วันอาทิตย์, ตุลาคม 31, 2564

ทำไมเราจึงควรตั้งคำถามกับโครงการคลองช่องนนทรี อยากได้เมืองดี ต้องช่วยกันตั้งคำถามยากๆ

https://www.facebook.com/666499245/posts/10159405650404246/?d=n
Daeng Niramon
October 27 at 2:02 AM ·

ทำไมเราจึงควรตั้งคำถามกับโครงการคลองช่องนนทรี
.
การจะทำให้เมืองเขียว คลองสะอาด เป็นสิ่งที่ดี
.
แต่ก่อนจะร่วมอนุโมทนากับโครงการใดๆ เราควรศึกษารายละเอียดว่าเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมเมือง ตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยเฉพาะโจทย์การดูแลรักษาได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงโครงการฟอกเขียว (GREENWASH / GREENSCAM) หรือ โครงการเขียวดิสนีย์ (GREEN DISNEY)
.
โครงการคลองช่องนนทรีมูลค่า 980 ล้านบาทนับเป็นโครงการขนาดใหญ่ (LARGE-SCALE URBAN PROJECT) ที่ได้โฆษณาว่าจะเป็น “ชองเกชอนแห่งกรุงเทพ” นั้นบังเอิญมาตั้งอยู่หน้าบ้านดิฉันเอง
.
โครงการนี้มีการเร่งรัดก่อสร้างอย่างมาก รวมทั้งมีการสื่อสารที่อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของสังคมที่มีต่อ “งาน URBAN DESIGN” หรือ “งานสถาปัตยกรรมผังเมือง” ซึ่งเป็นวิชาชีพสถาปนิกเฉพาะสาขาหนึ่งที่กำกับโดยกฎกระทรวงกําหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นในวิชาชีพสถาปนิกที่มีอยู่หลายสาขา ที่ต้องบูรณาการความรู้จากหลากหลายศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกสาขาอื่น วิศวกรรมศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และสังคมศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่ต้องเข้ามาทำกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
.
โครงการนี้จึงสร้างความกังวลแก่ดิฉันหลายประการ ไม่ว่าจะในฐานะประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ในฐานะคนเสียภาษี หรือในฐานะอาจารย์ผู้สอนในหลักสูตร URBAN DESIGN
.
ดังนั้น ดิฉันจึงอยากแสดงความคิดเห็นและตั้งข้อสังเกต โดยจะนำเอาข้อมูลโครงการช่องนนทรีมาเทียบกับโครงการชองเกชอนในหลายมิติของการฟื้นฟูเมือง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนวิพากษ์วิจารณ์กันในวงการวิชาการ วิชาชีพ และสาธารณะต่อไป รวมทั้งหวังว่าจะเป็นแนวทางให้แก่สาธารณะในการตั้งคำถามและตรวจสอบโครงการฟื้นฟูเมืองใดๆ ในอนาคต
.
ต้องเรียนว่า แม้โครงการช่องนนทรีจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางเมืองที่เริ่มลงมือดำเนินการก่อสร้างแล้ว แต่ข้อมูลโครงการที่เปิดเผยต่อสาธารณชนมีจำกัดมาก ข้อมูลส่วนใหญ่ที่พบเห็นจึงมีแต่ข่าวประชาสัมพันธ์ที่เป็นภาพ PERSPECTIVE ของโครงการก่อน – หลังก่อสร้าง แต่ไม่มีรายละเอียดที่สำคัญ เช่น การจัดการกับระบบน้ำ การจัดการจราจร ไม่มีการจัดทำเป็นรูปเล่มหรือเว็บไซต์ให้ประชาชนเข้าไปศึกษาโดยง่าย ดังนั้น ข้อมูลที่ครบถ้วนที่ดิฉันหาได้มาจากการบรรยายของภูมิสถาปนิกที่ขออนุมานว่าท่านเป็นหัวหน้าโครงการ เนื่องจากเห็นท่านปรากฏบนสื่อในการสัมภาษณ์โครงการนี้บ่อย โดยล่าสุดท่านได้บรรยายโครงการนี้อย่างละเอียดในงานสภาสถาปนิก (https://fb.watch/8Uq6zS0VNp/ นาทีที่ 9.58–30.24)
.
เท่าที่ได้ศึกษา หากโครงการช่องนนทรีจะเคลมว่าเป็นชองเกชอนแห่งกรุงเทพ ก็จะเห็นว่ามีสิ่งเหมือนกันแค่ 2 ประการเท่านั้นคือ ทั้งคู่เป็นโครงการ LARGE-SCALE URBAN PROJECT ที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจ (CBD) ย่านกลางเมืองแบบนี้ ไม่ว่าทำโครงการใดๆ จะส่งผลกระทบสูงเนื่องจากมีความหนาแน่นประชากรสูงทั้งกลางวันกลางคืน เป็นที่กระจุกตัวของธุรกิจการค้า มีกลุ่มผู้ใช้งานที่หลากหลาย สลับซับซ้อน รวมทั้งมีปริมาณการสัญจรที่หนาแน่น ฉะนั้น จะทำโครงการใดๆ ต้องระมัดระวัง วางแผนอย่างรอบคอบ และต้องร่วมหารือเพื่อสร้างความเข้าใจ การยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการ
.
ก็มีแค่ 2 ประเด็นที่เหมือนกัน ที่เหลือคือความแตกต่าง หากท่านอยากศึกษาโครงการชองเกชอน กรุงโซล ท่านเข้าไปดูใน LINK นี้ (https://bit.ly/3jHPv4d / https://bit.ly/3BhXquX )
.
1. อะไรคือวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของโครงการ?
.
- โครงการชองเกชอน: แม้จุดเด่นที่คนทั่วโลกพูดถึงคือการปรับปรุงคลองจากการรื้อถอนทางด่วน แต่หากได้ศึกษารายละเอียดที่มาของการดำเนินการดังกล่าว จะพบว่าโครงการคลองชองเกชอนเป็นส่วนหนึ่งของ FRAMEWORK ใหญ่ของเมืองหรือ THE SEOUL DOWNTOWN DEVELOPMENT PLAN ที่มุ่งฟื้นฟูใจเมืองหรือย่าน CBD เก่าที่นับวันจะเริ่มซบเซาและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับย่านการค้ารอบเมือง เช่น ย่านกังนัม
.
ณ ตอนนั้น ความยากของการฟื้นฟู CBD เก่าของโซลคือการมีทางด่วนยกระดับขนาด 18 เลนพาดผ่าน ซึ่งเป็นทางด่วนที่สร้างขึ้นในต้นปี 1970s โดยสร้างทับไปบนแนวคลองชองเกเดิม สร้างมลภาวะเสียง ฝุ่น ควัน รวมทั้งความเสื่อมโทรมใต้ทางด่วน ในปี 2002 นายกเทศมนตรีที่ชูวิสัยทัศน์ GREEN GROWTH WITH LOW CARBON และนโยบายรื้อถอนทางด่วนเพื่อฟื้นใจเมืองชนะการเลือกตั้งเข้ามา ด้วยความที่ทางด่วนอายุ 30 ปี ต้องซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ และมีค่าซ่อมหลายร้อยล้านวอน นายกเทศมนตรีเสนอรื้อทางด่วนออก แล้วรื้อฟื้นปรับปรุงคลองชองเกขึ้นมาให้กลายเป็น THE NEW DEVELOPMENT AXIS เพื่อสร้าง NEW VALUE ให้แก่ย่านเก่า ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนอยู่อาศัย เข้ามาจับจ่าย และเดินทางผ่านพื้นที่ ดึงดูดการลงทุนใหม่ๆโดยเฉพาะธุรกิจการค้าและบริการ ฟื้นคืนระบบนิเวศน์ในเมือง รวมทั้งใช้เป็นโครงการที่ REBRAND กรุงโซลในเวทีโลก
.
ดังนั้น ทุกยุทธศาสตร์การพัฒนาจะเห็นความพยายามในการ “ถักทอ” คลองชองเกชอนเข้ากับเนื้อเมืองโดยรอบ
.
- โครงการช่องนนทรี: จากข้อมูลที่หาได้ พบว่าวิสัยทัศน์ของโครงการคือจะทำให้คลองช่องนนทรีเป็น “สวนสาธารณะริมคลองแห่งแรกของประเทศไทย” เท่าที่ดูเป็นงานปรับปรุงภูมิทัศน์ แต่ไม่เห็นวิสัยทัศน์หรือยุทธศาสตร์ที่ในการใช้คลองช่องนนทรีในการฟื้นฟูเมืองหรือย่านโดยรอบได้อย่างไร
.
2. ประชาชนและสาธารณะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนอย่างไรบ้าง?
.
- โครงการชองเกชอน: ตั้งอยู่ใจกลางย่าน CBD ของกรุงโซล มีร้านค้าโดยรอบกว่า 100,000 ร้านค้า มีกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกว่า 200,000 คน และมีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 170,000 คัน/วัน ส่งผลให้ตลอดระยะเวลาการศึกษาโครงการ 2 ปี 6 เดือน (ปี 2003-2005) เทศบาลกรุงโซลได้จัดประชุมประชาชนกว่า 4,200 ครั้งทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อรับฟังความคิดเห็น สร้างความเข้าใจ และสร้างฉันทามติร่วมกัน
.
- โครงการช่องนนทรี: ตั้งอยู่ใจกลางย่าน CBD กรุงเทพฯ ในรัศมี 2 กิโลเมตรโดยรอบ มีร้านค้ากว่า 214 ร้านค้า อาคารสำนักงาน 457 อาคาร มีปริมาณการสัญจรรวมบนถนนนราธิวาสฯ และถนนที่ตัดผ่านกว่า 293,000 คัน/วัน และมีผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากเส้นทางและการใช้งานถนนรวมกว่า 350,000 คนซึ่งคาบเกี่ยวพื้นที่ในเขตบางรัก เขตสาทร และเขตยานนาวา อย่างไรก็ตาม กทม.จัดเพียงงานแถลงข่าวโครงการในวันที่ 11 พ.ย. 2563 เท่านั้น ซึ่งเป็นการแสดงแบบโครงการช่องนนทรีที่ออกแบบไว้แล้วโดยบริษัทภูมิสถาปัตยกรรมแห่งหนึ่ง โดยขึ้นมุมซ้ายว่า “เป็นภาพจำลองเพื่อใช้ในนิทรรศการเท่านั้น ยังไม่ได้การออกแบบจริง” (แต่ก็พบว่า กทม.ใช้แบบนี้ประชาสัมพันธ์จนถึงวันที่ดิฉันเขียนบทความนี้) และก็มีงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการในวันที่ 16 ต.ค. 2564 ที่มีแค่การถ่ายภาพร่วมกันของผู้ว่า กทม. และคณะทำงาน โดยที่ไม่มีการให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการเพิ่มเติม และอัพเดตผ่านเฟสบุคเพจเท่านั้น ไม่มีเอกสารที่ประชาชนโดยรอบโครงการและสาธารณะสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างเป็นทางการได้
.
- เนื่องจากโครงการอยู่หน้าบ้านและร้านส้มตำเจ้าประจำของดิฉันก็อยู่ตรงนั้นพอดี ดิฉันก็เดินไปสอบถามร้านค้าโดยรอบโครงการ รวมทั้งคนทำงานบริษัทที่เดินมาทานข้าวกลางวัน พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เคยทราบถึงโครงการเลยจนกระทั่งเริ่มมีการลงมือก่อสร้างแล้ว บางท่านทราบจากสื่อโซเชียล ส่วนใหญ่ “รู้สึกไม่แน่ใจว่าโครงการนี้จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะดูจะข้ามถนนไปใช้ยาก แถมถนนนราธิวาสก็ฝุ่นควันมากจากรถติด รวมทั้งแดดร้อน ฝนตกอีก ใครจะข้ามถนนไปใช้” นอกจากนี้เห็นว่า “ควรนำงบประมาณมาทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์มากกว่าเช่น ทำทางเท้าฝั่งร้านค้าให้สวยก่อนไหม คนจะได้มาเดินเยอะๆ เชื่อมเข้าไปในซอยด้วย ทำไฟทางเดินให้สว่าง เพราะตรงนี้หกโมงทุ่มนึงก็มืดแล้วน่ากลัว”
.
3. ใครมีหน้าที่รับผิดชอบตอบคำถามจากประชาชน?
.
- โครงการชองเกชอน: ด้วยจำนวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการชองเกชอนที่มากมหาศาล กลไกสำคัญที่ทำให้โครงการดำเนินการได้ราบรื่นและประสบผลสำเร็จคือ คณะทำงานประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) สำนักงานโครงการ (Project Office) (2) ศูนย์การวิจัย (Research Center) และ (3) กรรมการพลเมือง (Citizen Committee) ที่เทศบาลกรุงโซลตั้งขึ้นตั้งแต่ DAY1 ของการดำเนินโครงการ แยกหน้าที่กันชัดเจนในการวางแผน การศึกษาและวิจัย การติดตามและประเมินผลโครงการ การมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาสัมพันธ์ ทั้ง 3 ทีมจะทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลา 3 ปีของโครงการ ทำหน้าที่ให้ข้อมูลและตอบคำถามจากประชาชนและสาธารณะในเรื่องที่ตนเองรับผิดชอบ
.
- โครงการช่องนนทรี: จากการค้นข้อมูลพบเพียงแค่รายชื่อและโลโก้ของหน่วยงานจากป้ายประกาศ และเว็บประชาสัมพันธ์ของ กทม.รวมทั้งหน้าโซเชียลของภูมิสถาปนิกที่อนุมานว่าเป็นหัวหน้าโครงการ แต่ไม่มีการชี้แจงถึงผู้รับผิดชอบหรือคณะกรรมการที่ดูแลโครงการอย่างเป็นทางการ ส่วนเบอร์โทรที่ให้ไว้ที่ป้ายประกาศหน้าไซต์ก่อสร้าง ติดต่อยาก โทรไปมักไม่มีผู้รับสาย โทรติดครั้งหนึ่งปลายสายแจ้งว่าไม่ทราบข้อมูลและไม่สามารถให้ข้อมูลได้
.
4. หนึ่งในหน้าที่ของคลองทั้งสองคือการระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม
แล้วการออกแบบปรับปรุงคลองตอบโจทย์ข้อนี้อย่างไร?
.
- โครงการชองเกชอน: หลังจากรื้อถอนทางด่วนออกไปแล้ว ได้มีการขุดลอกท้องคลองให้ลึกถึง 7 เมตร (สูงเท่ากับตึก 2 ชั้น) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับมือกับน้ำท่วมโดยยึดตัวเลขการคาดการณ์น้ำท่วม 200 ปี ทั้งนี้ ระดับความลึกนี้ ได้คิดพร้อมกับการออกแบบ PROMENADE SPACE ทางเดินริมคลองที่บูรณะใหม่ เพื่อแยกระดับรถยนต์ที่วิ่งบนถนนกับคนเดินริมคลอง นอกจากจะป้องกันน้ำท่วมได้แล้ว ยังทำให้การเดินเล่นริมคลองทำได้อย่างปลอดภัย ไม่ถูกรบกวนด้วยเสียงรถยนต์หรือฝุ่นควัน
.
- โครงการช่องนนทรี: หากย้อนอดีตเมื่อการก่อสร้างคลองช่องนนทรี คลองได้รับการออกแบบโดยบริษัทวิศวกรรมที่ว่าจ้างมาจากประเทศอังกฤษในปี 1999 เพื่อออกแบบเป็นคลองระบายน้ำของโซนกรุงเทพใต้ ดังนั้น ในหน้าแล้ง น้ำในคลองช่องนนทรีจะถูกพร่องออกให้แห้งเพื่อเตรียมเป็น “แก้มลิง” รอรับน้ำในฤดูฝน
.
แบบการปรับปรุงที่ปรากฏตามสื่อนำมาสู่คำถาม:
.
(1) แบบที่ผู้ออกแบบเสนอปรับปรุงคลองเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ทำให้มีความจำเป็นต้องรักษาระดับน้ำให้ปริ่มตลิ่งเพื่อความสวยงามตลอดเวลา จะทำให้หน้าที่การเป็นแก้มลิงของคลองช่องนนทรีหายไปหรือไม่? แล้วจะส่งผลกระทบให้ย่านนี้น้ำท่วมหรือไม่? หรือจะเสนอเอาระบบใดมาทดแทน? แล้วใช้งบประมาณเท่าไหร่? งบประมาณนี้ใครรับผิดชอบ?
.
(2) หากคลองช่องนนทรียังต้องทำหน้าที่ระบายน้ำ หากดูจากแบบ จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีการยื่นทางเดินออกไปในพื้นที่ริมคลองหลายจุดมาก บางจุดก็พาดกลางคลอง จะขวางทางน้ำหรือไม่? แล้วจะส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำและการจัดการน้ำท่วมในย่านนี้หรือไม่? จะแก้ไขอย่างไร?
.
(3) ทางเดินที่ออกแบบใหม่ยื่นออกมาในคลอง แน่นอนว่าต้องมีเสารับเป็นจำนวนมาก หากขยะเข้าไปติดด้านล่าง เก็บอย่างไร? ใครเป็นคนเก็บ?
.
5. จะปรับปรุงคุณภาพในคลองได้อย่างไร?
.
- โครงการคลองชองเกชอน: มีเป้าหมายและเกณฑ์คุณภาพน้ำที่ชัดเจน คือ คุณภาพในคลองต้องสะอาดปลอดภัย ระดับที่ประชาชนเข้าไปสัมผัสได้ นั้นคือ น้ำต้องมีคุณภาพสูกว่าน้ำเกรดสอง (The 2nd Grade) โดยเน้นที่เกณฑ์ชื้อวัด 5 ประการ ได้แก่ ค่า BOD (Biological Oxygen Demand) ไม่เกิน 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่า DO (Dissolved Oxygen) ไม่ต่ำกว่า 5 มิลลกรัมต่อลิตร ค่า SS (Suspended Solid) ไม่เกิน 25 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่า Total Nitrogen ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อลิตร และค่า Total Phosphorus ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นต้น โดยมีการตรวจสอบ และเฝ้าระวังค่าเหล่านี้ตลอดเวลาเพื่อให้ความมั่นใจว่าประชาชนจะปลอดภัย
.
การจะให้น้ำมีคุณภาพไปถึงเป้าหมายนี้ได้ชองเกซอนใช้ 2 ระบบ
.
ระบบที่ 1 : บำบัดน้ำเสียที่มาจากอาคารบ้านเรือนก่อน โดยกรุงโซลก็เหมือนกรุงเทพฯ คือระบบสาธารณูปโภคยังคงเป็นแบบดั้งเดิม ท่อน้ำฝนยังรรวมกับท่อน้ำเสีย ดังนั้น ซองเกชอน ได้เลือกใช้ ระบบ Combined Sewer Overflow (CSO) เพื่อแก้ปัญหา โดยในฤดูแล้งไม่มีฝน น้ำทิ้งจากบ้านเรือนก็ไหลเข้าสู่ท่อรวบรวมน้ำเสียผ่านระบบ CSO ส่วนในฤดูฝน ปริมาณน้ำฝนส่วนที่เพิ่มขึ้นจะถูกปล่อยลงสู่ชองเกชอน ผ่าน CSO เช่นกัน
.
รบบที่ 2: สูบน้ำเข้ามาเพื่อรักษาระดับน้ำในคลองเพื่อรักษาระดับให้ปริ่มตลิ่งสวยงาม คลอง ต้องมีน้ำทิ้งจากระบบที่ 1 ซึ่งไม่เพียงพอ จึงต้องวางระบบท่อเพื่อสูบน้ำมาจากแม่น้ำ HAN 120,000 ลบ.ม.ต่อวัน และสูบจากน้ำใต้ดิน 22,000 ลบ.ม.ต่อวัน หรือหากเปรียบเทียบสวนร้อยปีจุฬาฯ ที่อ้างว่าสช่วยรับน้ำได้ 1,000,000 แกลลอน หรือประมาณ 3,785 ลบ.ม. ก็ต้องสูบน้ำกันในปริมาณเท่ากับ 37.5 สวนร้อยปีต่อ 1 วัน เพื่อมารักษาระดับน้ำให้คลองชองเกชอนสวยงาม ซึ่งนับเป็นงานระบบที่ใช้งบประมาณสูงมาก รวมทั้งค่าบำรุงรักษา ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษาระบบท่อและเครื่องสูบน้ำ เป็นต้น
.
- โครงการช่องนนทรี: แทบไม่มีการให้รายละเอียดเรื่องเป้าหมายคุณภาพน้ำและวิธีการบำบัดอย่างเป็นรูปธรรม แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนรู้สึกฉงนว่าจะทำให้น้ำในคลองช่องนนทรีซึ่งปัจจุบันเน่าเสียมากให้มีคุณภาพที่ดีขนาดที่คนลงไปสัมผัสได้ใกล้ๆได้อย่างไร?
.
เนื่องจากคลองช่องนนทรีรับน้ำเสียจากย่าน CBD กรุงเทพฯ ดังนั้นปริมาณน้ำเสียจึงรุนแรง ค่า DO อยู่ที่ 0.5 มิลลิกรัม/ลิตร (แย่กว่าบริเวณปากคลองตลาดที่เป็นตลาดสดเสียอีก) ค่า BOD เฉลี่ยอยู่ที่ 10-20 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานที่คนไปสัมผัสได้ถึง 4 เท่า หรือต่อให้ใช้น้ำจากโรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี แต่ค่า BOD ของน้ำหลังบำบัดจากโรงบำบัดนี้ก็ยังคงเฉลี่ยอยู่ที่ 9 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งยังไม่พอให้คนลงไปทำกิจกรรมริมคลองหรือสัมผัสได้
.
แนวทาง NATURE-BASED SOLUTION ที่ภูมิสถาปนิกผู้ออกแบบได้เสนอที่จะใช้การขังน้ำและพืชมาบำบัดนั้น อยากได้รายละเอียดเพิ่มเติม เพราะเท่าที่แทบจะเป็นมาตรการ “ยาหม่องทามะเร็ง” เนื่องจากปกติการใช้พืชบำบัด ต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่ในการให้น้ำมาขังเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อบำบัด รวมทั้งระดับความเน่าเสียของน้ำที่จะใช้พืชหรือธรรมชาติบำบัดนี้ต้องไม่ใช่น้ำเสียระดับรุนแรง รวมทั้งพื้นที่ขนาดใหญ่แบบนี้ จะไปหาได้ที่ไหนในใจกลางเมือง
.
ส่วนที่ภูมิสถาปนิกผู้ออกแบบเสนอจะให้ “ประชาชนร่วมกันปั่นจักรยานบำบัดน้ำ” นั้น ดิฉันขอเรียนเสนอว่าให้หลีกเลี่ยง หากน้ำที่ยังไม่บำบัดแล้วมีการตีเป็นฟุ้งฝอยละออง (AEROSOL) ลอยเข้าปากเข้าจมูกประชาชนจะเกิดอันตรายได้ อันนี้ร่วมไปถึง “กำแพงน้ำตก” เพื่อบำบัดน้ำด้วย
.
ล่าสุดใน VDO Clip การบรรยายเห็นแนวคิดการบริหารจัดการน้ำที่มีข้อมูลเพิ่มเติมขึ้น แต่ก็ยังเป็นแค่ระดับแนวคิด แนวคิดเช่น POROUS PAVEMENT, POROUS LANE, BREATHING WALL, RAIN GARDEN, OPEN SWALE เหล่านี้ อยากเรียนเสนอให้แสดงรายละเอียดในเชิงงานระบบและวิศวกรรมด้วยว่า จะสวมเข้ากับระบบปัจจุบันได้อย่างไรที่จะไม่เป็น “GREEN DISNEY” ที่สุดท้ายอาจจะกลายกรณีเป็น RAIN GARDEN แบบถนนแถวๆ สามย่าน ที่น้ำไม่ไหลระบาย แต่ดินกลับไหลลงมาที่ถนนแทน
.
งานระบบที่ภูมิสถาปนิกกล่าวไว้ในการบรรยายว่า “เราก็มีการทำการดีไซน์ Aerated เข้าไป พัฒนาโครงข่ายคลอง อุดน้ำเสีย ใช้น้ำ reuse ค่ะ ชองเกชอนใช้น้ำประปานะ เราใช้น้ำ reuse อันนี้มาเหนือชั้นกว่านะคะ แล้วก็ใช้ท่อแทนคลองปัจจุบันใช้คลองท่อค่ะ ปัจจุบันเราใช้คลองแทนท่อแล้วใช้คลองเป็นท่อระบายน้ำเสียแต่ว่าเราต้องใช้ท่อแทนคลองนะคะ” (https://fb.watch/8Uq6zS0VNp/ นาทีที่ 20.45-20.48) : เหนือชั้นหรือเปล่า อ่าน/ฟังถึงตรงนี้ลองตัดสินใจเอา แต่ดิฉันฟังไม่ค่อยรู้เรื่องและอยากได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าเพิ่มเติม แต่ที่แน่ๆ คลองชองเกชอนไม่ได้ใช้น้ำประปานะคะ น่าจะคลาดเคลื่อน ไปตรวจสอบได้ทางลิ้งค์โครงการที่ให้ข้างต้น
.
6. การบำบัดน้ำให้มีคุณภาพดีนั้น
ใช้งบประมาณเท่าไหร่ในการก่อสร้างระบบบำบัดและดูแลรักษาระยะยาว?
.
- โครงการชองเกชอน: ด้วยเป้าหมายที่ให้คุณภาพน้ำได้เกณฑ์น้ำเกรดสอง ต้องมีการวางระบบสาธารณูปโภคใหม่ทั้งหมด ได้แก่ งานระบบบำบัดน้ำและสูบน้ำ โดยบูรณาการพร้อมการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมดังที่อธิบายด้านบน นับเป็นงบประมาณที่สูงมาก ทั้งค่าก่อสร้างและค่าบำรุงรักษา จากข้อมูล ค่าบำรุงรักษา อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษาปั๊มน้ำ ค่าน้ำสำหรับให้มีน้ำสะอาดไหลผ่านตลอดปี ค่าเก็บเศษใบไม้ดอกไม้ ค่าเก็บสาหร่าย ฯลฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 260 ล้านบาท/ปี ทำให้โครงการชองเกชอนถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “ความไม่ยั่งยืนในเชิงการเงิน” ที่สาธารณะมองว่างบบำรุงรักษาต่อปีที่สูงไปและมาจากเงินภาษีของประชาชน
.
- โครงการช่องนนทรี ไม่พบข้อมูลรายละเอียดงบประมาณสำหรับงานระบบ ซึ่งจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแล้ว งบประมาณ 980 ล้านบาทนั้น ไม่น่ารวมงานระบบบำบัดน้ำเสียและการสูบน้ำ รวมทั้งค่าบำรุงรักษาต่อปี น่าจะเป็นเพียงงบประมาณส่วนภูมิสถาปัตยกรรมและการตกแต่งพื้นที่
.
7. ออกแบบระบบถนนและการสัญจรอย่างไร
ให้คลองกลายเป็นแกนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง?
.
ขออนุญาตข้ามรายละเอียดการจัดการจราจรระหว่างก่อสร้างเพราะถือเป็นการบริหารจัดการชั่วคราว แต่จะขอพูดถึงการออกแบบระบบการสัญจรใหม่หลังเสร็จสิ้นโครงการ
.
- โครงการชองเกชอน: ต้องเรียนว่าจุดนี้คือ “หัวใจของโครงการ” ที่ทำให้โครงการกลายเป็น “โครงการยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเมือง” ไม่ใช่เพียงแค่ “โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองเกาะกลางถนน”
.
หากย้อนกลับไปในข้อ 1 ที่มาของโครงการนี้คือการฟื้นฟูย่าน CBD เก่าที่ซบเซาและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับย่านการค้าแห่งใหม่อื่นๆ ดังนั้น การรื้อทางด่วนและการฟื้นฟูคลอง จะเป็นไปเพื่อเป้าหมายนี้เสมอ ฉะนั้น เพื่อให้การฟื้นฟูคลองที่ลงทุนมหาศาลเป็นไปเพื่อการฟื้นย่าน สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ “การถักคลอง” เข้ากับเนื้อเมืองโดยรอบ โดยการทำให้การเดินเท้าเข้าถึงคลองและเดินข้ามคลองไปสู่ย่านอีกฝั่ง เป็นไปอย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย และน่าเดินที่ดี พูดง่ายๆคือทำให้พื้นที่รอบคลองและย่านโดยรอบ “เดินได้และเดินดี” กลยุทธ์ที่สำคัญมี 2 ประการ
.
(1) ปรับปรุงถนนที่วิ่งขนานกับคลอง: เดิมเป็นถนนหลักขนาด 8 เลน จะเห็นว่า ถนนถูกลดขนาด (STREET DIET) พร้อมออกแบบถนนให้รถวิ่งช้าลง (TRAFFIC CALMING) เพิ่มทางข้ามให้เดินข้ามไปข้ามมาสะดวก ถนนถูกลดจาก 8 เลน เป็น 4 เลน หากเราไปเที่ยวที่ชองเกชอน เรานั่งดื่มกาแฟในย่านข้างๆ แล้วก็เดินข้ามถนนมาง่ายๆ รถน้อยจนลืมว่านี่คือถนน แต่ก็แน่นอนว่า หากลดขนาดถนนที่เคยเป็นถนนเส้นหลักโดยไม่มีมาตรการรองรับ คงโดนประชาชนต่อต้าน สิ่งที่เทศบาลกรุงโซลทำคือ ออกแบบระบบจราจรใหม่ ให้รถเบี่ยงไปวิ่งรอบย่าน CBD รวมทั้งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ได้แก่ ระบบ METRO ระบบ BRT จนเป็นที่กล่าวว่าโครงการชองเกชอนนำมาสู่การปฏิรูประบบขนส่งของโซลอย่างเป็นระบบ “Cheonggyecheon Stream Project gave momentum to Seoul’s public transportation reform”
.
(2) เพิ่มทางข้ามและสะพานข้ามคลอง: จากซอยของย่านข้างเคียงที่ตั้งฉากกับคลอง ออกจากซอยสามารถเดินข้ามถนนไปได้ง่ายๆในทุกจุด รวมทั้ง SMO ได้ออกแบบสะพานข้ามคลองเพิ่ม 22 จุด หรือเฉลี่ยทุกๆ 300 เมตร โดยเปิดประกวดแบบสะพานเหล่านี้ให้นักออกแบบและประชาชนได้เข้ามามีส่วนในการร่วมสร้างคลองประวัติศาสตร์นี้
.
- สำหรับโครงการช่องนนทรี ดูเหมือนเป็นโครงการปรับปรุงคลองเพื่อคลอง ไม่ได้เพื่อย่านโดยรอบ เพราะแทบไม่เห็นการพูดถึงความเชื่อมโยงกับย่านข้างเคียง ง่ายๆว่าคนจะข้ามไปใช้คลอง 980 ล้านบาทนี้อย่างไร ความไม่สะดวกสบายและความเสี่ยงอันตรายของประชาชนจะข้ามถนนขนาด 3 เลนและ BRT 1 เลน กับปริมาณจราจรผ่านกว่า 4 หมื่นคัน/วัน คืออุปสรรคสำคัญที่คลองยังจะแปลกแยกกับย่านโดยรอบ
.
หากอยากเห็นภาพจำลองการใช้งานของโครงการในอนาคต ให้ขับรถเลยลงไปทางปลายถนนนราธิวาส ก่อนตัดกับถนนพระราม 3 จะเห็นลานที่สำนักงานเขตยานนาวาปรับปรุงไว้ชื่อ “ลานเรือโบราณยานนาวา” ถาม รปภ.คอนโดแถวนั้น บอกว่า “วันหนึ่งก็มีคนข้ามไปใช้เหมือนกัน ประมาณ 1-2 คน ก็รถมันเร็ว ทางข้ามก็ไม่มี หากจะข้ามปลอดภัยให้เดินไปสะพานลอยตรงโน้น ลานอุตส่าห์ทำไว้ใหญ่ แต่ดันไปทำไว้กลางถนน ใครจะไปใช้ จะเตะบอลเตะตะกร้อ ลูกบอลลอยออกไป อุบัติเหตุทั้งคนเล่น คนขับรถยนต์ ไม่รู้เขาคิดยังไงมาทำตรงนี้ เปลืองงบประมาณ”
.
ดิฉันที่อาศัยอยู่ที่นี่ ผ่านถนนเส้นนี้ทุกวัน ยังมองไม่เห็นภาพว่าจะออกแบบถนนนราธิวาสใหม่อย่างไรที่จะอย่างไรให้คนข้ามไปใช้ได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย (กรุณาอย่าตอบว่าสะพานลอย เพราะคุณพ่ออายุ 80 ปีของดิฉันข้ามไม่ไหว) โดยไม่ทำให้รถติดเพิ่มขึ้น? อันนี้ก็เป็นคำถาม เพราะลงทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาลขนาดนี้ ก็อยากให้ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่าแค่ดูแก้เบื่อตอนรถติด
.
8. โครงการขนาดนี้ใช้งบประมาณเท่าไหร่? ใช้ไปกับอะไรบ้าง?
.
- โครงการชองเกชอน: งบประมาณทั้งหมด 11,250 ล้านบาท แบ่งเป็นการศึกษาและวิจัย การออกแบบ การก่อสร้าง การบริหารจัดการ การดำเนินงานระบบน้ำ การดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วม และการประชาสัมพันธ์ ซึ่งงบนี้มาจากเทศบาลกรุงโซลเพียงเจ้าเดียวไม่ใช่รัฐบาลกลาง สำหรับค่าบำรุงรักษาต่อปีก็เช่นกัน มาจากเทศบาลกรุงโซล
.
- โครงการช่องนนทรี: พบว่ามีการตั้งงบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น 980 ล้านบาท โดยไม่ได้แจกแจงว่าเป็นงบประมาณอะไรบ้าง มีรายละเอียดเพียง
.
(1) เฟส 1: จากถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร ใช้งบ 80 ล้านบาท ซึ่งแพงมหาศาล หากนำเงิน 80 ล้านบาท มาปรับปรุงทางเท้าจะได้ยาวกว่า 5 กิโลเมตรหรือรอบเกาะรัตนโกสินทร์
.
(2) เฟสที่เหลือและงบประมาณที่เหลืออีก 900 ล้านบาทได้เสนอเข้าแผนปฏิบัติการราชการประจำปี 2565 ของสำนักการโยธาแล้ว โดยที่ยังไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน
.
คำถามที่น่าสนใจเช่น
.
(1) หากดูงบประมาณและงานระบบของโครงการชองเกชอนที่มีขนาดใกล้เคียงกันกับโครงการช่องนนทรี จะเห็นว่างบประมาณเทียบกันไม่ได้ คือ 11,250 ล้านบาท กับ 980 ล้านบาท ดังนั้น ดังที่วิศวกรสิ่งแวดล้อมอนุมานมา ไม่น่ารวมงบประมาณงานระบบ เป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางพอ ดังนั้น อนุมานต่อไปว่า งบ 980 ล้านบาทจะใช้ไปกับแค่การตกแต่งภูมิทัศน์และงานภูมิสถาปัตยกรรมริมคลองเท่านั้น?
.
(2) ใครคือสถาปนิกผู้ออกแบบโครงการนี้? เป็นสถาปนิกวิชาชีพสาขาใด? และทำไมจึงกล่าวอ้างถึงวิชาชีพของสถาปนิกผังเมืองได้? นอกจากนี้ยังมีคำถามต่อเนื่องว่า ผู้ออกแบบได้งานมาได้อย่างไร? เนื่องจากปกติหน่วยงานภาครัฐจะจัดจ้างบริษัทเอกชนให้มาออกแบบนั้น ต้องมีขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องผ่านระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างอย่างถูกต้องไม่ว่าจะด้วยวิธีติดประกาศ การคัดเลือก หรือจัดประกวดแบบ ยิ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะและผู้คนจำนวนมากยิ่งต้องให้ความสำคัญกับ “สถาปนิกผู้ออกแบบ” ที่ควรต้องมารับผิดและรับชอบในการออกแบบปรับปรุงหรือจัดการโครงการสาธารณะเช่นนี้ หรือบริษัทสถาปนิกผู้ออกแบบนี้ทำงานให้ฟรี? เพื่ออะไร? ฟรีจริงหรือไม่ ?
.
(3) ความชอบธรรมในการนำเงินงบกลาง (เงินสำรองจ่ายทั่วไป) เหตุใดเอามาใช้กับโครงการปรับปรุงคลองช่องนนทรีให้กับย่านสาทรที่มีการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เพียงพอในระดับหนึ่งแล้ว อีกทั้งมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อคนสูงกว่าเขตอื่นๆ ในกทม. เสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาวิกฤตสถานการณ์โควิดซึ่งมีสิ่งเร่งด่วนควรทำมากมายมากกว่าปรับปรุงคลองกลางถนนเช่นนี้
.
9. แล้วประชาชนคิดเห็นอย่างไรกับโครงการช่องนนทรี?
.
เนื่องจาก กทม.ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นกิจลักษณะ มีแต่การประชาสัมพันธ์ผ่านเฟสบุค โดยเอาภาพ PERSPECTIVE เปรียบเทียบก่อนหลังโดยมีรายละเอียดโครงการที่ค่อนข้างจำกัด ดิฉันจึงสนใจว่าสาธารณะคิดเห็นอย่างไร โดยใช้วิธี SOCIAL LISTENING กวาดความคิดเห็นตามเพจต่างๆ มาประมวลดู
.
เพจโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 จากคอมเม้นต์ทั้งหมด 256 คอมเม้นต์ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564) พบว่า
- 24% แสดงความคิดเห็นในเชิงการชื่นชม และอยากเห็นการพัฒนาแบบนี้เกิดขึ้นจริงในกรุงเทพมหานครและประเทศไทย
- อีก 62% มีความคิดเห็นทั้งในเชิงบวกและลบ คือเห็นด้วย และอยากให้โครงการเกิดขึ้นจริง แต่มีคำถามและข้อแนะนำในการดำเนินการจริงว่าอาจจะส่งผลกระทบกับคนที่เดินทางและอยู่แถวนั้น รวมถึงคำถามในลักษณะที่ว่าทำได้จริงๆ หรือ?
- และอีก 14% ไม่เห็นด้วยและตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการพัฒนา เช่น การจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนา ตำแหน่งที่ตั้งของโครงการพัฒนา
.
เพจ DD Property.com ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 จากคอมเม้นต์ทั้งหมด 109 คอมเม้นต์ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564) พบว่า
- มีเพียง 2% ที่เห็นด้วยหรือชื่นชมโครงการ
- กว่า 77% แสดงความคิดเห็นในเชิงที่ไม่เห็นด้วยและตำหนิการดำเนินโครงการว่าที่มาผิดที่ผิดเวลา อาทิ ควรปรับปรุงทางเท้า นำระบบสายไฟลงดิน จัดการเรื่องขยะ น้ำเสียให้ดีเสียก่อน
- อีก 21% แสดงความคิดเห็นในเชิงข้อเสนอแนะอื่นๆ เช่น การจัดลำดับความสำคัญของการแก้ปัญหาเมือง รวมถึงแสดงความกังวลกับการแก้ปัญหาอื่นๆที่สำคัญกว่าการปรับปรุงภูมิทัศน์คลอง เช่น การจัดการบำบัดน้ำเสีย การปรับปรุงถนน ทางเท้าให้มีคุณภาพที่ดีเสียก่อน
.
เพจ เอิร์ท พงศกร ขวัญเมือง (ซึ่งดำรงตำแหน่งโฆษกกรุงเทพมหานคร) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 จากคอมเม้นต์ทั้งหมด 156 คอมเม้นต์ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564) ซึ่งออกมาโพสต์หลังมีกระแสสังคมตั้งคำถามเรื่องการ ตัด/ล้อมย้ายต้นไม้ริมคลองช่องนนทรี ภายหลังเริ่มมีการก่อสร้าง พบว่า
- มี 35% แสดงชื่นชมการทำงานและความสวยงามของภาพทัศนียภาพซึ่งเป็นภาพฝันของโครงการ
- ส่วน 39% ให้ความเห็นในเชิงประชดประชันและตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของโครงการ และต้องการรายละเอียดการออกแบบของโครงการโครงการทั้งหมดว่ามีการจัดการเรื่องอื่นหรือไม่ นอกจากการมีภาพทัศนีภาพที่ดูดีแค่นั้น
- อีก 26% แสดงความคิดเห็นที่มีความกังวลในการดำเนินงานกับส่วนงานอื่นๆที่สำคัญและเกี่ยวข้อง เช่น การปรับปรุงทางเท้า การจัดการน้ำเสีย
.
ลองเข้าตามอ่านดู จะเห็นมิติของความเห็น ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งก็มีความแตกต่างกันไปตามช่องทางและเพจที่ทำการสื่อสารออกมา
.
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งเมื่อพิจารณาจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการนี้ แม้ว่าจะล่วงเลยจากการเปิดโครงการเมื่อเดือนตุลาคม 2563 จนครบ 1 ปีแล้ว แต่โครงการนี้ก็ยังคงใช้ “ภาพใช้ในการประกอบนิทรรศการเท่านั้น ไม่ใช่การออกแบบจริง” เป็นภาพเดิม ๆ ซ้ำ ๆ วน ๆ เพื่อโฆษณาถามความเห็นของประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย ดังนั้น ในฐานะประชาชนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็ย่อมมีคำถามว่า เมื่อไรจะได้เห็นแบบรายละเอียดของโครงการ เมื่อไรจะมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามวิชาชีพกล่าวอ้างถึง และจะมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ซึ่งประชาชนผู้เสียภาษีคงไม่ต้องการรับรู้รับทราบเพียงภาพโฆษณาเดิม ๆ เท่านั้น
.
10. ต้นพิกุลที่หายไป ไปอยู่ไหน? แล้วต้นอื่นๆที่เหลือจะรอดไหม?
.
ดิฉันไม่ใช่ภูมิสถาปนิก ไม่ได้สถาปนาตนเป็น ECO WARRIOR แต่ต้องบอกว่ารักต้นไม้ ต้นไม้ริมคลองช่องนนทรีเขียวแน่นอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นต้นพิกุล เป็นต้นไม้ไทย ไม้เก่า โตช้า กรองฝุ่นดีด้วยใบละเอียด หาประวัติไม่เจอ อนุมานว่าปลูกพร้อมถนนนราธิวาสเมื่อสร้างปี 2535 แล้วกัน
.
ดิฉันตกใจที่เห็นข่าวตัดต้นไม้ คิดในใจว่าหากเป็นภูมิสถาปนิกที่มีฝีมือจริง หรือเชื่อใน GREEN DESIGN จริง ต้องออกแบบให้ไม่มีการตัดต้นไม้เกิดขึ้น พอได้ข่าวว่ามีการล้อมปลูกต้นพิกุลก็โล่งใจ ดูในข่าว บอกว่าย้ายไปที่เขตสาทรซึ่งอยู่ใกล้ๆบ้าน ซึ่งดิฉันก็แปลกใจว่าสำนักงานเขตสาทรมีที่ปลูกด้วยหรือ จึงเดินไปดู พี่คนสวนบอกว่าไม่อยู่ที่นี่ ทั้งหมดย้ายไปที่สวนสาธารณะอยู่ดีที่อยู่ใต้ทางด่วนถนนเจริญราษฎร์ ดิฉันก็ตามไปอีกให้เห็นกับตา พบว่าจาก 22 ต้น เห็นแค่ 9 ต้นเท่านั้น หวังว่าอีก 13 ต้นจะอยู่ยังอยู่ดี
.
ทั้งนี้ เราจึงควรจะต้องหาข้อมูลว่าภูมิสถาปนิกที่จะเข้ามาออกแบบและบริหารโครงการนี้ มีประสบการณ์ในการจัดการกับต้นไม้ที่ล้อมรวมไปถึงต้นไม้ที่จะปลูกใหม่มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะเป็นดัชนีชี้วัดถึงความสามารถในการทำโครงการนี้ได้อีกเรื่องหนึ่ง
.
11. โครงการชองเกชอนสร้างประโยชน์อะไรแก่เมืองบ้าง? แถมท้าย
.
ด้านสิ่งแวดล้อม
- ฝุ่น PM10 ลดลง 19% ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลง 34%
- คุณภาพน้ำดีขึ้น ค่า BOD ลดจากประมาณ 200 มิลลิกรัม/ลิตร เหลือ 1-2 มิลลิกรัม/ลิตร
- อุณหภูมิลดลง 3.6 องศาเซลเซียส
- ความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้น ปลาเพิ่มเป็น 14 สปีชีส์ นกเพิ่มเป็น 18 สปีชีส์ และพืชเพิ่มเป็น 41 สปีชีส์
.
ด้านเศรษฐกิจ
- กิจการและธุรกิจในพื้นที่โดยรอบเพิ่มขึ้น 3.5%
- เศรษฐกิจในย่านใจกลางเมืองเคลื่อนเข้าสู่ภาคการเงินและการบริการขั้นสูง โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 20% ในปี 2000 เป็น 38% ในปี 2012
- มูลค่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่โดยรอบเพิ่มขึ้นถึง 30 – 50% (กลายเป็นอีกโจทย์เรื่อง GENTRIFICATION)
- จากงบประมาณลงทุน 11,250 ล้านบาท สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากถึง 750,000 ล้านบาท
.
ด้านสังคม
- เป็นพื้นที่ทางสังคมของเมืองและย่าน
- เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งสิ้น 32,177 กิจกรรม
12. งานปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองช่องนนทรี เคลมเป็นงาน URBAN DESIGN ได้หรือไม่?
.
อันนี้เป็นคำถามในฐานะอาจารย์ผู้สอนหลักสูตร URBAN DESIGN ซึ่งผลิตวิชาชีพ URBAN DESIGNER (สถาปนิกผังเมือง) สู่สังคม งาน URBAN DESIGN เป็นวิชาชีพควบคุมตาม กฎกระทรวงกําหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ.2549 ต้องมีการสอบใบประกอบวิชาชีพ
.
คำถามคือ
.
1. โครงการช่องนนทรี ที่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่มีทั้งหมดอาจจัดได้ว่าเป็น “งานปรับปรุงภูมิทัศน์คลอง” แต่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “งานฟื้นฟูเมือง” ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทงานของ URBAN DESIGN เนื่องจากโครงการไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูย่านโดยรอบ ขาดมิติการวิเคราะห์ในเชิง URBAN DESIGN รวมทั้งขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งเป็นหัวใจของงาน URBAN DESIGN ดังนั้น การอ้างว่าโครงการช่องนนทรี เป็น “THE WATER RESILIENT URBAN DESIGN” เป็นการกล่าวอ้างที่มากเกินขอบเขตหรือไม่?
.
2. โครงการช่องนนทรี ที่กล่าวอ้างว่าเป็น “THE WATER RESILIENT URBAN DESIGN” นั้น ได้นำเสนอโดยภูมิสถาปนิกที่อนุมานว่าเป็นหัวหน้าโครงการ อยากให้ตรวจสอบว่าในการกล่าวอ้างนี้ มีผู้มีวิชาชีพโดยตรงทางด้าน URBAN DESIGN ร่วมงานและกำกับดูแลหรือไม่?
.
การพัฒนาเมืองต้องการการบูรณาการของหลากหลายศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมผังเมือง ภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรม รวมทั้งวิศกรรม สิ่งแวดล้อม รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ ที่ผ่านมาดิฉันยึดเป็นแนวปฏิบัติแบบนี้ แต่ละศาสตร์มีความรู้และความเชี่ยวชาญเป็นของตนเอง หากร่วมมือกันได้ ทำในสิ่งที่ตนเองถนัด โครงการนั้นจะนำประโยชน์สูงสุดมาสู่เมืองและชุมชน ในทางกลับกัน หากไปเคลมไปทำงานในสิ่งที่ตนไม่เชี่ยวชาญ ปัญหาก็จะเกิดแก่โครงการ แก่เมือง แก่ชุมชน จึงอยากเรียกร้องให้สภาและสมาคมวิชาชีพได้มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการควบคุมวิชาชีพแต่ละสาขาให้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณตามขอบเขตของวิชาชีพเฉพาะของตน ไม่กล่าวอ้างหรือให้ข้อมูลแก่บุคคลทั่วไปในอันที่จะเกินขอบเขตวิชาชีพที่ตนสามารถกระทำได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะ
.
ส่งท้าย
.
วันก่อนมีสื่อเยาวชนมาสัมภาษณ์ “หากเราอยากให้เมืองดี เราในฐานะพลเมืองจะทำอะไรได้บ้าง?”
.
ก็ตอบไปว่า เราต้องช่วยกันยกระดับวุฒิภาวะ (MATURITY) ด้านการพัฒนาเมืองให้เกิดขึ้น
.
ก่อนเราจะอนุโมทนาโครงการใดๆ ขอให้ช่วยกันศึกษา ตรวจสอบ และตั้งคำถาม โดยเฉพาะคำถามยากๆ ก็อาจทำให้นักการเมือง นักผังเมือง สถาปนิกผู้ออกแบบ เขา RESPECT OUR HEADS มากขึ้น
ไม่กล้าทำอะไรส่งเดช
.
งานจำพวก GREEN DISNEY / GREEN WASH ที่ผลาญเงินภาษีไปกับค่าก่อสร้าง ค่าออกแบบ ค่าบำรุงรักษา
แต่ตอบไม่ได้กับ COST-EFFECTIVENESS ก็จะน่าลดน้อยลง
.
อยากได้เมืองดี ต้องช่วยกันตั้งคำถามยากๆ