วันเสาร์, สิงหาคม 14, 2564

Politics of Victory : ก้าวต่อไปของการต่อสู้เรียกร้องต่อรัฐที่ไม่แยแสประชาชน



ก้าวต่อไปของการต่อสู้เรียกร้องต่อรัฐที่ไม่แยแสประชาชน

28 July 2021
Kritdikorn Wongsawangpanich
The Matter

นับตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้าสู่โหมดของการรวมตัวกันเพื่อต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาลและอำนาจที่เหนือไปกว่านั้น ควบคู่ไปกับการมาเยือนของวิกฤตโรคระบาดอย่าง COVID-19 ซึ่งตอนนี้กลายเป็นปัญหาระดับแสนสาหัสดังที่ทุกท่านย่อมทราบกันดี

ความดีของวิกฤตนี้คงจะมีเพียงแค่เรื่องเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ การทำให้สังคมไทยได้รู้เช่นเห็นชาติโดยถ่องแท้ว่ารัฐบาลและผู้มีอำนาจในสังคมนี้ไม่แยแสและไม่เห็นหัวประชาชนมากเพียงใด โศกนาฏกรรมโดยรัฐที่กำลังเกิดขึ้นนี้ แม้จะอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากกรณีการเข่นฆ่าประชาชนอย่างโจ่งแจ้งจงใจดังในกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 หรือพฤษภาคม พ.ศ.2553 แต่ในเชิงภาพรวมโครงสร้างแล้วก็ไม่ได้หนีห่างกันนัก เพราะความตายของประชาชนในรัฐไทยที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นผลพวงโดยตรงจากนโยบายและการดำเนินงาน การใช้อำนาจของรัฐบาลและผู้มีอำนาจล้นฟ้าในสังคมไทย ซึ่งมองปัญหาและตัวประชากรอย่าง ‘แยกขาด’ จากตัวพวกเขาเอง ไม่ได้รู้สึกรู้สาว่าปัญหาของประชาชนนั้นคือเรื่องของพวกเขาด้วยเช่นเดียวกันและยืนยันที่จะปฏิบัติกับสังคมเยี่ยงเบี้ยบนกระดานหมากต่อไป

ในสภาวะเช่นนี้ เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สังคมจะอยู่ในสภาวะโกรธแค้นและหวังจะหาช่องทางในการตอบโต้รัฐ ซึ่งอารมณ์ทางสังคมนี้เองที่แม้จะไม่ได้จำเป็นจะต้องแสดงออกมาในรูปแบบของการรวมตัวชุมนุมต่อต้าน ดังในช่วงที่ผ่านมาก็มีความชัดเจนถึงบรรยากาศคุกรุ่นอันอบอวลให้เห็นได้โดยทั่วไป ปรากฏการณ์ ‘กระแส call out’ (หรือ speak out) เองก็เป็นส่วนหนึ่งของความคุกรุ่นและการพยายามตอบโต้รัฐที่ว่ามานี้ รวมไปถึงแฮชแท็กข้อเรียกร้องต่างๆ

ฉะนั้น ภายใต้บรรยากาศและสถานการณ์เช่นนี้เอง ผมจึงคิดว่าเป็นการเหมาะสมที่เราจะลองมานั่งทบทวนเป็นภาพรวมกว้างๆ ของการต่อสู้ในช่วงที่ผ่านมา และทิศทางความเป็นไปที่น่าจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เพื่อเราจะได้หาที่ทางในการตอบโต้รัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่ว่าตัวผมเองชำนาญหรือมีความสามารถในการ ‘ตบหน้ารัฐ’ ได้เหนือกว่าคนอื่นแต่อย่างใด แต่ถือว่าเป็นข้อแลกเปลี่ยนจากผู้ร่วมอุดมการณ์คนหนึ่ง ซึ่งบังเอิญโชคดีกว่าคนจำนวนมากที่ได้อยู่ห่างจากอารมณ์ความเดือดที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นได้ และมองกลับมาด้วยระยะห่างที่มากกว่าสักหน่อยหนึ่ง

กล่าวอย่างไม่พูดพล่ามทำเพลงให้มาก การต่อสู้ทางการเมืองโดยเฉพาะผ่านการรวมตัวชุมนุมกันต่อต้านรัฐบาล ไม่ว่าจะโดยกลุ่มราษฎร กลุ่ม REDEM หรืออื่นๆ นั้น สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในหลายภาคส่วน แต่พร้อมๆ กันไปก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าในอีกหลายส่วนก็ยังไม่สามารถไป ‘เขยื้อน’ มันได้ หากความสำเร็จวัดจากการสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ และความล้มเหลววัดจากการไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แล้วนั้น กล่าวอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ก็เรียกได้ว่า ขบวนการเคลื่อนไหวนั้นได้รับชัยชนะด้านวัฒนธรรมและเรื่องเล่า (cultural and narrative Victory) ในขณะที่ยังคงพ่ายแพ้อย่างชัดเจนในด้านโครงสร้างอำนาจทางสถาบันการเมือง หรือก็คือ เราทำให้ความคลั่งไคล้บูชาลดน้อยถอยลงได้มากแล้วและสวมแทนด้วยสายตาของคำถามและความสงสัย แต่อำนาจในทางกายภาพที่กุมเอาไว้ในมือนั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าด้วยสภาพดังที่เป็นอยู่ดังว่านี้ พอจะสรุปให้งวดลงได้อีกว่า ‘เราทำให้เค้าโกรธได้ แต่เราทำให้เค้ากลัวไม่ได้’


เอาเข้าจริงๆ แล้วสภาพแบบที่ว่านี้ ในแง่หนึ่งจะบอกว่ามีความคล้ายกับ ‘ผลลัพธ์รวม’ ของฝ่ายซ้ายหลังสงครามเย็นก็อาจจะพอได้ คือ ได้รับชัยชนะในเชิงวัฒนธรรม แต่โครงสร้างและกลไกการทำงานหลักของอำนาจโลกก็ยังเป็นดังเดิม


ทีนี้ เมื่อเราทวนภาพความสำเร็จ และความล้มเหลวที่สร้าง ‘เงื่อนไขทางการเมืองและการต่อสู้ใหม่’ ในสังคมเราขึ้นมาแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องมาลองพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในปัจจุบันและอนาคต ส่วนนี้เป็นการประเมินโดยส่วนตัวของผมเอง แต่ผมคิดว่าในสมรภูมิด้านเรื่องเล่าและวัฒนธรรมนั้น การต่อสู้ที่ผ่านมาได้ดันมาจนแทบจะสุดทางแล้ว ผนวกเข้ากับความไม่ได้ความอย่างเข้มข้นของรัฐบาลและผู้มีอำนาจที่เหนือกว่านั้นในกรณีวิกฤต COVID-19 ตอนนี้ด้วย ที่ยิ่งผลักดันให้ระดับ ‘การตั้งคำถามและความแคลงใจสงสัย’ เข้าแทนที่ความคลั่งไคล้บูชาอย่างเต็มที่เท่าที่มันจะเป็นไปได้แล้ว ว่าอีกอย่างก็คือ ถ้าภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่นี้ ยังเหลือคนที่คลั่งไคล้บูชาแบบเดิมอยู่อีกต่อไป (ซึ่งแน่นอนว่ามี และพยายามทำตัวเสียงดังด้วย) ก็ยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ในการเปลี่ยนทรรศนะพวกเขาหรือเธอเหล่านั้นได้แล้ว

เช่นนี้เองการฝืนดันการต่อสู้ในสมรภูมิเรื่องเล่านั้นจึงไม่น่าจะเป็นประโยชน์มาก ต่อให้สร้างความเปลี่ยนแปลงเพิ่มได้ก็แต่เพียงน้อยนิดเท่านั้น ไม่น่าจะคุ้มกับสัดส่วนของความเสี่ยงและต้นทุนทางการต่อสู้ที่อาจจะต้องเผชิญ ในส่วนนี้เพียงแค่เลี้ยงกระแสความคิดความสงสัยนี้ต่อไปเรื่อยๆ ให้ ‘การตั้งคำถามคือสภาพความเป็นปกติ’ ก็เพียงพอแล้ว

เมื่อเราควรจะเบามือจากสมรภูมิที่ชนะไปแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่นั้นก็ดูจะเป็นเพียงสมรภูมิหลักที่ยังคงพ่ายแพ้อยู่ นั่นคือการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองในเชิงสถาบัน ซึ่งกล่าวตามตรงว่าเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลามาก (ทราบดีครับว่าประโยคแสนจะคลีเช่) แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะมีทางอื่นนอกจากการมองไปที่เกมยาว ที่ว่ามาเช่นนี้ก็เพราะว่าถึงที่สุดแล้วการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจทางการเมืองในเชิงสถาบันนั้น มันต้องการการเปลี่ยนในเชิงระบอบแบบ ‘ยกยวง’ นั่นเอง ซึ่งในที่นี้ก็คือ democratization หรือการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย (เต็มใบไม่มีใครแอบชักใยอยู่ข้างหลังอย่างเหนือรัฐธรรมนูญ) นั่นแหละครับ ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร อย่างไรก็ดี การ democratization ที่จะทำนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของการเมืองเชิงสถาบันได้นั้น มันไม่ได้เกิดง่ายๆ มันไม่เหลือความแฟนตาซีของการรวมตัวลุกฮือขึ้นสู้แล้วจะประสบความสำเร็จได้มาพักใหญ่ๆ แล้วตั้งแต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคลื่นลูกที่ 1 จบลง (ปัจจุบันอยู่ในช่วงคลื่นที่ 4) ด้วยเงื่อนไขอันสำคัญคือเรื่องของ ‘ความไม่ได้ดุลย์ของอำนาจทางความมั่นคงที่ถือครองในมือ’ นั่นเอง

กล่าวอย่างสั้นและรวบรัดที่สุด อำนาจที่ฝั่งประชาชนถือครองนั้นคือ ‘อำนาจเชิงปริมาณ’ คือ เรามีจำนวนคนมากกว่าฝั่งรัฐ ในขณะที่ฝั่งรัฐนั้นถือครอง ‘อำนาจเชิงคุณภาพ/ประสิทธิภาพ’ มากกว่า กล่าวคือ ต่อ 1 หน่วยเดียวกัน อำนาจทางความมั่นคงที่รัฐถือครองนั้นมีประสิทธิภาพในการใช้หรือก่อความรุนแรงทางกายภาพได้มากกว่าฝั่งประชาชน (ว่าง่ายๆ ก็คือ กำปั้น 1 กำปั้น แพ้ปืน 1 กระบอก หรือคน 1 คน แพ้รถถัง 1 คัน) ซึ่งในช่วงการต่อสู้ในช่วงคลื่นลูกที่ 1 นั้น ด้วยพัฒนาการทางอาวุธที่รัฐถือครองยังไม่ได้ทรงประสิทธิภาพนัก อำนาจเชิงปริมาณจึงยังมีศักยภาพที่จะได้ชัยเหนืออำนาจในเชิงคุณภาพในมือรัฐได้อยู่ อย่างพวกการปฏิวัติฝรั่งเศส และในสหรัฐอเมริกา ก็อยู่ในกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา ที่พัฒนาการด้านอาวุธและเครื่องมือทางความมั่นคงถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ดุลอำนาจก็ไม่ได้เป็นเช่นเดิมอีกแล้ว เป็นเรื่องยากมากๆ จริงๆ ครับที่ฝั่งผู้ถือครองอำนาจเชิงปริมาณอย่างประชาชนจะสามารถมีชัยเหนือรัฐได้ด้วยตัวเอง ‘หรือด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่ประชาชนเป็นผู้สร้างขึ้นมาเอง’

นับตั้งแต่คลื่นลูกที่ 2 เป็นต้นมา รูปแบบหลักๆ ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในสมรภูมิที่พวกเราเองอาจจะต้องมองเผื่อไว้ต่อไปนั้น มี 3 รูปแบบด้วยกัน ดังนี้
  1. การที่มีส่วนหนึ่งของฝั่งตรงข้าม (ในที่นี้คือ ‘รัฐ’) ย้ายข้างมาอยู่กับฝั่งเรา (ประชาชน) ด้วย
  2. การโต้กลับด้วยความรุนแรงผ่านวิธีการแบบกองโจรหรือการก่อการร้าย
  3. การได้รับการสนับสนุนทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมจากปัจจัยภายนอก (เช่น การแทรกแซงจากนานาชาติ หรือ international intervention) รวมไปถึงเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างขนาดใหญ่จากภายนอก (ในระดับสากล) อย่างกรณีการล่มสลายและพ่ายแพ้ของสหภาพโซเวียตในสงครามเย็น หรือชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งนำมาสู่ democratic installation ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมไปทั่วโลก เป็นต้น
ทั้ง 3 รูปแบบนี้ ไม่มีรูปแบบใดเลยที่รับประกันความสำเร็จ หรือจะสำเร็จได้โดยง่าย เช่นนี้เองผมจึงได้เกริ่นไว้แต่แรกด้วยประโยคคลีเช่เดิมๆ ว่า สุดท้ายแล้วเรื่องนี้เป็นเกมยาวและยาก อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 รูปแบบนี้ มีตัวแบบความสำเร็จและล้มเหลวทั้งสิ้น และไม่ใช่ทุกรูปแบบจะเหมาะสมกับทุกเงื่อนไข เงื่อนไขที่มีแนวโน้มสูงสุดที่น่าจะเกิดขึ้นสำหรับกรณีของไทย (ในสายตาผม) นั้น ผมคิดว่ามีแนวโน้มจะนำไปสู่โมเดลแบบพม่าเป็นหลัก (แน่นอนว่ามีความแตกต่างในรายละเอียดยิบย่อยมากมายอยู่) ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะว่า เมื่อฝ่ายประชาธิปไตยมีชัยในด้าน ‘เรื่องเล่า’ แล้ว และฝั่งตรงข้ามซึ่งเคยเป็นผู้ถือครองอำนาจเชิงวัฒนธรรมเดิมในสังคมไทยอย่างสถาบันกษัตริย์นั้น ก็ไม่ได้มีแนวโน้มจะต่อสู้หรือสามารถต่อสู้ในสมรภูมินี้ได้อีกต่อไป นั่นแปลว่าในระยะยาวระดับความศักดิ์สิทธิ์ของตัวเรื่องเล่าในส่วนนี้ก็จะลดลงและเสื่อมถอยไปเรื่อยๆ ตัวกองทัพไทยซึ่งไม่เคยมีเรื่องเล่าเป็นของตนเอง ไม่เคยรบกับใครนอกจากประชาชนตัวเอง และหากจะมีเรื่องเล่าใดๆ บ้างก็เป็นเพียงเรื่องเล่าของการเป็นผู้พิทักษ์รักษาราชบัลลังก์เป็นสำคัญเท่านั้น


เมื่อแก่นแกนหลักของเรื่องเล่าที่ตนเกาะอยู่เสื่อมคลายลง กองทัพไทยก็จะเป็นเพียงกองทัพที่เปล่าเปลือยจากอำนาจในทางวัฒนธรรมใดๆ ไป

ลักษณะการเป็นกองทัพที่เปลือยเปล่าจากเรื่องเล่าคุ้มหัวนี้เอง ที่ทำให้แนวโน้มของกองทัพไทยน่าจะไม่ได้วิ่งไปสู่ทิศทางอย่างกองทัพอินโดนีเซียที่ยังมีเรื่องเล่าทางศาสนาผูกติดอยู่กับตัว กองทัพเกาหลีเหนือหรือจีนที่มีเรื่องเล่าของตนเองอย่างแน่นหนา ทั้งยังสามารถป้องกันการอุบัติขึ้นของเรื่องเล่าแบบอื่นๆ ที่จะขึ้นมาท้าทายหรือทำลายเรื่องเล่าที่ตนมีอยู่ได้ เช่นนี้เองผมจึงคิดว่ารูปแบบของพม่า หรือกองทัพที่ไร้เรื่องเล่าคุ้มหัวตนเองและเป็นที่เกลียดชังของประชาชนพม่าอย่างต่อเนื่องมานานจึงมีแนวโน้มสูงสุดที่ประเทศเราจะมุ่งหัวไป

ทีนี้ ย้อนกลับมาพิจารณารูปแบบทั้ง 3 ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอีกสักนิดก่อน ใน 3 รูปแบบนี้ ผนวกกับเงื่อนไขดังว่ามา เราบอกได้ว่ารูปแบบที่ 2 หรือตัวแบบของการก่อการร้ายหรือโต้กลับด้วยความรุนแรงทางกายภาพโดยตรงนั้น ตัดทิ้งไปก่อนได้เลย (ฉะนั้นจะคิด looting อะไรนั้นควรจะเลิกๆ ได้แล้ว) ที่ว่ามานี้เพราะ 2 สาเหตุหลักๆ ครับ (1) โดยทั่วไปแล้ว รูปแบบอย่างการก่อการร้ายนี้ ซึ่งใช้ทั้งในกรณีปาเลสไตน์ IRA บาสก์ แอฟริกาใต้โดยเนลสัน แมนเดลา ฯลฯ เกิดขึ้นเพื่อต้องการจะสื่อสารบอกเรื่องเล่าของตนออกไปสู่สังคม คือ ต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองไปพร้อมๆ กับการส่ง ‘สาร’ ให้ได้เป็นที่รับรู้ในสังคมของตน แต่ในเงื่อนไขของไทยนั้น เราไม่จำเป็นจะต้องช่วงชิงพื้นที่ทางเรื่องเล่าแล้ว มันเป็นสมรภูมิที่เราได้ชัยไปแล้วนั่นเอง และ (2) ไม่ใช่ว่าในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ เราจะไม่เคยทดลองใช้วิธีการในลักษณะนี้ บางส่วนของพรรคคอมมิวนิสม์แห่งประเทศไทย (พคท.) เองก็เคยทำมาก่อนและไม่สำเร็จ หรือเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อผลักดันข้อเรียกร้องของพวกเขาเองก็ย่อมต้องนับอยู่ในลักษณะที่ว่ามานี้ด้วย แต่ทั้งหมดนี้ได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้วว่าไม่สำเร็จหรือไม่ใช่รูปแบบวิธีการที่เหมาะกับกรณีของไทยเลย ต้นทุนสูงที่สุดแต่ผลตอบแทนเรียกได้ว่าต่ำที่สุดนั่นเอง

ต่อมาคือแบบที่ 3 หรือคาดหวังการแทรกแซงช่วยเหลือจากภายนอก รูปแบบนี้กล่าวตามตรงว่าหวังยากจริงๆ ครับ เพราะกรอบแนวคิดการไม่แทรกแซงอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่นๆ นั้น นำมาซึ่งการเคลื่อนไหวในส่วนนี้ที่ยากมาก ไม่ต้องนึกตัวอย่างอะไรไกล อย่างกรณีของพม่าในช่วงที่ผ่านมานั้น เหตุการณ์นับว่ารุนแรงคอขาดบาดตายอย่างมาก แต่สูงสุดที่เราได้เห็นก็เพียงแค่การคว่ำบาตรต่างๆ ไม่ใช่การแทรกแซงทางกายภาพและความมั่นคงโดยตรง ฉะนั้นการจะคาดหวังให้เกิดรูปแบบนี้ได้นั้นก็แปลว่าต้องเกิดเหตุโศกนาฏกรรมโดยรัฐระดับที่รุนแรงยิ่งกว่าที่เกิดขึ้นในพม่าหรือต้องอยู่ในเงื่อนไขที่จะสามารถจัดสรรแบ่งส่วนทรัพยากรที่รัฐมหาอำนาจโหยหาได้มากพอที่จะเป็นเงื่อนไขที่ ‘ล่อตาล่อใจ’ ในการนำเข้ามา แบบกรณีของสงครามอิรัก โดยประธานาธิบดีบุช คนลูก ซึ่งอาศัยการก่อการร้ายเป็นข้ออ้างหลักในการรุกล้ำและก่อสงครามในอิรัก เป็นต้น แน่นอนว่าในลักษณะหลังนี้ก็จะนำมาซึ่งปัญหาอีกรูปแบบตามมาด้วย เช่น neocolonialism หรือการตกเป็นเมืองขึ้นในรูปแบบใหม่

หากคิดจะพัฒนาอะไรต่อสำหรับรูปแบบนี้จริงๆ ผมคิดว่าอาจจะพอมีช่องทางที่ทำได้บ้าง แต่ไม่ได้มีน้ำหนักในระดับที่คาดหวังอะไรได้นัก อย่างแรกก็คือ เลิกคาดหวังอะไรกับองค์กรอย่าง ASEAN ได้แล้ว เพราะนี่คือองค์กรความร่วมมือที่ยินดียืนมองความรุนแรงเกิดขึ้นในภูมิภาคตนเองอย่างไม่ยี่หระใดๆ แต่อาจจะต้องลองเริ่มพัฒนากระแสคิดและความร่วมมือแบบ #MilkTeaAlliance อย่างเป็นองค์กรที่มีความทางการมากขึ้น เป็นสถาบันมากขึ้น และหากเป็นไปได้ก็ผลักดันไปให้ถึงจุดที่มีสิทธิร่วมสังเกตการณ์และอภิปรายในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติได้ เป็นต้น เหล่านี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่คาดหวังได้มากกว่าอาเซียนรวมใจไล่กระทืบประชาชน

ท้ายที่สุดเลย ผมคิดว่ารูปแบบที่เป็นไปได้มากที่สุดนั้นก็คือ รูปแบบแรก เอาเข้าจริงๆ แล้วการอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 เองก็นับได้ว่าอยู่ในรูปแบบนี้ คือ มีส่วนหนึ่งของกองทัพจับมือกับฝ่ายประชาชนในการล้มอำนาจอธิปัตย์ของรัฐและนำเข้าสู่ยุคใหม่ของการเมืองการปกครอง แน่นอนว่ามีปัญหาการทะเลาะกันเองตามมาได้ แต่ก็ไม่ถึงขนาดเป็นเรื่องที่หาทางป้องกันหรือเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ไม่ได้เลย แต่เช่นเดียวกันครับ แม้สำหรับผมแล้วเส้นทางนี้จะมีความเป็นไปได้สูงสุด แต่ก็ไม่ได้ง่ายอยู่ดีและต้องใช้เวลานานด้วย ปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับรูปแบบนี้ก็คือการดึงเอาส่วนหนึ่งของคนในกองทัพให้มาอยู่ฝั่งเดียวหรือรู้สึกยึดโยงกับประชาชนบ้าง (มากกว่ารักและศรัทธาคำสั่งนายเป็นสำคัญ) ด้วยจุดมุ่งหมายหลักนี้เอง ผมคิดว่าก้าวต่อไปในการต่อสู้เรียกร้องที่สำคัญและพึงทำ อาจจะมากเสียยิ่งกว่าข้อเรียกร้องเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ก็คือ การยกเลิกหรืออย่างน้อยที่สุดผลักดันให้มีการปรับหลักสูตรโรงเรียนนายร้อย และที่สำคัญที่สุดคือ งการยกเลิกศาลทหาร’ นำเอากองทัพเข้ามาสู่ระบบกฎหมายและการลงทัณฑ์แบบเดียวกับประชาชนทั่วไป

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ ต้องทำควบคู่ไปกับการปรับกระบวนทัศน์และหลักสูตรทางการศึกษาโดยองค์รวมใดๆ ต่างๆ ซึ่งมีการพูดถึงไปมากแล้ว และในระดับหนึ่งเป็นส่วนที่แม้ผมจะเห็นว่าสำคัญ แต่ก็ไม่ได้เป็นห่วงนัก เพราะช่องทางและตัวเลือกทางการศึกษาที่มาควบคู่กับพัฒนาการทางเทคโนโลยีนั้นมันได้พิสูจน์ตัวมันเองแล้วว่าทรงพลังเพียงใด ฉะนั้นแม้จะต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่ตราบเท่าที่คนยังเข้าถึงแหล่งทางความรู้ทางเลือกอื่นๆ นี้ได้ แม้การศึกษาภาคบังคับจะคงความดักดาน แต่ถึงที่สุดมันก็ย่อมจะสั่นสะเทือนไปด้วย (แน่นอนหากปรับปรุงได้โดยตรงย่อมดีที่สุด) เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงคิดว่าข้อต่อสู้ที่สำคัญกว่าอาจจะเป็นเรื่องการผลักดันให้มี nationwide free internet หรือการมีอินเทอร์เน็ตฟรีทั่วประเทศในฐานะสวัสดิการรัฐ อาจจะเป็นเรื่องที่ควรเร่งผลักดันมากกว่าก็ได้หากจำเป็นจะต้องจัดลำดับความสำคัญของตัวข้อเรียกร้อง

อีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะจำเป็นต้องเข้าไปสั่นคลอนอย่างจริงจัง เพราะมีอิทธิพลอย่างมากกับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองเชิงสถาบันของไทยนั้นก็คือ การเข้าทำลาย ‘ก้อนต่างๆ ทางอำนาจอย่างไม่เป็นทางการที่รวบสถาบันทางการเมืองเหล่านี้ไว้ด้วยกัน’ (informal but influential political clusters) กล่าวคือ ผมมองว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาได้ทำลายฐานอำนาจของเรื่องเล่า ‘ณ ส่วนบนสุดของห่วงโซ่ทางอำนาจ’ ลงแล้ว อย่างไรก็ดีระบบการทำงานเชิงกลไกในส่วนรองลงมานั้นยังไม่ถูกแตะมากนัก หรือหากถูกแตะก็แบบแยกเป็นองค์กรๆ ไป หรือเน้นไปที่ส่วน ‘ทางการ’ เป็นสำคัญ อย่างตัวรัฐบาล ซึ่งเหล่านี้ก็ควรจะถูกตรวจสอบ วิจารณ์และเรียกร้องต่อไป แต่กลไกอันสำคัญอีกส่วนที่รวมเอาอำนาจเชิงสถาบันนี้ไว้ด้วยกันนั้น ผมเองคิดว่าก็น่าจะได้รับการ ‘แตะ’ ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกันด้วย ไม่เช่นนั้นโครงสร้างอำนาจแบบเดิมก็ยังมีที่ทางให้ ‘เคลื่อนตัวและทำงานได้อยู่’ โดยอาศัยองค์กรทางการเป็น ‘ตัวเป้ารับความสนใจหลัก’ ไปแทน

ตัวอย่างโครงสร้างไม่เป็นทางการที่ว่านี้ก็เช่น เครือข่ายของ ประเวศ วะสี (เครือข่ายตระกูล ส.) ที่กุมบังเหียนและทิศทางหลักของสถาบันด้านสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะที่ถือเงินงบประมาณหรือที่สัมพันธ์กับการสื่อสารโดยตรงกับสังคม เป็นต้น ว่าอีกแบบก็คือ แม้แต่ระบบสาธารณสุขไทยที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนั้น ก็ยังมีกลไกทางอำนาจแบบไม่เป็นทางการเหล่านี้แผ่อิทธิพลควบคู่ไปกับทางรัฐบาลด้วย ฉะนั้นการจะทำลายโครงสร้างอำนาจแบบเดิมๆ ที่เป็นมานั้น จึงจำเป็นจะต้องทำกับทั้งสองส่วน คือ ทั้งส่วนทางการและที่ไม่ทางการนี้ ควบคู่ไปพร้อมๆ กัน และอย่างพอๆ กันนั่นเอง พวกที่อยู่ในที่แจ้งอยู่แล้วก็ตรวจสอบมันต่อไป พวกที่ซ่อนอยู่ในที่มืด ก็ฉายแสงใส่มันเสีย ให้มันอยู่ในที่สว่างให้ได้นั่นเอง

เหล่านี้คือตัวอย่างท่าทีที่ผมคิดว่าเราอาจจะต้องใช้เพื่อเดินไปข้างหน้า เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขที่ถูกปูมาจากการต่อสู้ใหญ่ในรอบนี้ และเหนือกว่าสิ่งอื่นใด หากเป็นไปได้ ผมอยากเชิญชวนธุรกิจห้างร้านใดๆ ที่ยังพอมีกำลังสามารถและอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่เดือดร้อน จะออกมา speak out ในมุมที่สนับสนุนการต่อสู้ต้านรัฐบาลอย่างชัดเจน แบบที่ฝั่งธุรกิจฝั่งสนับสนุนรัฐมักจะออกมาแสดงตัวว่า ‘ไม่รับนักศึกษาสามกีบเข้าทำงาน’ ผมคิดว่าหากธุรกิจห้างร้านที่ต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์สามารถออกมาร่วมกันแสดงตัวได้ว่า ยินดีรับเฉพาะคนที่ไม่สนับสนุนเผด็จการอย่างเปิดเผยและเป็นปริมาณมากได้แล้ว คงจะเป็นกำลังสนับสนุนได้อย่างสำคัญทีเดียว และอาจจะดีกว่าการสร้างกระแสการ call out (speak out) ที่เกิดขึ้นกับเหล่าคนดังมากมายในตอนนี้ก็ได้ เพราะกระแสแบบนี้บางทีก็ทำให้ไม่รู้ชัดเช่นกันว่าทำไปแต่เพียงเพราะกระแสบังคับและต้องการให้อยู่รอดในพื้นที่การทำงานของตนหรือต่อไปหรือไม่

สุดท้ายก็ได้แต่ขอให้กำลังใจทุกท่านที่ต้องต่อสู้กับความเฮงซวยอันเอนกอนันต์ของรัฐบาลและโรคร้ายนี้นะครับ หวังว่าเราจะอยู่รอดต่อไป พอทันได้เห็นวันเผด็จการล่มสลายไปจากแผ่นดินค

Illustration by Waragorn Keeranan