราต้องการให้เกาหลีใต้เป็นพันธมิตรที่มั่นคง การถอดถอนจะเป็นก้าวที่ถูกต้องในทิศทางนี้"

https://www.bbc.com/thai/articles/cy4pkn8jpx2oDKu2xPVfc3pg