วันพุธ, ตุลาคม 27, 2564
การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ คือ หนทางสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ - ปิยบุตร แสงกนกกุล
Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
October 23 at 11:33 PM ·
[ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ คือ หนทางสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ]
เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ชอบหรือไม่ชอบ ผ่านมาถึงวันนี้ ก็ต้องยอมรับตรงกันแล้วว่า ประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ กลายเป็นประเด็นสาธารณะ เป็นประเด็นหลัก เป็นประเด็นหัวใจ ของสังคมไทย
นับตั้งแต่คณะทหารกลุ่มหนึ่ง ก่อกบฏ ยึดอำนาจ ตั้งตนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ในชื่อ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านการสืบทอดอำนาจมาจนถึงปัจจุบันนี้ พวกเขาได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ กฎหมาย แนวทางปฏิบัติจำนวนมาก จนทำให้ระบอบการปกครองที่เป็นอยู่โน้มเอียงไปทางระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากขึ้น
การก่อรูปของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่จำแลงแฝงกายในเสื้อคลุมของ “รัฐธรรมนูญ” “ประชาธิปไตย” “การเลือกตั้ง” ไม่สามารถครองใจคนได้ ไม่มีวันที่จะสร้างฉันทามติให้สังคมส่วนใหญ่ยินยอมพร้อมใจยอมรับได้ดังเช่น “ฉันทามติภูมิพล” (King Bhumibol Consensus) ที่ครองอำนาจนำในสังคมไทยได้ในอดีตอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตามที่นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตไว้
หากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงนี้ ก่อรูปได้สำเร็จ ก็อาจปกครองคนได้จริง แต่มันคือการปกครองคนได้ด้วยความกลัว ด้วยกำลัง ด้วยกลไกรัฐจำพวกศาล ทหาร คุก ตำรวจ กฎหมาย มิใช่การยินยอมพร้อมใจโดยสมัครใจ
เช่นนี้แล้ว ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง จึงไม่มีทางตั้งมั่นได้อย่างยั่งยืน ยืนตระหง่านบนความเปราะบาง พร้อมที่จะพังภินท์ลงไปได้เสมอ
เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะอยู่อาศัยภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงได้อย่างสันติ
ตรงกันข้าม การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ยังรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ต่างหาก ที่จะทำให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายก้าวหน้า ฝ่ายล้าหลัง ทั้งคนที่รักสถาบันกษัตริย์ คนที่เฉยๆกับสถาบันษัตริย์ คนที่ไม่ต้องการมีสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งสถาบันกษัตริย์และองคาพยพรายล้อมเอง ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ จึงเป็นหนทางสร้างฉันทามติใหม่ให้แก่สังคมไทย ให้คนไทยได้อยู่ร่วมกันดังเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติอย่างสันติ
การเหนี่ยวรั้งขัดขวางการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ การดึงดันก่อรูประบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง คือ หนทางไปสู่ความขัดแย้งอันร้าวลึก
ประเทศไทย คนไทย ต้องการแบบไหน?
#ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ #สมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง #ฉันทามติภูมิพล
Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
13h ·
[ ทำไมฝ่ายอนุรักษ์นิยมโบราณจึงใช้อำนาจบังคับให้คนรักและศรัทธาตามตนเอง? ]
ตั้งแต่ประเด็นสถาบันกษัตริย์ ที่มีขบวนการของคนรักสถาบันกษัตริย์ "ล่าแม่มด" ไล่ฟ้องคดี จนมาถึงประเด็นขบวนอันเชิญพระเกี้ยว ทั้งหมดมีจุดร่วมจากจากปัญหาเดียวกัน นั่นคือ "การบังคับ"
คนกลุ่มหนึ่ง เชื่อ รัก ศรัทธา เคารพ ต่อสิ่งหนึ่ง แต่การเชื่อ รัก ศรัทธา เคารพ ต่อสิ่งนั้นในหมู่พวกเดียวกันเองยังไม่เพียงพอสาแก่ใจของพวกเขา
พวกเขาต้องการให้ทุกคน เชื่อ รัก ศรัทธา เคารพ ต่อสิ่งนั้น จึงใช้ "อำนาจ" ซึ่งแสดงออกผ่านหลายรูปแบบ ตั้งแต่อำนาจรัฐ กฎหมาย ระเบียบ ประเพณี วัฒนธรรม กำลัง หรืออาวุโส เพื่อบังคับให้คนอีกกลุ่มที่ไม่ได้เชื่อ ไม่ได้รัก ไม่ได้ศรัทธา ไม่ได้เคารพ หรือรู้สึกเฉยๆ ให้มาเชื่อ รัก ศรัทธา และเคารพ เหมือนพวกตน
ทำไมฝ่ายอนุรักษ์นิยมหัวโบราณที่เชื่อ รัก ศรัทธา เคารพ สิ่งหนึ่ง ถึงไม่ใจกว้างพอที่จะยอมรับว่า มีคนที่เขาอาจไม่เชื่อ ไม่รัก ไม่ศรัทธา ไม่เคารพ แบบตนได้?
การที่มีคนไม่เชื่อ ไม่รัก ไม่ศรัทธา ไม่เคารพ แบบพวกตน ไม่ได้รบกวนหรือบั่นทอนทำให้ความเชื่อ ความรัก ความศรัทธา ความเคารพ ที่พวกตนมีนั้น ลดน้อยลงไป พวกอนุรักษ์นิยมหัวโบราณก็ยังมีเสรีภาพที่จะเชื่อ รัก ศรัทธา เคารพ ในสิ่งนั้นๆ ต่อไป รวมถึงมีเสรีภาพที่จะเลิกเชื่อ เลือกรัก เลิกศรัทธา เลิกเคารพสิ่งนั้นๆ ได้ในวันหน้า
เราสามารถอยู่อย่างสันติได้ภายใต้ความคิด ความเชื่อ ความรักที่ต่างกัน
ทำไมฝ่ายอนุรักษ์นิยมโบราณจึงไม่ใช้ "เหตุผล" ในการทำให้คนเชื่อ คนรัก ในสิ่งที่ตนเองเชื่อ ตนเองรัก?
ทำไมต้องใช้กำลัง อำนาจ บังคับ?
หรือเพราะ ไม่มี “เหตุผล” ชุดใดหลงเหลืออีกแล้ว จึงต้องหันมาใช้อำนาจกำลังบังคับแทน?
ยิ่งใช้อำนาจบังคับให้คนเชื่อ รัก ศรัทธา เคารพ เท่าไร ยิ่งแสดงให้เห็นว่าความเชื่อ ความรัก ความศรัทธา ความเคารพต่อสิ่งนั้นๆ ร่อยหรอเหลือน้อยลงไปทุกที