ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
10h ·
เปิดบันทึกการต่อสู้คดี 112 คดีที่ 5 ของ “อานนท์” เมื่อประชาชนโพสต์ #ราษฎรสาส์น วิพากษ์กษัตริย์เรื่องการขยายพระราชอำนาจ
.
ในวันที่ 3 ธ.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 905 ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 วัย 40 ปี กรณีเขียนและโพสต์จดหมาย #ราษฎรสาส์น ถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563
.
คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 ของอานนท์คดีที่ 5 ที่ศาลจะมีคำพิพากษา ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของอานนท์ไปแล้ว 4 คดี รวมโทษจำคุก 14 ปี 2 เดือน 20 วันแล้ว โดยทุกคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ หากศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีนี้ว่า อานนท์มีความผิดและลงโทษจำคุก จะทำให้อานนท์มีโทษจำคุกรวมเกินกว่า 15 ปี และทำให้เขาจะต้องถูกย้ายไปขังที่เรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งเป็นที่คุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษเกินกว่า 15 ปี
.
.
#ราษฎรสาส์น จดหมายจากประชาชนส่งถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ตอกย้ำข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
.
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 กลุ่ม “ประชาชนปลดแอก” ได้จัดการชุมนุม #ราษฎรสาส์น เชิญชวนประชาชนร่วมกันเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ และมีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปใกล้พระบรมมหาราชวังเพื่อส่งจดหมาย นักกิจกรรมหลายคนจึงได้ร่วมเขียนจดหมายยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โพสต์ในเฟซบุ๊ก
.
รวมถึงอานนท์ซึ่งได้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวโพสต์จดหมาย มีใจความหลักคือ วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของกษัตริย์ที่ละเมิดต่อหลักประชาธิปไตย และขอให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปรับตัวให้ธำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
.
ภาพรวมการสืบพยาน: จำเลยยืนยันเจตนาวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่อย่างสง่างามในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
.
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 905 ของศาลอาญา รัชดาฯ มีการสืบพยานในคดีนี้ทั้งสิ้น 5 นัด โดยใช้วิธีบันทึกคำเบิกความพยานเป็นวีดิโอ อัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งหมด 4 ปาก ระหว่างวันที่ 11-13 มิ.ย. และ 10 ก.ย. 2567 ได้แก่ ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล ผู้กล่าวหา, คมสัน โพธิ์คง พยานความเห็นทางวิชาการ และพนักงานสอบสวนอีก 2 ปาก
.
ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบทั้งหมด 3 ปาก ในวันที่ 31 ต.ค. 2567 ได้แก่ อานนท์ นำภา และพยานความเห็นทางวิชาการ 2 ปาก คือ สมชาย ปรีชาศิลปกุล และยิ่งชีพ อัชฌานนท์
.
ถึงแม้ว่าการสืบพยานตลอด 5 นัด อานนท์ผู้เป็นจำเลยในคดีถูกคุมขังเนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 คดีอื่น และต้องเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาลเพื่อร่วมพิจารณาคดี แต่ในทุกนัดจะมีประชาชนมาร่วมฟังการสืบพยานและให้กำลังใจเขาอย่างต่อเนื่อง โดยอานนท์เป็นผู้ถามค้านพยานโจทก์ส่วนใหญ่ในคดีนี้ด้วยตนเอง
.
การนำสืบของโจทก์ พยายามกล่าวหาว่า เนื้อหาในโพสต์ของจำเลยทำให้คนทั่วไปเกิดความเข้าใจผิด เกิดความแตกแยก กระทบต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์ ทำให้ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดหรือกล่าวหาในทางใด ๆ ไม่ได้
.
ด้านอานนท์ซึ่งให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา มีข้อต่อสู้ในคดีว่า จําเลยโพสต์ข้อความตามฟ้องโจทก์ในเฟซบุ๊กจริง แต่ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ตามสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และในการสืบพยานฝ่ายจำเลยก็ยืนยันว่า เจตนารมณ์ของจำเลยในการโพสต์คือต้องการให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่อย่างสง่างามในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นการพูดถึงพระราชอำนาจของกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาและเป็นข้อเท็จจริง
.
นอกจากนี้ การพิจารณาความผิดตามมาตรา 112 ต้องคำนึงถึงมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นควบคู่กันไป มิอาจใช้หลักการตามมาตรา 6 มาทำลายหลักเสรีภาพ ซึ่งเป็นหลักคุณค่าของรัฐธรรมนูญเสมอกัน นั่นคือ การแสดงความเห็นติติงเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่สามารถกระทำได้ ถ้าไม่เป็นการมุ่งทำร้าย
.
ก่อนฟังคำพิพากษาในวันที่ 3 ธ.ค. 2567 นี้ ชวนอ่านใจความสำคัญของคำเบิกความพยานโจทก์และพยานจำเลยที่มาให้การต่อศาลในคดีนี้
.
.
อ่านบันทึกการสืบพยานทั้งหมดบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/71474