วันเสาร์, ธันวาคม 18, 2564

#Saveนาบอน บอกไม่ใช่ม็อบ แค่มายื่นหนังสือ แต่จะปักหลักค้างคืน-เปิดหมู่บ้าน "ผู้ประสบภัยจากทุน ขุนศึก ศักดินา"

ว่าไปแล้วม็อบเพื่อวิถีชีวิตชุมชน ลงท้ายไม่ค่อยได้ผล เช่นกรณี #Saveจะนะ แม้รัฐบาลจะผ่อนปรน ยืดเวลาก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม รอทำ SEA ตามที่ชาวบ้านเรียกร้อง แต่ก็เป็นการประเมินผลกระทบที่เจ้าของโครงการเป็นคนกำกับ

กลุ่ม #Saveนาบอน ซึ่งชุมนุมมาแล้ว ๓ วัน แต่แกนนำคนหนึ่ง (เอิบ สารานิตย์) บอกว่า “เราไม่ใช่ม็อบ” แค่ “มายื่นหนังสือเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้าน” แล้วจะมีใครล่ะฟัง เริ่มแต่เมื่อ ๑๖ ธันวา พากันไปยื่นหนังสือต่อรอง ผบ.ตร. แต่เจ้าตัวไม่อยู่

“เวลา ๑๒.๕๓ น. มีรายงานว่าหนังสือเรียกร้องไปถึงสำนักงานแล้ว ขณะที่วันนี้ พล.ต.อ.วิระชัย (ทรงเมตตา) อยู่ในระหว่างการลา” จนวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบจากนายตำรวจใหญ่ซึ่งถูกระบุว่า เป็นผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งของบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้

บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล (ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง) ในใจกลางชุมชนนาบอน อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช จำนวน ๒ โรง ขนาดรวมกัน ๕๐ เมกกะวัตต์ ซึ่งรายรอบติดรั้วโรงงานเต็มไปด้วยประชากรนับพันครัวเรือน

“ในรัศมี ๕ กิโลเมตร ประกอบด้วยโรงเรียนจำนวน ๑๐ แห่ง วัดจำนวน ๗ แห่ง โรงพยาบาลจำนวน ๗ แห่ง” และประชาชนจำนวน ๘,๔๖๓ คน ยิ่งไปกว่านั้นมีเหตุไม่ชอบมาพากลอย่างยิ่งเกิดขึ้น เนื่องจากมีประชาชนในพื้นที่นั้น ๑๓ ครัวเรือนโดนล้อม

เมื่อมีการกว้านซื้อที่ดินทั้งละแวก ๑๓ ครัวเรือนที่ไม่ยอมขายให้ กลายเป็นแอ่งอยู่ในวงล้อมของโรงไฟฟ้า ซึ่งถมที่สูงสำหรับการสร้างโรงงาน “ต้องเผชิญกับมลพิษนานาชนิด” ดังรายงานที่กลุ่มฯ ได้ยื่นต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

๑๑.๑๙ น.เมื่อวาน (๑๗ ธันวา) กลุ่ม #หยุดอาณาจักรทรงเมตตา เดินขบวนกันไปยื่นหนังสือต่อผู้อำนวยการ สนง.ทรัพย์สินฯ “ขอให้ตรวจสอบการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ในกิจการที่ส่งผลกระทบต่อการทำลายชุมชน”

เนื่องจากธนาคารไทยพาณิชย์ อันมีสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นเจ้าของ มีส่วนในการร่วมทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่นาบอนทั้งสองโรง หนังสือดังกล่าวระบุ เนื้อที่โรงงานทั้งสองกว่าร้อยไร่ใกล้หลายสายน้ำ และ “จะมีการระบายน้ำเสีย...ลงสู่ห้วยตะเคียน”

นอกจากนั้นโครงการจำเป็นต้องใช้น้ำดิบจำนวนมาก ๓,๖๖๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน “แย่งน้ำ แย่งชีวิต” ของชาวบ้านในชุมชน “บริษัทจัดหาน้ำ จะสูบน้ำจากคลองมินไปไว้ที่บ่อ” ขุด (ของบริษัท) ขนาดลึก ๑๕ เมตร ในพื้นที่ ๖๐ ไร่ ตำบลแก้วแสน

แล้วยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เพราะชุมชนนาบอนตั้งอยู่ในหุบเขา เมื่อโรงไฟฟ้าเดินเครื่องจะก่อให้เกิด “ฝุ่นละออง ก๊าซอ็อกไซด์ของไนโตรเจน ก๊าซซัลเฟอร์ไดอ็อกไซด์ ก๊าซคาร์บอนโมน็อคไซด์ (แบบท่อไอเสียรถยนต์)” เป็นต้น

ฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถเข้าถึงปอดและถุงลม ทำให้เกิดโรคทางเดินอากาศ อีกทั้งในสภาพอากาศปิด ก๊าซเป็นพิษจะพัดวนอยู่ภายในชุมชนเป็นเวลานาน แล้วเข้าสู่บ้านเรือน ครั้นเวลามีเมฆฝนก้จะ “เกิดฝนกรด ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย”

ภาวะมลพิษอันจะเกิดกับสุขภาพร่างกายของผู้คนในชุมชนนาบอน โดยผ่านทั้งทางน้ำและทางอากาศเท่านั้นไม่พอ ยังมีมลพิษทางโสตประสาท ที่ชาวบ้านในรัศมี ๑ กิโลเมตรของโรงงานต้องทนรับฟังเสียงเครื่องยนต์ทั้งวันทั้งคืน “เกิดความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญ”

อันนำไปสู่อาการสุขภาพจิตเสื่อมโทรม และ/หรือ ทำให้เกิด “ภาวะหูเสื่อมหรือสูญเสียการได้ยินในที่สุด” เหล่านี้เป็นผลกระทบในทางลบอันจะเกิดแก่ชาวบ้านาบอน ขนานไปกับความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยผลกระทบต่อระบบเกษตรกรรม

หนังสือร้องเรียนต่อสำนักทรัพย์สินกษัตริย์ ชี้ว่าการเลือกที่ตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ เป็น ความผิดพลาดสำคัญส่งผลกระทบวงกว้างต่อประชาชน “เพราะเมื่อเลือกที่ตั้งไม่เหมาะสม มาตรการบรรเทาผลกระทบไม่สามารถแก้ปัญหาได้”

แล้ววันนี้ชาวบ้านนาบอนไปปักหลักชุมนุมกันบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ เตรียมค้างคืนหลายวัน เปิด “หมู่บ้านผู้ประสบภัยจากทุน ขุนศึก และศักดินา เพื่อรอคำตอบจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี” ที่บอกว่าจะแจ้งให้ทราบภายในวันที่ ๒๐ ธันวาโน่น

(https://www.thairath.co.th/news/politic/2267851 และ https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10166160034265551)