ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 ธันวาคม 2564
เผยแพร่ 20 ธันวาคม พ.ศ.256
เกษียร เตชะพีระ
ในบทความ “Disruptors’ dilemma? Thailand’s 2020 Gen Z protests” (“ทางแพร่งของตัวป่วน? การประท้วงโดยคนรุ่น Z ของไทยเมื่อปี ค.ศ.2020”
https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/14672715.2021.1876522) Duncan McCargo นักวิชาการชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยได้ประมวลข้อมูลและวิเคราะห์วิจารณ์ม็อบราษฎรเยาวรุ่นเมื่อปีที่แล้วไว้อย่างน่าสนใจ
(อนึ่ง คนรุ่น Z หรือ zoomers หมายถึงคนที่เกิดระหว่างปี ค.ศ.1997-2012 ซึ่งอยู่ระหว่างคนรุ่น Millennials ก่อนหน้ากับคนรุ่น Alpha ตามหลังและส่วนใหญ่จะเป็นลูกของคนรุ่น X ที่เกิดระหว่างปี ค.ศ.1965-1980 ดูแผนภูมิประกอบ)
ดันแคน แม็กคาร์โก จัดม็อบราษฎรเยาวรุ่นเป็นกระแสคลื่นการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงของมวลชน ขนาดใหญ่ระลอกที่ 6 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ หลังจากม็อบเริ่มปรากฏขึ้นในการเมืองไทยช่วง ทศวรรษที่ 2490 และกลายเป็นแบบแผนสถาบันลงตัวนับจากปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมาจนเรียกได้ว่าเป็น แบบวิถีอำนาจไทยแบบหนึ่ง (the rally mode of power หรือแบบวิถีอำนาจการชุมนุม) นอกเหนือจากแบบวิถีอำนาจพรรคการเมือง (the party mode of power)
กระแสคลื่นการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงของมวลชน 5 ระลอกก่อนนี้ได้แก่ :
1) ระลอกของนิสิตนักศึกษาตุลาคม 2516-2519
2) ระลอกของพันธมิตรเฉพาะกิจต้านรัฐบาลทหารที่จำนวนมากเป็นคนชั้นกลางเมื่อพฤษภาคม 2535
3) ระลอกของกลุ่มเกษตรกรอีสานต่าง ๆ ที่มีสมัชชาคนจนนำหน้าโดดเด่นในช่วงทศวรรษต่อมา
4) ระลอกของเสื้อเหลืองซึ่งประกอบไปด้วยคนชั้นกลางชาวกรุงเทพฯ และคนชั้นล่างชาวปักษ์ใต้ตอนบนหลังปี 2548 และ
5) ระลอกของเสื้อแดงสนับสนุนทักษิณซึ่งประกอบไปด้วยชาวบ้านที่กลายเป็นคนเมือง (urbanized villagers) รวมทั้งคนชั้นกลางระดับล่างชาวเหนือและอีสานหลังปี 2552
โดยดันแคนแบ่งกระแสคลื่นระลอกที่ 6 ของม็อบราษฎรเยาวรุ่นนี้เป็น 2 ลูกด้วยกัน
ดันแคน แม็กคาร์โก & ไทม์ไลน์รุ่นคน (https://en.wikipedia.org/w/index.php?title=File:Generation_timeline.svg)
กล่าวคือ
– ลูกแรก : กุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 เกิดการชุมนุมประท้วงของนักเรียนนิสิตนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ รวม 86 ม็อบในรอบ 3 สัปดาห์ ตัวจุดปะทุคือการที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ จากนั้นข้อประท้วงเรียกร้องก็ลามไปสู่ประเด็นอื่นๆ ที่ต่อต้านรัฐบาล คสช. และสภาพสังคมการเมืองที่เป็นอยู่ ลักษณะเป็นม็อบ “ธรรมชาติ” ที่จัดตั้งกันขึ้นอย่างเป็นไปเองด้วยแรงบันดาลใจจากข้อความข่าวสารในทวิตเตอร์และโซเชียลมีเดียอื่นๆ ม็อบราษฎรเยาวรุ่นลูกแรกมีอันชะงักลงกระทันหันเนื่องจากโควิด-19 เริ่มระบาดระลอกแรกในไทย
– ลูกหลัง : เริ่มจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม โดยชูข้อเรียกร้อง 3 ข้อได้แก่ 1) ยุบสภา 2) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3) ให้รัฐหยุดรังควานประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบ การชุมนุมลุกลามออกไปใน 27 จังหวัดด้วยข้อเรียกร้องเชิงปฏิรูปในระบบดังกล่าว
กระแสการเคลื่อนไหวลูกหลังยกระดับข้อเรียกร้องสูงขึ้นไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ผ่านการปราศรัยของทนายอานนท์ นำภา ในการชุมนุมธีมแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม (https://www.bbc.com/thai/thailand-53668228) และการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ซึ่งรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษาธรรมศาสตร์ได้อ่าน “ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1” ซึ่งระบุข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้แก้ปัญหาว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ (https://www.bbc.com/thai/thailand-53727597)
โดยภาพรวม ในกระแสคลื่นม็อบราษฎรเยาวรุ่นปีที่แล้ว มีการชุมนุมเกิดขึ้นใน 62 จังหวัดทั่วประเทศ รวมอย่างน้อย 385 ม็อบ แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 130 ม็อบ, ภาคกลาง 84 ม็อบ, ภาคอีสาน 84 ม็อบ, ภาคเหนือ 51 ม็อบ, และภาคใต้ 36 ม็อบ
(ดันแคนประมวลรวบรวมจากข้อมูลในเว็บไซต์ MOBDATA เป็นหลัก ดู https://blog.mobdatathailand.org/)
ภาพจากข่าวบีบีซีไทย “รุ้ง ปนัสยา : แกนนำนักศึกษาผู้ยืนกรานปฏิรูปสถาบัน” (https://www.bbc.com/thai/thailand-54173930)
ในสายตาดันแคน แม็กคาร์โก “ทางแพร่ง” (dilemma) ที่ม็อบราษฎรเยาวรุ่นเผชิญคือตกลงแล้วจะเดินแนวทาง/ตั้งเป้าหมายการเคลื่อนไหวเป็น “ปฏิรูปหรือปฏิวัติ” กันแน่?
เมื่อประมวลดูจากข้อเรียกร้อง การสื่อสารแสดงออก โวหาร/วาทกรรม คำปราศรัย คำสัมภาษณ์และบุคลิกภาพของแกนนำ/ผู้ปราศรัย/มวลชนผู้ร่วมชุมนุมแล้ว ดันแคนเห็นว่ามีลักษณะที่ย้อนแย้งขบเหลื่อมกำกวมลักลั่นกันเองจนยากจะฟันธงไปทางใดทางหนึ่งเป็นที่ยุติได้
เขาประเมินว่าม็อบราษฎรเยาวรุ่นไม่มียุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว ไม่มีฉากทัศน์การปิดเกมที่เด่นถนัด ชัดเจน มีแนวโน้มรุ่มร้อน ต้องการให้การต่อสู้สำเร็จเสร็จสิ้นเร็ว (#ให้มันจบที่รุ่นเรา https://www.the101.world/jutatip-sirikhan-interview/ & https://voicetv.co.th/read/ROv-a-_ap) ข้อเรียกร้องมีลักษณะขุดรากถอนโคน ส่งผลด้านกลับเป็นการผลักพันธมิตรที่จำเป็นและแนวร่วมที่อาจเข้าร่วมได้โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำและสถาบันหลักของสังคมให้ถอยห่างออกไป
ฉะนั้น หากดูตรงผลลัพธ์ในการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองตามธรรมเนียมแบบแผนปกติ (conventional goals) ของแบบวิถีอำนาจการชุมนุมและแบบวิถีอำนาจพรรคการเมืองแล้ว (the rally mode of power & the party mode of power) ก็ไม่มีข้อเรียกร้องใดของม็อบราษฎรเยาวรุ่นที่บรรลุผลสำเร็จเลย ไม่ว่า 3 ข้อแรกของกลุ่มเยาวชนปลดแอกหรือข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในช่วงถัดมาก็ตาม
(ดังจะเห็นได้ว่าจนถึงปลายปี 2564 ปัจจุบัน สถานการณ์ที่ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อปลายปีก่อนว่า “การเมืองในระบบเป็น ‘ปฏิกิริยา’ การเมืองภาคประชาชนเป็น ‘ปฏิรูป’ แต่การเมืองวัฒนธรรมเป็น ‘ปฏิวัติ'” (https://www.the101.world/kasian-tejapira-interview/) ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม ดังเห็นได้จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า “ปฏิรูป = ล้มล้างการปกครอง” และมติรัฐสภาที่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนล่าสุด
(https://www.matichon.co.th/politics/news_3035794 & https://www.matichon.co.th/politics/news_3045585)
อย่างไรก็ตาม ดันแคนก็ชี้ว่าหากมองด้วยกรอบเกณฑ์แห่งแบบวิถีอำนาจรูปที่สาม (a third form of power) หรือที่ผมใคร่จะเรียกว่ากรอบการเมืองวัฒนธรรม (the frame of cultural politics) แล้ว ม็อบราษฎรเยาวรุ่นก็ประสบความสำเร็จในการปักธงลงไปตรงเรื่องเล่าหลักแห่งชาติ (หรือวาทกรรมราชาชาตินิยม royal-nationalist discourse) และทำให้มันปั่นป่วนเสียกระบวนไป (the power of national narrative disruption) ด้วยอุดมการณ์รักชาติแบบยึดลัทธิรัฐธรรมนูญเป็นหลัก (constitutional patriotism) ของตน
การ “ปักธง” ลงไปตรงเรื่องเล่าราชาชาตินิยมเดิมก็คือการหยิบยกขึ้นมาและบ่งชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย (monarchy and democracy) ซึ่งเคยเชื่อมโยงลงตัวกันได้ระดับหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทยมาแต่ก่อน (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, กรณี ร.7 ทรงสละราชสมบัติ : การตีความและการสานต่อความหมายทางการเมือง, 2549, น.2-3) นั้น บัดนี้ได้กลายเป็นปัญหาที่สังคมไทยพึงต้องพิจารณาหาทางปรับปรุงแก้ไขแล้ว
โดยคำตอบว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขควรเป็นเช่นใดนั้น มิได้มีเพียงแค่หนึ่งเดียวดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากมีได้หลายแบบอย่าง
และฉะนั้น ประชาราษฎร์ไทยจึงมีทางเลือกที่จะปรับแต่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของตนให้ดีขึ้น เหมาะสมได้ดุลขึ้นและอำนวยประโยชน์แก่ประชาชาติยิ่งขึ้นได้
ที่ผ่านมาปฏิกิริยาของระเบียบอำนาจดังที่เป็นอยู่ต่อการปั่นป่วนเรื่องเล่าแห่งชาติให้เสียกระบวนของม็อบราษฎรเยาวรุ่นเป็นไปอย่างดุเดือดต่อเนื่องด้วยมาตรการเชิงนิติสงคราม (lawfare) เช่น การดำเนินคดีการเมืองกับแกนนำม็อบและผู้ใช้โซเชียลมีเดียด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112, 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และอื่นๆ มากเป็นประวัติการณ์ถึง 900 คดี 1,636 คน (นับจากกรกฎาคม 2563 ถึงตุลาคม 2564, https:// tlhr2014.com/archives/37550), การฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้เขียนและผู้เกี่ยวข้องกับดุษฎีนิพนธ์ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี, รวมทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่อง “ปฏิรูป = ล้มล้างการปกครอง” เป็นต้น
เหล่านี้ย่อมส่งผลสร้างแรงผลักดันให้ประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกเบียดขับออกจากพื้นที่สาธารณะ และระเบียบวาระของสังคมการเมืองกลับไปอยู่ในซอกหลืบส่วนตัวของชาวบ้านดังเคย
ทว่ามันจะสามารถพลิกกลับปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” ที่ยกเพดานความรู้ การคิด การสื่อสารสนทนา และการวิพากษ์วิจารณ์เข้าไปในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ต้องห้ามที่รับเชื่อกันแต่ก่อนมาได้หรือไม่?
ต่อเรื่องนี้ ดันแคนสรุปไว้ท้ายบทความว่า :
“มาบัดนี้ไม่มีทางหวนกลับไปสู่การเมืองแบบเหลื่อมล้ำที่ซึ่งพวกคนแก่ฉ้อฉลไม่เอาไหนสามารถอ้างสิทธิ์เรียกร้องให้ประชาชนเคารพนบนอบตนได้ง่ายๆ อีก ปราศจากความเคารพนบนอบนั้นเสียแล้ว ระบอบเก่าซึ่งสูญเสียเครดิตไปย่อมบาดเจ็บถึงชีวิตและดูท่ามันจะค่อยๆ ตายไปช้าๆ อย่างแน่นอน”
อันคล้องจองสอดรับกับความเห็นส่งท้ายของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ประเมินม็อบราษฎรเยาวรุ่นไว้ในตอนที่ 4 ส่งท้ายบทความชุด “วัฒนธรรมเผด็จการไทย” (มติชนสุดสัปดาห์, 26 พฤศจิกายน 2564, น.29) ว่า :
“…ผมจึงคิดว่าจะเข้าใจความเคลื่อนไหวในช่วงนี้ได้ชัดมากขึ้น หากมองมันเป็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรม… นี่คือความหมายอย่างกว้างของคำว่า ‘วัฒนธรรม’ เป็นการทบทวนและรื้อสร้างระบบความสัมพันธ์หลาก หลายมิติของมนุษย์ในโลกยุคใหม่อย่างแท้จริง…
“ไม่ว่าการปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งนี้จะจบลงอย่างไร มันได้สร้างแรงสั่นสะเทือนลงไปยังวัฒนธรรมไทยหรือความเป็นไทยอย่างรุนแรง ชนิดที่จะไม่มีวันหวนกลับมาเหมือนเดิมได้อีกโดยไม่ปรับเปลี่ยนเลย”