Chanin Promyu is feeling desperate.
February 12, 2020 ·
จาก #CUTUBall73 ผ่านมาครบปี ผมภาวนาอย่างมากว่าไม่อยากพิมพ์ Status วันนี้
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ที่ผมต้องออกมาพูด มันยาวมากจริง ๆ
ก่อนอื่นเลยต้องขอขอบคุณ ทีมเสลี่ยงพระเกี้ยว ทุกคน ทั้งจาก คณะสถาปัตย์ และ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่ทำให้เสลี่ยงนี้สวยงาม เป็นที่น่าภูมิใจ
ขอบคุณ "ทีมต่อ" น้อง ๆ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทุกคนที่ช่วยกันประกอบโครงสร้างของเสลี่ยงนี้ขึ้นมา
ขอบคุณ "ทีมสวัสดิการ" น้อง ๆ เพื่อน ๆ พี่ ๆ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่คอยดูแลน้อง ๆ ของเราในตลอดวัน
ขอบคุณ "ทีม PR" ที่คอยลงประชาสัมพันธ์ และ ถ่ายรูปเก็บความทรงจำให้น้อง ๆ ในวันจริง
... ที่สำคัญที่สุด ขอบคุณ "ทีมผู้อัญเชิญเสลี่ยงพระเกี้ยว" คือน้อง ๆ Freshy จากคณะวิศวฯ และพี่น้องจากคณะอื่นกว่า 50 คน ในการมาเป็นส่วนหนึ่งในวันประวัติศาสตร์วันนี้
ไม่มีคำไหนจะให้ทุกคน นอกจากคำว่า "ขอบคุณมากครับ" จริง ๆ
เบื้องหลังของงานทั้งหมด เนื่องด้วยการที่ผมทำ กวศ.61 มาก่อน ทำให้ผมรับรู้เรื่องราวทุกอย่างที่เกิดขึ้นในงานบอล 73 เรื่องที่ทำให้พี่ชายที่เคยทำงานด้วย ท้อ หมดหวัง กับงาน ๆ นี้จริง ๆ แต่ในความสิ้นหวังนั้นก็ยังมี "เศษแสง" แห่งความหวังอยู่ ด้วยความหวังว่า ผู้ที่สามารถแก้ไขได้จะพอมองเห็นปัญหานี้และเอามันไปแก้ไข เพราะทีม กวศ.61 ก็ได้ทุ่มเททุกอย่างเพื่อหวังจะให้เกิด "ความเปลี่ยนแปลง" สิ่งที่ผมคิดอยู่ก็คือ ผมขอดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
นี่คือ timeline การทำงานทั้งหมดตั้งแต่เราเริ่มทำกันมา
[ก่อนเริ่มงาน]
สิ่งที่ผมอยากจะพิสูจน์มีอยู่อย่างนึงก็คือ "งานผู้อัญเชิญเสลี่ยงพระเกี้ยวมันตายแล้วจริง ๆ ใช่ไหม ?" และ "ถ้าเราทำให้มันมี 'คุณค่า' จริง ๆ มันจะมีคนอยากมาอยู่ไหม ?" ซึ่งโจทย์ข้อที่ 2 เป็นเรื่องที่ยากมาก ผมพยายามตั้งคำถามไปถึงงานบ่อยมากว่า "คุณค่า" ของคนแบกเสลี่ยงอยู่ที่ไหน เขามาแบก “พระเกี้ยว” สิ่งที่ทุกคนต่างเห็นพ้องกันว่าเป็นของที่สูงส่งของจุฬาฯ ต้องแบกของที่หนักกว่า 250 kg บนบ่า ทำไมสิ่งที่เขาได้รับกลับมีแค่ข้าวกล่องกับที่นั่งบนแสตนด์ ? ในขณะที่กิจกรรมอื่นมีของรางวัลจูงใจมากมายเพื่อให้คนอยากเข้าร่วม (รูปเรายังไม่ค่อยมี เพราะเวลาคนถ่ายรูปเขาจะถ่ายไปบนยอดเสลี่ยง และตัดด้านล่างออก)
เราจึงพยายามทำให้งานมันมี “คุณค่า” มากที่สุดด้วยกำลังของเราเอง ใช้งบที่เรามี ดูแลน้อง ๆ ให้ได้เต็มที่ เท่าที่กำลังเราทำได้ ข้าวทุกอย่างต้องดี น้ำต้องมีพอ น้องต้องได้รูป ปัญหาต้องได้รับการแก้
ถึงแม้เราจะพยายามกันเต็มที่แล้ว แต่อุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือ การจะเด็กคนหนึ่งจะตัดสินใจมาทำงาน พวกเขาจะ “ถาม” จากพวกรุ่นพี่ น่าเสียดายที่รุ่นพี่ที่ได้รับประสบการณ์จากงานบอลปีก่อน ๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อย่าไปเลย ไม่โอเคสุด ๆ” สิ่งที่แย่ที่สุดก็คือผมไปชวนน้องปากเปล่าด้วยตัวเอง แล้วเจอน้องทำหน้ารังเกียจใส่
ไม่มีคน เตรียมอะไรไว้ก็จบเห่ เรารวบรวมคนได้ไม่ถึง 50 คนด้วยซ้ำ (ชุดหนึ่งควรมีอย่างต่ำ 60 คน สำหรับเสลี่ยงน้ำหนัก 250 kg) PR ทุกช่องทาง เก็บทุกชั้นปี ได้แค่นี้จริง ๆ ดังนั้นเราได้ตอบคำถามข้อ 1 ไปแล้วว่า “งานผู้อัญเชิญเสลี่ยงพระเกี้ยวนั้นได้ตายแล้วจริง ๆ”
ข้อ 2 เรื่องคุณค่า ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าแม้แต่ตัวผมที่ทำงานมาตลอดชีวิตมหาลัย เห็นงานมาทุกรูปแบบ แต่ผมมองไม่เห็นคุณค่าในเชิงการทำงาน จากงานอัญเชิญเสลี่ยงพระเกี้ยวนี้เลย มันคืองาน แรงงานดี ๆ นี่เอง
เด็กรุ่นใหม่ drive ได้ด้วย คุณค่า เมื่อคุณค่าทาง skill ให้พวกเขาไม่ได้ ก็ต้องให้คุณค่าที่จับต้องได้ (เป็นกายภาพ ของรางวัล ฯลฯ) แต่สิ่งที่ให้น้องได้มากที่สุดดันเป็นข้าวกล่อง กับการดูบอลบนแสตนด์ เราไม่สามารถลง PR อะไรที่มากกว่านั้น เพราะเราระวังการที่เราจะพูดอะไรออกไปมาก (ยึดถือว่าสัญญาแล้วต้องทำได้)
อีกประเด็นที่ขอพูดไว้คือ ทางงาน Proudly present มาก เรื่อง theme ของงานที่ว่า “Make a change” และมีคำนึงที่ผมได้ยินออกมาคือ We’re all equal (เราทุกคนเท่าเทียม) แต่ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ เลยว่าในขบวนเสลี่ยงพระเกี้ยวนี้ยังมีกิจกรรมที่สะท้อนว่า เราไม่เคยเท่าเทียมกันเลยจริง ๆ ถามว่าทางเราตั้งคำถามไหม เราตั้ง เราไม่เคยนิ่งนอนใจ เพราะภาพที่ออกไปเป็นภาพของน้อง ๆ ของเรา เป็นภาพที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สังคม แต่เราก็ไม่เคยได้รับอะไรจากการตั้งคำถามนั้นเลย
ยิ่งตอกย้ำว่า งานนี้ได้ตายแล้วโดยสมบูรณ์ เหนื่อย ใช้แรงกาย คุณค่าให้ไม่ได้ สุดท้ายแล้วใครจะอยากมาทำ
เราปรึกษากันแล้ว จึงคิดว่า ทางเราคณะวิศวฯควรยุติการทำหน้าที่ “งานผู้อัญเชิญเสลี่ยงพระเกี้ยว” ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา ทางกรรมการนิสิตเห็นพ้องต้องกันให้มีการร่างหนังสือแสดงจุดยืนในเรื่องการถอนตัวอย่างเป็นทางการ และ หนังสือยังตั้งคำถามอีกครั้งถึงประเด็นที่ได้กล่าวมาทั้งหมด
[วันงาน]
ในวันจริง เรานัดน้อง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมเวลา 10 โมงที่คณะ น้อง ๆ รวมกันกว่า 40 คน ทั้งในส่วนที่ต้อง อัญเชิญเสลี่ยงพระเกี้ยวด้วยการเข็น (ติดล้อให้พระเกี้ยวเป็นปีแรก จากเมื่อก่อนเป็นการแบก 100% เพื่อนทุนแรงน้อง ๆ ให้ได้มากที่สุด) และต้องอัญเชิญเสลี่ยงถ้วยพระราชทานด้วยการ "แบก" ตลอดการเดินทางทุกอย่างควรเป็นไปด้วยความราบรื่น (โอเคน้อง ๆ ไม่มีปัญหากับการเข็น มันช่วยทุ่นแรงน้อง ๆ มากกว่าการแบกแน่ ๆ) แต่ก็มีเรื่องอยู่ที่ว่า เสลี่ยงถ้วยพระราชทาน ที่ยังต้องใช้การ "แบก" เพื่อไปยังสนามศุภฯ ปรากฎว่าน้องที่แบกนั้นเอ่ยปากออกมาว่า ไม่ไหว จนต้องเอาคนในเสลี่ยงพระเกี้ยวไปหมุนเวียนตลอดเวลา
คำถามเกิดขึ้น "เสลี่ยงถ้วยพระราชทานที่เบากว่าเสลี่ยงพระเกี้ยวประมาณ 5 เท่า ใช้คนแบก 8 คน และเปลี่ยนชุดคนแบกไปประมาณ 3 ชุด" เท่ากับว่าเราใช้คนไปกับการแบกเสลี่ยงถ้วยในตลอดเช้าไปเกือบ 20 คน แล้วด้วยจำนวนคนทั้งหมดที่น้อยกว่า 50 คน แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะ "แบก" เสลี่ยงพระเกี้ยวที่หนักกว่า โดยที่น้องยังไหว คุยกับน้อง ๆ เพื่อน ๆ จะขอเข็นต่อจนเข้าสนามเลยไหม (เราได้รับการยืนยันมาแล้วว่าล้อสามารถเข็นเข้าสนามได้ แค่ไม่สามารถลงพื้นหญ้าได้เท่านั้น) หรือมีวิธีไหนไหม ทำให้เสลี่ยงเบาลงก่อนเข้าสนาม หรืออย่างน้อยให้ระยะทางที่ต้องแบกแม่งสั้นมากที่สุด แต่คำตอบยืนยันจากงานมีอยู่แค่คำเดียวว่า "ต้องแบก" เข็นเข้าไม่ได้เด็ดขาด ในความเป็นจริง ผมควรเอาน้อง ๆ ออกมาและเดินกลับคณะไปทั้งหมดตั้งแต่ช่วงบ่ายด้วยซ้ำ เพราะถามว่ามีใครสนใจน้อง ๆ ไหม น้อง ๆ จะหนักไหม จะเป็นลมไหม สิ่งเดียวที่ผมจับความต้องการของทุกคนที่อยู่ตรงนั้นได้ก็คือ "ต้องแบกให้ได้ จะให้หาคนมาให้อีกกี่คน ก็ต้องแบก" ถึงจะไม่พอใจแค่ไหนก็ต้องเก็บไว้ในใจ จากเพื่อน ๆ ที่คอยเตือนว่า "แบกให้มันจบ ๆ ไป" สุดท้ายต้องขอขอบคุณเพื่อน ๆ น้อง ๆ จากทุกภาคส่วนของงานที่มาช่วยกันแบก จนทำให้ความต้องการของงานเกิดขึ้นได้ ทั้งที่มันไม่ควรจะเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องมาเหนื่อยเลย
สิ่งที่ทำได้ตอนนี้มีแค่การดูแลน้อง ๆ ของเราให้ดีที่สุด
หลังจากที่ออกจากสนามในช่วงพิธีเปิด (ซึ่งยาวนานมาก น้องต้องนั่งตากแดดเกือบ 2 ชม.) น้อง ๆ ที่เหนื่อยแทบเป็นลมมาจากอากาศที่ร้อนและน้ำหนักที่ต้องแบก อย่างที่ผมสัญญาไว้กับ น้อง ๆ ส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ชาย หนึ่งในความฝันครั้งหนึ่งของคนดูบอลก็คือ การได้ดู "ทีมชาติ" เตะกันแบบติดขอบสนามสักครั้ง พร้อมกับพักกินข้าวจากทางวิศวฯ ที่ได้เตรียมมารอไว้อยู่แล้ว (ถึงขั้นมีน้องเดินมาบอกผมว่า ตื่นเต้นมากพี่จะได้เห็น ศุภโชค เล่นบอลแล้ว)
ปรากฎว่าสิ่งที่เราเจอก็คือ “ขึ้นแสตนด์ staff ไม่ได้ แสตนด์แปรเพลทยังไม่เต็ม” อ้าว! แล้วเราบอกน้อง ๆ ไปแล้วว่าจะได้ขึ้นแสตนด์ไปพักผ่อน ตอนนั้นขอสารภาพตามตรง ไม่เคยเลือดขึ้นหน้ามาก่อน นี่คือสิ่งที่เราได้รับจากการใช้แรงงานมาตลอด 2 ชม. ก่อนหน้า แผนที่เตรียมมาพังทุกอย่าง จากการที่คิดว่าน้องจะได้ขึ้นไปพักผ่อน กินข้าว ดูบอล บนแสตนด์ กลับต้องเร่ร่อนไม่มีที่อยู่ (สนามเทพที่ใช้กินข้าวเที่ยงปิดแล้ว) สรุปที่กินข้าวของน้อง ๆ ผมคือ “ข้างฟุตบาท” ทุกคนอ่านไม่ผิด มันคือข้างทางที่คนเดินไปมา นี่คือสิ่งที่ทีมเสลี่ยงได้รับ (ถ้าน้องต้องขึ้นไปแปรเพลทจะได้กินข้าวกี่โมง จะได้พักเมื่อไหร่ เพราะบอลจบพวกเราต้องอัญเชิญเสลี่ยงเข้าพิธีปิดทันที ล่ะที่เห็นคือเพลทก็แปรกันยันเกือบบอลจบ ถ้าปล่อยให้น้องขึ้นน้องไม่ได้กินข้าวแน่ ๆ)
ในฐานะผู้นำ การผิดสัญญาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ที่สุด และผมผิดสัญญากับพวกน้องไปแล้ว ผมพาเขามาเจอเรื่องแย่ ๆ สัญญาว่าจะพามาดูบอล กลับได้มานั่งกินข้าวข้างถนน
นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นปีแรก ในงานบอล 72-73 ปัญหาลักษณะนี้ก็ยังวนมาเรื่อย ๆ และพอจบปีก็จะได้รับคำสัญญาที่ว่าจะ “แก้ไข” แต่สิ่งที่เกิดในวันนี้ทั้งหมดมันทำให้ผมเห็นแล้วว่า “งานบอล” ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ฟางเส้นสุดท้ายมันขาดแล้วจริง ๆ
"นับแต่วันนี้ เราขอคืนเสลี่ยงพระเกี้ยวให้จุฬาฯ ครับ" เป็นคำพูดก่อนการบูมครั้งสุดท้าย สำหรับคนบ้า traditional อย่างผม มันเป็นคำพูดที่พูดยากที่สุดในชีวิต พูดจบมันยากจะกลั้นน้ำตา แต่ผมได้พูดออกไปแล้ว และจะส่งเจตจำนงนี้ให้น้อง ๆ รุ่นต่อไป เพราะด้วยเรื่องทุกอย่างที่เราเจอมา มันเกินจะรับไหวจริง ๆ ผมไม่เคยต้องพูดขอโทษในหนึ่งวันมากเท่าวันนี้มาก่อน และ ไม่เคยหมดหวังกับกิจกรรมใด ๆ มากเท่ากิจกรรมนี้มาก่อนด้วย เมื่อปัญหามันคงตัว แก้ไขไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือ เอาน้อง ๆ เราออกมาจากปัญหาดีกว่า
ขอโทษล่วงหน้ากับคนที่ต้องมารับงานนี้ต่อ ไม่ว่าจะเป็น “คณะประมูล” หรือ “เด็กหอใน” แต่ต้องขอพูดตามตรง คุณค่า ของงานนี้มันหาไม่ได้จริง ๆ
เชื่อว่าบทความนี้จะหายไปจากความทรงจำทุกคน หลังผ่านไปได้ไม่กี่เดือน และแน่นอน มันจะส่งไม่ถึงงานบอลครั้งที่ 75
ขอบคุณทุกคนที่อยู่ด้วยกันมา ขอบคุณน้อง ๆ ที่ผู้อัญเชิญ และขอโทษอีกครั้งกับสิ่งที่เจอ เราจะกลับมาในวันที่งานบอลพร้อมมากกว่าที่เป็นอยู่ วันที่สิ่งเหล่านี้ได้รับการแก้ไขแล้ว
รองหัวหน้านิสิตฝ่ายกิจการภายนอก กวศ.62
#CUTUBall74 #ทีมเสลี่ยง
ขอบคุณรูปจาก น้องพีม และ เพจ IPix ด้วยครับ
CU Cheer Club
14h ·
ชมรมเชียร์และแปรอักษร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนแถลงการณ์คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา ฯ - ธรรมศาสตร์
.
กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในอดีตที่ผ่านมาเป็นการแสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมศักดินา ส่งเสริมสิทธิพิเศษของบุคคลด้วยมาตรฐานความงาม ซึ่งขัดต่อหลักความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชน ทางชมรมมีความเห็นว่า การยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวนั้น ไม่เป็นการทำให้สัญลักษณ์สูงสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถูกลดทอนคุณค่าแต่อย่างใด แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการจัดรูปแบบของขบวนในงานฟุตบอลประเพณีครั้งต่อไปให้เท่าทันตามยุคสมัย
.
จึงจัดได้จัดทำภาพนี้ขึ้นเพื่อต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงบุคคลที่อยู่เบื้องล่างและเบื้องหลังของขบวนเสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยว ผู้ถูกหลงลืมไปในงานที่ต้องการให้ผู้ชมสนใจเพียงความงามด้านบนเท่านั้น และหวังว่าในอนาคตจะไม่มีใครถูกกระทำเช่นนี้อีก
ภาพต้นฉบับจาก : SGCU Camera : รวมภาพกิจกรรมในรั้วจามจุรี
#CUTUBall74
#TUCUBall75