วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 28, 2564

บันทึกเยี่ยม #ยาใจทะลุฟ้า: “อยากให้ผู้พิพากษามาเรียนรู้ความเป็นอยู่ในเรือนจำ ว่าพื้นที่นี้ลดทอนความเป็นมนุษย์มากๆ”


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
10h ·

++ บันทึกเยี่ยม #ยาใจทะลุฟ้า: “อยากให้ผู้พิพากษามาเรียนรู้ความเป็นอยู่ในเรือนจำ ว่าพื้นที่นี้ลดทอนความเป็นมนุษย์มากๆ” ++
.
.
20 ตุลาคม 2564 ‘ยาใจ ทะลุฟ้า’ หรือทรงพล สนธิรักษ์ ถูกฟ้องในคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 และศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าร้ายแรง ทั้งจำเลยมีพฤติการณ์ที่ก่อเหตุซ้ำหลายคดี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรือหลบหนี
.
เนื่องจาก 21-24 ตุลาคม 2564 เป็นวันหยุดยาว และ การยื่นเอกสารให้ผู้ต้องขังเซ็นใบแต่งทนายความต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งวันทำการ วันเปิดทำการวันแรก เราจึงได้แต่เพียงยื่นเอกสาร และวันที่ 26 ตุลาคม 2564 จึงมีโอกาสได้เยี่ยมยาใจเป็นครั้งแรก
.
ยาใจลงมาในชุด PPE สีขาว สวมหน้ากากอนามัย เขาต้องพยายามสอดโทรศัพท์เข้าไปในชุดที่คลุมถึงศีรษะ จนหมวกร่นมาปิดบังใบหน้า เรียกว่าทุลักทุเลพอสมควรกว่าจะจัดท่าทางในการคุยกันและเริ่มบทสนทนา
.
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ยาใจถูกควบคุมตัว ยาใจถูกดำเนินคดีแรก ในคดีชุมนุมคณะราษฎรอีสาน #ม็อบ13ตุลา จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ครบรอบหนึ่งปีในเดือนเดียวกัน เขากลับมาอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นหนที่สอง จากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในนาม “ทะลุฟ้า”
.
.
## อาหารในเรือนจำเป็นการลดทอนความเป็นคนมาก ##
.
“ยังงงอยู่เลย” เป็นคำตอบแรกที่ยาใจตอบเราหลังถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง “ผมเข้ามาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลา ในห้องขังที่กักตัวด้วยกันมีกัน 13 คน ผมไม่ได้เตรียมใจไว้ก่อน วันนั้นอยู่ใต้ถุนศาลเจ้าหน้าที่แค่บอกว่าศาลไม่อนุญาตให้ประกัน ต้องไปเรือนจำก่อน ผมไม่ได้เจอใครเลย” ยาใจเล่าย้อนไปถึงวันที่ทราบคำสั่ง
.
“ตอนนี้อยู่ในช่วงปรับตัวพออยู่คนเดียวต้องเข้มแข็งมาก แต่ก็ได้เพื่อนในห้องคุยกันได้เรื่อยๆ วันแรกๆ จะยากหน่อย ทั้งเรื่องของใช้ และอาหาร โดยเฉพาะเรื่องอาหาร อาหารในเรือนจำเป็นการลดทอนความเป็นคนมาก ทานไม่ได้เลย ของใช้และอาหารแห้ง คุณไดโน่และพี่อาทิตย์ ก็ส่งมาให้บ้างเพราะอยู่แดนเดียวกัน แต่ว่าในห้องเดียวกันมีทั้งหมด 13 คน ก็ต้องแบ่งของให้คนอื่นด้วย”
.
เนื่องจากพวกเขาเข้าไปในช่วงวันหยุดยาว ญาติยังไม่ทราบเลขผู้ต้องขัง จึงยังไม่สามารถสั่งของออนไลน์กับทางเรือนจำได้ และสิ่งของที่สั่งจะถึงผู้ต้องขังในวันถัดไป ยังไม่ได้ในทันที วันที่เราพบยาใจจึงยังไม่ได้รับสิ่งของใดๆ จากภายนอกเลย
.
“ทั้งห้อง 13 คน เข้ามาใหม่ทั้งหมดเลย ทำให้อาหารไม่พอ พอหมดช่วงบ่ายสองก็ไม่ได้ทานอะไร ทำให้นอนไม่หลับ ความจริงมีขนมอยู่เล็กน้อยที่เพื่อนส่งมาให้ แต่ก็เกรงใจเพื่อนร่วมห้องที่ไม่มีของทาน ทำให้ห้าถึงหกวันที่ผ่านมาหิวนอนไม่หลับ แต่ก็กินพอให้ผ่านไป”
.
ยาใจเล่าให้ฟังว่า “พอมาอยู่ในเรือนจำครั้งนี้ได้คุยกับคนในนี้ เห็นว่าหลายคนเข้ามาแบบไม่สมควรต้องมาถูกดำเนินคดีหรือถูกขังเลย ในฐานะที่เราเรียนนิติศาสตร์ก็ให้คำปรึกษาทางกฎหมายไปบ้าง”
.
.
## นักกิจกรรม ผู้ฝันว่ากฎหมายมีไว้สร้างความเท่าเทียม ไม่ใช่กดขี่ ##
.
คดี #ม็อบ13ตุลา เป็นคดีแรกของเขาก็จริง แต่ก่อนหน้านั้น ยาใจก็ช่วยจัดกิจกรรมมาก่อนและยังไม่เคยถูกดำเนินคดี “ผมเริ่มทำกิจกรรมมาจากกลุ่มอันมี (Unme of Anarchy) หลังจากพี่ไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ออกจากคุก มาอยู่บ้านมวย (ชมรมมวย) ทำให้รู้จักพี่ไผ่”
.
“พี่ไผ่อยากให้น้องๆ ในบ้านมวยเป็นพื้นที่ของนักกิจกรรมด้วย จึงชวนไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ไปช่วยชาวบ้านที่อำเภอบ้านไผ่ในช่วงกันยายนปี 2562 ตอนนั้นเห็นว่าไม่มีหน่วยงานรัฐลงไปช่วยเลย กลุ่มเราก็ลงไปช่วยชาวบ้านทำความสะอาดบ้าน แต่ตอนนั้นก็ยังคิดว่าทำไมต้องเป็นพวกเรา ทำไมไม่มีหน่วยงานมาช่วยเหลือชาวบ้าน นอกจากนี้ก็การไปเรียนรู้ปัญหาและช่วยเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนกรณีสร้างโรงงานน้ำตาล ช่วงเดือนตุลาคมปี 2562”
.
หลังจากนั้นก็ทำกิจกรรมมาเรื่อยๆ ยาใจบอกว่าไม่คิดว่าตัวเองจะมาถึงจุดนี้เช่นกัน แม้ก่อนหน้าถูกจับกุมครั้งแรก เขาจะทำกิจกรรมทางการเมือง อย่างการไปร่วมฟังการพิจารณาคดีไต่สวนการควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมายของทิวากร, กิจกรรม “นอนแคมป์ไม่นอนคุก” ช่วงสิงหาคม 2563 และไปร่วมชุมนุม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” ที่สนามหลวง แต่ยาใจบอกว่า “ผมเปลี่ยนจริงๆ หลังโดนจับวันที่ 13 ตุลาคม 2563 หลังโดนจับ ผมไม่เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมจะพึ่งได้”
.
หลังออกจากเรือนจำในช่วงนั้น ยาใจยังคงทำกิจกรรมต่อเนื่อง ได้มาอยู่กรุงเทพ ได้มาช่วยจัดกิจกรรมต่างๆ จนกระทั่งมีกิจกรรมเดินทะลุฟ้าในช่วงกุมภาพันธ์ 2564 และมีการตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า พวกเขาจึงใช้ชื่อ “ทะลุฟ้า” มาตั้งแต่นั้น
.
“ตอนนี้ไม่ได้เสียใจอะไร เพราะเห็นว่าถ้าเรารู้ถึงปัญหา ยังไงก็ต้องออกมาสู้ ไม่ควรปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นต่อไป ผมเชื่อว่าทุกปัญหาแก้ไขได้ ผมอยากเห็นสังคมที่มองคนเท่ากันปฏิบัติกันอย่างเท่าเทียม เชื่อว่าต้องทำกฎหมายที่ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกฎหมาย กฎหมายไม่ได้มีไว้กดขี่ เราควรมีรัฐสวัสดิการให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ของรัฐได้”
.
.
## อยากเป็นผู้พิพากษา เพื่อสร้างความเป็นธรรม ##
.
เมื่อถามถึงเรื่องการเรียน ยาใจแจ้งว่า ตอนนี้เรียนอยู่ปี 5 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เทอมนี้เขาไม่ได้ลงทะเบียนเรียน แต่เขาเหลือวิชาลงในเทอมสองเพียงสองตัว มหาวิทยาลัยน่าจะเปิดช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
.
ยาใจเล่าว่า “ตอนแรกที่เรียนกฎหมายเพียงแค่ต้องการอยากรู้กฎหมาย และไม่ถูกละเมิด ไม่ถูกใครเอาเปรียบ ตอนนั้นยังไม่ได้คิดว่าอยากเป็นอะไร แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วนะว่าอยากเป็นผู้พิพากษา เพราะผมอยากให้เกิดความยุติธรรม ผมเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมสร้างความเป็นธรรมได้ แต่คนในระบบต้องไม่ทำเพื่อตัวเอง ตอนนี้คนในกระบวนการยุติธรรม ทำงานเพื่อให้ได้มีสถานะ มีอาชีพ มากกว่าเพื่อรักษาความเป็นธรรม”
.
เราถามถึงความรู้สึกเขาตอนนี้ที่ต้องอยู่ในฐานะผู้ต้องขัง “ตอนนี้รู้สึกเจ็บปวดและอยากให้ทุกคนจดจำว่ากระบวนการยุติธรรมมันไม่เคยให้ความเป็นธรรมกับใคร”
.
สุดท้ายเมื่อถามว่าในฐานะนักศึกษากฎหมาย อยากฝากอะไรถึงเพื่อนร่วมวิชาชีพในอนาคต ยาใจตอบว่า “อยากให้ผู้พิพากษามาเรียนรู้ความเป็นอยู่ในเรือนจำ ว่าพื้นที่นี้ลดทอนความเป็นมนุษย์มากๆ อยากให้ผู้พิพากษามีหัวใจ มีเหตุมีผลมีความเป็นธรรม ไม่ใช่ยึดตัวบทกฎหมายอย่างเดียว”
.
ไม่แปลกใจเลยที่เขายอมอด เพราะเกรงใจเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันที่ไม่มีของทาน
.
ไม่แปลกใจเลยที่เขาใช้วิชาความรู้มาช่วยเพื่อนผู้ต้องขัง
.
และในวันใดวันหนึ่งที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสำเร็จ เราอาจจะไม่แปลกใจ ที่มี “ทรงพล สนธิรักษ์” ลงชื่อในคำสั่งให้ประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลยระหว่างการพิจารณาคดี เพราะกฎหมายสันนิษฐานว่าพวกเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ก็เป็นได้
.
.
เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
26 ตุลาคม 2564
.
------------------------
อ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ https://tlhr2014.com/archives/37027