วันศุกร์, ธันวาคม 03, 2564

ศาลกลัวหนาว : สืบพยานคดี #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ระอุ จำเลยขอให้ศาลเรียกหลักฐาน ร.10 ไปเยอรมัน แต่ศาลไม่อนุมัติ



สืบพยานคดี #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ระอุ จำเลยขอให้ศาลเรียกหลักฐาน ร.10 ไปเยอรมัน แต่ศาลไม่อนุมัติ

2021-12-02
ประชาไท

จำเลยขอให้ศาลเรียกเอกสารหลักฐานหลายชิ้น เช่น ข้อมูลเดินทางไปกลับเยอรมันของ ร.10 จากการบินไทย คำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์กระทรวงการคลังฟ้องร.7 และอื่นๆ แต่ศาลไม่ออกหมายให้อ้างว่ายังไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกับคดีหรือไม่ ให้สืบพยานไปก่อน ทนายแย้งไม่มีสืบไม่ได้เพราะโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยปราศรัยเป็นเท็จแต่ไม่มีหลักฐานว่าเป็นเท็จอย่างไร สุดท้ายศาลให้ฝั่งอัยการโจทก์สืบพยานไปก่อน

2 ธ.ค.2564 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดสืบพยานโจทก์ปากแรกในคดี #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ที่มีจำเลย 22 คนถูกฟ้องจากการชุมนุมช่วง 19-20 ก.ย.2563

จำเลยในคดีนี้ได้แก่ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ณัทพัช อัคฮาด, ธนชัย เอื้อฤาชา, ธนพ อัมพะวัติ, ธานี สะสม, ภัทรพงศ์ น้อยผาง, สิทธิทัศน์ จินดารัตน์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, อนุรักษ์ เจนตวนิชย์, ณัฐชนน ไพโรจน์, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, อะดิศักดิ์ สมบัติคำ, จัสติน ชูเกียรติ แสงวงค์ และแอมมี่ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์

ในคดีนี้มีคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ด้วย คือ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, หมอลำแบงค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก และไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

ทั้งนี้มีจำเลยบางรายไม่สามารถมาศาลในวันนี้ได้เนื่องจากมีอาการป่วย โดยรวมถึงอดิศักดิ์ที่ถูกคนทำร้ายด้วยการฟันจนได้รับบาดเจ็บเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จึงให้ทนายความแถลงขอเลื่อนการพิจารณาเนื่องจากประสงค์เข้าฟังการสืบพยานปากแรกด้วยตนเองเพราะเป็นพนักงานสอบสวนที่มีความเห็นฟ้องพวกตนอีกทั้งยังเป็นพยานในที่เกิดเหตุ อย่างไรก็ตามศาลกล่าวว่าจะใช้ดุลพินิจว่าจะให้สืบวันนี้เลยหรือไม่หรือให้มีการสืบลับหลังจำเลย

ในการพิจารณาคดีช่วงเช้า ทางทนายความได้แถลงประเด็นขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานเอกสารหลายชิ้นเพื่อนำมาใช้ในการซักค้านพยานจำนวนหลายชิ้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญในคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ามีการปราศรัยที่เป็นความเท็จเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

อย่างไรก็ตามศาลอ้างว่าพยานหลักฐานที่ฝ่ายจำเลยขอให้ศาลเรียกมานี้เป็นของหน่วยงานภายนอกจึงไม่สามารถก้าวล่วงองค์กรอื่นได้หากการเรียกพยานหลักฐานนั้นไม่เกี่ยวข้องกับคดี

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความในคดีจึงแถลงศาลเกี่ยวกับเอกสารที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกมาอย่างเช่นข้อมูลการเดินทางเข้าออกประเทศของในหลวงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากเมื่อไปขอแล้วหน่วยงานที่ถือครองข้อมูลอย่างบริษัทการบินไทยไม่ยินยอมให้มาใช้ในการพิจารณาคดี ทั้งที่จำเป็นในการพิสูจน์ว่าที่ผู้กล่าวหาระบุว่าจำเลยได้มีการปราศรัยเป็นเท็จนั้น เป็นเท็จจริงอย่างที่จำเลยถูกกล่าวหาหรือไม่

กฤษฎางค์ยกตัวอย่างเอกสารอีกชิ้นที่ไม่สามารถขอมาได้คือคำพิพากษาฉบับเต็มของคดีที่กระทรวงการคลังเคยฟ้องรัชกาลที่ 7 ให้ต้องชดใช้เงินคืนแก่กระทรวงการคลัง ซึ่งศาลแพ่งก็อ้างกับทนายความว่าไม่ได้เป็นคู่ความจึงไม่ให้มา

กฤษฎางค์ยังระบุอีกว่าตามกฎหมายแล้วถ้ามีความจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานใดเมื่อมีการขอไปที่หน่วยงานแล้วไม่ให้ก็สามารถขอให้ศาลออกหมายเรียกมาได้

ศาลกล่าวว่าการหาพยานหลักฐานในชั้นนี้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องหามา และขอให้ดูก่อนว่าพยานฝ่ายโจทก์มีความเกี่ยวข้องอย่างไร ถึงอย่างไรหากทนายความถามค้านพยานโจทก์แล้วก็เป็นฝ่ายโจทก์ที่ต้องพิสูจน์ว่าจริงเท็จตามที่ฟ้องมาหรือไม่ แต่ศาลก็ไม่ได้ห้ามจำเลยนำพยานหลักฐานดังกล่าวหากหามาได้และจะนำมาใช้

นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความ กล่าวว่าลูกความของเขาถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยเช่นเดียวกันซึ่งฝ่ายโจทก์ฟ้องว่าเป็นความเท็จจึงต้องการให้ศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานมาไม่เช่นนั้นจำเลยก็ไม่สามารถต่อสู้คดีได้เพราะหากไม่มีหลักฐานฝ่ายโจทก์ก็คงไม่ยอมรับ ถ้าเป็นเช่นนั้นศาลก็พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดไปเลยก็ได้

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความกล่าวถึงประเด็นที่ลูกความของตนถูกกล่าวหาว่าการปราศรัยในประเด็นการชักธงที่พระบรมมหาราชวังแสดงถึงการประทับของในหลวงว่าอยู่ในประเทศหรือไม่นั้นเป็นความเท็จนี้ ตนก็ได้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะรับทำคดีพบว่าที่รัฐสภาเยอรมันก็มีการอภิปรายเรื่องการใช้อำนาจของรัชกาลที่ 10 ว่ามีการใช้อำนาจขณะพำนักอยู่ที่เยอรมันหรือไม่ เขาจึงเห็นด้วยในการที่ศาลจะออกหมายเรียกพยานหลักฐานตามที่จำเลยได้ยื่นคำร้องไป เพราะตามฟ้องของโจทก์เองก็เพียงแต่กล่าวหาว่าจำเลยได้ปราศรัยเป็นเท็จโดยที่ไม่ได้ระบุว่าความจริงนั้นเป็นอย่างไร

อีกทั้งอานนท์ยังระบุว่าพยานหลักฐานที่ให้ศาลออกหมายเรียกมานี้เกี่ยวข้องกับการสืบพยานปากแรกเพราะพยานเป็นพนักงานสอบสวนในคณะทำงานที่ทำความเห็นสั่งฟ้องในข้อหาม.112พวกเขาด้วย อีกทั้งยังเป็นพยานที่คุมกำลังตำรวจในการดูแลกิจกรรมในวันนั้นจึงถือเป็นประจักษ์พยานด้วย

ส่วนทางด้านจำเลยบางคนลุกแถลงศาลเพื่อโต้แย้งศาลที่จะไม่ออกหมายเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อใช้ในการถามค้านพยานโจทก์ ซึ่งกระทบต่อสิทธิและความยุติธรรมในการต่อสู้คดีของพวกเขา

สมยศ พฤกษาเกษมสุขกล่าวว่าตอนที่เขาทราบว่าตนเองถูกดำเนินคดีก็ยังไม่เคยได้เห็นว่าฝ่ายโจทก์มีหลักฐานมายืนยันว่าที่เขากล่าวเป็นเท็กจอย่างไร ทั้งที่การพิจารณาคดีเป็นระบบกล่าวหาก็ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยที่จะต้องหาพยานหลักฐานมาเองแต่ต้องเป็นฝ่ายโจทก์ที่หามายืนยันว่ามีการกระทำความผิด แต่เมื่อโจทก์ไม่หามาจึงต้องให้ทนายความหามาให้จึงขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานด้วย

อานนท์ นำภา แถลงศาลว่าหากไม่มีการนำพยานหลักฐานตามที่ขอใหศาลออกหมายเรียกไปนี้ ในอนาคตการพิจารณาพิพากษาคดีศาลก็อาจจะยกเหตุว่าพวกเขาปราศรัยกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานมาลงโทษได้

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ตั้งคำถามต่อศาลว่ากระบวนการศาลมีไว้เพื่อยุติข้อพิพาท แลในเมื่อศาลมีอำนาจในการช่วยหาความจริงได้เพราะทางทนายความเองก็ไปขอจากทางหน่วยงานแล้วแต่ก็ไม่ได้มา แต่ศาลกลับไม่ช่วยในการทำให้ความจริงปรากฏ

ทั้งนี้ภายหลังการแถลงของจำเลยและทนายความจำเลยหมดแล้ว ศาลได้พักการพิจารณาคดีในตอน 12.30 น. โดยระบุว่าจะต้องปรึกษาหารือเกี่ยวกับคำร้องของฝ่ายจำเลยก่อน จากนั้นจึงกลับมาพิจารณาตอน 13.30 น.

จากนั้น 13.30 น. ศาลได้แจ้งกับจำเลยและทนายความว่าศาลจะยังไม่ออกหมายเรียกพยานหลักฐานตามที่ฝ่ายจำเลยร้องขอและจะให้สืบพยานปากแรกไปก่อนเนื่องจากทางฝ่ายโจทก์ได้เตรียมพยานมาแล้วหากเลื่อนออกไปจะทำให้คดีล่าช้าและทำให้จำเลยต้องอยู่ในเรือนจำกันต่อไป

จากเหตุดังกล่าวทำให้จำเลยบางคนแสดงความไม่เห็นด้วยและโต้แย้งศาลว่าพวกเขายังไม่ได้ถูกพิพากษาว่ามีความผิดในคดีใดเลยจึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่จำเลยบางคนกลับยังต้องอยู่ในเรือนจำเนื่องจากศาลไม่ให้ประกันตัวออกมาต่อสู้คดี และหากศาลจะยังไม่ออกหมายเรียกพยานหลักฐานให้ตามที่มีการร้องขอก็ขอให้ศาลให้สิทธิประกันตัวจำเลยที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำด้วย

ทั้งนี้กฤษฎางค์แถลงว่าให้มีการบันทึกว่าทางฝ่ายจำเลยได้ยืนยันให้ศาลออกหมายเรียกแล้ว และได้ตั้งคำถามว่าหากมีการสืบพยานไปแล้วและพยานเอกสารที่ร้องขอเกี่ยวข้องกับพยานศาลจะออกหมายเรียกให้หรือไม่ นอกจากนั้นนรเศรษฐ์ได้แถลงด้วยว่าจากการปรึกษากับลูกความของตนลูกความยืนยันว่าจะไม่ให้ทนายความถามค้านพยานจนกว่าศาลจะออกหมายเรียกพยานหลักฐานมาตามที่ยื่นคำร้องไป

ศาลตอบว่าให้ดูที่อัยการจะสืบไปก่อน และสิ่งที่มีการแถลงกันในวันนี้ศาลจะมีการบันทึกเอาไว้เพื่อให้นำไปยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งได้ต่อไปหากฝ่ายจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง

จากนั้นอัยการได้นำพยานพ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร รองผู้บังคับการกองกำกับการตำรวจนครบาล 1ซึ่งในขณะเกิดเหตุคดีนี้เป็นผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ขึ้นเบิกความในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติของพยานในวันเกิดเหตุเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.2563

พ.ต.อ.วรศักดิ์ระบุว่าตนได้รับทราบว่าจะมีการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์จากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 ก.ย.โดยมีการชักชวนประชาชนให้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ เท่าที่เขาจำได้มีจำเลยบางคนรวมแถลงข่าวด้วย คือ พริษฐ ปนัสยา และภาณุพงศ์ และยังมีผู้ที่ร่วมแถลงข่าวคนอื่นๆ อีกแต่เขาจำไม่ได้แล้วว่ามีใครบ้างและในเวลานั้นมีการเรียกชื่อกลุ่มว่าอย่างไร เมื่อทราบเรื่องจึงได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อวางแผนปฏิบัติการต่อไป

รอง ผบก.น.1 ระบุว่าเท่าที่เขาจำได้การชุมนุมครั้งนั้นมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อคือขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

พ.ต.อ.วรศักดิ์กล่าวว่าในตอนนั้นรัฐบาลมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแต่ก็สามารถชุมนุมได้เนื่องจากช่วงเวลานั้นแม้จะมีการใช้สถานการณ์ฉุกเฉินแต่ก็ให้ชุมนุมได้ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และให้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมโรค การชุมนุมจะต้องมีมาตราการป้องกันการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตามแม้จะเสรีภาพการชุมนุมจะถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแต่การใช้เสรีภาพดังกล่าวก็ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น และจะต้องขออนุญาตชุมนุม ซึ่งพยานจะมีหน้าที่ดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างปกติและไม่มีการละเมิดกฎหมาย

เขากล่าวต่อว่าการชุมนุมครั้งนี้ยังเป็นการชุมนุมใน มธ.ที่ฝั่งตรงข้ามเป็นศาลฎีกาและมีพระบรมมหาราชวังในบริเวณดังกล่าวซึ่งตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้กำหนดให้การชุมนุมต้องไม่อยู่ในระยะ 50 ม.ของศาลและ 150 ม.ของพระบรมมหาราชวัง เขาจึงได้มีการเสนอรายงานไปตามสายบังคับบัญชาเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งกำหนดพื้นที่ห้ามเข้าและมีคำสั่งออกมาในวันที่ 18 ก.ย.2563 และมีการประสานไปตามหน่วยต่างๆ ทั้งฝ่ายสืบสวนของ บก.น.1 บช.น.และตำรวจสันติบาล

พ.ต.อ.วรศักดิ์กล่าวถึงขั้นตอนการจัดชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ว่า ผู้จัดจะต้องขออนุญาตจัดชุมนุมก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง และกำหนดพื้นที่ชุมนุม เวลาเริ่มและเวลาสิ้นสุดของการชุมนุม ระบุหัวข้อและเนื้อหาของการชุมนุม และระบุว่าใครเป็นผุ้จัดชุมนุม รวมถึงหากจะใช้เครื่องขยายเสียงต้องขออนุญาตกับทางสำนักงานเขตที่ดูแลพื้นที่ที่จะจัดชุมนุม อย่างไรก็ตามเขาระบุว่าการชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้มีผู้จัดมาขออนุญาตกับตน

พ.ต.อ.วรศักดิ์เบิกความเกี่ยวกับวันเกิดเหตุว่า วันนั้นเขาเข้าไปที่ สน.ชนะสงครามตั้งแต่เช้าก่อนและได้เข้าพื้นที่ มธ.ตามที่ทางแกนนำประกาศไว้ว่าจะเริ่มตั้งแต่ 9 โมงเช้า อย่างไรก็ตามทาง มธ.ได้แจ้งกับตนก่อนว่าจะล็อกประตูไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปและจะให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลไว้ ผู้ชุมนุมจึงเข้าไม่ได้ เขาจึงให้ชุดปราบปราม ชุดสืบสวน และตำรวจจราจรเข้าพื้นที่

เมื่อผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าไปในบริเวณมหาวิทยาลัยได้ทำให้ผู้ชุมนุมที่เริ่มจากอยู่บนทางเท้าเมื่อมีจำนวนมากขึ้นก็ลงบนถนนหน้าพระธาตุ ซึ่งขณะนั้นมีอยู่ราว 1,000 คน จากนั้นผู้ชุมนุมก็พยายามดันเข้าไป ซึ่งในตอนนั้นขณะที่เขากำลังอ่านประกาศที่ออกตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ว่าการชุมนุมครั้งนี้ผิดกฎหมายและประเด็นเรื่องมาตรการควบคุมโรครวมถึงอาจมีบุคคลที่สามเข้ามาก่อเหตุแทรกซ้อนได้แต่ผู้ชุมนุมไม่ฟัง ทางด้านผู้ชุมนุมก็มีแกนนำที่ใช้เครื่องขยายเสียงบนรถบรรทุกประกาศให้ผู้ชุมนุมเข้าไปใน มธ.ให้ได้เพื่อทำกิจกรรม พยานจำได้ว่ามีภาณุพงศ์อยู่ในบริเวณดังกล่าวและมีมวลชนพยายามพังประตูเข้าไปโดยการเขย่าจนสุดท้ายประตูก็เปิดออกแล้วผู้ชุมนุมก็กรูกันเข้าไป

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.วรศักดิ์ก็เบิกความว่าหลังจากผู้ชุมนุมเข้าไปแล้วก็มีการถ่ายทอดสดในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ตนก็ไม่ได้ตามเข้าไปใน มธ. แต่กลับไปที่สน.เพื่อติดตามสถานการณ์จากการถ่ายทอดสด จนกระทั่งมีการประกาศว่าการชุมนุมจะเคลื่อนออกจาก มธ.ไปที่สนามหลวงแทน ตนจึงออกจาก สน.เข้าพื้นที่การชุมนุมอีกครั้ง

เขากล่าวต่อว่าเมื่อเขามาถึงพื้นที่ชุมนุมผู้ชุมนุมบางส่วนก็เข้าไปในสนามหลวงแล้วโดยเขาทราบว่าทางกรุงเทพมหานครได้มีการปิดประตูรั้วทุกด้าน หากจะเข้าต้องปีนเข้าไปแต่เขาได้รับแจ้งจากทางกรุงเทพมหานครว่ามีการพังประตูรั้วฝั่งใกล้ มธ.ด้วย 1 ประตู

พ.ต.อ.วรศักดิ์ระบุว่าเมื่อเขาไปถึงเขาได้ประกาศเตือนอีกครั้งว่าการชุมนุมผิดพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และในเวลา 15.30 น. เขาออกคำสั่งให้ยุติการชุมนุมภายในเวลา 16.30 น. ส่วนด้านในพื้นที่สนามหลวงทางตำรวจได้ตั้งแนวรั้วกั้น 2 ชั้นเอาไว้พร้อมแนวตำรวจโดยระบุว่าเป็นพื้นที่ในก่อนถึง 150 ม.ของพระบรมมหาราชวังและอีกชั้นคือระยะ 150 ม.จากพระบรมมหาราชวัง และแนวกั้น 50 ม.จากศาลฎีกา

เขาเบิกความต่อว่าเขาได้ยินเสียงจากทางเวทีประกาศให้ผู้ชุมนุมพังแนวรั้วชั้นก่อนถึงระยะ 150 ม. จึงมีผู้ชุมนุมดันเข้ามาทำให้ตำรวจที่รักษาแนวอยู่ต้องถอยร่นไปที่แนวระยะ 150 ม.จากพระบรมมหาราชวัง

ทั้งนี้เมื่ออัยการโจทก์ถามพยานเบิกความถึงประเด็นนี้เป็นเวลาประมาณ 16.00 น. แล้วศาลได้ถามอัยการว่ายังมีประเด็นที่ต้องเบิกความอีกเยอะหรือไม่เนื่องจากว่าใกล้จะถึงเวลา 17.00 น. แล้วซึ่งศาลยังต้องอ่านคำเบิกความของพยานและกระบวนพิจารณาคดีวันนี้ซึ่งคาดว่ากว่าจะเสร็จก็เป็นเวลา 17.00 น. จึงได้ถามคู่ความว่าให้นัดพยานมาเบิกความในวันพรุ่งนี้ (3 ธ.ค.) จะคัดค้านหรือไม่ ทั้งสองฝ่ายไม่คัดค้าน ศาลจึงสั่งให้พยานมาเบิกความต่อในวันพรุ่งนี้

ภายหลังเสร็จกระบวนพิจารณาทางด้านทนายความได้ทำเรื่องขอศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ยังเหลือ 4 คนในคดีนี้ ได้แก่ อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก จตุภัทร บุญภัทรรักษา และพริษฐ์ ชีวารักษ์ รวม 4 คน หลังยื่นคำร้องศาลได้มีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 17 ธ.ค.2564 เวลา 10.00 น.