วันจันทร์, ธันวาคม 13, 2564

แถลงการณ์คณะราษฎรยกเลิก 112 “ราษฎรพิพากษา มาตรา 112” ปกป้องประชาธิปไตย ปล่อยนักโทษการเมือง - ยกเลิก 112


ราษฎร
9h ·

แถลงการณ์คณะราษฎรยกเลิก 112 (2)
“ราษฎรพิพากษา มาตรา 112”
ปกป้องประชาธิปไตย ปล่อยนักโทษการเมือง - ยกเลิกม.112
รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งอ้างว่าเป็นรัฐบาลของกษัตริย์ ล้มเหลวต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของโควิดและยังใช้อำนาจ
ปราบปราม กดขี่ประชาชน ทำให้ปี 2564 ที่กำลังผ่านพ้นไปนี้ ประชาชนคนไทยต้องเผชิญกับความทุกข์ยากเดือดร้อนแสนสาหัสจากเศรษฐกิจพังทลาย ธุรกิจล้มละลาย ก่อให้เกิดการว่างงาน ความยากจน และ หนี้สินล้นพ้นตัว แทนที่รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กลับใช้จ่ายงบประมาณในทางสิ้นเปลือง ไม่ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อาทิการจัดซื้อ อาวุธยุทโธปกรณ์ การอนุมัติงบประมาณให้สถาบันกษัตริย์ที่เพิ่มสูงขึ้น การบริหารราชการซ้ำซ้อนและการทุจริตโกงกิน
ด้วยเหตุดังกล่าว คณะราษฎรได้จัดการชุมนุมเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ
1. ประยุทธ์ จันทร์โอชาและองคาพยพต้องลาออก
2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นฉบับของประชาชน
3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
โดยทั้งสามข้อนี้ คือข้อเรียกร้องที่จะนำไปสู่หลักการประชาธิปไตยที่ว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย” แต่กลับมีประชาชนถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 เป็นจำนวนถึง 162 คนด้วยกัน โดย พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ภานุพงษ์ จาดนอก, เบนจา อะปัญ และคนอื่นอีก 20 คน ยังถูกคุมขัง ไม่ได้รับสิทธิ์การประกันตัวอยู่ในขณะนี้ มีการดำเนินคดีด้วยมาตราดังกล่าวกับเด็กและเยาวชน ทั้งที่หลายรายพฤติการณ์ไม่สอดคล้องกับบริบทของกฎหมาย อีกทั้งโทษทางกฎหมายยังรุนแรงอย่างไม่สมเหตุสมผล
ยิ่งไปกว่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร 2557 ยังได้ออกคำวินิจฉัยว่า การแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมของแกนนำคณะราษฎรเมื่อวันที่ 3 และ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการล้มล้างการปกครอง ทำให้มีการฉวยโอกาสใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ ข่มขู่ที่จะยุบพรรคการเมืองที่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 คุกคามเสรีภาพสื่อมวลชน ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมโดยสงบของประชาชน
จากการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งมี 193 ประเทศทั่วโลกเข้าประชุม ประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงสิทธิพลเมืองหลายด้าน ส่วนหนึ่งของการถูกวิจารณ์คือ ปัญหาสิทธิในการแสดงความคิดเห็น มีหลายประเทศแสดงความกังวลถึงการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 หากรัฐไทยยังบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 อยู่ นอกจากจะเสียเสถียรภาพทางด้านการฑูตแล้ว ประเทศไทยจะถูกมองว่าเป็นประเทศที่ล้าหลังด้านสิทธิมนุษยชน และอาจลามไปสู่การทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย เนื่องจาก แม้ว่าสถาบันกษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์ มิใช่ผู้แจ้งความดำเนินคดี แต่กฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การมีอยู่ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการล้มล้างสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมการเมืองของประชาชน อันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตย หากปล่อยให้รัฐบาลเผด็จการและองคาพยพกดขี่ประชาชนเช่นนี้ต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การพังทลายของการปกครองประชาธิปไตย ประชาชน ณ แยกราษฎรประสงค์แห่งนี้ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน ยกเลิกมาตรา 112 และให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยต่อไป
ขณะนี้ประชาชนได้ร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกมาตรา 112 เป็นจำนวนถึง 230,000 คนแล้ว คณะราษฎรยกเลิกมาตรา 112 (ครย) จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกภาคส่วน ทุกฟากฝ่าย ทุกแนวความคิด รวมพลังกันลงชื่อเพิ่มเติมให้ถึงหนึ่งล้านคน และขอเรียกร้องต่อทุกพรรคการเมืองให้ประกาศนโยบายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ - ประชาธิปไตย รักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน แก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกมาตรา 112 และดำเนินงานทุกวิถีทางที่จะให้รัฐบาลประยุทธ์ลาออกไป แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยเพื่อให้สังคมไทยมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป
ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ
คณะราษฎรยกเลิกมาตรา 112 (ครย)
12 ธันวาคม 2564 แยกราษฎรประสงค์

ราษฎร was live.
13h ·

ม็อบ “12.12 ยกเลิก 112”
12 ธันวาคมนี้ ขอเชิญประชาชนร่วมแสดงพลัง ณ ราษฎรประสงค์ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป
ในงานนี้ เตรียมพบกับกิจกรรมเสวนากลางม็อบในหัวข้อ “ราษฎรพิพากษา มาตรา 112” พร้อมกับการปราศรัย และการแสดงดนตรี
____
#ยกเลิก112