วันจันทร์, ตุลาคม 25, 2564

'คณะราษฎรยกเลิก 112’ เตรียมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เริ่มวันแรก 31 ต.ค.นี้


"ราษฎร"แถลง นาทีที่ 0.40

"ราษฎร"ตั้งโต๊ะแถลง จ่อล่าหมื่นชื่อเสนอร่าง กม.ยกเลิก112 : Matichon TV

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 24 ตุลาคม ที่หน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการจัดแถลงข่าวกิจกรรม ม็อบ 31 ตุลาคม “ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112” โดยมีบุคคลจากกลุ่มต่างๆ ร่วมแถลง อาทิ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และนางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ ร่วมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก, นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือลูกนัท, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวทางการเมือง, น.ส.สุพิชฌาย์ ชัยลอม หรือเมนู, นายเจษฎา ศรีปลั่ง หรือเจมส์ กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี กลุ่มสหภาพคนทำงาน และกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวดังกล่าวระบุว่า จะมีการเชิญชวนให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อสภาในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ โดยจะเป็นการเริ่มต้นก้าวแรกของการรณรงค์ยกเลิกมาตราดังกล่าว


iLaw
11h ·

++ ‘คณะราษฎรยกเลิก 112’ เตรียมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
เริ่มวันแรก 31 ต.ค.นี้ ++
.
24 ตุลาคม 2564 เวลา 16.30 น. ที่ลานอากง บริเวณหน้าศาลฎีกา กลุ่มประชาชนในชื่อคณะราษฎรยกเลิก 112 ได้จัดเวทีแถลงการณ์ “ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112” จัดกิจกรรมเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อรวบรวมรายชื่อเข้ายื่นต่อสภา โดยจะเริ่มต้นจัดกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
.
๐ จากแถลงการณ์ระบุว่า
.
“นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึง 19 ตุลาคม 2564 มีประชาชนอย่างน้อย 151 คน ที่ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะมาจากการปราศรัย การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือ การแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ โดยผู้ที่ถูกตั้งข้อหามากที่สุด คือ ‘เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์’ ที่ถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 21 คดี และมีความเป็นไปได้ที่จะต้องรับโทษจำคุกสูงสุดรวมกันถึง 315 ปี ซึ่งเป็นจำนวนโทษในคดี 112 ที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์”
.
“การคงอยู่ของ 'มาตรา 112' เปรียบเสมือนภัยคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะว่า กฎหมายดังกล่าวมีอัตราโทษที่สูง แต่กลับถูกตีความเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างกว้างขวาง ประกอบกับกฎหมายไม่มีบทบัญญัติที่คุ้มครองการแสดงความคิดเห็น อาทิ การติชมโดยสุจริต หรือการวิจารณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงทำให้การแสดงความคิดเห็น การปราศรัย ไปจนถึงการแต่งกายในม็อบ หรือ การช่วยเหลือสนับสนุนผู้จัดการชุมนุม กลายเป็นเหตุในการแจ้งข้อหา มาตรา 112 ได้ทั้งหมด”
.
“อีกทั้ง การบรรจุมาตรา 112 ไว้ในหมวดความมั่นคงของรัฐ จึงทำให้เกิดความบิดเบี้ยวในกระบวนการยุติธรรม อาทิ การฟ้องกลั่นแกล้งกัน เพราะในคดี 112 ใครเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีก็ได้ อีกทั้ง ด้วยเป็นคดีความมั่นคงของรัฐ จึงทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเลือกจำกัดบทบาทในการปกป้องสิทธิของผู้ต้องหา อาทิ การให้สิทธิในการประกันตัว การให้สิทธิที่จะได้รับการการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม”
.
“ในปัจจุบัน มี ‘ผู้ต้องขัง’ ในคดี 112 ที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว อย่างน้อย 5 คน คือ อานนท์ นำภา, เพนกวิน-พริษฐ์ ชีวารักษ์, ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ไมค์-ภานุพงศ์ จาดนอก และ เบนจา อะปัญ แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีก็ตาม รวมถึงยังมีผู้ต้องขังในคดี 112 ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว อย่างน้อย 2 คน คือ ‘อัญชัน’ และ ‘บุรินทร์’ “
.
ในส่วนของการนัดหมายกิจกรรม รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในฐานะตัวแทนจากกลุ่มคณะราษฎรยกเลิก 112 ได้กล่าวถึงสาระสำคัญของร่างยกเลิกมาตรา 112 ดังนี้
.
1. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
2. แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานดูหมิ่น-หมิ่นประมาท ทั้งระบบ
3. ยกเลิกโทษจำคุกในความผิดฐานดูหมิ่น-หมิ่นประมาท
.
“ในวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม 2564 ขอให้ทุกคนมารวมตัวกันที่แยกราชประสงค์ โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่ 16.00 - 21.00 น. ถ้าเราสามารถทำให้การเข้าชื่อครั้งนี้สำเร็จได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือมาตรา 112 จะถูกยกเลิก กฎหมายหมิ่นทั้งระบบจะถูกปรับ จากโทษจำคุกเหลือเพียงแค่โทษปรับเพียงอย่างเดียว นี่คือภารกิจที่ประชาชนคนไทยทุกคนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำร่วมกัน..” รุ้งกล่าว
.
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของกิจกรรม ช่วงเวลาประมาณ 16.45 น. ที่หน้าศาลฎีกา ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ชนะสงคราม นำรถยกของตำรวจเข้ามาใกล้กับเวทีแถลงข่าว ทำให้ประชาชนบางกลุ่มเดินไปประท้วงเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเกรงว่า ตำรวจจะมายกรถของผู้ที่มาร่วมกิจกรรม แต่ในท้ายที่สุด ตำรวจได้ขับรถยกออกไป
.
.
ทำความรู้จักกับกฎหมายมาตรา 112 เพิ่มเติม
“รวม 10 ปัญหามาตรา 112” https://freedom.ilaw.or.th/blog/10problems-on-lese-majeste
“10 คำถาม-คำตอบน่ารู้เกี่ยวกับมาตรา 112” https://freedom.ilaw.or.th/freedom-of-expression-101/QA-112
.
.
Chanakarn laosarakham
.....