วันอังคาร, ตุลาคม 26, 2564

"วาระทางการเมือง" ของ บวรศักดิ์


ภาพจาก Luckyleg @Luckyleg88 Reacting of oppression
https://www.facebook.com/suraphotthaweesak/posts/4473664189393552
สุรพศ ทวีศักดิ์
5h ·

การลงมติให้ยกเลิกประเพณีแบกพระเกี้ยวถูกหลักความเสมอภาคที่สุดแล้วครับ
ไม่ใช่นิสิตใช้ "ความรู้สึก" ครับ คนที่ใช้ความรู้สึกคือบวรศักดิ์เองที่กล่าวหาว่าการใช้ข้อความสอดที่คล้องกับข้อเท็จจริงว่าพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ของศักดินาเป็นการ "ทำร้ายจิตใจคนไทยเป็นอันมาก" ซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงหรือหลักฐานยืนยันใดๆ ว่าคนไทยถูกทำร้ายจิตใจอย่างไร แต่มันเป็นเรื่องปกติมากที่เรื่องแบบนี้ต้องมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราไม่สามารถอ้างได้อย่างมีเหตุผลว่าคนที่ไม่เห็นด้วย "ถูกทำร้ายจิตใจเป็นอันมาก" บวรศักดิ์เป็นนักกฎหมายไม่ควรใช้โวหารคลุมเครือในการกล่าวหาคนคิดต่างเช่นนั้น
ส่วนตรรกะของบวรศักดิ์ก็มีปัญหามาก เช่นที่เขาเขียนว่า
" แต่เขาเลือกประธานาธิบดีเขาเพราะเขารู้ว่านั่นคือการแบ่งงานกันทำ ไม่ใช่เลือกเพราะเขาต้องการสนับสนุนความเชื่อที่ว่าคนไม่เท่ากัน การเป็นพระมหากษัตริย์ก็คือการแบ่งหน้าที่และแบ่งงานกัน เหมือนที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในอัคคัญสูตร ว่าพราหมณ์ไม่ได้เกิดจากปากพระพรหมดอก แต่ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูตร คือการแบ่งหน้าที่กันทำ ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ลองคิดดูว่าถ้านิสิตจุฬาฯทุกคนเป็นนายกสโมสรได้เหมือนเธอ เนติวิทย์ อะไรจะเกิดขึ้น??? "
นี่เป็นการอ้างเหตุผลเปรียบเทียบแบบตรรกวิบัติอย่างเหลือเชื่อ เพราะ 1) การแบ่งงานกันทำตามระบบวรรณะ 4 เป็นระบบชนชั้นที่ขัดหลักความเสมอภาคชัดเจนมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน 2) การแบ่งงานกันทำแบบเลือกตั้งประธานาธิบดี และเลือกตั้งนายกสโมสร ไม่ได้ขัดหลักความเสมอภาค เพราะทุกคนที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์เดียวกันสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้เท่าเทียมกัน และมีสิทธิเท่าเทียมกันในการดำรงตำแหน่งดังกล่าวหากเสียงข้างมากโหวตเลือก แต่การเป็นกษัตริย์เป็นเรื่องของการสืบสายเลือด ถ้าจะมีด้านที่สอดคล้องกับหลักความเสมอภาค ก็ต่อเมื่อสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญในระบอบเสรีประชาธิปไตยและอยู่ใต้หลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบของประชาชนเท่านั้น
ในระบอบเสรีประชาธิปไตย ความเสมอภาค (equality) ตามแนวคิดปรัชญาเสรีนิยม (liberalism) หมายถึง ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานต่างๆ เท่าเทียมกัน ความแตกต่างอาจมีได้หากอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และความก้าวหน้าของสังคม เช่น ความแตกต่างทางเศรษฐกิจ ตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ราชการและอื่นๆ แต่ต้องอยู่ภายใต้กระบวนการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม หรือกรณีความแตกต่างบางอย่าง เช่นประธานาธิบดีอาจได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษหรือมีอภิสิทธิ์บางอย่างในฐานะผู้นำรัฐบาลและประมุขของรัฐ แต่เขาต้องไม่มีสถานะ อำนาจหรือภิสิทธิ์ใดๆ ที่ขัดกับหลักเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง เช่นเสรีภาพทางการเมือง, เสรีภาพทางความคิดเห็น, การพูด, การแสดงออก, การชุมนุม, สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติด้วยความเสมอภาคทางกฎหมายตามหลักนิติรัฐ และสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ของพลเมือง
แน่นอนว่า กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐก็ถูกปฏิบัติเป็นพิเศษ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่มีสถานะและอำนาจใดๆ ขัดหลักสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ ของพลเมืองเช่นเดียวกับประธานาธิบดี
ในขณะเดียวกัน หากรัฐต้องปฏิบัติในทางบวกเพื่อช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่พลเมืองบางกลุ่มแตกต่างจากคนอื่นๆ ต้องเป็นการปฏิบัติเพื่อให้หลักประกันสิทธิในสวัสดิการต่างๆ แก่พลเมืองที่ด้อยโอกาส เสียเปรียบ หรือตกอยู่ในสถานะที่ยากลำบากกว่าคนอื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ไม่ใช่การทุ่มงบประมาณมากเกินพอเพียงแก่ชนชั้นบนที่สุขสบายมั่งคั่งมากอยู่แล้วเพียงไม่กี่คน
ที่สำคัญ การยืนยันหลักความเสมอภาคในระบอบเสรีประชาธิปไตย ต้องยืนยันควบคู่กับการยืนยันสิทธิและเสรีภาพด้วยเสมอ พูดง่ายๆ คือสิทธิและเสรีภาพแยกขาดจากหลักความเสมอภาคไม่ได้
และในทางปฏิบัติตัวระบบโครงสร้างเช่น รัฐธรรมนูญ อำนาจหน้าที่ของสถาบันต่างๆ ทางการเมืองและทางสังคม เช่น สถาบันกษัตริย์ สถาบันการเมือง รัฐบาล รัฐสภา ตุลาการ กองทัพ ศาล ระบบราชการ ระบบเศรษฐกิจ สถาบันศาสนา การศึกษา วัฒนธรรม ประเพณีทางสังคม ฯลฯ ต้องสอดคล้องกับหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคในระบอบเสรีประชาธิปไตยทั้งหมด ต้องไม่มีสถาบันใดๆ ที่มีสถานะและอำนาจขัดหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
ดังนั้น การลงมติยกเลิกประเพณีแบกพระเกี้ยว ก็คือการยกเลิกประเพณีที่ไม่สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคตามระบอบเสรีประชาธิปไตย เพราะเป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญกับศักดินาในบริบทที่สังคมไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่สามารถจะมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคได้จริง
ถามว่านิสิตที่ลงมติเรื่องนี้มี "วาระทางการเมือง" ไหม คำตอบคือ "มี" แต่เป็นวาระทางการเมืองที่เป็นการต่อสู้เพื่อสร้างวัฒนธรรมยึดมั่นและเคารพหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและประชาธิปไตยในประชาคมมหาวิทยาลัยควบคู่กับการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสร้างประชาธิปไตยในระดับชาติให้เป็นจริง
ขณะเดียวกัน ข้อโต้แย้งของบวรศักดิ์ก็เห็นได้ชัดว่ามี "วาระทางการเมือง" เช่นกัน แต่เป็นวาระทางการเมืองที่ตรงข้ามกับนิสิตที่ลงมติในเรื่องดังกล่าว