วันอาทิตย์, สิงหาคม 15, 2564

ถ้าเขาจะลัก อยู่สูงแค่ไหนเขาก็ลัก



“หนุ่มนนทบุรี” ถูก ตร.บุกจับไม่มีหมาย แจ้งข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน กรณีนำกรอบรูป ร.10 ทิ้งคลอง ก่อนศาลให้ประกันตัว


14/08/2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 64 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่ามีชาวจังหวัดนนทบุรีถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมจากเหตุการแสดงออกเกี่ยวกับพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10

ต่อมาพบว่าผู้ถูกจับกุมชื่อศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ อายุ 35 ปี ประกอบอาชีพเป็นฟรีแลนซ์ และรับงานวาดรูปกับเล่นดนตรี ได้ถูกจับกุมไปที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ เหตุกรณีมีประชาชนเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีลักเอาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปไปจากหน้าหมู่บ้านประชาชื่น จากนั้นนำกรอบรูปไปทิ้งที่คลองบางตลาด ในช่วงเวลา 03.30 น. ของวันที่ 8 ส.ค. 64

ต่อมา วันที่ 11 ส.ค. 64 หลังถูกแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ศิระพัทธ์ถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวด้วยเงินสด 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

ตำรวจติดตามจับกุมหลัง ปธ.หมู่บ้านพบว่ามีผู้ลักภาพ ร.10 หน้าหมู่บ้าน พร้อมกรอบทองหายไป

สำหรับบันทึกการจับกุมในคดี ระบุว่าการเข้าจับกุมในครั้งนี้อยู่ภายใต้การสั่งการของ พ.ต.อ.เขมพัทธ์ โพธิพักษ์ และ พ.ต.อ.สุวัฒน์ ตันติมาสน์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.รัตนาธิเบศร์ ทั้งหมด 7 นาย และตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีรวม 6 นาย ร่วมกันจับกุม

ในส่วนของพฤติการณ์ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค 64 เวลา 09.41 น. ทรงศักดิ์ จันทโชติ อายุ 77 ปี ประธานกรรมการชุมชนหมู่บ้านประชาชื่น จังหวัดนนทบุรี ได้มาแจ้งความร้องทุกข์เนื่องจากพบว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค 64 เวลาประมาณ 03.30 น. ได้มีคนร้ายไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด มาลักเอารูปภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปลายกนกสีทองไป โดยมีกล้องวงจรปิดสามารถจับภาพขณะคนร้ายก่อเหตุไว้

เจ้าพนักงานตํารวจจึงได้เริ่มสืบสวน โดยการตรวจสอบกล้องวงจรปิดโดยรอบบริเวณสถานที่เกิดเหตุ พบว่าเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 64 เวลาประมาณ 03.03 น. ได้มีชาย 1 คน เดินทางเข้ามาที่บริเวณหน้าป้อมยามรักษาความปลอดภัยหน้าหมู่บ้านประชาชื่น ซึ่งด้านหน้าเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นผู้ต้องหาได้ปีนขึ้นไปเอาพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมกรอบรูปดังกล่าวลงมา และได้เดินลากกรอบรูปออกไป

จากการสอบถามผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้น เจ้าพนักงานตํารวจจึงพบศิระพัทธ์ ซึ่งมีตําหนิรูปพรรณตามภาพในกล้องวงจรปิดยืนอยู่บริเวณหน้าห้องพัก เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเป็นว่าเป็นพนักงานตํารวจมาสืบสวนคดีลักทรัพย์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ฯ พร้อมกับนําภาพผู้ต้องหาที่กล้องวงจรปิดบันทึกได้ ให้ผู้ถูกจับตรวจสอบ แล้วยืนยันว่าตนเองคือบุคคลที่ปรากฏในภาพดังกล่าว โดยบอกว่านำกรอบภาพไปทิ้งที่คลองบางตลาด

ต่อมาเจ้าพนักงานตํารวจจึงได้ลงไปงมหาและพบกรอบรูปลายกนกสีทอง ซึ่งมีตําหนิรูปพรรณตรงกับกรอบรูป ที่ติดอยู่บริเวณหน้าป้อมยามหมู่บ้าน แต่ไม่พบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ฯ จึงได้สอบถามผู้ถูกจับกุม ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่ได้ลักเอาภาพพระบรมฉายาลักษณ์ฯ พร้อมกรอบรูปแล้วได้ปลดภาพออก จากนั้นได้มอบให้กับเพื่อนที่รู้จักกันจากการไปร่วมชุมนุมทางการเมืองผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์

เจ้าพนักงานตํารวจจึงได้ยึดกรอบรูปลายกนกสีทองข้างต้นไว้เป็นของกลาง และอาศัยอํานาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (3) ประกอบ 66 (2) เนื่องจากมีพยานหลักฐานตามสมควร ว่าผู้ถูกจับน่าจะได้กระทําผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น แต่มีความจําเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้

เจ้าหน้าที่ตํารวจได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหา ได้แก่ ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และฝ่าฝืนข้อกําหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น.

บุกค้นบ้าน พร้อมยึดมือถือ-คอมพิวเตอร์ ไม่มีการแจ้งสิทธิขณะถูกจับกุม

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 64 เวลาประมาณ 13.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์และตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีรวม 13 นาย ได้เดินทางมาหาศิระพัทธ์ที่บ้านพัก ก่อนจะขอเข้าตรวจค้นภายในบ้าน โดยไม่ได้มีการแสดงบัตรเจ้าหน้าที่ แจ้งยศ แสดงหมายค้น หรือหมายจับแต่อย่างใด

“ตอนเจ้าหน้าที่อยู่หน้าประตู เขาถามผมว่า ‘ไม่มีหมายค้นนะ ผมสามารถเข้าไปได้ไหม? คุณมีความผิด’ ผมไม่รู้กฎหมาย ก็เลยตอบไปว่าได้ครับ”

ศิระพัทธ์เล่าว่า ระหว่างตรวจค้น เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เขาแตะต้องข้าวของในห้อง จากนั้นก็ทำการยึดโทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์เอาไว้เพื่อตรวจสอบ ก่อนจะแจ้งข้อหาลักทรัพย์กรณีลักเอาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 นําไปทิ้งที่คลอง

“เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ผมโทรหาทนายหรือติดต่อญาติ ตอนผมบอกว่า ‘จะขอใช้โทรศัพท์หน่อย’ เจ้าหน้าที่บอกว่า ‘ยังไม่ได้’ ผมเลยไม่รู้จะทำยังไง จะโทรไปหาเพื่อนให้เรียกทนายก็ไม่ได้”

ต่อมา เจ้าหน้าที่จึงได้ควบคุมตัวศิระพัทธ์ขึ้นรถกระบะเพื่อเดินทางไปที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ ไม่ได้มีการใส่กุญแจมือหรือนั่งประกบตัวแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่ได้จัดทําบันทึกการจับกุม และนําตัวผู้ถูกจับพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน โดยเขาได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจเป็นเวลา 1 คืน

ตำรวจค้านประกันตัว อ้างมีโทษสูง ก่อนศาลให้ประกัน โดยวางเงิน 100,000 บาท

ในช่วงสายของวันที่ 11 ส.ค. 64 พนักงานสอบสวนได้นำตัวศิระพัทธ์ไปยังศาลจังหวัดนนทบุรี เพื่อยื่นคำร้องขอฝากขัง โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยจะต้องสอบพยานอีก 5 ปาก รวมถึงพนักงานสอบสวนยังขอให้คัดค้านการประกัน เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง หากให้ประกันตัว ผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี

ภายหลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทางทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยเหตุผลระบุว่า

1. ขณะที่เจ้าหน้าที่ตํารวจจับกุมผู้ต้องหา ผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตํารวจในการจับกุมแต่โดยดี มิได้ต่อสู้ขัดขวาง จึงไม่มีพฤติการณ์หลบหนีใด อีกทั้งผู้ต้องหาไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทําความผิดอาชญากรรมใดๆ และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาใดๆ มาก่อน จึงไม่อาจไปก่ออันตรายประการอื่นได้

2. ผู้ต้องหาประกอบสัมมาชีพสุจริต หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวย่อมจะทําให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ต้องหาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีหน้าที่ในการหาเลี้ยงครอบครัว

3. ขณะนี้เป็นที่ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส 2019 ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเรือนจําต่างๆ หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะต้องถูกคุมขังในเรือนจําด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ต้องหาเนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 จากการถูกคุมขังในสถานที่แออัดซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรค

ต่อมาในช่วงเวลาราว 15.30 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีได้อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 100,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำความผิดตามที่ถูกผัดฟ้องฝากขังอีก และนัดรายงานตัวครั้งในวันที่ 28 ก.ย. 64 เวลา 8.30 น.