คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ในพาเหรดฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ไม่ทำให้ “พระนามจุฬาลงกรณ์สูญสิ้น” หรือ “อัตลักษณ์ล่มสลาย” อย่างที่ ติ่ง ‘ไทยโพสต์’ และ ‘แนวหน้า’ โอดโอยกันหรอกนะ
เช่นที่ Netiwit Chotiphatphaisal บอกนั่นละ “ไม่สูญสิ้นอะไรหรอก กิจกรรมนี้พึ่งมีมาไม่กี่ปีนี่เอง และก็แค่หมดสมัยไปแล้วเท่านั้น” มติกรรมการ ๒๙ ต่อ ๐ ยืนยันไว้ ว่าเพราะมัน “ล้าหลัง อันขัดต่อคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน”
ยิ่งได้รู้ (จาก ‘เนเน่’) ว่า “กว่าจะมาถึงการยกเลิกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวได้ไม่ง่ายเลย” ยิ่งต้องยอมรับว่ามันถึงเวลาเลิกราเสียที “ต้องยกเครดิตให้ทุกท่านผู้มาก่อน” เนติวิทย์ย้อนไป “สมัยที่ผมอยู่สภานิสิตจุฬาฯ พี่ๆ ก่อนหน้า เพื่อนๆ และนิสิตคนอื่นๆ
ก็พยายามสู้ทางความคิด และผลักดันจนบางครั้งระงับโครงการได้ แต่ก็ถูกขัดขวาง ถูกเพิกเฉย” มาก่อนแล้ว “เหตุผลที่ไม่ยกเลิกก่อนหน้าส่วนหนึ่งก็เพราะเรื่องเงินนี่แหละ นี่คือราคาที่ต้องจ่ายของการมีจุดยืน แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าที่ทำ”
เนื่องจากติ่ง @thaipost คนหนึ่งทวี้ตว่า “องค์กรที่มีศิษย์เก่าเป็นผู้บริหาร ที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ควรงดบริจาคสนับสนุนกิจกรรมใดๆ ของ อบจ.ชุดนี้โดยสิ้นเชิง เริ่มจากงานฟุตบอลประเพณีเลย” ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นกิจกรรมต่อเนื่องประจำปี
จะเรียกว่า ‘ประเพณี’ ก็ได้ แต่ไม่ใช่ ‘วัฒนธรรม’ ที่ถูกทำลาย “แล้วสุดท้าย ประเทศไทยก็จะเหลือแค่ประเทศกลวงๆ” อย่างที่ @exnimman โวยวายให้ “รอดูกันไป” ซ้ำความจริง Nimman นั่นเองจัดลำดับก่อนหลังผิดหมด ดันมองย้อนจากอนาคตกลับมาหาความกลวง
ดังที่ถ้อยแถลงของคณะกรรมการฯ ระบุ “กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน” ที่ให้นิสิตกว่า ๕๐ คนแบกเสลี่ยง แท่นตั้งพระเกี้ยวและผู้อัญเชิญอีกสองคน
“เป็นการสนับสนุนความเป็นอภิสิทธิ์ชนผ่านค่านิยมมาตรฐานความงามแบบใดแบบหนึ่ง...นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้อำนาจในการบังคับให้คนต้องมาแบกเสลี่ยง” จากนิสิตที่อยู่หอ “อ้างว่าจะมีผลต่อคะแนนการคัดเลือกให้มีสิทธิอยู่ในหอพัก”
ประเพณีกดขี่เหล่านั้นต่างหากที่ทำให้ประเทศไม่ก้าวไปข้างหน้าสู่ความอารยะสากล เฉกเช่นกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งกำลังบ่อนทำลายการเติบโตทางปัญญาของเยาวชนไทย ด้วยการจับกุมเอาบรรดาแกนนำในการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงไปกักขัง
โดยเฉพาะการจับกุมและไม่ให้ประกันผู้ต้องหา ๑๑๒ รายล่าสุด เบนจา อะปัญ นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ มธ. ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้อย่างน้อยๆ แก้ไขตัวบทลดความโหดเหี้ยมลงไปเป็นเพียงความผิดในทางแพ่ง เหมือนความผิดฐานหมิ่นประมาททั่วไป
การนี้ได้มี Pravit Rojanaphruk บรรณาธิการ ‘ข่าวสดอิงลิช’ เขียนจดหมายเปิดผนึกเรียกร้อง ‘ผู้ร่วมวิชาชีพสื่อ’ ว่า “ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องพูดเรื่อง ม.๑๑๒” เลิกทำเป็นอมพะนำเสียที เขาว่า “คงปฎิเสธมิได้ว่า ม.๑๑๒ เป็นอุปสรรคต่อการปฎิบัติหน้าที่สื่อ”
ประการหนึ่งก็คือ “นักข่าวอยู่ในบรรยากาศแห่งความกลัว หรือไม่ก็เซนเซอร์ตนเองเพื่อเอาตัวรอด” และ “การเซนเซอร์ข่าวสารและข้อมูลเชิงเท่าทันต่อสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นประจำ...ทำให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับสถาบันฯอย่างไม่รอบด้าน บิดเบี้ยว”
Atukkit Sawangsuk เห็นคล้อย “ใช่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สื่อกระแสหลักยิ่งเป็นสื่อใหญ่ยิ่งไม่กล้าพูด (นึกถึงจอมขวัญต้องออกจากไทยรัฐทีวี) แม้แต่สื่อประชาธิปไตย อย่างผม...สื่อออนไลน์ก็อย่าว่าไม่สำคัญ...ต้องช่วยกันสร้างวาระ วิพากษ์ ๑๑๒ ครั้งใหญ่”
อีกราย วศินี พบูประภาพ (พลอย) แห่ง Workpoint today “เคยพูดเรื่องนี้ในงานน้องๆ นิสิตครบปีพอดี” ว่า วันที่ ๑๐ สิงหา ๖๓ ซึ่ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ปราศรัยเสนอข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ๑๐ ข้อ “นอกจากจะเป็นวันที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเปลี่ยนไปตลอดกาล
มันยังเป็นวันที่เป็นจุดหักเหของประวัติศาสตร์การทำงานของสื่อมวลชนไทยด้วย” แรกเลยวันนั้นสื่อมวลชนไม่รู้ว่าจะรายงานการปราศรัยของรุ้งว่าอย่างไรดี ไม่มีใครกล้าใช้คำว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ตามคำของ ‘รุ้ง’ ผู้ปราศรัย
“เรากลัวว่าคนที่พูดเรื่องนี้ คนที่ไปชุมนุมจะเป็นอันตราย...มันน่าอายและปฏิเสธไม่ได้ว่า เราก็กลัวว่าเราจะเป็นอันตรายด้วย”
แต่ท้ายที่สุดก็ได้รับไฟเขียวให้ทวี้ตรายงานข่าวได้ จนต่อมาในวันที่ ๑๓ กันยา
ว้อยซ์ทีวีก็แพร่ภาพการปราศรัยทั้งหมด
(https://www.youtube.com/watch?v=TsAqksVdw8A, https://www.facebook.com/pravit.rojanaphruk.5/posts/3208939536000542 และ https://www.facebook.com/235913503118661/posts/4563961183647183/?d=n)