วันเสาร์, ตุลาคม 16, 2564

“สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ มีมติให้ต่ออายุราชการสัตว์ป่าอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอกไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ” (วิสา คัญทัพ พูดถึงขบวนการนักศึกษาในยุค 14 ตุลา 2516)


Visa Khanthap
October 14, 2018 ·

จนมาถึงเดือนมิถุนายน ปี 2516 เราจัดทำหนังสือเล่มที่สามชื่อ “มหาวิทยาลัย ที่ยังไม่มีคำตอบ” หน้าในของปกหลังลงชื่อผู้จัดทำสองคนคือ วิสา คัญทัพ และ บุญส่ง ชเลธร จากนั้นเป็นรายชื่อสมาชิกชมรมคนรุ่นใหม่ จำได้ว่ามี ประเดิม ดำรงเจริญ, สมพงษ์ สระกวี, ชำนิ ศักดิเศรษฐ์, แสง รุ่งนิรันดรกุล, วันชัย แซ่เตีย, สุเมธ สุวิทย์เสถียร, กุลปราณี เมฆศรีสวัสดิ์,พวกเราถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยเรียกตัวสอบสวนรายคน ต่อมาก็มีคำสั่งอธิการบดี ลงโทษลบชื่อนักศึกษาเก้าคนออกจากมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เนื่องมาจากมีข้อความที่ตีพิมพ์อยู่ในหน้าหนึ่งของหนังสือว่า

“สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ มีมติให้ต่ออายุราชการสัตว์ป่าอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอกไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ”

จะเข้าใจว่า ถ้อยคำแค่นี้เป็นมูลเหตุถึงกับให้ต้องลบชื่อนักศึกษาผู้จัดทำได้อย่างไร ก็จะต้องเข้าใจสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมยุคนั้น ดังที่บอกแล้วว่าบ้านเมืองไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีรัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหาร ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ยึดอำนาจ ทหารเป็นใหญ่ จะใช้งบประมาณที่ได้จากการขูดรีดภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เพื่อพวกพ้องส่วนตัวอย่างไรก็ไม่มีใครว่ากล่าว สื่อหนังสือพิมพ์ใด นักคิดนักเขียนคนใดแหลมคมออกมาวิพากษ์วิจารณ์มีอันต้องเป็นไป เตือนไม่ฟังหนังสือพิมพ์อาจถูกสั่งปิด คนเขียนมีสิทธิ์ติดคุก งบประมาณที่นำไปใช้โดยไม่เปิดเผยของพวกเขาถูกตั้งชื่อให้เข้มขลังว่า “งบราชการลับ” เรื่องที่อื้อฉาวในยุคนั้นก็คือ การนำเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ ขนอาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ ขนคณะผู้นำทหารและดารานักร้องไปล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่ เป็นกิจกรรมบันเทิงล้วนๆส่วนบุคคล แต่ใช้งบราชการลับ ถูกทำให้เป็นเรื่องลับ แต่เรื่องกลับมาแดงขึ้นเพราะเครื่องบินดันไปตก เลยเกิดเป็นข่าวใหญ่โตที่ถูกหนังสือพิมพ์เอามาแฉเบื้องหลัง ประกอบกับจอมพลถนอม เพิ่งต่ออายุราชการให้ตัวเองเพื่อทำงานต่อโดยไม่เกษียณ ข้อความข้างต้น จึงเหมือนหอกทิ่มแทงหัวโจกเผด็จการโดยตรง

คำว่า “สภาสัตว์ป่า” มาสัมพันธ์กับ “ทุ่งใหญ่” บวกเข้ากับ “การต่ออายุราชการให้สัตว์ป่า” จะมีความหมายเป็นอื่นใดได้เล่า ถ้าไม่ลงที่เป้าจอมพลถนอม กิติขจร ผู้ทรงอำนาจสูงสุดในยุคนั้น เมื่อมองจากมุมอธิการบดี ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ ย่อมรู้สึกระทมทุกข์อย่างยิ่งที่ควบคุมดูแลสถาบันแล้วปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ดังนั้น เพื่อประจบเอาใจเผด็จการ ดร.ศักดิ์จึงออกคำสั่ง ลบชื่อนักศึกษา 9 คนออกจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง 1.นายวิสา คัญทัพ 2.นายบุญส่ง ชเลธร 3.นายแสง รุ่งนิรันดรกุล 4.นายประเดิม ดำรงเจริญ 5.นายชำนิ ศักดิเศรษฐ 6.นายสมพงษ์ สระกวี 7.นายสุเมธ สุวิทยเสถียร 8.นายวันชัย แซ่เตีย 9.นางสาวกุลปราณี เมฆศรีสวัสดิ์ อันที่จริงทุกคนเป็นสมาชิกชมรมคนรุ่นใหม่ที่เราเอาชื่อมาใส่ไว้ บางคนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดทำหนังสือแต่อย่างใด ดังกรณีคุณชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ พอได้ข่่าวว่่าถูกลบชื่อออกจากมหาวิทยาลัยก็แสดงความไม่พอใจ ว่าเอาชื่อเขาไปใส่ทำไม เช่นนี้เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พวกเราได้หารือกันเพื่อดำเนินการเคลื่อนไหวต่อสู้กับคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม โดยเบื้องต้นร้องเรียนไปยังองค์การนักศึกษารามคำแหงซึ่งมี นายราชันย์ วีระพันธุ์ เป็นนายกองค์การฯ แต่ด้วยตัวนายกฯและกรรมการองค์การนักศึกษารามฯชุดแรกได้รับการสนับสนุนจาก ดร.ศักดิ์ นายราชันย์จึงปฏิเสธที่จะร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมให้พวกเรา ผมกับบุญส่ง ชเลธรและเพื่อนๆเห็นว่าพ้นจากนี้ไปองค์กรนักศึกษาที่จะเป็นที่พึ่งให้พวกเราได้น่าจะเป็นศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีนายธีรยุทธ บุญมี เป็นเลขาธิการศูนย์ฯในขณะนั้น เราจึงพากันเดินทางไปพบ ธีรยุทธ ที่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขอให้ศูนย์นิสิตนักศึกษาเคลื่อนไหวประท้วงคัดค้านคำสั่งที่ถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพนักศึกษา ธีรยุทธ รับทราบและเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวของพวกเรา จึงเรียกประชุมกรรมการศูนย์ฯ ได้ข้อสรุปให้มีการเดินขบวน ชุมนุมประท้วงคัดค้านคำสั่งดังกล่าว ในวันที่ 21 มิถุนายน 2516 โดยให้แต่ละมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ซึ่งหลักๆในเวลานั้นก็มีธรรรมศาสตร์ จุฬาฯ เกษตรฯ และรามคำแหงที่นับ่ว่าเป็นสถาบันที่มีนักศึกษามากและคึกคักที่สุด จัดชุมนุมในมหาวิทยาลัยของตนและนัดหมายเวลาเดินขบวนออกมารวมกันที่หน้าทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐเพื่อเรียกร้องต่อนายกสภามหาวิทยาลัยคือ พลโทแสวง เสนาณรงค์ ซึ่งเป็นทหาร เพราะยุคเผด็จการถนอม ประภาส กระทรวง ทบวง กรม การคลัง การธนาคาร วิสาหกิจสำคัญๆต่่าง ไม่เว้นแม้ด้านการศึกษาล้วนถูกควบคุมด้วยนายทหารทั้งสิ้น

เช้าวันนั้น รามคำแหงบรรยากาศคึกคัก นักศึกษาทะยอยกันมาเรียนแต่เช้าหนาแน่นเหมือนทุกวัน บุญส่ง ชเลธร หนึ่งในผู้นำนักศึกษาที่ถูกลบชื่อ ปีนขึ้นไปยืนตระหง่านอยู่บนกำแพงที่จารึกป้ายชื่อมหาวิทยาลัยรามคำแห่ง พร้อมมือถือโทรโข่งไฮปาร์คเชิญชวนเพื่อนนักศึกษาให้เข้าร่วมชุมนุมเพื่อเดินขบวนประท้วงคำสั่งอันไม่ชอบธรรมของอธิการบดี นักศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมฟังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆแรกๆก็บางตา ต่อมาจากหลักร้อยก็เป็นหลักพัน ต้องถือเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยน้องใหม่แห่งนี้จัดชุมนุม บุญส่งขึ้นไฮปาร์คดักหน้าทางเข้าประตูเพื่อต้อนให้นักศึกษาไปรวมตัวกันอยู่ที่เวทีปราศรัยหลักซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนั้นสถานการณ์ขณะนั้น ขั้นตอนรวมพลังนักศึกษาดูจะผ่านพ้นไปได้แล้ว สิ่งที่พวกเราวิตกกันก็คือ เราจะนำพาพวกเขาเดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยเดินทางไกลไปถึงหน้าทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐได้อย่างไร รามคำแหงอยู่หัวหมาก ทบวงฯอยู่ราชดำเนินนอกบริเวณเยื้องๆกับเวทีมวยราชดำเนิน นับว่าห่างไกลมิใช่น้อย เรามีกำหนดการต้องไปถึงทบวงมหาวิทยาลัยตอนเที่ยง ต้องระดมนักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยให้เสร็จสิ้นในช่วงเช้า เราจะปลุกนักศึกษาให้ลุกเดินออกนอกประตูรามได้ยังไงคือปัญหาที่ท้าทายอยู่เบื่องหน้า แต่แล้วสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นอุปสรรค์ก็คลี่คลายไปได้โดยธรรมชาติ เมื่อ ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์มีท่าทีแข็งกร้าวให้นักการภารโรงตั้งการ์ดสะกัดกั้นนักศึกษาจนเกิดกระทบกระทั่งกันขึ้น มีนักศึกษาคนหนึ่งถูกตีหัวแตก เป็นจังหวะให้พวกเราใช้ความรุนแรงที่ทางมหาวิทยาลัยกระทำกับนักศึกษาปลุกระดมเดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยทันที ด้วยความโกรธแค้นที่เห็นเพื่อนถูกกระทำ พวกเราพากันหลั่งไหลรูปขบวนยาตราสู่ทบวงมหาวิทยาลัยอย่างทรงพลัง และกลายเป็นว่านักศึกษาจากมหาวิทยาลัยน้องใหม่ระดมพลังนักศึกษาไปได้มากที่สุด

ขบวนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆเริ่มทะยอยกันมาถึงตั้งแต่ก่อนเที่ยงโดยมีธรรมศาสตร์ที่อยู่ใกล้ที่สุดมาตั้งเวทีรออยู่ก่อนแล้ว เวทีก็คือหลังคารถสองแถวที่มีเครื่องเสียงขนาดเล็กที่พอจะพูดให้คนหลักพันฟังพอรู้เรื่อง ผู้นำนักศึกษาฝ่ายธรรมศาสตร์จะมีใครบ้าง ถึงวันนี้ความทรงจำลางเลือนเต็มที แต่ที่จำได้แจ่มชัดคือ ธัญญา ชุนชฎาธาร กลุ่มสภาหน้าโดม ธรรมศาสตร์ ผู้เป็นเจ้ากี้เจ้าการผลักดันให้ผมขึ้นพูดบนเวทีซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการพูดหน้าฝูงชนของผม ประสบการณ์ครั้งแรกคือขาสั่น คาดว่าเสียงก็คงจะสั่่นไปตามขา อย่างนี้ก็คงจำไม่ได้แล้วว่าพูดอะไรออกไปบ้าง เวลานั้นผมถนัดเขียน ส่วนคนถนัดพูดคงเป็นบุญส่ง ชเลธร เพราะเขาผ่านการฝึกพูดจากชมรมปาฐกถาและโต้วาทีมาก่อน สถานที่ที่หน้าทบวงมหาวิทยาลัยวันนั้นคับแคบไปถนัดตา เพราะไม่พอบรรจุคนที่มามากมายจนล้นฟากถนนเข้าไปขวางกั้นทางจราจร การชุมนุมต้องย้ายจากหน้าทบวงฯไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากการชุมนุมที่ไม่ได้เตรียมการว่าจะยืดเยื้อเปลี่ยนไปเป็นชุมนุมข้ามคืน เพราะประชาชนเข้าร่วมชุมนุมกับนักศึกษาด้วย ประเด็นข้อเรียกร้องต่อทบวงฯจึงกลายเป็นประเด็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล นอกเหนือจากเรื่องสิทธิเสรีภาพสู่เรื่องรัฐธรรมูญ อันเผด็จการทหารได้ยึดอำนาจการปกครองบ้านเมืองไปโดยจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ต้องนับว่าเป็นการชุมนุมใหญ่ที่สุดครั้งแรกเวลานั้นที่มีคนเข้าร่วมเรือนหมื่น ปิดถนนราชดำเนินเป็นครั้งแรก ขบวนการนักศึกษาได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลถนอม 3 ข้อคือ หนึ่ง ให้นักศึกษา 9 คนกลับเข้าเรียนโดยไม่มีความผิด สอง ให้ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ พ้นจากตำแหน่งอธิการบดีและ สาม ให้รัฐบาลให้คำตอบเรื่องคืนรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนภายในหกเดือน รัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้องทั้งสามข้อ นักศึกษาประชาชนได้ชัยชนะเป็นครั้งแรก การชุมนุมยุติลงในวันที่ 22 มิถุนายน 2516

(บางตอนจากบันทึกขนาดยาวที่ยังเขียนไม่จบของ วิสา คัญทัพ)