พรรคเพื่อไทย
19m ·
วันนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ณ ขณะนั้น) ประกาศยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน ตามกติกาประชาธิปไตยสากล หลังการชุมนุมของ ‘ กปปส.' (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นใบเบิกทางให้กับการรัฐประหาร ในนาม ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)’ ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557
.
ย้อนกลับไปก่อนที่ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะประกาศยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองค่อนข้างร้อนระอุ นับตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มบริหารงาน ประชาชนบางส่วนแสดงท่าทีไม่พอใจมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ได้ชิงจังหวะประกาศชุมนุมใหญ่ครั้งแรก ในวันที่ 31 ตุลาคม 2556 บริเวณสถานีรถไฟสามเสน โดยอ้างต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาวุฒิสภา พร้อมใช้ ‘การเป่านกหวีด’ เป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงครั้งนี้
.
ก่อนจะยกระดับเป็น ‘กปปส.’ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ จัดตั้งสภาประชาชนเพื่อควบคุมการปฏิรูปประเทศ และ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องลาออกจากการเป็นหัวหน้ารัฐบาล เพื่อนำไปสู่การเสนอชื่อ ‘นายกฯ’ คนใหม่ โดยอ้างประเพณีการปกครอง มาตรา 3 และ มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2550
.
ห้วงเวลานั้น ประชาชนจำนวนมากพากันเดินลงถนน เป่านกหวีดเพื่อเรียกร้องตามข้อเสนอของแกนนำ กปปส. แม้รัฐบาลในขณะนั้นจะถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมปรองดองที่ค้างวาระอยู่ในสภาทั้งหมด รวมถึงมีความพยายามที่จะเจรจาหาทางออกร่วมกับ กปปส. แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากข้อเรียกร้องต่างๆ ของกปปส. นั้นไม่ตรงกับข้อกฎหมาย
.
เมื่อการเจรจาไม่ได้ช่วยทุเลาความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างทางยังคงมีการยกระดับการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บ้างส่วนได้เคลื่อนมวลชนปิดล้อมสถานที่ราชการหลายแห่ง โดยมีแกนนำสำคัญอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศจัดชุมนุมใหญ่ถึง 4 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556, วันที่ 24 พฤศจิกายน 2556, วันที่ 1 ธันวาคม 2556 และวันที่ 9 ธันวาคม 2556
.
8 ธันวาคม 2556 พรรคประชาธิปัตย์เริ่มเคลื่อนไหว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นำลูกพรรคแถลงลาออกจากการเป็น ส.ส. ทั้งหมด เพื่อเข้าร่วมนำม็อบ กปปส. โดยตรง สร้างแรงกดดันอีกทางให้รัฐบาลลาออก และเปิดทางให้นายกฯ คนกลางเข้ามาทำหน้าที่แทน ขณะที่ฝากฝั่งหน้าเพจเฟซบุ๊คของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้แสดงจุดยืนพร้อมจะยุบสภา เตรียมจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน แต่หากมีผู้ไม่ยอมรับการเลือกตั้งก็จะเป็นการยืดเวลาขัดแย้งออกไป เหมือนปี 2549 ที่เกิดภาวะสูญญากาศและเกิดการรัฐประหารตามมา จึงได้เสนอให้หาข้อยุติด้วยการทำประชามติ
.
9 ธันวาคม 2556 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงการณ์ยุบสภา ส่งผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปด้วยมาตรา 180 (2) แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในมาตราดังกล่าว และประกาศวันเลือกตั้งใหม่เป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
.
สิ้นสุดแถลงการณ์ยุบสภา #ณวันนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ หมดวาระการทำงาน นับเป็นการยุบสภาครั้งที่ 14 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถึงอย่างนั้น ท่าทีของ กปปส. ไม่ได้จบลงตาม แกนนำและผู้ชุมนุมยังคงยืนกรานให้มีการจัดตั้งสภาประชาชน ปฏิเสธการเลือกตั้ง และรณรงค์ไม่ให้ประชาชนออกไปเลือกตั้ง จนเป็นเหตุให้เกิดการขัดขวางการเลือกตั้ง มาตั้งแต่เปิดให้มีการสมัครรับเลือกตั้ง จนถึงวันที่กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ประชาชนบางส่วนที่ต้องการใช้สิทธิใช้เสียงของตัวเองไม่สามารถใช้ได้ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยให้การเลือกตั้งในวันนั้นเป็นโมฆะและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีมติ 6 ต่อ 3 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557
.
สามเดือนหลังจากนั้น กปปส. จึงยุติการชุมนุม หลังจากกลุ่มคณะรัฐประหารในนาม ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ’ นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจสำเร็จ จนอาจกล่าวได้ว่าการชุมนุมประท้วงครั้งนั้น ถือเป็นใบเบิกทางชั้นดีให้กับการรัฐประหาร และนับเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งสำคัญอีกครั้ง
.
เพราะหลังจากนั้นประชาธิปไตยไทยได้ถูกทำลายและสูญหายไปตลอด 8 ปีที่ผ่านมา
—---
อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/content/388120
https://www.thairath.co.th/content/388340
https://www.matichonweekly.com/column/article_378811
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=677355285642263&set=a.106877456023385.4057.105044319540032&type=1