วันเสาร์, ตุลาคม 16, 2564

วิสา คัญทัพ: บทกวี ‘สิบสี่ตุลา’ ยังกระหึ่มแม้ผ่านกาลเวลาเกือบ 50 ปี


The People
October 13 at 11:00 PM ·

วิสา คัญทัพ: บทกวี ‘สิบสี่ตุลา’ ยังกระหึ่มแม้ผ่านกาลเวลาเกือบ 50 ปี
.
“ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาปสูญ ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่ เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” คือส่วนหนึ่งของบทกวี ‘สิบสี่ตุลา’ ที่แต่งโดย ‘วิสา คัญทัพ’ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
.
ปัจจุบันผลงานชิ้นนี้ของเขายังกระหึ่มอยู่ในเวทีการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวในปี 2563 - 2564 แม้ตัวผู้ประพันธ์จะไม่ได้อยู่ในประเทศไทย และได้ลี้ภัยไปต่างแดนก่อนที่การชุมนุมของนักเรียนนิสิตนักศึกษาอีกรุ่นจะเกิดขึ้นระลอกใหม่ในปีที่แล้ว
.
วิสา คัญทัพ เป็น 1 ใน 9 นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เคยถูกลบชื่อในเดือนมิถุนายน 2516 เพราะทำหนังสือ ‘บันทึกมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ’ เขียนล้อการเมืองในขณะนั้นว่า ‘สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ มีมติให้ต่ออายุราชการสัตว์ป่าอีกหนึ่งปี เนื่องจากสถานการณ์ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ’ การเขียนเช่นนี้กระทบต่อผู้มีอำนาจในขณะนั้นเพราะมีการต่ออายุราชการกันเองและมีกรณีใช้เฮลิคอปเตอร์ของทางราชการไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯ
.
หลังจาก ‘รามคำแหง’ ลบชื่อ 9 นักศึกษาแล้ว ก็นำมาสู่การเดินขบวนประท้วงต่อต้านการกระทำดังกล่าวของมหาวิทยาลัยในวันที่ 21 - 22 มิถุนายน 2516 มีการชุมนุมที่หน้าทบวงมหาวิทยาลัยและที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สุดท้ายนักศึกษาทั้ง 9 คนได้กลับไปเรียนอีกครั้ง ส่วนข้อเรียกร้องในการชุมนุมขณะนั้นยังรวมถึงข้อเรียกร้องเรื่องรัฐธรรมนูญด้วย
.
ต่อมาในปีเดียวกัน วิสา เป็น 1 ใน ‘13 กบฏ เรียกร้องรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกจับหลังไปแจกใบปลิววันที่ 6 ตุลา 2516 นำมาสู่การชุมนุมใหญ่ของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนก่อนเกิดเหตุการณ์ปะทะวันที่ 14 ตุลา 2516 แม้ว่า ‘13 กบฏ เรียกร้องรัฐธรรมนูญ’ จะได้รับการปล่อยตัวแล้วตั้งแต่วันที่ 13 ตุลา
.
วิสาเคยให้สัมภาษณ์รายการ Wake Up Thailand เผยแพร่ทาง Voice TV วันที่ 11 ตุลาคม 2556 โดยตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ว่า “บรรยากาศ 14 ตุลา 16 เรื่องสถานะอำนาจทหารที่เข้ามาครอบงำสูงสุด จริง ๆ แล้วบรรยากาศตอนนั้นส่งผลสะเทือนต่อสถาบันที่สูงสุดกว่านั้นเหมือนกัน จนกระทั่งมีข่าวปล่อยหรือข่าวลือทำนองว่า ระวัง พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร จะเป็นประธานาธิบดี
.
“ผมด้วยวัยขณะนั้น 20 ปี เป็นเด็กมาก ก็งงเหมือนกันว่าข่าวนี้มันออกมาจากไหน
.
“ใครจะเป็นคนปล่อยข่าวอย่างนี้เพื่อจะให้นักศึกษารู้สึกว่าถ้าโค่นพวกนี้ได้ก็ดี อันนี้เป็นบรรยากาศตอนนั้น เป็นประเด็นซึ่งน่าจะไปค้นคว้ากันดูว่ากระแสแบบนี้มันออกมาได้อย่างไร”
.
วิสาตัดสินใจเข้าป่าก่อนจะเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 6 ตุลา 2519 และอยู่ในป่าเป็นเวลา 4 ปี
.
หลังออกจากป่ามีผลงานชิ้นสำคัญคือเพลง ‘กำลังใจ’ คำร้องตอนหนึ่งมีว่า ‘ขุนเขาไม่อาจขวาง สายทางเที่ยงธรรมได้ ความหวังยังพริ้งพราย เก่าตายมีใหม่เสริม ชีวิตที่ผ่านพบ มีลบย่อมมีเพิ่ม ขอเพียงให้เหมือนเดิม..กำลังใจ’
.
วิสา เคยโพสต์เล่าที่มาของเพลงนี้ว่า “... ผมแต่งเพลงนี้ภายหลังออกจากป่าไม่นาน ด้วยความรู้สึกหดหู่ พ่ายแพ้ และสิ้นหวัง สูญเสียนั้นแทบไม่ต้องพูดถึง หนึ่งชีวิตน้องชายที่ต้องสังเวยไปในการต่อสู้ และอีกหลายชีวิตของเพื่อนมิตรร่วมรบเยาวชนนักศึกษา …”
.
ผ่านยุค ‘ตุลา 16 - 19’ ผ่านยุค ‘พฤษภา 35’ ไปแล้ว ในยุคหลังเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร วันที่ 19 กันยา 2549 วิสา คัญทัพ และภรรยา ‘ไพจิตร อักษรณรงค์’ ร่วมขึ้นเวทีเคลื่อนไหวในฐานะแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ แกนนำคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นการต่อสู้ภาคประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
.
จากการเคลื่อนไหวในทศวรรษนี้เอง ในที่สุดเขาและภรรยาได้ตัดสินใจลี้ภัยไปต่างประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ในประเทศเยอรมนี ในวัย 68 ปีและอยู่ระหว่างรักษาตัวเนื่องจากป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน
.
แต่วิสาและไพจิตรยังเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียส่งกำลังใจให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังต่อสู้ในยุคสมัยนี้โดยวิธียืนกล่าวบทกวีและบทเพลงร้องสดปราศจากดนตรี บันทึกเป็นคลิปแล้วโพสต์เผยแพร่ทาง Facebook ซึ่งมีเพลง ‘กำลังใจ’ เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแสดงออกทางการเมืองระหว่างที่คนรุ่นใหม่กำลังเคลื่อนไหวต่อสู้ในไทยด้วย
.
ในบรรดาผลงานที่วิสาและไพจิตร ได้นำมาร้องสดปราศจากดนตรี แล้วโพสต์คลิปเมื่อปี 2563 ช่วงเวลาเดียวกับที่คนรุ่นใหม่กำลังเคลื่อนไหวนั้น นอกจากเพลงกำลังใจแล้วยังมีอีกผลงานชิ้นสำคัญคือบทกวี ‘สิบสี่ตุลา’ ซึ่งคนรุ่นใหม่ได้ก็นำบทกวีบทเดียวกันนี้มาอ่านบนเวทีปราศรัยอย่างมีอารมณ์ร่วมทั้งคนอ่านและคนฟังด้วยเช่นเดียวกัน
.
บทกวีสิบสี่ตุลา วิสาเคยโพสต์เล่าไว้ในโอกาสครบรอบ 14 ตุลา ปี 2558 ว่า “...ขอเล่าบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ตรงนี้อีกครั้ง ด้วยวัยเพียง 20 ปี กับข้อหาร้ายแรง กบฎภายในและภายนอกราชอาณาจักร และมีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ ในฐานะ 1 ใน 13 คนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
.
“หลังถูกปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขจากเรือนจำชั่วคราวบางเขน ภาพที่เห็นตอนค่ำของคืนวันที่ 13 ตุลาคม คือภาพพลังนักศึกษาประชาชนเรือนแสนแน่นขนัดอยู่เต็มอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ครั้งแรกในชีวิตที่เห็นภาพมวลชนมหาศาล ปะทุอารมณ์เคียดแค้นชิงชังเผด็จการทรราช มันเป็นภาพยิ่งใหญ่ที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน มันสะกดผมติดตาตรึงใจ ให้เก็บภาพนี้ประทับไว้ในความทรงจำ
.
“ยังไม่คิดว่าจะเขียนบทกวีขณะนั้น จนเหตุการณ์ผ่านไป อยู่ในระหว่างช่วงปี 2517 - 2518 ไม่แน่ชัด หากจำได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ผมทำงานประจำกองบรรณาธิการ นสพ.รายวันชื่อ ‘เสียงใหม่’ อันมีพี่เสถียร จันทิมาธร เป็นหัวเรือใหญ่ สำนักงานอยู่แถวหลังโรงหนังรามอินทรา ผมเขียนกลอนบทนี้ ที่นี่
.
“ตอนนั้นผมรับเป็นผู้ถอดความหนังสือประกอบภาพปั้นของจีนที่ชื่อ ‘พืชพันธุ์แห่งการต่อสู้ : ภาพปั้นแกะสลักของชนผู้ยากไร้’ อันเป็นเรื่องราวความทุกข์ระทมของชาวนาจีนในสังคมศักดินา ตอนจบของเรื่อง ที่หน้าสุดท้ายมีภาพดวงตะวันสีแดงดวงโต ปรากฎซ้อนอยู่กับภาพชาวนาที่ลุกขึ้นสู้จนได้ชัยชนะ จะมีภาพเหมาเจ๋อตงร่วมอยู่ด้วยหรือไม่ จำไม่ชัด จะอย่างไรก็ตาม ภาพที่ผมเห็นในหน้าสุดท้ายอันเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนบทกวีบทนี้หาใช่ภาพชาวนาไม่ มันกลายเป็นภาพพลังนักศึกษาประชาชน 14 ตุลา อันยิ่งใหญ่ที่ซ่อนลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกอันหยั่งรู้ได้ สัมผัสได้ และรู้สึกได้ที่กลอนบทนี้มันทรงพลังก็เพราะมันเป็นสัจจะ มันเขียนขึ้นจากความจริงแห่งตัวตนของจิตวิญญาณประชาชนอันบริสุทธิ์
.
“เกือบลืมบอกไปว่าผมใช้นามปากกา ‘ธรรมรักษ์ สิรินิมิตรกุล’ ในการถอดความหนังสือ ‘พืชพันธุ์แห่งการต่อสู้ฯ’ ซึ่งเป็นนามปากกาเดียวกับที่ใช้เขียนบทกวี ‘ตำนานลิงยุคมืด’ ที่ลงพิมพ์ในหนังสือ ‘กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งเดินขบวนแจกกันในวันที่ 6 ตุลา 2516 บทกวีบทนี้ถูกเซ็นเซอร์ โดยพวกเรากันเองด้วยการแปะกระดาษปรู๊ฟปิดทับไว้ที่หน้าบทกลอนเพื่อให้คนอ่านไม่เห็น การกลับเป็นตรงข้ามเพราะใครก็อยากอ่านจึงเอามาส่องแสงแดดอ่านเป็นที่เพลิดเพลิน เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไว้หาโอกาสเล่าให้ฟัง...”
.
การโพสต์ข้อความดังกล่าว เป็นการโพสต์เมื่อปี 2558 หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภา 2557 และก่อนที่จะมีการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่ได้สร้างจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ในการทะลุฟ้า - ทะลุเพดาน เมื่อปี 2563 - 2564, เป็นการโพสต์ก่อนที่การเมืองภาคประชาชนจะเคลื่อนไหวท่ามกลางเหตุการณ์และผู้คนในทศวรรษใหม่
.
หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว วิสา เคยกล่าวถึงบทบาทของศิลปินและผลงานศิลปะที่สามารถนำมารับใช้การเคลื่อนไหวได้ทุกยุคสมัย โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์ จอม เพชรประดับ ในรายการ Intelligence เผยแพร่ทาง Voice TV วันที่ 8 กันยายน 2554 ว่า “ผมเองตั้งแต่เป็นนักศึกษาเป็นเยาวชนก็เคลื่อนไหวในลักษณะที่เอางานศิลปะมารับใช้การต่อสู้ทางการเมืองมาตลอด เพราะว่าเราเป็นนักเขียน เป็นกวี เป็นคนทำเพลง เราก็ใช้กระบวนการงานศิลปะที่ถนัดเข้าไปเป็นแนวทางการต่อสู้ ซึ่งในอดีตมันก็มีมาแล้ว ยุคจิตร ภูมิศักดิ์ ยุคนายผี อัศนี พลจันทร คนรุ่นเหล่านั้นก็ใช้ความถนัดส่วนตัว ขณะเดียวกันเขาก็เป็นนักคิดทางการเมือง นักยุทธศาสตร์ นักยุทธวิธีในการวางแผนต่อสู้กับเผด็จการตลอดมา
.
“การใช้บทกวีบทเพลงมาเป็นอาวุธต่อสู้ทางการเมือง ภาษาพวกเราในยุคนั้น เราเรียกว่า แนวรบทางวัฒนธรรม กินรูปการณ์จิตสำนึกเวลาอ่านเวลาฟังแล้วสะเทือนใจ ให้อารมณ์ความรู้สึกโกรธแค้นชิงชังรักชอบเป็นอารมณ์ที่ลึกอยู่ในจิตใจ เหมือนเราอ่านบทกวีปลุกใจ ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า... ก็จะมีความฮึกเหิม ผมทดสอบว่าการเขียนบทกวีให้คนอ่านกับการอ่านบทกวีให้คนฟัง มีความต่างกัน ผมอ่านให้มวลชนคนเสื้อแดงฟังในที่ชุมนุมซึ่งมีคนจำนวนมาก เราเขียนแล้วเขาอ่านก็ไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ แต่พอเราอ่านให้เขาฟังในที่ชุมนุมคนเยอะ ๆ จะเป็นอีกบรรยากาศ กระหึ่มกึกก้องได้รับเสียงโห่ร้อง ประชาชนต้อนรับสิ่งที่ผมนำเสนอ ผมจึงผลิตงานในท่ามกลางการสู้รบ ทำงานด้านเพลง บทกวี เพราะประชาชนต้อนรับ ส่วนการปราศรัยก็เป็นบทบาทของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, จตุพร พรหมพันธุ์” วิสาให้สัมภาษณ์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว
.
ในความเห็นของวิสา มองว่า เจตนารมณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นเจตนารมณ์ที่ต่อเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรเมื่อปี 2475 เพราะตอนนั้นก็ต้องการประชาธิปไตย และหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อใดก็ตามที่มีการยึดอำนาจรัฐประหารหรือทำรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็จะเกิดกระบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องดังกรณี ‘พฤษภา 35’ และ ‘เมษา - พฤษภา 53’
.
หลายเหตุการณ์ผ่านมานานหลายทศวรรษ แม้แต่การต่อสู้ของคนเสื้อแดงในทศวรรษ 2550 หลังยุค ‘ตุลา 16 - 19’ หลังยุค ‘พฤษภา 35’ ล่าสุดการต่อสู้ของคนเสื้อแดงก็นับเป็นการต่อสู้อันยาวนานในทศวรรษที่แล้วเช่นกัน
.
อดีตได้ผ่านมาแล้ว ไม่ว่าผู้คนในขบวนการที่มาก่อนจะคาดหมายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้หรือไม่ ความเคลื่อนไหวในยุคปัจจุบัน (2563 - 2564) ก็ปรากฏการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ ในทศวรรษใหม่ เหตุการณ์ใหม่ โดยพวกเขาใช้ชื่อ ราษฎร ชื่อเดียวกับคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และการเคลื่อนไหวระลอกนี้ยังมีเสียงอ่านบทกวีของวิสา คัญทัพ กระหึ่มในที่ชุมนุม แม้ตัวผู้ประพันธ์จะอยู่ห่างไกลด้วยระยะทางและห่างไกลด้วยกาลเวลาหากจะนับที่มาคือปีที่ประพันธ์ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้เป็นเวลาเกือบ 50 ปี
.
เรียบเรียงโดย: ฟ้ารุ่ง ศรีขาว
ภาพ: https://www.facebook.com/photo/?fbid=383893863180016&set=pcb.383893993180003
.
ติดตาม Instagram ของ The People ได้ที่ https://www.instagram.com/thepeoplecoofficial/
.
ข้อมูลจาก:
http://www.14tula.com/activity/book14tula13kabod.pdf
https://web.facebook.com/Visa.khanthap/posts/10210340651032358
https://web.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1194835767215971&id=199610876738470
https://web.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1068318526534363&id=199610876738470
https://web.facebook.com/jung.paichit/posts/141788534057218
https://web.facebook.com/jung.paichit/videos/172018937700844/
https://www.facebook.com/jung.paichit/videos/161042812131790/?d=n
https://voicetv.co.th/watch/17876
https://www.youtube.com/watch?v=Nl-1v525w-A
.
#ThePeople #Politics #14ตุลา #วิสาคัญทัพ