Somsak Jeamteerasakul
10h ·
ราคาค่าอาลัย? งบประมาณจัดงานพระบรมศพฯ 3พันล้าน
(คัดลอกจาก "มิตรสหายท่านหนึ่ง")
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ร.9 ในวันนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้วถูก CNN ยกให้เป็น"พิธีศพ"ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน น่าจะถือเป็น"รัฐพิธี"ที่ยิ่งใหญ่และใช้งบประมาณมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่น่าแปลกที่ว่าสุดท้ายแล้วงานนี้ใช้งบประมาณจากเงินภาษีไปทั้งหมดเท่าไหร่? แทบจะไม่มีการพูดถึงในสื่อไทย สื่อไทยเกือบทั้งหมดจะรายงานวงเงิน 1พันล้าน ที่คณะรัฐบาล คสช. อนุมัติงบกลางให้ไว้ในครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค. 59 เท่านั้น
ซึ่งงบประมาณ 1 พันล้านนี้แม้น่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีศพที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐไทย แต่ก็น่าจะถือได้ว่าพอเหมาะพอควรระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับพิธีศพของพระบรมวงศานุวงค์ระดับรองลงไปที่ผ่านมา เช่น งานพระศพของ "เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ" ในปี 2555 ซึ่งก็มีการตั้งวงเงินงบประมาณไว้ถึง 300 ล้านแล้ว หรือ งานพระศพของ “พระพี่นางเธอฯ” ในปี 2551 ซึ่งก็มีการกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายไว้ 300 ล้านเช่นกัน หรือแม้แต่งานศพของพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นพิธีที่ไม่ได้มีการสร้าง"พระเมรุ" ก็ยังมีค่าใช้จ่ายถึง 113 ล้านบาท
แต่หลังจากอนุมัติวงเงินค่าใช้จ่าย 1 พันล้านไว้ ถัดมาอีกไม่ถึง 3 เดือน คสช. ก็มีการอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มให้อีกเท่าตัว เป็น2พันล้าน ยังไม่พอในเดือน ส.ค. 60 พอพบว่างบ 2 พันล้านที่เคยอนุมัติไว้นั้นถูกใช้ไปเกือบหมดแล้ว ก็จัดสรรงบเพิ่มให้อีก 1 พันล้าน รวมเป็นวงเงิน 3 พันล้าน ซึ่งการเพิ่มงบให้ 2 ครั้งหลังนี้กลับไม่มีการรายงานในสื่อไทย แม้ในบทความเรื่องพระราชพิธีพระบรมศพของ CNN จะพูดถึงงบประมาณที่ตั้งไว้ 3 พันล้าน แต่ก็น่าจะมีคนไทยจำนวนไม่มากที่จะได้อ่านบทความภาษาอังกฤษใน CNN ถ้าไม่ใช่เพราะสื่อฝ่ายขวาของไทยต้องการจะ“ตอกหน้าสื่อฝรั่ง” โดยการนำเสนอประเด็นดราม่าใน FB Page ของ CNN ระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ ที่โต้กันว่าการใช้เงินภาษีมากมายขนาดนี้มาจัดพิธีศพเหมาะสมแค่ไหน และจะเป็นไปตามพระราชประสงค์หรือไม่ เลยต้องมีการพูดถึงงบประมาณ 3 พันล้านนี้ ก็อาจจะไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้เลยในสื่อไทยเลย
แม้ยอดรวม 3 พันล้านบาทอาจดูเยอะ เมื่อเทียบกับงบกลาง 2.5 พันล้านที่ตั้งสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายตาม“โครงการพระราชดำริ”แต่ละปี แต่ถ้า 3 พันล้านหารต่อประชากร 70 ล้านคน ก็เท่ากับจะเป็นภาระภาษีแค่ 42 บาทต่อคน คนที่มีความผูกพันมาก มีความอาลัยมากก็อาจจะเห็นว่า 42 บาทเป็นค่าใช้จ่ายน้อยนิด ยิ่งเมื่อนำมาหารด้วยจำนวน 70 ปีที่ครองราชย์ ก็จะเท่ากับแค่ 60 สตางค์ต่อคนต่อปีแค่นี้ยินดีที่จะเสีย แต่กับคนที่มีความอาลัยน้อยก็อาจจะแย้งว่า 3000ล้านเอาไปเป็นทุนการศึกษาเด็กปีละแสนได้ถึง3หมื่นคน ทำไมต้องมาเสียไปเปล่าๆเหมือนเผาเงินทิ้งเมื่อจบงาน แถมในแต่ละปีก็มีงบประมาณที่จ่ายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ปีละเป็นหมื่นล้านก็น่าจะพอแล้ว ยิ่งถ้าไปเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีศพของผู้นำในประเทศอื่นๆก็ไม่ได้เยอะขนาดนี้ ที่อ้างว่าสหรัฐใช้งบกว่า 1.3 หมื่นล้านจัดงานศพประธานาธิบดีเรแกน อันนั้นไม่ใช่ตัวเงินที่จ่ายจริง แต่เป็นการประเมินจากค่าตอบแทนที่รัฐต้องจ่ายให้พนักงานของรัฐฟรีๆในวันนั้นเพราะรัฐประกาศให้เป็นวันหยุดราชการพิเศษ ดังนั้นประเด็นที่ว่างบประมาณในการจัดพิธีพระบรมศพ 3 พันล้านนี้เหมาะสมหรือไม่? สุดท้ายก็คงตัดสินได้ยาก เพราะแล้วแต่ความรู้สึกของแต่ละคนที่แตกต่างกัน
คงคล้ายๆกับเรื่อง“พระเกี้ยว” คนที่อยากแบกยังไงก็แบก คนไม่อยากแบกยังไงก็ไม่แบก อาจจะต่างกันอยู่บ้างที่กรณีนี้ ไม่ว่าจะอยากแบกหรือไม่อยากแบก แต่สุดท้ายทุกคนก็ต้องแบกรับภาระเงินภาษีร่วมกัน
ปล.
อย่างไรก็ตามตัวเลข 3 พันล้านนี้ เป็นเพียงกรอบวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าเบิกจ่ายจริงไปเท่าไหร่ มากกว่าหรือน้อยกว่า 3 พันล้านแค่ไหน รวมถึงไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่างบประมาณ 3 พันล้านที่ตั้งไว้นี้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายอะไรเท่าไหร่บ้าง แต่ใครสนใจสามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับพิธีพระบรมศพฯ ได้ในเว็บไซท์ ACTAI.CO ซึ่งเท่าที่ลองค้นดูพอจะแยกเป็นกลุ่มค่าใช้จ่ายหลักได้ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างพระเมรุมาศบริเวณสนามหลวง ประมาณ 800ล้าน, การถวายดอกไม้จันทน์(ทั่วประเทศ) 300ล้าน, การจัดทำบัตรประจำตัวผู้ปฏิบัติงานและอาสาสมัคร 90ล้าน, ฯลฯ
-https://www.actai.co/Project?search="พระบรมศพ"%2B"ก่อสร้าง"%2B"กรุงเทพมหานคร"
-https://www.actai.co/Project?search="พระบรมศพ"%2B"ดอกไม้จันทน์"
-https://actai.co/Project?search="พระบรมศพ"%2B"บัตรประจำตัว"
.....
สอนให้พอเพียง มีใครฟังมั่ง ?