วันศุกร์, ตุลาคม 11, 2567

ส่องผลกระทบจาก “วิกฤตโคลนข้ามพรมแดน” รัฐบาลไทยแก้ปัญหาเองไม่ได้



กางแผนที่ดาวเทียมวิเคราะห์ เหตุใด "วิกฤตโคลนข้ามพรมแดน" รัฐบาลไทยแก้ปัญหาเองไม่ได้


วัชชิรานนท์ ทองเทพ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
8 ตุลาคม 2024
ปรับปรุงแล้ว 10 ตุลาคม 2024

น้ำท่วมที่พัดพาโคลนปริมาณมหาศาลมายังพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจของ จ.เชียงราย กลายเป็นภัยทางธรรมชาติที่ซ้ำเติมวิถีชีวิตของคนในพื้นที่เป็นวงกว้าง ซึ่งนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมประเมินว่า อาจจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูไม่ต่ำกว่าสองปี

ทว่า ปัญหาที่สำคัญกว่านั้นคือ ฝ่ายไทยขาดข้อมูลด้านสภาพภูมิศาสตร์ การบริหารจัดการน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้ชุมชนคนไทยหรือแม้แต่ชาวเมียนมาที่อยู่ช่วงกลางน้ำและปลายน้ำไม่สามารถกำหนดชะตากรรมของตัวเองและวางแผนรับมือได้ทันการณ์

บีบีซีไทยร่วมกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำและภูมิศาสตร์ วิเคราะห์สภาพภูมิประเทศทั้งก่อนและหลังเกิดอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่เกิดขึ้นใน จ.เชียงราย เพื่อทำความเข้าใจถึงสภาพพื้นที่ และการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมและวิกฤตโคลนเข้าถมพื้นที่อยู่อาศัยใน จ.เชียงราย

วิกฤตโคลนครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ


ที่ผ่านมา พื้นที่ อ.แม่สาย ของไทย รวมทั้งฝั่งตรงข้ามอย่างเมืองท่าขี้เหล็กของเมียนมา เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้มีรายงานว่า มีน้ำท่วมมาแล้วอย่างน้อยเจ็ดครั้ง แต่เสียงสะท้อนจากชาวบ้านในพื้นที่บอกตรงกันว่า เหตุน้ำท่วมครั้งล่าสุดในช่วงต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา สาหัสมากที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโคลนที่พัดมากับน้ำ



ทีมงานของบีบีซีพบกับ นายแสนวง คำวัง อายุ 76 ปี ชาวบ้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งหน้าบ้านของเขามีกองโคลนสูงเกือบถึงเพดานบ้านชั้นหนึ่ง เขาบอกว่า นับตั้งแต่อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้มา 36 ปี "นี่ถือว่าเป็นครั้งที่สุดแรงที่สุด" ต้องสูญเสียเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดที่อยู่บริเวณชั้นหนึ่งของบ้าน รวมทั้งรถยนต์สองคัน และต้องเสียเงินจ้างคนงานวันละ 400 บาท ให้ช่วยขนกองโคลนออกจากบ้าน


สภาพบ้านของนายแสนวง คำวัง ชาวบ้านใน อ.แม่สาย หลังจากน้ำท่วมลดลงปรากฏภาพโคลนสูงภายในพื้นที่บ้าน

ขณะที่นางโบดา ภูมิปัญญา อายุ 66 ปี ชาวบ้านในชุมชนเหมืองแดงบอกว่า ตั้งแต่มาอยู่ในชุมชนนี้ 40 ปี ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตที่มีโคลนเยอะขนาดนี้ เงินเก็บสะสมและของมีค่าทางจิตใจที่จัดเก็บไว้ที่สูงอย่างดีแล้วที่บ้าน ก็สูญหายไปกับกระแสน้ำ ส่วนบ้านก็จมโคลน


"ขนาดญาติที่อยู่ที่นี่มาแต่เกิดอายุเกือบ 80 ปี ก็บอกว่า ไม่เคยพบไม่เคยเจอแบบนี้" นางโบดา กล่าว

นี่คือ "โคลนข้ามพรมแดน" หรือไม่

ในการลงสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมของเราเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา บีบีซีไทยได้พบกับนายจอม วงหล้า ชาวบ้านในชุมชนแห่งหนึ่งใน อ.แม่สาย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยบอกกับเราว่า เขาเชื่อว่าโคลนพัดมามาจากฝั่งเมียนมา นี่จึงทำให้เกิดคำถามว่า ในอนาคตมาตรการป้องกันเรื่องนี้จะต้องทำอย่างไร หากว่าทั้งน้ำและโคลนเป็นประเด็นระหว่างประเทศ

เพื่อตอบคำถามว่า นี่คือ "โคลนข้ามพรมแดน" หรือไม่ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า อธิบายให้บีบีซีไทยฟังว่า ตามสภาพภูมิประเทศของลุ่มแม่น้ำรวก ซึ่งในไทยเรียกว่า "แม่น้ำสาย" นั้น พื้นที่ต้นน้ำถึงกลางน้ำส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนของประเทศเมียนมาถึง 80% ขณะที่พื้นที่รับน้ำจะอยู่ในพื้นที่ที่อยู่อาศัยของประชาชนใน อ.แม่สาย และเมืองท่าขี้เหล็กในรัฐฉานของเมียนมาคิดเป็นสัดส่วน 20% ซึ่งเป็นทางออกของแม่น้ำไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมพื้นที่ชุมชนดังกล่าวต้องเผชิญกับน้ำท่วมเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง



อย่างไรก็ตาม ผอ.จิสด้า กล่าวเสริมว่า ตามธรรมชาติบริเวณต้นน้ำมักจะมีผืนป่าธรรมชาติเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและดูดซับน้ำไว้บางส่วน แต่ในช่วง 5-6 ปีให้หลัง สังเกตจากภาพถ่ายดาวเทียมจะพบว่า ทั้งฝั่งไทยและฝั่งเมียนมาพบกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การเปิดหน้าดินเพื่อทำเหมืองแร่ในเขตเมียนมา และการขยายพื้นที่หรือบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าวโพด หรือปลูกกล้วย ทั้งในเขตของเมียนมาและไทย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีผลต่อศักยภาพในการเก็บกักน้ำในผืนที่ป่าให้ลดน้อยลง

"นักวิทยาศาสตร์ของจิสด้าได้นำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมตลอด 20 ปีมาวิเคราะห์ โดยเฉพาะย้อนหลังไปราว 3-5 ปี พบว่า พื้นที่ทั้งในเมียนมาและของฝั่ง อ.แม่สาย ของไทย มีการเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมตลอดแนวแม่น้ำ จากเดิมเป็นภูเขาสูง เป็นป่ารกสมบูรณ์ พบว่ามีการเปิดพื้นที่แต่ละแห่งประมาณ 400-1,000 ไร่" ดร.ปกรณ์ กล่าว

ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ภายในเมียนมาที่บันทึกไว้ในเดือน ก.พ. 2560 บริเวณใกล้กับเหมืองแร่แห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในแนวลำน้ำรวกและห่างจาก อ.แม่สาย ราว 33 กม. เมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมในเดือน เม.ย. 2567 พบว่า มีการใช้พื้นที่และเปิดหน้าดินเป็นบริเวณกว้างอย่างเห็นได้ชัด (ดูภาพเปรียบเทียบด้านล่าง)





การขยายของชุมชนในพื้นที่ขึ้นไปทางต้นน้ำทั้งในฝั่งไทยและเมืองท่าขี้เหล็กของเมียนมาก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการดูดซับน้ำและป้องกันภัยจากน้ำท่วมได้ แผนที่ดาวเทียมเปรียบเทียบระหว่างเดือน ก.พ. 2561 เห็นได้ชัดว่า มีการเปิดหน้าดินเพื่อใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยในฝั่งท่าขี้เหล็ก ขณะที่ฝั่งไทยซึ่งอยู่ตรงข้ามก็มีการเปิดหน้าดินเพื่อใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำการเกษตรด้วย โดยเฉพาะบริเวณลาดเชิงเขาของ ต.เวียงพางคำ


ภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบการเปิดหน้าดินเพื่อใช้พื้นที่ทั้งในเขตประเทศไทยและเมียนมา

ภาพถ่ายดาวเทียมอีกชุดที่ ผอ.จิสด้า ยกตัวอย่างเปรียบเทียบสภาพพื้นที่ในฝั่งไทยก่อนและหลังเกิดเหตุน้ำท่วมในวันที่ 17 ก.ย. 2567 จะเห็นส่วนผืนดินที่ถล่มลงมาเป็นหลายแนวตามแนวเนินเขาใน ต.เวียงพางคำ จากการประเมินโดยนักวิทยาศาสตร์ของจิสด้าพบว่า แต่ละร่องรอยมีความกว้างประมาณ 20 – 30 เมตร หรือเทียบเท่ากับถนนขนาด 4 เลน และมีความยาวหลายสิบเมตรถึงหลายร้อยเมตร แตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นที่ ซึ่งภาพนี้สะท้อนให้เห็นถึงหนึ่งในสาเหตุของตะกอนดินโคลนจำนวนมากที่ไหลทับถมในพื้นที่ด้านล่าง



จากภาพที่เห็นทำให้ ผอ.จิสด้า บอกว่า สามารถอธิบายได้เพียงส่วนหนึ่งของสาเหตุของตะกอนดินโคลนจำนวนมากที่ไหลทับถมในพื้นที่ด้านล่างหลังอุทกภัยใหญ่ที่ อ.แม่สาย เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา


ภาพถ่ายจากดาวเทียม Sentinel-2B เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา เผยให้เห็นตะกอนดินสีน้ำตาลถูกพัดกระจายไปเป็นวงกว้างครอบคลุมไปในหลายพื้นที่ทั้งใน อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.แม่จัน

ขาดแคลนข้อมูลยืนยันจากเมียนมา


ดร.ปกรณ์ กล่าวยอมรับว่า แม้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมที่มี ไม่ว่าจะมาจากดาวเทียมไทยโชต และดาวเทียมดวงล่าสุดอย่าง ดาวเทียม THEOS-2 รวมทั้งดาวเทียมพันธมิตรอื่น ๆ จะทำให้จิสด้าได้ภาพถ่ายที่ทันสถานการณ์ เพราะในแต่ละวันจะมีการบันทึกภาพถ่ายอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่นั่นก็เป็นเพียงข้อมูลในฝั่งไทยเพียงด้านเดียวเท่านั้น

"อย่างที่เราเข้าใจกันว่า พื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำสายส่วนใหญ่อยู่ในเขตประเทศเมียนมา จึงทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ ด้วยข้อจำกัดในมิติความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศ แต่ปัญหาน้ำท่วมและโคลนดินตะกอนก็กลับเป็นปัญหาที่ไร้พรมแดน" ผอ.จิสด้า ระบุ และว่า บทบาทดังกล่าวเป็นเรื่องของผู้กำหนดนโยบายและรัฐบาลที่ควรเข้ามามีบทบาทในการประสานงานผ่านกลไกระหว่างประเทศ


นักวิชาการระบุว่า ไม่เพียงปัญหาโคลนที่ถูกพัดมากับน้ำท่วมเท่านั้น ยังมีปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดนที่รัฐบาลไทยควรนำมาหยิบยกหารืออย่างจริงจังกับรัฐบาลเมียนมา

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามเสนอแนะให้สร้างกลไกระหว่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันมาแล้ว โดยการดำเนินการผ่านการศึกษาด้านวิชาการเพื่อการประเมินร่วมกันระหว่างไทยและเมียนมาว่าด้วยปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเพื่อโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน (Joint Assessment of Thailand and Myanmar on Flood and Drought for Transboundary Water Resources Management Project)

โครงการนี้จัดทำรายงานวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันบนลุ่มแม่น้ำรวก-แม่น้ำสาย เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน โดยมีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นผู้จัดทำระหว่างปี 2562-2564

รศ.ดร.สุระ พัฒนเกียรติ อาจารย์จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมงานศึกษานี้บอกกับบีบีซีไทยว่า น่าเสียดายที่หลังจากจบโครงการแล้ว ไม่มีการขับเคลื่อนต่อตามข้อเสนอแนะ ในขณะเดียวกันการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิชาการระหว่างไทยและเมียนมาก็ต้องหยุดชะงักลงนับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศเมียนมา หลังเกิดการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. 2564

"แม้ว่าในช่วงทำวิจัย ทีมฝ่ายไทยได้เข้าไปช่วยติดตั้งจุดตรวจวัดปริมาณน้ำฝนในเขตเมียนมาบางส่วนเพื่อเก็บข้อมูลทางวิชาการ แต่ด้วยสถานการณ์การเมืองที่ผกผันทำให้เป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงข้อมูลจากฝั่งเมียนมา" รศ.ดร.สุระ อธิบาย

"ถ้าต่างคนต่างอยู่ ไปไม่รอด"

นักวิชาการคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอเพิ่มเติมว่า แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศเมียนมายังไม่คลี่ลาย แต่เขาต้องการเห็นหน่วยงานรัฐ หรือรัฐบาลไทยใช้ความพยายามในการเจรจาพูดคุยกับรัฐบาลท้องถิ่นในรัฐฉานเพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ยังรวมไปถึงปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนอีกด้วย ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากต้นตอเดียวกันคือ การเปิดหน้าดินเพื่อทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพด

"การทำเกษตรโดยเผาป่า (slash and burn) ซึ่งลักษณะการทำการเกษตรแบบนี้นอกจากจะทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของดินแล้ว การเผาเศษซากที่เหลือจากผลผลิตยังก่อให้เกิดควันไฟที่เป็นสาเหตุของฝุ่นพิษ PM2.5 อีกด้วย" เขาอธิบาย

นอกจากนี้ ข้อมูลการศึกษาที่ทำระหว่างปี 2562-2564 ยังระบุถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำรวกและแม่น้ำสายว่า ภายในปี 2578 หรือปี ค.ศ. 2035 การใช้พื้นที่ในบริเวณนี้จะเปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นฝั่ง อ.แม่สาย หรือ เมืองท่าขี้เหล็กในเมียนมา เช่น การขยายพื้นที่การเกษตร พื้นที่อยู่อาศัยและชุมชนเมือง


โมเดลคาดการณ์การขยายตัวของการใช้พื้นที่ภายในลุ่มแม่น้ำรวกแม่น้ำสาย ภายในปี 2578

รศ.ดร.สุระ ตั้งข้อสังเกตว่า หากพิจารณาจากข้อมูลเชิงประชากรแล้ว ผู้คนชาวเมียนมาฝั่งท่าขี้เหล็กของรัฐฉาน ส่วนใหญ่ยังเป็นวัยทำงาน ซึ่งจะทำให้ความต้องการในแง่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต และนั่นจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเมืองตามมาด้วย


รศ.ดร.สุระ ประเมินว่า การฟื้นฟูเมืองที่เกิดขึ้นจากเหตุอุทกภัยครั้งล่าสุด ที่พัดพาโคลนปริมาณมหาศาลมาในพื้นที่หลายแห่งใน จ.เชียงราย อาจจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสองปี

หากพิจารณาถึงแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว สิ่งที่รัฐบาลไทยควรจะดำเนินการคือ การเปลี่ยนวิกฤตการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน หันมาประสานงานกันรัฐบาลท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อแสวงหาความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและเทคโนโลยี รวมทั้งการอบรมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะมาจากน้ำท่วมภัยแล้ง หรือแม้แต่ฝุ่นพิษข้ามแดน

"ถ้าต่างคนต่างอยู่ ไปไม่รอด" เขากล่าวย้ำ

รายงานเพิ่มเติมโดยทีมงาน Thai News Pix จาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย

https://www.bbc.com/thai/articles/cd98evvg17wo