ชัยพงษ์ สำเนียง
October 28 at 6:04 AM ·
ไหน ๆ เขาก็ขอโทษจิตร ภูมิศักดิ์แล้ว ส่วนคนโยนบกจิตรก็คงต้องกล่าวถึง มี 3 คน ที่ทำการโยนจิตรจากเวที ประกอบด้วย
นายสีหเดช บุนนาค ประธานเชียร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ (ตอนนี้เป็นพลโท)
นายศักดิ์ สุทธิพิศาล ผู้แทนคณะวิศวกรรมศาสตร์
นายชวลิต พรหมานพ เลขานุการคณะวิศวกรรมศาสตร์
และที่ลืมไม่ได้อีก 2 คน ที่กล่าวหาจิตรจนถูกทำร้ายอย่างป่าเถื่อน คือ ม.ร.ว.สลับ ลดาวัลย์ เลขาธิการมหาวิทยาลัย ที่กล่าวหาว่าหนังสือของจิตรเอียงซ้าย และ นายธวัชชัย ไชยยง นายกสโมสรจุฬาฯ ที่กล่าวหาว่าจิตรทำลายชื่อเสียงมหาวิทยาลัย
ดีชั่วประดับไว้ในโลกา
...
ข้อมูลเพิ่มเติม
พ. สุวรรณสุภา อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นนิสิตจุฬาฯร่วมสมัยกับจิตร ได้เขียนเล่าไว้ว่า
“ผู้เขียนยังจำวันพุธที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖ ซึ่งเป็นวันที่จิตถูกโยนบกได้ดี เพราะในขณะนั้นผู้เขียนเรียนอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ ๒ และนั่งอยู่แถวหน้าของหอประชุม
วันนั้นเวลาประมาณเที่ยงวัน ทางมหาวิทยาลัยได้เรียกประชุมนิสิตทั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๓,๐๐๐ คน เข้าประชุมพร้อมกัน ณ หอประชุมของมหาวิทยาลัย
ม.ร.ว.สลับ ลดาวัลย์ เลขาธิการมหาวิทยาลัย เป็นผู้แถลงถึงเหตุที่ต้องระงับการแจกหนังสือ ๒๓ ตุลา ซึ่งจิตเป็นสาราณียกร โดยแถลงว่า จิตรนำเรื่องและบทความ รวมทั้งกาพย์กลอน ที่ไม่เหมาะสมมาลงพิมพ์ อาทิเช่น เรื่องโจมตีพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ บทกลอนเรื่อง “แม่” วิจารณ์เรื่องผู้หญิงที่มีลูกเพราะรักสนุกทางเพศ แล้วไม่รับผิดชอบ เรื่องโจมตีรัฐบาล โดยเอาบทความของชาวต่างประเทศที่เขียนเกี่ยวกัยคอรัปชั่นในวงการข้าราชการไทยมาแปลเผยแพร่ รวมทั้งการที่ไม่พิมพ์ภาพพระบรมรูป ร.๕ ไว้ในเล่มและที่ปก
สรุปแล้ว ม.ร.ว.สลับ ลดาวัลย์ กล่าวหาว่าหนังสือ ๒๓ ตุลาเล่มนี้ มีบทความและเรื่องที่นำมาลงส่อไปในทาง “เอียงซ้าย” ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย
หลังจากที่ ม.ร.ว.สลับกล่าวจบ นายธวัชชัย ไชยยง นายกสโมสรจุฬาฯได้ขึ้นไปกล่าวเสริมต่อที่ประชุมอีกว่า จิตรเป็นคนทำลายชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยมัวหมอง โดยการนำเอาสีแดงมาป้าย ต่อจากนั้น นายสีหเดช บุนนาค ประธานเชียร์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ขึ้นไปกล่าวสนับสนุนคำพูดของนายกสโมสรอีกว่า จิตรตั้งใจจะทำหนังสือแนวคอมมิวนิสต์ ซึ่งตนเองได้เคยเตือนไปแล้วว่า อย่าเอาพระนามจุฬาลงกรณ์ไปแปดเปื้อน ส่วนใครจะเป็นแดงหรือไม่นั้น ก็ขอให้เรียนให้จบเสียก่อน
จิตรขึ้นชี้แจงต่อที่ประชุมเรื่องปกหนังสือว่า ปกหนังสือที่ไม่ได้ใช้ตราพระเกี้ยว เพราะเห็นว่าจำเจใช้กันมาทุกปี จึงได้ไปขอถ่ายพระราชวลัญจกร สยามินทร์ มาพิมพ์แทน ส่วนเนื้อหาในเล่มก็ได้ไปขอให้ผู้รู้นำของใหม่มาเขียน ไม่ให้ซ้ำซากอยู่กับเรื่องเก่า ซึ่งตรงกับความหมายที่ว่า “แหวกแนว” มิใช่การทำหนังสือคอมมิวนิสต์ การที่เลขาธิการมหาวิทยาลัยนำบางส่วนของเนื้อเรื่องหรือบทความมาอ่าน แล้วกล่าวหาใส่ร้ายนั้น เห็นว่าไม่เป็นธรรม ควรที่จะให้นิสิตได้เห็น ได้อ่านเนื้อหาของหนังสือทั้งหมด เพื่อจะได้วินิจฉัยได้ถูกต้อง ซึ่งเมื่อจิตรกล่าวจบก็ได้มีเสียงปรบมือสนับสนุนจากนิสิตดังสนั่น พร้อมกับเสียงตะโกนให้ตีแผ่หนังสือออกมา
ในขณะที่นิสิตในหอประชุมตะโกนให้ตีแผ่หนังสือ ๒๓ ตุลาออกมานั้น เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อนายสีหเดช บุนนาค ประธานเชียร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ นายศักดิ์ สุทธิพิศาล ผู้แทนคณะวิศวกรรมศาสตร์ กระโดดขึ้นไปบนเวที ตรงเข้าจับแขนจิตรคนละข้าง โดยมีนายชวลิต พรหมานพ เลขานุการคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตามขึ้นใปรวบขาจิต ช่วยกันโยนลงมาจากจากเวทีสูงประมาณ ๕ ฟุต ตกลงมายังพื้นไม้ชั้นล่าง ท่ามกลางเสียงหวีดร้องของนิสิตหญิง
พอร่างของจิตรตกมาถึงพื้นก็สลบเหมือด พรรคพวกจึงนำส่งโรงพาบาลเลิศสิน บางรัก ทันใดนั้นเสียงตะโกน “ป่าเถื่อน...ป่าเถื่อน” ก็ดังขึ้นกึกก้องห้องประชุม จนเกือบจะเกิดวางมวยกันขึ่นระหว่างนิสิตรักความเป็นธรรมกับฝ่ายปฏิกิริยา ซึ่งต่างก็ฮือกันไปที่หน้าเวทีหอประชุม และจำได้ว่ามีนิสิตหญิงผู้หนึ่งได้ขึ้นไปบนเวที กล่าวถึงการกระทำอันป่าเถื่อนในครั้งนี้
ส่วนจิตรเอง หลังจากที่ได้ฟื้นขึ้นก็ได้แจ้งกับทางโรงพยาบาลว่า “ตกจากที่สูง” และไม่ยอมแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่จับเขาโยนลงมาแต่อย่างใด...”
นอกจากถูก “โยนบก” แล้ว จิตรยังถูกคณะกรรมการมหาวิทยาลัยร่วมกันพิจารณาโทษสั่งพักการเรียน ๑ ปี ส่วนคู่กรณ๊ที่ช่วยกันจับจิตรโยนลงมายอมรับผิดว่ากระทำไปโดยอารมณ์ ไม่ทันยั้งคิด ก็ได้รับการพิจารณาโทษเหมือนกัน ที่ประชุมลงมติให้จับโยนน้ำตามเทรดดิชั่นของจุฬาฯ แต่เมื่อถึงเวลาลงโทษ กลับให้เดินลงน้ำไปเองไม่มีการโยน
ข่าว “โยนบก” ได้เป็นข่าวพาดหัวในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเช้าวันรุ่งขึ้น นักข่าวยังตามขอสัมภาษณ์พลอากาศโทมุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฏ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย แต่ก็ถูกขัดขวางจากนิสิตกลุ่มหนึ่ง ถึงกับแย่งกล้องในมือและใช้ไม้ฟาดนักข่าวจนบาดเจ็บต่อหน้าอธิการบดี ทำให้เกิดข่าวพาดหัวตามมาอีกว่า “รุมสกรัม นสพ.ในจุฬาฯทารุณ ขณะเข้าไปสัมภาษณฺอธิการบดี” “จุฬาป่าเถื่อน เข้าแย่งกล้องนักหนังสือพิมพ์ต่อหน้าอธิการ” “นิสิตเผ่า “ซูลู” อาละวาดคนข่าว”
ส่วน ศาสตราจารย์ วิลเลียม เจ. เก็ดนีย์ ดุษฎีบัณฑิตทางอักษรศาสตร์ ฝ่ายภาษาโบราณตะวันออก ซึ่งได้ทุนเข้ามาค้นคว้าวรรณกรมไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๐ เป็นเวลา ๒ ปี เมื่อครบกำหนดแล้วก็ตัดสินใจอยู่ต่อเพราะหลงรักเมืองไทย หาเลี้ยงตนด้วยการรับจ้างทำงานแปลให้แก่หน่วยงานต่างๆ เคยเป็นที่ปรึกษาหอสมุดแห่งชาติ และเป็นผู้ให้ที่พักอาศัยแก่จิตร ภูมิศักดิ์ระหว่างที่เป็นนิสิตจุฬาฯ ก็ถูกทางการสั่งให้กลับอเมริกาไปด้วย
จิตรได้กลับมาเรียนต่อในปี ๒๔๙๘ จนสำเสร็จรับปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิในปี ๒๕๐๐ จากนั้นก็เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ และเป็นผู้บรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยศิลปากรและวิทยาลัยประสานมิตร แต่ก็ถูกเพ่งเล็งติดตามความเคลื่อนไหวจากสันติบาลเป็นประจำ พอถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัฐเป็นนายกรัฐมนตรี จิตรก็ถูกจับในการกวาดล้างใหญ่ในเดือนตุลาคม ๒๕๐๑ ด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์และทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ถูกจำคุกอยู่ถึง ๗ ปีเศษในระหว่างพิจารณาคดี ในที่สุดศาลก็ตัดสินยกฟ้องพ้นข้อหาในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๐๗ หลังจอมพลสฤษดิ์อสัญกรรม
เมื่อพ้นโทษออกมาไม่นาน จิตรจึงตัดสินใจเดินทางขึ้นเทือกเขาภูพานร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ จับอาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐในนามของ “สหายปรีชา” แต่แล้วในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๙ ขณะที่บ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร กำลังมีงานบุญพระเวส จิตรได้เข้ามาเพียงคนเดียวเพื่อขออาหารไปให้พรรคพวก จึงถูกกำนันซึ่งเป็นสมาชิกรักษาดินแดนพร้อมกับเหล่าสมาชิก ล้อมยิงเสียชีวิตกลางทุ่งนา
เป็นการจบชีวิตของนักคิดนักเขียนที่มีแนวคิดผิดแผกจากยุคสมัยอย่างน่าเสียดาย
จาก ผู้จัดการออนไลน์