๒๖ ตุลา ครบรอบปีการเดินขบวนไปยังหน้าสถานทูตเยอรมนี ซึ่งมีการอ่านแถลงการณ์ (รวมทั้งภาษา เยอรมัน) ปราศรัย และมอบหนังสือร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่สถานทูต ลงเอยด้วยผู้ร่วมชุมนุมวันนั้น ๑๒ คนโดนตั้งข้อหาหมิ่นกษัตริย์
เนื่องจากคำถามจะจะสี่ข้อในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ๑.กษัตริย์วชิราลงกรณ์ได้ทรงใช้อำนาจอธิปไตยของไทยระหว่างทรงประทับอยู่ในเยอรมนีหรือไม่ ๒.พระองค์จะต้องทรงเสียภาษีมรดกที่ได้รับตกทอดจากกษัตริย์ภูมิพล ๓๗๐,๐๐๐ ล้านบาทไหม
๓.ขอให้รัฐบาลเยอรมนีตรวจสอบว่ากษัตริย์ไทยและข้าราชบริพาร มีพฤติการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน (เช่นอุ้มหายผู้ลี้ภัยในประเทศลาว) จริงหรือไม่ ผิดกฎหมาย (เยอรมนี) อย่างไร และ ๔.พระองค์ทรงตั้งฮาเร็มในเยอรมนี ฝ่าฝืนระเบียบป้องกันโควิดใช่ไหม
Thanapol Eawsakul เขียนถึงเรื่องนี้ว่า “มีการตอบรับจากรัฐบาลเยอรมันด้วย” โดยรัฐมนตรีต่างประเทศแจ้งต่อรัฐสภาว่า “จับตาการประทับของกษัตริย์ไทยอย่างต่อเนื่อง” และ “นั่นก็ทำให้...ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ได้ประทับในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุด”
คือตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๓ ถึงเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ ทั้งมีข่าวไม่ทางการหนาหู ค่อนข้างจะยืนยันว่าพระเจ้าอยู่หัวจะได้เสด็จเยอรมนีอีกในวันที่ ๗ พฤศจิกายน เพื่อทรงจัดการเรื่องสถานที่ประทับ (ทั้งวิลล่าและโรงแรม) สำหรับการพำนักระยะยาว
ทำให้เกิดข่าวลือหรือซุบซิบอีกว่า ช่วงนั้นอาจมีสถานการณ์ทางการเมือง ‘ไม่ธรรมดา’ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่รายการ ‘หลวงตาชูพงษ์เปลี่ยนระบอบ’ ตอน “สั่งอะไรก่อนบินเข้าเยอรมัน” บอกว่า “ร.๑๐ สั่งยุบพรรคก้าวไกล” หรือกรณี
ความไม่ธรรมดาของการเลือกตั้งที่จะตามมา หลังจากพาดหัวข่าววันนี้บอก พรรคพลังประชารัฐ “ล้างไพ่...โละ ธรรมนัส พรหมเผ่า” และพรรคเพื่อไทยจะมีโอกาสได้ตั้งรัฐบาลไหม ในเมื่อ ‘พี่โทนี่’ ย้ำนักย้ำหนา “แลนด์สไล้ด์ แลนด์สไล้ด์”
แต่ที่แน่ๆ ความไม่ธรรมดาเกี่ยวกับการจับกุมคุมขังเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ยังยืนหยัดเรียกร้อง ‘ประยุทธ์ออกไป แก้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบัน’ (รวมทั้งประเด็นร้อน ‘ยกเลิก’ ป.อาญามาตรา ๑๑๒) ท่าจะยืดเยื้อและถูกทำให้เป็นธรรมดาๆ
รวมทั้งการประทับของ ร.๑๐ ในเยอรมนีเป็นเวลานาน “ทรงงานหนักเพื่อบ้านเมืองในแบบฉบับของพระองค์เอง” ดังที่ อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เคยว่าไว้ หมายความว่าคำถามในจดหมายเปิดผนึกเมื่อปีที่แล้วเคลียร์ (ไม่เช่นนั้นอาจย้ายไปสวิสเซอร์แลนด์)
ธนาพล โคว้ทข้อเขียนของ ‘อานนท์นิด้า’ ตอนหนึ่งน่าย้อนไปวิสัชนา “ในหลวง ร.๑๐ ทรงงานในเวลาเดียวกับในหลวง ร.๙ คือทรงงานเวลากลางคืนและบรรทมในเวลากลางวัน ไม่ว่าจะประทับที่ประเทศใดก็ตาม”
อานนท์คงไม่ได้หมายถึงการทรงงานทางพลานามัย อย่างปั่นจักรยาน โดดร่ม ซึ่งทรงโปรดออกกำลังกายร่วมกับเจ้าคุณพระสินีนาฏบ่อยๆ ดังเคยมีข่าวลือระหว่างเสด็จเยือนราชธานีครั้งหนึ่งนานเป็นสัปดาห์ ช่วงที่ทรงมี residency อยู่ที่ Bavaria
ครั้งนั้นว่ากันว่าเสด็จพร้อมเจ้าคุณพระขึ้นเฮลิค้อปเตอร์ในยามดึกไปยังจังหวัดอีสาน เพื่อทรง ‘Bungee Jumping’ สำราญพระราชหฤทัย (เป็นอย่างไรดูภาพตัวอย่าง) แต่เป็นการทรงงานแบบที่เขาคุยกันใน ‘พันทิป’ เมื่อปี ๒๕๕๗
เรื่องว่า พระราชบิดานั้น “จะไม่บรรทมหลับ ‘ข้ามวัน’” (หรือการนอนข้ามเที่ยงคืน เหมือนคนธรรมดาสามัญทั่วไปในสากลโลก) “รัชกาลที่ ๖ ทรงอธิบายไว้ว่า เป็นมาตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัวกรุงเก่าแล้ว ที่พระมหากษัตริย์จะทรงงานในเวลากลางคืน”
เพจชื่อ ‘คลังประวัติศาสตร์ไทย’ เขียนเรื่องนี้ไว้เมื่อปลายปี ๒๕๕๗ ว่าตามความเชื่อโบราณ
“เปรียบเหมือนทรงเป็นนายยามคอยระวังภัยให้ราษฎรของพระองค์
เพราะเวลากลางคืนเป็นเวลาที่ราษฎรทั้งหลายพักผ่อนนอนหลับ”
ส่วน “ในหลวงของเรา (ร.๙) เมื่อครั้งยังมีพระวรกายแข็งแรงก็ไม่ทรงบรรทมหลับข้ามวันเช่นกัน โดยในเวลากลางคืนพระองค์จะทรงงานด้านแผนที่ และสรุปการทรงงานโครงการในพระราชดำริของแต่ละวันจนเช้า จึงเสด็จเข้าบรรทม”
มีเกล็ดเล่าจากผู้เคยเข้าเฝ้าฯ อยู่งาน ว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในครั้งนั้นก็ทรงไม่บรรทมข้ามวันเหมือนกัน (น่าจะไม่ประจำ แต่บ่อยๆ) ถ้าเสด็จพักผ่อนอิริยาบถพร้อมพระเจ้าลูกยาเธอฯ องค์ที่ทรงโปรดการแสดง ยังพระราชวังไกลกังวล และสนามจันทร์
จะทรงงานขับขานเพลงและเริงระบำลีลาส สลับกับการเสวยพระกระยาหาร ตั้งแต่บ่ายคล้อยถึงเช้า มิได้ขาด
(https://www.facebook.com/photo.php?fbid=372495816227378&set=a.120142734796022.30235.119437984866497&type=1&theater, https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10165980581885551 และ https://www.facebook.com/thanapol.eawsakul/posts/4730687580331377)