วันจันทร์, ตุลาคม 25, 2564

หัวอกลูก หัวใจแม่ : 112 กับความล่มสลายของครอบครัว - 112 กฏหมายอมนุษย์ ยิ่งใช้ ยิ่งเสื่อม



หัวอกลูก หัวใจแม่ : 112 กับความล่มสลายของครอบครัว

วจนา วรรลยางกูร
30 Apr 2021
1O1

สำหรับเด็ก ม.5 การเผชิญทหารตำรวจหลายสิบคนพร้อมอาวุธครบมือบุกเข้ามาในบ้าน ถามหาตัวแม่ ยึดข้าวของ ใช้ถุงครอบหัวแม่และจับตัวไปโดยไม่รู้ชะตากรรม คงไม่ใช่ประสบการณ์ที่รับมือได้ง่ายนัก

หลังถูกควบคุมตัวในค่ายทหารราวหนึ่งอาทิตย์ ภายใต้กฎหมายพิเศษของคณะรัฐประหาร คสช. ศิวาพร ปัญญา ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 จากความเกี่ยวพันใน ‘คดีบรรพต’ หนึ่งในหกคนที่ถูกจับไปพร้อมกันนั้นมี อัญชัญ ปรีเลิศ ที่สุดท้ายถูกตัดสินจำคุกนานถึง 87 ปี

ศิวาพรถูกตัดสินจำคุก 10 ปี แต่รับสารภาพจึงลดเหลือ 5 ปี เธอใช้เวลาอยู่ในเรือนจำทั้งสิ้น 4 ปี 3 เดือนจึงได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562

“มันทรมาน” ต๊อก ธิติ ลูกชายของศิวาพร สะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นนับแต่แม่โดนจับตอนเขาเรียนชั้น ม.5 ปัจจุบันต๊อกเรียนจบปริญญาตรีสาขาจิตวิทยาคลินิก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยด้านจิตวิทยา

แม้ว่าปัจจุบันศิวาพรจะได้รับอิสรภาพแล้ว แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมากลายเป็นฝันร้ายของครอบครัว แต่ละคนพกพาบาดแผลในรูปแบบที่แตกต่างกัน อันเป็นผลมาจากการใช้มาตรา 112 จนชวนให้ตั้งคำถามถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเป็นธรรม’


ศิวาพร ปัญญา

แว่วเสียงย่ำรองเท้าคอมแบต

ครอบครัวของต๊อกเป็นคนกรุงเทพฯ มีกันอยู่สี่คน คือ พ่อ แม่ พี่ชาย และเขา พ่อของต๊อกทำธุรกิจรับเหมา โดยมีแม่ช่วยดูแลด้านการจัดการและการเงิน พอเริ่มเข้าโรงเรียน ต๊อกและพี่ชายไปอาศัยอยู่ที่แคมป์คนงานของพ่อในย่านบางจากเพราะใกล้โรงเรียน ช่วงเสาร์อาทิตย์และปิดเทอมจึงจะกลับบ้านที่สมุทรปราการ

ปี 2550 พ่อกับแม่เลิกกัน แม่แยกไปอยู่บ้านที่สมุทรปราการคนเดียว ในความทรงจำของต๊อก หลังแม่เลิกกับพ่อก็ไม่ค่อยได้ติดต่อกัน เขารู้ว่าแม่เป็นคนกระฉับกระเฉงชอบไปอยู่ที่โน่นที่นี่และสนใจการเมือง พอเริ่มเข้า ม.ปลาย ต๊อกขอย้ายไปอยู่กับแม่ที่บ้านสมุทรปราการ เขาพบว่าแม่ชอบฟังคลิปการเมืองและชอบเล่าเรื่องการเมืองให้เขาฟัง พอมองย้อนกลับไป นั่นเป็นช่วงเวลาที่เขามีความสุขมากเมื่อได้ใช้เวลากับแม่แค่สองคน

ศิวาพรบอกว่าตัวเองเป็นคนเสื้อแดง ชื่นชอบทักษิณ ไม่ชอบการรัฐประหาร “คุณทักษิณเป็นไอดอลเรื่องธุรกิจ เราเห็นว่าเขาโดนกลั่นแกล้งทางการเมือง ก็เข้าไปดูข่าว เจอเว็บไทยอีนิวส์เขาประกาศสอนทำเว็บฟรี ตอนนั้นเราเลิกกับสามีแล้วมีเวลาว่างเยอะ อยากทำธุรกิจของตัวเอง ตั้งใจทำเว็บพรีเซนต์สินค้าขายทางลาว ก็ไปศึกษาเรื่องการทำเว็บจากไทยอีนิวส์ เขาสอนฟรีแต่เราต้องช่วยเขากระจายข่าวด้วย ทำให้เราเข้าไปลึกกับข่าวการเมือง แต่ปกติไม่ค่อยไปม็อบเท่าไหร่”

ศิวาพรเริ่มรู้จักบรรพตในฐานะคนติดตามข่าวการเมือง แล้วชื่นชอบจึงเริ่มให้การสนับสนุนเช่นเดียวกับแฟนคลับคนอื่นๆ มีการโอนเงินให้ ซื้อสินค้า และรวมกลุ่มกันไปกินข้าวโดยมีการถ่ายภาพเป็นที่ระลึก


หมวกบรรพต สินค้าที่ขายกันในกลุ่มผู้ติดตามบรรพต

หลังการรัฐประหาร 2557 ศิวาพรเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติ เธอเชื่อว่ามีคนมาแฝงตัวอยู่ในละแวกบ้านและมีคนติดตามเธอ ศิวาพรตัดสินใจบอกลูกชายว่าเธอจะข้ามไปประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าไม่ไปอาจต้องติดคุก ลูกชายในวัย ม.5 ที่เพิ่งย้ายมาอยู่กับแม่ได้ไม่นานขอร้องไม่ให้แม่ไป เพราะไม่เห็นหนทางว่าเขาจะอยู่อย่างไรโดยไม่มีแม่

“ผมไม่ทันตั้งตัว ตอนนั้นผมคิดแต่เรื่องตัวเองว่าจะอยู่ยังไง แม่คิดมากไปเองหรือเปล่า ผมร้องไห้บอกแม่ว่าไม่ไปได้ไหม แม่ใจอ่อนเลยอยู่ต่อ หลังจากวันนั้น 1-2 เดือนแม่ก็โดนจับ ผมยังรู้สึกผิดมาถึงวันนี้” ต๊อกบอก

เช้าวันที่ 25 มกราคม 2558 ศิวาพรเตรียมทำอาหารให้เด็กๆ ในบ้าน คือลูกชายสองคนและเพื่อนต๊อกอีกสองคนที่มานอนบ้าน เธอขับรถออกไปซื้อของและรู้ตัวว่ามีคนขับรถตาม ขณะซื้อของในร้านขายของชำแถวบ้าน เจ้าหน้าที่ 3-4 คนเดินเข้ามาหาบอกว่า “ขอเชิญตัว” โดยไม่ตอบว่าจะเชิญไปไหน ศิวาพรขอความช่วยเหลือจากคุณยายเจ้าของร้าน เพราะกลัวว่าจะถูกนำตัวไปโดยไม่มีใครรับรู้ คุณยายจึงขอร้องว่าให้ไปคุยกันที่บ้าน ไม่อย่างนั้นศิวาพรต้องทิ้งรถไว้ที่หน้าร้านขายของ

ศิวาพรขับรถกลับมาที่บ้าน ไม่นานนักเจ้าหน้าที่ก็บุกเข้ามาในบ้าน

ต๊อกเล่าเหตุการณ์วันนั้นจากความทรงจำ “วันนั้นประมาณ 10-11 โมง ผมนั่งเล่นเกมคอมพิวเตอร์อยู่ที่ชั้นหนึ่ง มีเพื่อนที่โรงเรียนสองคนนั่งเล่นบนโซฟาข้างหลัง พี่ชายกับแม่อยู่ชั้นบน มองไปที่สนามหญ้านอกบ้านเห็นคนแวบๆ รู้ตัวอีกทีก็ได้ยินเสียงรองเท้าคอมแบตรอบบ้าน เขามาเคาะประตูแล้วถามหาแม่ รู้ตัวอีกทีเขาก็เข้ามาเต็มบ้านประมาณ 20 คน เขาให้ผมกับเพื่อนออกไปหน้าบ้าน ขึ้นไปจับแม่ลงมา เขาเอารถกระบะกับรถเก๋งมาหลายคัน ถือปืนเรียงกันเข้ามา ผมคิดว่าเกินไป แค่จับผู้หญิงธรรมดาในบ้านจัดสรร”

เจ้าหน้าที่ยึดคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไป รวม 14 รายการ รวมถึงคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของต๊อกที่เจ้าหน้าที่บังคับให้ใส่รหัสปลดล็อก

“แม่โดนเอาถุงคลุมหัวแล้วจับขึ้นรถ แม่บอกแค่ว่าให้โทรหาพ่อ หลังจากนั้นผมเดินไปส่งเพื่อนที่หน้าปากซอย กลับบ้านมานั่งร้องไห้ พี่ชายจุดบุหรี่สูบในบ้านเอาขาก่ายโต๊ะ แล้วผมก็โทรหาพ่อบอกว่า…แม่โดนจับ”


ต๊อก ธิติ
ผมร้องไห้บอกแม่ว่าไม่ไปได้ไหม แม่ใจอ่อนเลยอยู่ต่อ
หลังจากวันนั้น 1-2 เดือนแม่ก็โดนจับ
ผมยังรู้สึกผิดมาถึงวันนี้

น้ำ 6 ขันและเสียงอื้ออึงในเรือนจำ

ศิวาพรถูกคุมตัวในค่ายทหารโดยไม่ทราบสถานที่แน่ชัด เธอไม่สามารถติดต่อใครได้ ครอบครัวไม่รู้ว่าถูกนำตัวไปที่ไหน เธอเล่าว่าถูกขังพร้อมผู้ต้องหาคดีบรรพตรวม 4 คน อยู่ในห้องไม่รู้เดือนรู้ตะวัน เวลาจะเข้าห้องน้ำก็ถูกคลุมหัวแล้วมีทหารพาไป จนคุมตัวครบ 7 วันจึงถูกพาตัวไปศาลทหารเพื่อขออำนาจศาลฝากขังในคดี 112 และถูกส่งไปเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ

เธอถูกยื่นฟ้องต่อศาลทหารในคดีบรรพตที่มีจำเลย 12 คน ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2558 จำเลย 10 คนรับสารภาพ มี 2 คนให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี หนึ่งในนั้นคือศิวาพร ทั้งสองคนจึงถูกแยกคดีออกมาและอัยการทหารฟ้องเป็นคดีใหม่

หลังติดคุกมาราว 1 ปี 10 เดือน คนอื่นๆ ในคดีเดียวกันที่รับสารภาพก็ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ รวมถึง ‘หัสดิน’ เจ้าของเสียงบรรพต ช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้คดีของศิวาพรเพิ่งนัดสืบพยานโจทก์ปากแรกและถูกเลื่อน ศิวาพรพยายามให้ทนายทำเรื่องขอประกันตัวแต่ก็ไม่สำเร็จ

“ตอนนั้นคิดว่าถ้าเราสู้แล้วแพ้น่าจะต้องอยู่ 15 ปี ถ้ารับสารภาพก็แค่ 5 ปี เราเลยรับสารภาพ เพราะตอนนั้นก็อยู่มาครึ่งหนึ่งแล้ว ไปถึงศาลเราก็บอกว่าไม่สู้แล้ว ศาลก็ตัดสินเดี๋ยวนั้นเลย”

พฤษภาคม 2560 ศิวาพรมีนัดสืบพยานโจทก์ปากแรกที่ศาลทหาร หลังจากเลื่อนมาครั้งหนึ่ง เธอขอเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลจึงตัดสินลงโทษจำคุก 10 ปี และได้ลดโทษจากการรับสารภาพเหลือ 5 ปี

แน่นอนว่าการอยู่ในเรือนจำไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์ แต่สิ่งที่ทำให้ศิวาพรเป็นทุกข์มากคือการอยู่ร่วมกับคนจำนวนมากตลอด 24 ชั่วโมง และที่ทุกข์ยิ่งกว่าคือการนอน

“เราเป็นคนรักสันโดษ ชอบอยู่เงียบๆ คนเดียว การเข้าไปอยู่ในนั้นไม่มีความเงียบเลย อื้ออึงตลอด ตอนอยู่แดนแรกรับคนเยอะมาก แออัดมาก นอนกันเป็นก้างปลา ต้องนอนตะแคงแล้วจะปวดแขนข้างหนึ่งพลิกตัวไม่ได้ ถ้าพลิกก็เจอหน้าคนข้างๆ พอตัดสินแล้วย้ายมาแดนนักโทษเด็ดขาดก็ค่อยยังชั่วหน่อย นอนหงายได้แบบไหล่ชิดคนข้างๆ

“อีกเรื่องคือน้ำไม่พออาบ ได้แค่คนละ 6 ขัน ต้องจัดการเองถ้าจะสระผมแล้วต้องแปรงฟันด้วยจะทำยังไง เขาบริหารน้ำให้ผู้ต้องขังไม่พอ ใครอาบน้ำช้าก็ไม่มีน้ำอาบ เลยต้องแย่งกัน มีการแซงคิวแล้วจะตีกัน อีกเรื่องที่ร้าวรานใจคือห้องน้ำเปิดเผยมาก นั่งแล้วก็เห็นเพื่อนที่มารอคิวยืนจ้องหน้า แล้วจะถ่ายได้ยังไง ห้องน้ำมีแค่สี่ห้องในจำนวนคน 200 กว่าคน ส้วมตันก็บ่อย”

ศิวาพรจะรู้ข่าวคราวของคนในครอบครัวผ่านการสลับมาเยี่ยมของอดีตสามีและลูกชาย เธอเล่าว่าก่อนเข้าเรือนจำ สิ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องการเรียนของลูกคนเล็กที่ยังอยู่ชั้นมัธยม แต่เมื่อเธออยู่ในเรือนจำแล้วต๊อกก็คอยไปเยี่ยมและอัปเดตเรื่องชีวิตให้เธอหายห่วง ตั้งแต่การได้เป็นประธานนักเรียน การสอบติดมหาวิทยาลัย

“ต๊อกจะมาเล่าให้แม่ฟังเป็นสเต็ปว่าได้เป็นประธานนักเรียนนะ สอบติดแล้วนะ (ยิ้ม) หมดห่วง มีช่วงหนึ่งเขาหายหน้าไป เขามาเล่าให้ฟังทีหลังว่าไม่มีเงินไปฝากให้แม่ รู้สึกแย่เลยไม่ไปหาเรา เขามาบอกทีหลังว่าพอพ่อรู้ว่ามีเงินมาให้แม่ พ่อก็ให้เงินเขาน้อยลง เราเลยบอกให้พ่อมาเยี่ยมแม่บ่อยๆ แทน ตอนหลังพ่อเขาเลยมาเอง”

ศิวาพรอธิบายว่าค่าใช้จ่ายตอนอยู่ในเรือนจำนอกจากซื้อของใช้เล็กๆ น้อยๆ แล้ว รายจ่ายหลักคือค่าซักผ้า เธอไม่สามารถซักได้เอง เพราะไม่มีน้ำ ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีเวลา ไม่มีที่ตาก คนจะซักผ้าได้คือคนที่อยู่ในเรือนจำนานแล้วจึงมีช่องทางหาน้ำ ส่วนเธอต้องจ้างซักเดือนละ 600-800 บาท จึงต้องมีญาติฝากเงินให้เรื่อยๆ

เธอมองหาข้อดีของการติดคุกว่า อย่างน้อยยังได้อยู่เห็นหน้าลูก หากตัดสินใจเดินทางไปต่างประเทศอาจไม่ได้เจอกันอีกเลย

“ก่อนโดนจับเราบอกให้ลูกรับรู้ว่า ถ้าไม่ให้แม่ไป แม่จะต้องติดคุกนะ แล้วก็ติดจริงๆ แต่มีข้อดีคือเรายังได้เห็นหน้า ได้เจอกัน ถ้าไปเมืองนอกอาจไม่ได้เห็นหน้าอีกเลย แต่เราอาจใช้เวลาในคุกนานไปหน่อย ลืมคิดไปว่ามันทำให้เราเดือดร้อน”

เธอหมายถึงชีวิตหลังออกจากเรือนจำที่ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป



เสียงในหัวของลูกชาย

ในมุมมองของลูกชาย เมื่อถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบชีวิตของเขาอย่างไรบ้าง ต๊อกตอบตามตรงว่า “ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอะไรบ้างที่ไม่กระทบ” และอธิบายว่าก่อนแม่จะเดินเข้าเรือนจำ แม่เป็นที่ปรึกษาในชีวิตของเขา สองแม่ลูกมักไปดูหนังหรือเดินซื้อของด้วยกัน

ต๊อกเริ่มเรียนพรีดีกรีปริญญาตรีสาขาจิตวิทยาที่รามคำแหงตั้งแต่ ม.3 โดยมีแม่คอยขับรถพาไปรามฯ แต่พอแม่โดนจับเขาก็ไม่ได้เรียนพรีดีกรีต่อเพราะเดินทางลำบาก ส่วนพี่ชายของเขาเลิกเรียนมหาวิทยาลัยและเริ่มติดสารเสพติด

“ตอน ม.6 ผมถึงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะเลือกมหาวิทยาลัยไหนดี ปกติต้องปรึกษาแม่ แต่ก็ไม่มีแล้ว เป็นปีที่ผมรู้สึกโดดเดี่ยวที่สุด ผมพยายามเลือกมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่ไกลพอที่จะต้องอยู่หอ เพราะตอนนั้นไม่อยากอยู่บ้านแล้ว มันหดหู่มาก เป็นแคมป์คนงานอึมครึม ไม่ค่อยได้คุยกับพ่อ เจอพี่เสพยาทุกวัน ย่าก็บ่นเรื่องโน้นเรื่องนี้ พอสอบติด ม.เกษตร ผมก็อยู่หอแบบไม่คิดจะกลับบ้านเลย เสาร์อาทิตย์หรือปิดเทอมก็อยู่หอ เพราะกลับไปแล้วหดหู่

“สำหรับพี่ชาย แม่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ พอพ่อกับแม่เลิกกัน พี่ชายอยู่ในช่วงวัยรุ่นก็เริ่มต่อต้านพ่อ เขาไม่สนิทกับพ่อเลยและติดแม่มากกว่าผม ไม่รู้ว่ามันแย่ตอนไหน พอรู้ก็ไม่ทันแล้ว”

ช่วงแรกที่แม่เข้าคุก ต๊อกไม่ได้ไปเยี่ยมเลย แม่จึงเขียนจดหมายมาหาต๊อก เล่าถึงชีวิตในนั้นว่าการกินการนอนในคุกเป็นอย่างไร สำหรับเด็กมัธยมอย่างเขา ต๊อกยอมรับว่าอ่านแล้วหดหู่ โดยเฉพาะเมื่อแม่เขียนจดหมายมาพูดเรื่องศาสนา ซึ่งปกติไม่ใช่สิ่งที่แม่สนใจ ทำให้ลูกชายรู้สึกว่าชีวิตในเรือนจำกำลังเปลี่ยนแม่ให้กลายเป็นคนอื่นที่เขาไม่รู้จัก

หลังจบ ม.6 ต๊อกเข้าเรียนสาขาจิตวิทยา ที่ ม.เกษตร ซึ่งอยู่ใกล้กับเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทำให้เขาได้ไปเยี่ยมแม่แทบทุกสัปดาห์ มีเพียงเพื่อนสนิทที่รู้ว่าเขาไปเยี่ยมแม่ที่ถูกขังเพราะคดี 112

“คำว่า ‘112’ ช่วงนั้นเหมือนผีหรือปีศาจ เป็นเรื่องที่เล่ากันมาแต่ไม่เคยเห็นตัว พอเราเล่าให้ฟัง เพื่อนก็จะนิ่งไปเหมือนว่าเขาเจอผีแล้ว” ต๊อกบอก

“ตอนเข้าปี 1 แรกๆ ผมมีความสุขมาก ได้เจอเพื่อนมีสังคมใหม่ แต่บางทีเวลากินอะไรอร่อยๆ ก็คิดขึ้นมาว่า แม่กูกินอะไรอยู่วะ บางวันนอนบนเตียงที่หอเปิดแอร์ฉ่ำแล้วก็คิดว่าแม่นอนท่าไหนอยู่ นอนตะแคงเรียงกันเป็นตับๆ หรือเปล่า”


คำว่า ‘112’ ช่วงนั้นเหมือนผีหรือปีศาจ
เป็นเรื่องที่เล่ากันมาแต่ไม่เคยเห็นตัว
พอเราเล่าให้ฟัง
เพื่อนก็จะนิ่งไปเหมือนว่าเขาเจอผีแล้ว

ต๊อกเล่าว่าครอบครัวของเขาเสียเงินค่าจ้างทนายในคดีแม่จำนวนมาก และมีการเปลี่ยนทนาย เพราะคดีใช้เวลานานไม่มีความคืบหน้า ทนายบางคนเรียกรับเงินโดยอ้างว่าจะช่วยทำเรื่องย้ายจากศาลทหารไปศาลพลเรือน แต่สุดท้ายก็หายหน้าไป

“เศรษฐกิจไม่ดี พ่อก็เริ่มมีปัญหาเรื่องธุรกิจ ปกติแม่จะคอยช่วยดูเรื่องการเงินการบริหารให้ แล้วพ่อต้องจ่ายค่าทนายเรื่อยๆ เรื่องก็ไม่คืบ มีอยู่เดือนนึงพ่อไม่โอนเงินมา ค่าหอก็ต้องจ่าย ผมเลยไปหาพ่อที่แคมป์ ไปถึงพ่อบอกว่าไม่มีเงิน พ่อไปหยิบเศษเงินของย่ามายื่นให้หนึ่งพันบาท บอกว่าเหลืออยู่แค่นี้ ผมเลยตระหนักได้ว่าการเงินมาถึงจุดนี้แล้ว

“ช่วงก่อนหน้านั้นผมไปหาแม่ แม่เจอหน้าก็ดีใจ เตรียมหยิบกระดาษมาสั่งของ เราต้องเบรกว่าไม่มีเงิน แม่ก็งงว่าทำไมไม่มีเงิน แม่ต้องจ่ายค่าซักผ้า จ่ายหนี้คนนั้นคนนี้ ผมบอกว่าพ่อไม่ให้มาจะทำไงได้ หลังจากนั้นผมไม่กล้าไปหาแม่ สู้หน้าไม่ได้”

ต๊อกกำเงินหนึ่งพันบาทกลับไปอยู่หอในช่วงปิดเทอม เขายืมเงินเพื่อนมาจ่ายค่าเช่าห้อง และเริ่มกินข้าววันละหนึ่งมื้อด้วยเงินที่เหลืออยู่

“เพื่อนสงสารก็ทำข้าวมาให้กิน บางคนสงสัยว่าทำไมเราไม่กลับบ้าน แต่กลับไม่ได้จริงๆ กลับแล้วแย่ ตามที่เรียนมาช่วงนั้นผมเป็นโรคซึมเศร้าแน่ๆ แต่ไม่ได้ไปหาหมอ มีอยู่วันหนึ่งนอนอยู่ในห้องแล้วเห็นประตูห้องน้ำเปิดอยู่ ก็คิดว่าจะกินน้ำยาล้างห้องน้ำ แต่คิดว่าลำบากคนอื่น ไหนจะรูมเมท ไหนจะป้าที่หอ ช่วงนั้นวันๆ คิดแต่เรื่องอยากตาย

“ผมเคยไปหาแม่ แล้วแม่บ่นนู่นนี่ ผมก็พูดบ้างว่าไม่ไหวแล้ว ผมเป็นคนกลาง พ่อก็บ่นแม่ แม่ก็บ่นเรื่องไม่ให้เงิน ผมบอกแม่ว่าผมรู้สึกแย่มาก ผมอยากตาย แม่นิ่งไปแล้วร้องไห้หนัก บอกว่าแม่ขอโทษ แม่อยู่ตรงนี้ช่วยอะไรไม่ได้เลย หลังจากนั้นผมก็คิดว่าจะไม่เอาเรื่องเศร้าไปคุยกับแกแล้ว วันไหนที่ผมโอเคแล้วค่อยไปหาดีกว่า”

ต๊อกผ่านช่วงเวลานั้นโดยมีเพื่อนช่วยประคับประคอง จนเข้าเดือนที่สองเพื่อนชวนไปเข้าค่ายสโมสรนิสิต เขาตัดสินใจไปเพียงเพื่อจะได้กินข้าวสามมื้อ เขาพบว่าการทำกิจกรรมทำให้รู้สึกดีขึ้น หลังจากนั้นเขาจึงทำกิจกรรมคณะเรื่อยมา

“พอมีอะไรทำยุ่งๆ มันช่วยเสริม self-esteem ตอนปี 3 ผมเป็นประธานชุมนุมจิตวิทยา ผมต้องการอุดรอยรั่วบางอย่างในใจ หาอะไรทำไม่ให้รู้สึกด้อย เพราะรู้สึกด้อยมาตั้งแต่เด็กที่พ่อแม่ร้าวฉาน ผมพยายามเรียนให้ดีจะได้อุดรอยรั่วนี้ พอเจอเรื่องแม่อีก แค่การเรียนดีมันอุดรอยรั่วไม่พอแล้ว ผมเลยไปทำกิจกรรม มันก็ดีขึ้น”

หลังการเงินที่บ้านเริ่มฝืดเคือง พ่อพยายามนำบ้านที่สมุทรปราการไปค้ำประกันเงินที่กู้ยืมจากคนรู้จัก ซึ่งหลังแยกทางกันพ่อแม่ก็โอนบ้านให้เป็นชื่อของต๊อกและพี่ชาย พ่อจึงแวะไปหาต๊อกที่หอพักหลายครั้งเพื่อให้เซ็นเอกสารมอบอำนาจ

“ผมยื้ออยู่นานมาก ถามพ่อว่าถ้าบ้านหายไปแล้วแม่ออกมาจะไปอยู่ไหน พ่อไม่ตอบอะไร เขาแวะมาจะให้เซ็นอย่างเดียว ไม่มีการพาไปกินข้าว ผมพยายามเลี่ยงไปเรื่อยๆ จนพ่อบอกว่าถ้าไม่เซ็นก็หาเงินเรียนเองแล้วกัน ตอนนั้นอยู่ปี 3 คิดว่าตัวเองพยายามทำให้ดีมาตลอด อีกนิดเดียวจะเรียนจบแล้ว ผมคิดไม่ออกเลยยอมเซ็น”

ระหว่างที่แม่อยู่ในคุก มีการอภัยโทษผู้ต้องขัง แต่ขณะนั้นศิวาพรไม่อยู่ในข่ายจะได้ลดโทษเพราะคดียังไม่ตัดสิน กระบวนการอันยืดเยื้อยาวนานทำให้สองแม่ลูกปรึกษากันว่าควรรับสารภาพ เพื่อให้เรื่องนี้มีจุดสิ้นสุด

“ผมบอกแม่ว่า แม่สู้ในสิ่งที่ไม่มีทางชนะอยู่แล้ว ยอมไปแล้วอยู่กับมัน เพื่อจะได้ออกมา พอยอมเขาก็ตัดสินลงโทษ 5 ปี ตอนนั้นแม่อยู่มาแล้วเกือบ 4 ปี แล้วเป็นนักโทษชั้นดีจึงได้ลดโทษแล้วออกมา” ต๊อกเล่า


ผมบอกแม่ว่าผมรู้สึกแย่มาก
ผมอยากตาย
แม่นิ่งไปแล้วร้องไห้หนัก บอกว่าแม่ขอโทษ
แม่อยู่ตรงนี้ช่วยอะไรไม่ได้เลย

เวลาและชีวิตที่หล่นหาย

ขณะที่ต๊อกเรียนมหาวิทยาลัยปี 4 ศิวาพรถูกปล่อยตัวหลังใช้ชีวิตในเรือนจำมา 4 ปี 3 เดือน ขณะนั้นบ้านถูกเจ้าหนี้ยึดไปแล้ว

ต๊อกเล่าว่าแม่เป็นคนชอบแต่งตัวสวย วันที่ออกมาก็ให้เตรียมส้นสูงไปให้ด้วย “ผมกับพ่อขับรถไปรับ วันนั้นแม่อารมณ์ดี ดูกลับมาเป็นปกติ จากที่เคยเขียนจดหมายเรื่องศาสนามาหาผม เราไปช้อปปิงกัน ซื้อของเข้าบ้าน พ่อพาไปเอากุญแจบ้านจากป้าที่ยึดบ้านไปแล้วพาแม่กลับเข้าบ้าน ตอนนั้นแม่ยังไม่รู้ว่าบ้านไม่ใช่ของเราแล้ว พอรู้พ่อกับแม่เลยทะเลาะกัน”

แม้จะรักษาบ้านไว้ไม่ได้ แต่ศิวาพรเข้าใจสิ่งที่ลูกชายทำในวันที่เธอต้องอยู่ในเรือนจำ “ต๊อกบอกว่าเซ็นไปแล้วเขาจะเรียนจบ แต่สงสารแม่ที่ไม่มีบ้านอยู่ แม่เลยบอกว่าเขาทำถูกแล้ว บ้านหลังนั้นมันไกล เราหาบ้านใหม่ได้นะลูก”

ช่วงปีแรกหลังออกจากเรือนจำ ศิวาพรกลับมาอยู่บ้านหลังเดิมที่ไม่ใช่ของเธออีกต่อไป โดยพยายามไม่รับรู้ว่าบ้านถูกเปลี่ยนชื่อเจ้าของไปแล้ว ส่วนพ่อของต๊อกเมื่อพยุงธุรกิจรับเหมาต่อไม่ไหวต้องเลิกจ้างคนงานและย้ายออกจากแคมป์ไปอยู่บ้านเพื่อน ศิวาพรจึงรับลูกชายคนโตมาอยู่กับเธอด้วย

ระหว่างสี่ปีที่ศิวาพรอยู่ในคุก ลูกชายคนโตของเธอใช้สารเสพติดหนักจนเป็นจิตเภทเข้าออกโรงพยาบาลนับสิบครั้ง บางคราวคลุ้มคลั่งก่อเหตุทำร้ายร่างกาย แม้จะเลิกเสพไปแต่กินยาไม่สม่ำเสมอ ทำให้เมื่อถูกกระตุ้นด้วยเหล้าก็อาจควบคุมสติไม่ได้ ศิวาพรยอมรับว่าเธอกลัวเวลาลูกชายแสดงอาการ

หลังออกจากเรือนจำต๊อกแนะนำให้แม่ไปขับแกร็บรับผู้โดยสาร ศิวาพรขับแกร็บอยู่เป็นปี บางวันที่รู้ว่าลูกคนโตแอบดื่มเหล้าเธอก็จะไม่กล้าเข้าบ้าน

“ช่วงนั้นลูกคนโตอาการไม่ดี แอบกินเหล้าแล้วตาขวาง เราบอกต๊อกว่าให้โทรเรียกพ่อมารับพี่ชายไปโรงพยาบาล แต่เราจะไม่กลับเข้าบ้านนะ เราไปจอดรถรออยู่ที่อื่น เป็นแบบนี้อยู่สามรอบ ตอนหลังไปคุยกับหมอ เขาให้ดูแลเรื่องยาให้เข้มงวด เราก็นับหนึ่งกันใหม่ พอเริ่มเข้าที่ เจ้าของบ้านบอกว่าเราต้องย้ายออก มีคนจะซื้อบ้านและเขาให้ค่าขนย้ายมา” ศิวาพรเล่า



ศิวาพรเก็บของออกจากบ้านตัวเองไปอยู่กับญาติแถวคลองเตย จากบ้านเดี่ยวมีพื้นที่กว้างขวางต้องโยกย้ายสู่ห้องเช่าเล็กๆ ส่วนพ่อของต๊อกย้ายไปต่างจังหวัดและพาลูกชายคนโตไปอยู่ด้วย

“แม่บ่นว่าถ้ายังมีบ้านอยู่ พี่ชายก็อยู่บ้านต่อได้ ผมก็อาจจะแวะกลับบ้านได้ แต่พอไม่มีบ้าน แล้วพ่อเป็นคนทำให้บ้านหายไปก็ต้องเอาพี่ชายไปด้วย ส่วนผมเรียนจบแล้วเลยไปอยู่บ้านเพื่อน” ต๊อกเล่า

หลังเรียนจบ ต๊อกยังหางานทำไม่ได้ เงินที่มีร่อยหรอ เขาย้ายออกจากหอพักไปอยู่บ้านเพื่อน หิ้วท้องไปฝากไว้กับตู้เย็นคนอื่น ส่งใบสมัครงานไปเรื่อยๆ และนอนรออย่างไร้หวัง เขาตัดสินใจบวชเพื่อออกจากภาวะดังกล่าว พอสึกออกมาก็มีเงินก้อนที่ได้จากงานบวชจนสามารถใช้หนี้ที่เคยหยิบยืมไปจ่ายค่าหอพักได้

เมื่อชายหนุ่มได้งานแรกในชีวิต เขาย้ายกลับไปเช่าหอพักแถว ม.เกษตร เพราะที่นั่นใกล้เคียงกับความเป็นบ้านมากที่สุดสำหรับเขา

“ผมย้ายกลับมาอยู่หอแถวเกษตร รู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้านหลังที่สองและน่าจะเป็นบ้านของผมไปอีกสักพัก เพราะบ้านจริงๆ หายไปแล้ว …ใช่ ผมไม่มีบ้านแล้ว”

สำหรับศิวาพร การออกมาจากเรือนจำแล้วหลายสิ่งในชีวิตสูญหายไม่ได้ทำให้เธอสิ้นหวัง ปัจจุบันเธอกำลังหาลู่ทางเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัว โดยหวังว่าสักวันจะมีทุนพอไปช่วยคนอื่นที่ลำบากเพราะคดีการเมือง

“เราไม่ได้รู้สึกแย่เลย เพราะลูกโตจนดูแลตัวเองได้ แต่ตอนที่ลูกยังเรียนอยู่และต้องมีคนดูแล เราก็อยู่ในเรือนจำ เราไม่ได้ทำหน้าที่ก็ต้องขอโทษลูกด้วย

“เราไม่ได้คิดว่าชีวิตตัวเองแย่ แต่การติดคุกมันแย่แน่นอน และการเข้าไปในนั้นอย่างไม่มีเหตุผลถือว่าแย่ที่สุด แย่จนทำให้เราคิดว่าระบบที่เราเจอมามันไม่ดีและต้องเปลี่ยน”

ในวันนี้ที่คนจำนวนมากโดนคดี 112 เพราะการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ศิวาพรเผยว่าเธอรู้สึกแย่มาก การที่เด็กๆ ออกมาพูดว่าบางส่วนในสังคมมีอำนาจมากเกินไปแล้วโดนจับ ยิ่งตอกย้ำถึงสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องและทำให้สังคมเห็นถึงความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

“สงสารน้องๆ ที่เข้าคุกตอนนี้ อย่างน้องรุ้งต้องไปอยู่แดนแรกรับ สถานการณ์ตอนนี้คุกแน่นมาก ไม่เข้าใจว่าคิดอะไรอยู่ สงสารคุณแม่ของเด็กๆ” ศิวาพรเข้าใจหัวอกแม่ที่หายใจเข้าออกคือลูก


การติดคุกมันแย่แน่นอน
และการเข้าไปในนั้นอย่างไม่มีเหตุผลถือว่าแย่ที่สุด
แย่จนทำให้เราคิดว่าระบบที่เราเจอมามันไม่ดีและต้องเปลี่ยน

สำหรับต๊อก เมื่อมองสภาพปัจจุบันที่มีคนรุ่นราวคราวเดียวกันกับเขาจำนวนมากต้องเดินเข้าคุกเพราะ 112 แล้ว เขา ‘รู้สึก’ โดยเฉพาะคนอย่างเขาที่ซาบซึ้งดีถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากกฎหมายนี้

“112 เป็นกฎหมายที่ไม่ให้ค่าความเป็นมนุษย์ เหมือนไม่ได้มีไว้สำหรับใช้ในสังคมมนุษย์ แปลกประหลาดที่มันถูกใช้ในประเทศที่เรียกตัวเองว่ามีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ทุกคนจะต้องเท่าเทียมกัน แต่กฎหมายนี้ก็ตอบแล้วว่าทุกคนไม่เท่าเทียมกัน มันย้อนแย้งแปลกประหลาดไปหมด”

เขาคาดหวังว่าอยากอยู่ในประเทศที่ดีกว่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง

“ผมดีใจว่าทุกคนเริ่มเห็นว่ามีปัญหานี้อยู่ มันบิดเบี้ยว แต่ผมอยู่กับสิ่งนี้มากเกินไปแล้ว มันทรมานมาก เราทำอะไรไม่ได้เลย ทุกอย่างโยงใยฝังรากลึกไปหมด ไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนได้เร็ว ตอนแก่ผมอยากอยู่ในประเทศที่ดีกว่านี้ ประเทศไทยก็เหมือนส้วมที่เราใช้ร่วมกัน ไม่มีใครอยากล้าง แต่เราต้องช่วยกัน ถ้าไม่อยากให้ลูกหลานเป็นแบบผมตอนนี้ก็ต้องทำ แต่ต่อให้เราขัดอย่างสะอาดมันก็เป็นส้วมรุ่นเก่า ที่จริงเราอาจต้องเปลี่ยนส้วมหรือรีโนเวตไปเลย”

ต๊อกรู้ว่าเขาอาจเปลี่ยนใจคนอีกฝั่งไม่ได้ อย่างน้อยเขาขอเพียงอยากให้คนอื่นรับรู้เรื่องที่เกิดขึ้นกับเขาและแม่

“อย่างน้อยที่สุดให้รู้ว่าผมเจอกับอะไร ผมคิดว่าไม่มีใครสมควรต้องโดนแบบแม่หรือผม ไม่มีใครสมควรเข้าคุกเพราะเหตุผลนี้ การที่แม่เข้าคุกมันส่งผลถึงพ่อ พี่ และผม ทำไมผมต้องเจออะไรอย่างนี้ ถ้าคนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเราทรมานแค่ไหนเขาอาจอยากลองเปิดใจมากขึ้น”

และคำสุดท้ายที่เขาใช้บรรยายชีวิตระหว่างแม่อยู่ในคุกเป็นเวลา 4 ปี 3 เดือน

“…มันทรมาน”


.....